ผ่าตำนานการแย่งปราสาทระหว่างชาวญัฮกุร กับชาวเขมร สัมพันธ์กับทวารวดีหรือไม่ อย่างไร?

นักดนตรีสตรี ศิลปะทวารวดี อายุราวพุทธศตวรรษที่ 13-14

การสลายตัวของ “รัฐทวารวดี” เป็นเรื่องที่สร้างความฉงนสงสัยและถือเป็นคำถามใหญ่สำหรับนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดีเสมอมา ต่อประเด็นนี้นั้น มีข้อสันนิษฐานอยู่ 2 แนวคิดหลักๆ คือ แนวคิดแรก รัฐทวารวดีต้องล่มสลายไปเพราะการรุกรานของอาณาจักรพุกาม ซึ่งถือเป็นแนวคิดเก่า (ดำรงราชานุภาพ, 2510) และไม่ได้รับการยอมรับแล้วในปัจจุบัน ส่วนแนวคิดที่ 2 เชื่อว่าเป็นผลมาจากการรุกรานของกัมพูชา (เขมร) ซึ่งแนวคิดหลังนี้ได้รับความเชื่อถือมากในปัจจุบัน

อย่างไรก็ดี หลังจากการสลายตัวของรัฐทวารวดีแล้ว ไม่มีใครทราบว่าประชากรในรัฐทวารวดีที่พูดภาษามอญโบราณนั้นหนีไปไหน มีนักวิชาการบางคนสันนิษฐานว่า บางส่วนอาจหนีไปในเขตเมืองมอญของพม่าเช่นที่หงสาวดี ในขณะที่บางส่วนอาจอพยพหนีขึ้นไปอยู่บนภูเขาในเขตรอยต่อระหว่างภาคกลางกับอีสาน

Advertisement

ธิดา สาระยา นักประวัติศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ทวารวดี ได้ตั้งสมมติฐานว่า เป็นไปได้ว่า ชาวทวารวดีอาจเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงอันเนื่องมาจากการเข้ามาของวัฒนธรรมต่างแบบ คนต่างถิ่น ซึ่งในบรรดากลุ่มคนพวกนี้ บ้างก็สามารถประสมกลมกลืน บ้างก็ต้อง “ล่าถอย” อยู่เฉพาะกลุ่มของตนเอง จนกลายเป็นคนส่วนน้อยที่หลงเหลืออยู่ดังพวกชาวเนียะกุร ซึ่งได้ถอยร่นไปอยู่บริเวณป่าเขาในแถบจังหวัดเพชรบูรณ์ ชัยภูมิ และนครราชสีมา ซึ่งถือเป็น “ทำเลที่เป็นแผ่นดินไม่มีเจ้าของ” (no man’s land) (ธิดา สาระยา, 2532 : 177-179) ซึ่งในเบื้องต้นนี้ ขอสันนิษฐานว่าสาเหตุของการ “ล่าถอย” ของชาวเนียะกุรเกิดจากการเข้ามาของอาณาจักรกัมพูชา

ถึงแม้ว่าจะมีความเป็นไปได้ที่เดิมชาวญัฮกุรจะเป็นประชากรในรัฐทวารวดี หรืออย่างน้อยก็มีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับกลุ่มคนที่พูดมอญโบราณสมัยทวารวดี แต่ที่ผ่านมาก็ยังไม่เคยมีการสำรวจแหล่งโบราณคดีในพื้นที่ที่ชาวญัฮกุรอยู่อาศัยอย่างจริงจัง และเก็บข้อมูลประเภทนิทานตำนานท้องถิ่นเพื่อหาความเชื่อมโยงดังกล่าว

ที่สำคัญจากข้อสันนิษฐานของธิดาข้างต้นนั้น ทำให้เกิดคำถามว่า ชาวเนียะกุรหรือชาวญัฮกุรนั้น เป็นกลุ่มคนที่ล่าถอยไปอยู่ตามป่าเขาเข้าไปในแผ่นดินที่ไม่มีเจ้าของจริงหรือไม่…

