ปฏิวัติ 2475 ส่งผลต่อแนวคิด “ผัวเดียวหลายเมีย” และ “ความเสมอภาค” ของผู้หญิง อย่างไร?

ภาพประกอบเนื้อหา - ภาพสุภาพบุรุษและสุภาพสตรีชาวสยาม (จากหนังสือ The Land of the White Elephant เขียนโดย Frank Vincent) [มีการตกแต่งภาพ]

ภายหลังคณะราษฎร “ปฏิวัติ” เปลี่ยนระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่ระบอบรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 มโนทัศน์ว่าด้วยเสรีภาพและความเสมอภาคได้รับการเน้นย้ำความหมายในระดับชาติ ทั้งระบอบใหม่นี้ก็ยอมรับความต้องการและผลประโยชน์ของราษฎรทั่วไป อย่างน้อยก็ในทางหลักการ รัฐบาลระบอบใหม่เปิดรับหนังสือร้องทุกข์และแสดงความคิดเห็นจากทั้งข้าราชการและราษฎร นับได้ว่าเป็นช่องทางใหม่สำหรับการแสดงความคิดทางสังคมการเมืองถึงรัฐบาลโดยตรง

ปรากฏว่า ในช่วง พ.ศ. 2475-2477 (ปฏิทินเก่า) มีการส่งหนังสือประเภทนี้เข้ามากว่า 750 ฉบับ แม้จะคล้ายคลึงกับการถวายฎีกาตามจารีตการเมืองระบอบเก่า แต่นั่นก็ไม่เคยมีแบบธรรมเนียมที่จะรับฟังความเห็นอย่างกว้างขวางมาก่อน เท่ากับว่ารัฐบาลระบอบใหม่ได้ขยายฐานการแสดงความเห็นให้กว้างขึ้นไป ซึ่งเดิมมีเพียงชนชั้นกลางผู้มีการศึกษาที่แสดงความคิดความอ่านออกมา

ในจำนวนนี้มีบ้างที่แสดงความเห็นเรื่องผัวเมีย แม้จะไม่มากก็ตาม…

หลังการปฏิวัติ รัฐบาลในระบอบใหม่ได้กระตุ้นให้เกิดความรู้สึกนึกคิดในทางสังคมการเมืองในระดับที่สูงขึ้น ไม่เพียงแต่เปิดรับความเห็นเท่านั้น รัฐบาลยังจัดให้มีการประชาสัมพันธ์เรื่องรัฐธรรมนูญและการปกครองในระบอบใหม่ด้วย ต่อความเห็นต่าง ๆ ที่ส่งเข้ามานั้น ไม่ว่าในทางปฏิบัติจะเป็นเช่นไร รัฐบาลก็ได้ตอบรับที่จะนำไปพิจารณา

ภาพบรรดาเมีย ๆ ของท่านเจ้าคุณมาขอเงินในช่วงสิ้นเดือน (การ์ตูนล้อเลียนจากสยามราษฎร์ 2 พฤษภาคม 2465)

สำหรับความเห็นว่าด้วยเรื่องปัญหาสถานะผู้หญิงและครอบครัวก็ปรากฏว่ามีการเสนอให้ออกกฎหมายครอบครัวแบบผัวเดียวเมียเดียว ที่น่าสนใจคือมีการผูกโยงความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเข้ากับครอบครัวด้วย เช่น พระยาพนานุจร (เปล่ง สาครบุตร) ข้าราชการกรมป่าไม้ประจำจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเกิดในครอบครัวสามัญชนและภายหลังได้ไปเรียนวิชาป่าไม้ที่อินเดีย ได้แสดงความเห็นว่าสยามควรต้องเปลี่ยนแปลงขนบครอบครัวให้ตอบสนองต่อระบอบการเมืองใหม่ที่ยึดหลักความเสมอภาค เนื่องด้วยระบบผัวเดียวหลายเมียที่ปฏิบัติมาแต่เดิมคือความไม่เสมอภาค เขาระบุว่า

