ผู้เขียน | ปดิวลดา บวรศักดิ์ |
---|---|
เผยแพร่ |
“บัดสี-บัดเถลิง-บัดซบ” เมื่อมีคนอุทานถึง 3 คำนี้ คงเข้าใจได้ทันทีว่าผู้พูดน่าจะหมายถึงเรื่องน่าอาย ไม่เหมาะสม ประสบเหตุโชคร้ายหรือชีวิตไม่เป็นไปดังหวัง คำว่า “บัดสี-บัดเถลิง-บัดซบ” เป็นคำอุทานที่เคยได้รับความนิยมอย่างมาก แต่ปัจจุบันแทบไม่ปรากฏในชีวิตประจำวัน และถูกมองว่าเป็นศัพท์โบราณที่คนรุ่นก่อน ๆ ใช้กัน ทั้งยังถูกเข้าใจไปว่าเป็นคำไทยแท้ ทว่าแท้จริงแล้ว 3 คำนี้มีต้นกำเนิดจาก “ภาษาเขมร” ต่างหาก
คำแรก “บัดสี” หรือแต่เดิมใน “สัพะ พะจะนะ พาสา ไท” พจนานุกรมของสังฆราชปาลเลอกัวซ์ บาทหลวงฝรั่งเศสที่เข้ามาเผยแพร่ศาสนาคริสต์ในสยาม สมัยรัชกาลที่ 3 เขียนว่า “บัดศรี” เป็นคำภาษาเขมรประสมกับภาษาสันสกฤต โดยคำว่า “บัด” เป็นภาษาเขมร เขียนว่า บาต่ แต่ออกเสียงว่า “บัด” แปลว่า หาย, สูญสิ้น, หมดสิ้น, ไม่มีอยู่ เช่น บาต่ยส (บัดยัวะส์) แปลว่า หมดยศ, เสื่อมยศ
ส่วนคำว่า “ศรี” เป็นภาษาสันสกฤต เขียนว่า ศฺรี หมายถึง ทรัพย์, ความงาม, ความรู้, เกียรติยศ, ความเป็นมงคล, พระนามชายาของพระวิษณุ (ผู้เป็นเทพีแห่งโชคลาภ)
เมื่อนำทั้ง 2 คำมารวมกัน จึงทำให้เกิดความหมายว่า “ทำให้ไม่มีศรี” หรือ “ทำให้เสื่อมศรี” ซึ่งก็คือทำให้ไม่มีความมงคล ไม่มีเกียรติยศ นั่นเอง
หลังจากทราบความหมายของ “บัด” แล้ว หากให้เดาถึงคำว่า “บัดเถลิง” ก็ไม่ยากนัก เพราะรู้อยู่แล้วว่าบัดหมายถึงไม่มีอยู่ สูญสิ้น ขณะเดียวกันเถลิงก็เป็นคำภาษาเขมรซึ่งไทยเรารับมาใช้อีกทีหนึ่ง ซึ่งแผลงมาจากคำว่า “เฬีง” มีความหมายว่า ขึ้น ส่วนในภาษาไทยก็แปลงสารแปลว่า ทำให้ขึ้น
ดังนั้น “บัดเถลิง” เมื่อผสมรวมเป็นคำใหม่ จึงหมายถึง เสื่อมจากการขึ้นสูง หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ “ใฝ่ต่ำ” นั่นเอง
ด้านคำว่า “บัดซบ” คนไทยมักใช้เป็นคำอุทานหรือพูดถึงเหตุการณ์ที่พบเจอในแง่ร้าย เช่น ชีวิตบัดซบ หรือ เลวบัดซบ อย่างที่อธิบายไป คำว่าบัดคือไม่มีหรือเสื่อม ส่วนคำว่า “ซบ” ไม่เป็นที่แน่ชัดว่าทำไมถึงใช้คำนี้ต่อท้าย เพราะซบในภาษาไทยไม่มีความหมายเกี่ยวข้องกับการสูญเสีย
แต่ถ้าหากพูดถึงในภาษาเขมร อาจสันนิษฐานได้ว่ามาจากคำว่า “สพฺพ” ออกเสียงว่าซ็อบ คำนี้เป็นคำหนึ่งในภาษาเขมรซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากภาษาบาลีอีกทีหนึ่ง หมายถึง ทั้งหมด, ทั้งปวง, ทั่ว ๆ ไป, ทุก
เมื่อนำทั้งคำว่าบัดและซบในความหมายของ “ภาษาเขมร” ที่หมายถึง “การเสื่อมไปทุก ๆ อย่าง” มารวมกันก็เข้าเค้า เกี่ยวข้องกับความหมายที่เราใช้ในปัจจุบัน เช่น ชีวิตบัดซบ ก็คือ ชีวิตที่หมดสิ้นทุกสิ่งทุกอย่าง เป็นต้น
อ่านเพิ่มเติม :
- “จำวัด-จำพรรษา-จำศีล” ทำไมต้องจำ “จำ” คำเขมรที่ยืมมาใช้ในภาษาไทย
- บางปะกง แม่น้ำกุ้งชุม กลายคําจากภาษาเขมร?
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
ศานติ ภักดีคำ. แลหลังคำเขมร-ไทย. กรุงเทพฯ : มติชน. 2562.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 2 ตุลาคม 2566