…แม้ว่าเรื่องเล่าประเภทนิทานหรือตำนานจะถูกวิพากษ์วิจารณ์อยู่บ่อยครั้งถึงเรื่องความน่าเชื่อถือ แต่ถ้านิทานหรือตำนานดังกล่าวทิ้งร่องรอยบางอย่างที่ไม่น่าจะตกค้างอยู่ในปัจจุบันนั้น ก็อาจมีความเป็นไปได้ว่านิทานหรือตำนานนั้นจะมีความน่าเชื่อถืออยู่บ้างไม่มากก็น้อย

“ญัฮกุร” หรือ “เนียะกุร” (Nyah-Kur) เป็นกลุ่มคนที่พูดภาษาในสาขาโมนิก (Monic) หรือมอญ จัดอยู่ในกลุ่มภาษามอญโบราณ (Old Mon) มีบางคำที่แชร์ร่วมกับมอญปัจจุบัน แต่ต่างกันมากพอควร ทั้งคำว่า “เนียะกุร” และ “ญัฮกุร” เป็นคนที่ใช้เรียกตัวเองแปลว่า “คนภูเขา” คำว่า “ญัฮกุร” นิยมใช้กันมากในเขตอำเภอเทพสถิต

ส่วนทางการไทยเรียกว่า “ชาวบน” (พิพัฒน์ กระแจะจันทร์, 2556 : 22) ในปัจจุบันชาวญัฮกุรเพิ่งจะเริ่มมาเรียกตัวเองอย่างจริงจังว่าเป็น “ชาวมอญโบราณ” ซึ่งเป็นสิ่งที่เพิ่งประดิษฐ์ขึ้น อันเป็นผลมาจากการท่องเที่ยวและต้องการสร้างอัตลักษณ์ใหม่

ในความเห็นของ เจราร์ด ดิฟโฟลธ (Gérard Diffloth) ผู้เชี่ยวชาญภาษามอญ-เขมร เชื่อมั่นว่าภาษาพูดของชาวญัฮกุรเป็นภาษามอญโบราณที่ใกล้เคียงมากกับภาษามอญสมัยทวารวดี (Dvaravati-Old-Mon) ดิฟโฟลธเชื่อว่าภาษาของญัฮกุรแยกออกจากภาษามอญโบราณตั้งแต่สมัยพระเจ้าจันชิตถา ราวคริสต์ศตวรรษที่ 11 ทำให้เกิดเสียงแบบใหม่ขึ้นมา (Diffloth, 1984)

นอกจากนี้ยังพบว่า ในภาษาญัฮกุรยังมีภาษาเขมรปนเป็นจำนวนมาก ซึ่งสะท้อนว่าทั้ง 2 กลุ่มนี้เคยอาศัยอยู่ร่วมกันมาก่อน แต่ที่น่าสังเกตคือ ในปัจจุบันชาวญัฮกุรไม่ได้อาศัยอยู่ใกล้กับเขตของชาวเขมร แต่ยังคงเรียกชาวเขมรด้วยเสียงโบราณว่า “คเมร์” ซึ่งสะท้อนถึงเสียงแบบก่อนในรุ่นสมัยก่อนเมืองพระนครของเขมร คือ “เกฺมร” ก่อนที่เสียง “ค” หรือ “ก” (k) จะเปลี่ยนมาเป็นเสียง “ข” (kh) หรือ “เขฺมร” แสดงว่าชาวญัฮกุรจะต้องรู้จักชาวเขมรมานานมากๆ และไม่ได้รับรู้ชื่อผ่านภาษาไทย

จากการตระเวนสัมภาษณ์นิทานตำนานว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างชาวญัฮกุรกับชาวเขมรนั้น ผู้เขียนพบเรื่องเล่าตำนานว่าด้วยการที่ชาวญัฮกุรสู้รบและถูกขับไล่โดยชาวเขมร (คเมร์) จำนวน 3 เรื่องด้วยกัน ซึ่งมีความแตกต่างกันในรายละเอียดบางประการเท่านั้น แต่มีโครงเรื่องคล้ายกัน