“เห็นได้ชัดทีเดียวว่าเพราะเหตุว่าชายชาวสยามทุก ๆ ชั้นได้มีสิทธิ์ฟุ่มเฟือยมากเกินไปในเรื่องมีภรรยาได้ตามความพอใจโดยไม่มีข้อจำกัดจำนวนนั้นเองหาใช่อื่นไม่ บ้านเมืองของเราจึงต้องล้าเต้อยู่อย่างที่เป็นอยู่ณบัดนี้ ข้าพเจ้าอยากจะว่าชายเหล่านี้เองโดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตามได้ช่วยกันถ่วงฐานะของชาติให้ต่ำลงแทนที่จะส่งเสริมให้สูงขึ้นอันเป็นหน้าที่…

เพื่อความก้าวหน้าของประเทศในยุคนี้ เราพากันเห็นแล้วว่าธรรมนูญการปกครองแผ่นดินเป็นสิ่งจำเป็นยิ่งที่เราต้องมี และโดยเหตุผลดังที่ได้บรรยายมาแล้วนี้ เรายังมองไม่เห็นหรือว่าเราจำเป็นจะต้องมีกฎหมายจำกัดสิทธิ์ชายด้วย…

เราถือว่าเพราะความจำเป็นสำหรับความก้าวหน้าของชาติไทย เราจึงกล้าเปลี่ยนแปลงการปกครองบ้านเมือง และถ้าเราจะถือว่าเพราะความจำเป็นอันเดียวกันนั่นเองเราจึงหาญให้มีกฎหมายบทนี้สำหรับคนไทยจะไม่เป็นการถูกต้องหรือ? กฎหมายนี้อารยะชนเขาบูชากันว่าดีแล้ว คนไทยเองถ้าได้ปฤกษาหารือและออกเสียงทั่ว ๆ กันก็จะว่าดีเหมือนกัน…

ในการปกครองประเทศเราไม่นิยมให้มีกษัตริย์หรือใครคนเดียวอยู่เหนือกฎหมายแล้วเพราะเราต้องการความเสมอภาค แต่ในการปกครองครอบครัวซึ่งเป็นหน่วยหนึ่งของประเทศ เพราะเหตุใดเราจึงยังนิยมให้ชายทรงไว้ซึ่งสิทธิ์พิเศษอันเป็นความไม่เสมอภาคเลยและเป็นมหาปรปักษ์ต่อความเจริญของครอบครัวหรือประเทศเล่า”

ความรู้สึกนึกคิดทำนองเดียวกันยังเห็นได้ในหนังสือแสดงความเห็นของอัมพร ศรีกาฬสินธุ์ กำนันในจังหวัดขอนแก่น แต่จะเน้นไปที่การร้องขอให้รัฐบาลออกกฎหมายลงโทษชายที่หลอกลวงหญิงไปเสียเนื้อเสียตัวแล้วปฏิเสธไม่รับหญิงนั้นเป็นเมีย เขาไม่ได้แสดงความประสงค์ชัดเจนว่าจะให้ยกเลิกระบบผัวเดียวหลายเมียหรือไม่ เขามองว่าข้อเสนอของตนจะสอดคล้องกับ “ความประสงค์ของทางการปกครอง” ที่ถือหลักความเสมอภาค

แม้แต่พระสงฆ์ก็ออกความคิดในเรื่องนี้เหมือนกัน พระคันธสโร เจ้าอธิการวัดอ้อย จังหวัดแพร่ เสนอต่อรัฐบาลว่าสองสิ่งที่ขัดขวางทางเจริญของสยามในระยะที่อยู่ระหว่างเปลี่ยนแปลงระเบียบการปกครองให้คล้อยไปในทางยุติธรรมคือการมัวเมาในวงไพ่และกามฉันทะ ต่อข้อหลัง พระรูปนี้เห็นว่าควรออกกฎหมายบังคับชายที่จะแต่งงานให้วางเงินขันหมากต่อหญิงไม่ต่ำกว่า 50 หรือ 100 บาท เพื่อเป็นเครื่องประกันว่าจะทำมาหาเลี้ยงกันได้ แต่ก็เช่นกันกับความเห็นข้างต้น ที่ไม่ได้เสนอเรื่องปัญหาผัวเดียวหลายเมียตรง ๆ ประเด็นที่พวกเขากังวลยิ่งกว่าคือการคุ้มครองผู้หญิงและความมั่นคงของครอบครัว


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาบางส่วนจากหนังสือ “ผัวเดียว เมีย…เดียว อาณานิคมครอบครัวในสยาม” เขียนโดย สุรเชษ์ฐ สุขลาภกิจ สั่งซื้อ คลิก!

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 27 สิงหาคม 2564