วาทกรรมว่าด้วย “ผัวเดียวหลายเมีย” จากหมอบรัดเลย์ ถึงรัชกาลที่ 4

ภาพถ่าย หมอบรัดเลย์
หมอบรัดเลย์

แดน บีช แบรดลีย์ (18 กรกฎาคม 2347 – 23 มิถุนายน 2416) หรือที่รู้จักกันดีว่า หมอบรัดเลย์ มิชชันนารีชาวอเมริกันที่เดินทางเข้ามายังกรุงเทพฯ ตั้งแต่ปี 2378 ได้โจมตีธรรมเนียม ผัวเดียวหลายเมีย ว่าเป็นมูลเหตุของความวุ่นวาย ความทุกข์ ความชั่ว และความอัปยศของบ้านเมือง

ปี 2406 หมอบรัดเลย์ ลงข่าวใน “Bangkok Calendar” ตำหนิและระบุว่ารัชกาลที่ 4 ทรงมีเจ้าจอมมากกว่าพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ จนพระองค์ต้องทรงชี้แจงว่าไม่เป็นจริงและขอให้แก้ข่าว ต่อมา หมอบรัดเลย์ได้ใช้ “บางกอกรีคอร์เดอร์” (The Bangkok Recorder) หรือชื่อไทย “หนังสือจดหมายเหตุ” เป็นเครื่องมือเผยแพร่แนวคิดและนำเสนอมโนทัศน์แบบ “ผัวเดียวเมียเดียว” ต่อสังคมสยาม และต่อต้านแนวคิดผัวเดียวหลายเมีย

โดยนำเสนอข่าวชี้คุณและโทษให้ชนชั้นนำสยามเห็นว่าประเทศตะวันออกอื่น ๆ เริ่มเล็งเห็นโทษของกฎหมายผัวเดียวหลายเมีย เช่น กรณีชาวพราหมณ์ที่เมืองฮินดูสถาน ร่วมลงชื่อให้มีการออกกฎหมายห้ามการมีเมียมากกว่า 2 คนขึ้นไป โดยปรารถนาจะเอาตามอย่างอังกฤษ และกรณี “เจ้าไวสิรอยเมืองไปกุบโต” สรรเสริญการยกเลิกธรรมเนียมมีเมียหลายคน

มิชชันนารีชาวอเมริกันผู้นี้ปรารถนาจะให้รัชกาลที่ 4 ทรงเอาเป็นแบบอย่างบ้าง ดังปรากฎใน “บางกอกรีคอร์เดอร์” เดือน 11 แรม 14 ค่ำ ปีขาลอัฐศก จุลศักราช 1228 ความว่า

“เราปรารถนาอยากให้ในหลวงที่กรุงเทพฯ นี้เอาเปนอย่างด้วย เพราะการที่มีพระสนมหลาย 10 หลาย 100 คนนั้นเปนการทับถมเมืองสยามเหมือนต้นหญ้าขึ้นทับต้นเข้าในนา ต้นเข้าไม่งอกงามบริบูรณได้ ด้วยว่าเชื้อดินนั้นรวมกันเข้าบำรุงต้นหญ้าให้งอกงามมากขึ้น เพราะอย่างในหลวงทั้งสองพระองคเจ้านายขุนนางทั้งปวงจึ่งเอาธรรมเนียมนั้นเปนอย่าง จึ่งได้เลี้ยงภรรยามากตามมั่งมี

ธรรมเนียมนั้นเปนที่ให้บังเกิดความอัปยศในกรุงสยาม มีความชั่วหลายอย่างนัก เปรียบเหมือนแวมไปยะคือสัตวอย่างหนึ่งที่มีเรื่องแต่บูราณว่า ดูดเอาโลหิตรเจ้านายขุนนางไพรพลทั้งปวงในกลางคืนให้อ่อนกำลังลงนัก ให้ความดีของคอเวอแมนตนั้นเสื่อมลงทุกอย่าง โอโอ๋ปรารถนาอยากให้ท่านในหลวงได้รู้ได้เหนด้วย ถ้าท่านได้เหนด้วยแล้วท่านคงจะรื้อธรรมเนียมในพระบรมมหาราชวังเสีย”

ความเห็นของหมอบรัดเลย์ถูกปฏิเสธจากรัชกาลที่ 4 ขณะที่แหม่มแอนนาเล่าว่า เมื่อรัชกาลที่ 4 ทรงทราบข่าวที่ลงใน “บางกอกรีคอร์เดอร์” ทรงย้อนหมอบรัดเลย์ไปว่า “ก็ควรห้ามพวกขุนนางชั้นสูงไม่ให้เสนอบุตรสาวให้เป็นสนมแด่พระเจ้าอยู่หัว แล้วเมื่อนั้นพระเจ้าอยู่หัวก็จะเลิกรับบริจาคผู้หญิง”

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4

นอกจากนี้ รัชกาลที่ 4 ทรงเคยขอให้จอห์น เบาว์ริง ช่วยชี้แจงแทนกับผู้ที่ติเตียนการมีพระสนมนางในจำนวนมากของพระองค์ว่านั่นเป็นเรื่องถูกต้องทั้งในทางพุทธศาสนา กฎหมาย และวิถีปฏิบัติของชาวสยาม

แน่นอนว่า หมอบรัดเลย์มีมโนทัศน์แบบ “ผัวเดียวเมียเดียว” อย่างเข้มแข็ง ซึ่งเสริมด้วยแนวคิดที่วางอยู่บนพื้นฐานของคริสต์ศาสนาและวิทยาการแบบตะวันตก จึงทำให้มีทัศนะที่แตกต่างอย่างสุดขั้วกับรัชกาลที่ 4 ซึ่งทรงมีมโนทัศน์แบบผัวเดียวหลายเมีย แม้จะทรงเปิดพระทัยต่อแนวคิดสมัยใหม่และวิทยาการแบบตะวันตก แต่เรื่อง “ผัวเดียวเมียเดียว” นั้นยังเป็นสิ่งใหม่สำหรับชาวสยาม ซึ่งยึดธรรมเนียมผัวเดียวหลายเมียมานานหลายร้อยปี

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

สุรเชษ์ฐ สุขลาภกิจ. (2561). ผัวเดียวเมียเดียว อาณานิคมครอบครัวในสยาม. กรุงเทพฯ : มติชน.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2564