เรื่องแรก ได้จากการสัมภาษณ์ นายเติม โย้จัตุรัส อายุ 73 ปี (เมื่อปี 2555) อาศัยอยู่ที่บ้านไร่ ซึ่งเล่าให้ฟังว่า “ชาวญัฮกุรเคยไปช่วยทำสงครามกับลพบุรี และทำสงครามกับชาวเขมร ซึ่งการรบกับเขมรรบกันมานานมาก เรื่องนี้เป็นเรื่องเล่าเก่าๆ นานมากจนไม่รู้เรื่องว่าเริ่มต้นเมื่อไหร่” (สัมภาษณ์ นายเติม โย้จัตุรัส, 2555)

เรื่องถัดมาเล่าโดย นายสวิทย์ วงษ์ศรี อายุ 55 ปี (เมื่อปี 2555) อาศัยอยู่ที่บ้านไร่ ได้เล่าให้ฟังว่า คนเฒ่าคนแก่รุ่นปู่รุ่นย่าเล่ามาว่า “ในสมัยก่อนชาวญัฮกุรเคยทำสงครามแย่งปราสาทกับชาวเขมร ชาวญัฮกุรแพ้จึงต้องอพยพหนีขึ้นมาอยู่บนภูเขา” (สัมภาษณ์ นายสวิทย์ วงษ์ศรี, 2556)

เรื่องสุดท้าย นายพนม จิตร์จำนงค์ ปัจจุบันเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านบ้านไร่ อายุ 42 ปี ได้เล่าว่า “นานมาแล้ว เมื่อปราสาทสร้างเสร็จ จึงมีการแข่งกันว่าใครจะเป็นเจ้าของ จึงคิดแข่งกันเขียนชื่อลงบนปราสาท ชาวญัฮกุรเขียนตัวหนังสือช้ากว่าชาวเขมรจึงแพ้ ต้องยกปราสาทให้กับชาวเขมร” เรื่องนี้นายพนมกล่าวว่าตนได้ยินมาจากยายแก่คนหนึ่งที่บ้านวังอ้ายโพธิ์ ซึ่งเป็นหมู่บ้านเก่าแก่ของชาวญัฮกุรเช่นกัน (สัมภาษณ์ นายพนม จิตร์จำนงค์, 2557)

ตำนานทั้ง 3 เรื่องมีจุดร่วมกันก็คือ ชาวญัฮกุรมีปัญหาต้องทำสงครามกับชาวเขมร ปราสาทที่แย่งกันนี้อาจเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นเมืองและอำนาจทางการเมือง แต่การที่เล่าว่าชาวญัฮกุรไปช่วยรบ เราอาจมองได้ 2 อย่าง คือ ชาวญัฮกุรอยู่ที่ตรงนี้คือเทพสถิตแล้วเข้าร่วมรบกับชาวรามัญที่เมืองลพบุรี หรืออีกทางคือชาวญัฮกุรอยู่ที่เมืองลพบุรีแล้วช่วยรบกับเขมรที่เมืองนั้น

ส่วนเรื่องการเขียนตัวหนังสือช้ากว่านั้น อาจตีความได้ว่าเป็นการแข่งขันกันในเชิงวัฒนธรรมหรือการเมือง ซึ่งความก้าวหน้ากว่าของชาวเขมรนี้เองที่ทำให้ชาวญัฮกุรต้องพ่ายแพ้ในที่สุด ผลจากการพ่ายแพ้นี้ก็คือทำให้ต้องยกปราสาท หรือก็คือสัญลักษณ์ของความเป็นเมืองให้กับเขมรนั่นเอง

โดยสรุปถ้าเชื่อว่าตำนานคือประวัติศาสตร์ที่สืบทอดในแบบมุขปาฐะ ซึ่งแน่นอนว่าอาจจะต้องมีการผิดเพี้ยนไปบ้าง แต่จากแก่นเรื่องที่เหลือและเหตุผลที่ว่ามาว่าชาวญัฮกุรเรียกชื่อชาวเขมรด้วยคำเก่าคือ “คเมร์”

