ร้านขายข้าวแกง จุดฝากท้องอิ่มอร่อยของคนไทย มีมาตั้งแต่เมื่อไหร่?

ร้านขายข้าวแกง
ร้านข้าวราดแกงในกรุงเทพฯ ภาพถ่ายเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2007 (Photo by PORNCHAI KITTIWONGSAKUL / AFP)

“ร้านขายข้าวแกง” แหล่งฝากท้องอิ่มอร่อยของ “คนไทย” มีมาตั้งแต่เมื่อไหร่?

ส. พลายน้อย เขียนอธิบายใน “กระยานิยาย” ว่า คนไทย ในอดีตไม่นิยมกินข้าวนอกบ้าน เพราะสมัยก่อนทำงานนอกบ้านเช่นทำไรทำนาก็เตรียมข้าวไปกินเอง หรือมีคนเอาไปส่ง คนที่กินข้าวนอกบ้านมีแต่พวกข้าราชการ

Advertisement

ปรากฏหลักฐานในสมัยกรุงศรีอยุธยาว่า “ร้านชำหุงข้าวแกงขายคนราชการ” โดยตั้งร้านอยู่บริเวณใกล้กับพระราชวัง ข้าวแกงในอดีตจึงนิยมกินกันในหมู่ข้าราชการ ที่ออกจากบ้านมาทำงานหลวง จะกลับไปกินข้าวที่บ้านคงไกลหรือกลับไม่ได้

ส. พลายน้อย อธิบายว่า ข้าวแกงน่าจะมีมากขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 มีเรื่องที่เล่าไว้ในหนังสือพิมพ์ยุคนั้นว่า บางคนขายข้าวแกงจนร่ำรวย เช่น ตาเพ็ง ขายข้าวแกงจนมีเงินสร้างวัดไว้ที่บ้านบ่อโพง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เรียกว่า วัดราษฎร์บำเพ็ญ ตามเรื่องว่า ในครั้งนั้นมีแต่ตาเพ็งกับแม่พุก 2 คนเท่านั้นที่ตั้ง “ร้านขายข้าวแกง” อยู่ที่สี่แยกบ้านหม้อ เป็นร้านชื่อดังของที่นั่น

การขายข้าวแกงสมัยรัชกาลที่ 5 ไม่ได้ตักแกงมาราดข้าว แต่ทำเป็นสำรับ จัดของใส่จานชามตั้งบนโต๊ะไม้ คือ โต๊ะลาวทาชาดสีแดง ๆ และบ้างก็เป็นโต๊ะทองเหลืองหรือที่เรียกว่า โตก เป็นพานขนาดใหญ่ มีทั้งสำรับคาว และสำรับหวาน ราคาที่ 1 สลึง

สำรับโต๊ะไม้ ราคา 1 สลึงมีแกง 1 ถ้วย ผัด 1 จาน น้ำพริก 1 ถ้วย ผัก 1 จาน ปลาย่าง 1 จาน หากจ่ายเพิ่มอีก 1 สลึง ได้แกงเผ็ด แกงจืดเพิ่ม หากอยากกินหรูขึ้นอีกก็ต้อง “upgrade” เป็นสำรับโต๊ะทองเหลือง

สำรับโต๊ะทองเหลือง จะมีกับข้าวมากกว่าสำรับโต๊ะไม้ ได้นั่งบนพรมเจียมอย่างดี กระโถนและขันน้ำเป็นทองเหลือง ขณะที่สำรับโต๊ะไม้ ต้องนั่งบนเสื่อกระจูด กระโถนและขันน้ำเป็นดินเผาถูก ๆ

“ใครกินโต๊ะทองเหลืองก็ออกจะโก้หน่อย แสดงว่าเป็นคนที่ค่อนข้างจะมีรับประทาน” ส. พลายน้อย อธิบาย

ร้านอาหารเจในจังหวัดภูเก็ต ภาพถ่ายเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2003 (Photo by SAEED KHAN / AFP)

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 20 ตุลาคม 2563