เผยแพร่ |
---|
แม้ปัจจุบันจะเห็นได้ชัดว่าเป็นสังคมแห่งสิทธิเสรีภาพ ไม่ว่าจะการดำรงชีวิตหรือสิทธิในการออกปากเสียง ความเท่าเทียมของผู้หญิงผู้ชาย แต่ความเสมอภาคระหว่างผู้หญิงและผู้ชายเห็นชัดเจนในกลุ่มคนสมัยใหม่มากกว่า ทว่ากลุ่มคนบางกลุ่มอย่างผู้เฒ่าผู้แก่สมัยก่อนตามต่างจังหวัดหรือชุมชนชนบทบางพื้นที่ยังคงหลงเหลือความเชื่อที่ว่าผู้ชาย “เป็นช้างเท้าหน้า” ครอบครัวอยู่
ครอบครัวนับเป็นสถาบันหนึ่งที่เปิดโอกาสให้ผู้ชายเป็นผู้ที่มีอำนาจเหนือผู้หญิง ส่วนใหญ่แล้วชีวิตผู้หญิงในวัยเยาว์ขึ้นอยู่กับบิดาพอสมรสก็ขึ้นอยู่กับสามี ทำให้ผู้หญิงเชื่อไปตามสังคมว่า หญิงด้อยกว่าชาย ทั้งที่ความเป็นจริงในเรื่องความคิดสติปัญญาทั้งหญิงและชายมีความเท่าทียมกัน เพียงแต่ผู้หญิงสมัยก่อนไม่มีโอกาสได้แสดงสิ่งนั้นออกมา
ย้อนกลับไปสมัยสุโขทัย ผู้ชายมีอำนาจมากในทางเศรษฐกิจ เพราะเป็นผู้หารายได้เลี้ยงดูครอบครัว ขณะเดียวกันนั้นผู้หญิงถูกกำหนดให้อยู่ในครัวและในบ้าน ความสัมพันธ์ทางเพศสมัยสุโขทัยตำหนิผู้ชายที่ทำชู้กับภรรยาคนอื่น แต่ไม่ห้ามการมีภรรยาหลายคน ส่วนผู้หญิงที่มีสามีแล้วจะมีความสัมพันธ์ทางเพศกับชายอื่นอีกไม่ได้ ถ้าใครละเมิดเชื่อว่าจะตกนรกอย่างที่ปรากฏในไตรภูมิพระร่วง ซึ่งได้บรรยายสภาพของนรกไว้อย่างน่ากลัว น่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ผู้หญิงประพฤติปฎิบัติอยู่ในกรอบของศีลธรรม
กระทั่งสมัยอยุธยาผู้ชายก็ยังคงเป็นผู้นำอยู่ในทุกๆด้าน อย่างเช่นผู้นำชุมชน ผู้นำครอบครัว ซึ่งเป็นสิ่งที่กำหนดสิ่งต่าง ๆ เพื่อสนองความต้องการของตน โดยมีกฏหมายเป็นฐานรับรองความถูกต้องความชอบธรรม เห็นได้จากกฏหมายที่เปิดโอกาสเอื้อให้ผู้ชายสามารถมีเมียได้หลายคน ดังที่ปรากฎในกฏหมายลักษณะผัวเมียที่ตราขึ้นในปี พ.ศ. 1904 มีชื่อเรียกว่า “พระไอยการลักษณะผัวเมีย” มีใช้มาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์
เรียกได้ว่าระบบ “ผัวเดียวหลายเมีย” เป็นระบบที่มีในสังคมไทยสมัยก่อนมีมาเป็นเวลานานแล้ว ในกฏหมาย “พระไอยการลักษณะผัวเมีย” ได้กล่าวถึงประเภทของเมียไว้ถึง 3 ประเภท
1. เมียกลางเมือง หมายถึง หญิงอันบิดามารดากุมมือให้เป็นเมียชายหรือภรรยาหลวง แต่ไม่จำเป็นต้องเป็นภรรยาที่พ่อแม่จะยกให้เสมอไปการจะได้เป็นภรรยาหลวงหรือไม่ขึ้นอยู่กับชาย สามีจะยกย่องให้เป็นภรรยาชั้นใดหญิงนั้นก็เป็นภรรยาชั้นนั้น
2. เมียกลางนอก หมายถึง อนุภรรยาหรือเมียน้อย
3. เมียกลางทาษี หรือทาสภรรยา หมายถึง หญิงที่มีทุกข์ยากชายไถ่ตัวมาเลี้ยงให้เป็นภรรยา หรืออาจรวมถึงหญิงที่ถูกฉุดคร่ามาเป็นเมียและทาสรับใช้่
ตามกฏหมายภรรยาทั้ง 3 ประเภทนี้ จะมีกี่คนก็ได้ล้วนแต่ได้รับการยกย่องว่าเป็นภรรยาที่ถูกต้องตามกฏหมายทั้งสิ้น การเปิดโอกาสให้ชายมีเมียได้หลายคนน่าจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ผู้หญิงยอมรับสถานะของตนต่ำกว่าผู้ชาย
นอกจากกฏหมายจะเอื้อให้ชายสามารถมีเมียได้หลายคนแล้ว ผู้ชายยังมีค่านิยมในการมีเมียหลายคน โดยเห็นว่าการมีเมียหลายคนเป็นการแสดงถึงฐานะทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคมชั้นสูง และฐานะทางการเมืองอีกด้วย ซึ่งค่านิยมดังกล่าวส่วนมากจะปรากฏอยู่ในหมู่ชนชั้นนาย เช่นสมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์ตอนต้น จะมีพระมเหสีหลายพระองค์ ประเพณีแบบนี้เกิดขึ้นเนื่องจากความต้องการเสริมอำนาจทางการมือง โดยเอาสตรีที่เป็นบุตรสาวของข้าราชการชั้นผู้ใหญ่มาเป็นเจ้าจอม
อ้างอิง
“ระบบผัวเดียวหลายเมียในสังคมไทย”. ดารารัตน์ เมตตาริกานนท์. ใน ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมีนาคม 2528.
เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 2 เมษายน พ.ศ.2561