ดังนั้น ตำนานทั้ง 3 เรื่องนี้ก็อาจจะเป็นร่องรอยอันน้อยนิดของชาวญัฮกุร หรือในสมัยโบราณอาจถูกรวมเรียกว่า “รามัญ” ในการรับรู้ของอาณาจักรกัมพูชา

อย่างไรก็ดี สังเกตได้ว่า นอกเหนือไปจากตำนานแย่งปราสาทกับชาวเขมรแล้ว ชาวญัฮกุรไม่มีตำนานใดๆ ที่กล่าวถึง ชาวรามัญ ชาวมอญ เรื่องราวเกี่ยวกับบ้านเมืองเก่าแก่อื่นๆ ในช่วงสมัยทวารวดีเลย เท่าที่ผู้เขียนพบมักจะเป็นนิทานตำนานอื่นๆ ที่ว่าด้วยการเพาะปลูก ที่มาของข้าว ลูกเดือย และการล่าสัตว์เป็นหลัก จึงทำให้ผู้เขียนยังคงมีความสงสัยต่อความสัมพันธ์ระหว่างชาวญัฮกุรกับชาวรามัญสมัยทวารวดีอยู่

คราวนี้นอกจากหลักฐานประเภทตำนานแล้ว ในเขตที่ชาวญัฮกุรอาศัยอยู่ยังจะมีหลักฐานใดบ้างที่สัมพันธ์กับ “ทวารวดี” หรือ “ละโว้”

ร่องรอยโบราณวัตถุในบ้านชาวญัฮกุร

เมื่อพิจารณาจากหลักฐานที่เป็นวัตถุกันบ้าง เป็นที่น่าเสียดายว่า จากการสำรวจพื้นที่เป็นวงกว้างในเขตอำเภอเทพสถิตและข้างเคียงในเขตหมู่บ้านของชาวญัฮกุร ผู้เขียนไม่พบโบราณวัตถุสถานที่แสดงร่องรอยของวัฒนธรรมทวารวดีโดยตรง หากพบโบราณวัตถุอยู่กลุ่มหนึ่งที่กระจายตัวอยู่ในเขตเทือกเขาพังเหยอันเป็นที่ตั้งของหมู่บ้านชาวญัฮกุร ซึ่งในภาษาปัจจุบันนักโบราณคดีได้จัดให้เป็นของเขมร

แหล่งโบราณคดีที่สำรวจพบมีจำนวน 5 แหล่งด้วยกัน (ดูแผนที่ประกอบ) ได้แก่ 1. แหล่งโบราณคดีบนเส้นทางเกวียนใกล้ช่องชิด 2. แหล่งโบราณคดีไร่นายประยูร 3. แหล่งโบราณคดีห้วยหินลับ 4. แหล่งโบราณคดีที่ราบเหนือถ้ำคาว ทั้ง 4 แห่งนี้อยู่ในเขตอำเภอเทพสถิต จังหวัดชัยภูมิ ส่วนแห่งที่ 5. แหล่งโบราณคดีโคกโบราณ อยู่ในเขตอำเภอลำสนธิ จังหวัดลพบุรี (พิพัฒน์ กระแจะจันทร์, 2556; 2559)

ถ้าสังเกตจากแผนที่จะพบว่าแหล่งโบราณคดีทั้ง 5 แห่งนี้มีการเกาะตัวอยู่ในเขตสันเขาของเทือกเขาพังเหยและอยู่ใกล้กับช่องเขาที่เรียกว่า “ช่องชิด” ซึ่งเป็นเส้นทางโบราณที่ชาวญัฮกุรใช้สำหรับการขึ้นลงระหว่างเขตที่ราบภาคกลางกับภาคอีสาน

หลักฐานที่พบจากแหล่งโบราณคดีทั้ง 5 แห่ง ในภาพรวมแล้วพบเศษเครื่องปั้นดินเผาเนื้อแกร่งเคลือบสีน้ำตาล ซึ่งผลิตจากแหล่งเตาบ้านกรวด จังหวัดบุรีรัมย์ บางครั้งเรียก “ไหเขมร” กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ 17-18

อีกกลุ่มคือเศษเครื่องปั้นดินเผาจากจีนในสมัยราชวงศ์ซ่งใต้ (Southern Song Dynasty) พบมากที่แหล่งโบราณคดีใกล้ช่องชิด เช่น ชิ้นส่วนตลับสีขาวจากเตาเต๋อฮั่ว มณฑลฝูเจี้ยน มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 17-18 ชิ้นส่วนของเครื่องเคลือบสีเขียวจากเตาหลงเฉวียน มณฑลฝูเจี้ยน ปลายสมัยราชวงศ์ซ่งใต้ มีอายุราวปลายพุทธศตวรรษที่ 18 และชิ้นส่วนของกระปุกเคลือบสีน้ำตาลจากเตาสือเจ้า มณฑลฝูเจี้ยน สมัยราชวงศ์ซ่งใต้เช่นกัน มีอายุราวต้นพุทธศตวรรษที่ 193

ถ้าเดินลงไปจากช่องชิด จะพบแหล่งโบราณคดีแห่งหนึ่งมีชื่อว่าโคกโบราณ ซึ่งเป็นบริเวณที่พบเครื่องปั้นดินเผาเนื้อแกร่งแบบไหเขมร ปัจจุบันแหล่งโบราณคดีแห่งนี้กำลังถูกทำลายจากการทำการเกษตร จากโคกโบราณ ชาวบ้านสมัยก่อนจะเดินลัดเลาะไปตามเส้นทางขนานกับลำน้ำสนธิ ผ่านบ้านกุดตาเพชร ซึ่งพบการตั้งถิ่นฐานมาตั้งแต่สมัยหินใหม่ (เมื่อราว 4,000-5,000 ปีมาแล้ว)

ถัดลงมาทางใต้ใกล้กับทางหลวงจึงจะพบปราสาทอิฐหลังหนึ่ง ชาวบ้านสมัยหลังเรียกว่า “ปรางค์นางผมหอม” สร้างขึ้นในศิลปะแบบบาปวน กำหนดอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ 16 จากประวัติศาสตร์บอกเล่าพบว่า เมื่อหลายสิบปีมาแล้ว ปรางค์นางผมหอมนี้เป็นเหมือนกับชุมทางของคาราวานวัวก่อนที่จะเดินทางไปยังเมืองลพบุรี ใกล้กับปรางค์นางผมหอมไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือมีช่องเขาอยู่ช่องเขาหนึ่งเรียกว่า “ช่องสุขสำราญ” เป็นเส้นทางโบราณเช่นกัน แต่ไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าใช้กันมาตั้งแต่เมื่อใด ไม่พบหลักฐานทางโบราณคดีประเภทเครื่องถ้วย

ส่วนทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของปรางค์นางผมหอม มีช่องเขาอีกช่องหนึ่งเรียกว่า “ช่องตะพานหิน” เป็นเส้นทางโบราณที่คนสมัยก่อนนิยมใช้กัน เท่าที่สำรวจไม่พบแหล่งโบราณคดี แต่ชาวบ้านเล่าว่าเคยพบพวกเศษเครื่องถ้วยแถวหมู่บ้านตะพานหิน ในอนาคตคงต้องสำรวจอีกครั้ง อย่างไรก็ดี สำหรับชาวญัฮกุรในเขตอำเภอเทพสถิตนิยมใช้ช่องชิดมากกว่า

ถ้าพิจารณาจากการกระจายตัวของปราสาทเขมรจะพบว่า ทางตะวันออกของอำเภอเทพสถิต ข้ามเข้าไปในเขตอำเภอบำเหน็จณรงค์จะพบที่มีอายุระหว่างพุทธศตวรรษที่ 16-19 อยู่หลายแห่ง ได้แก่ โบราณสถานสบน้ำมัน ปรางค์บ้านตาล กู่บ้านหัวสระ และวัดหนองอีหล่อ ปรางค์บ้านตาลเป็นปราสาทที่ตั้งอยู่ติดกับหนองน้ำที่ใช้สำหรับการผลิตเกลือสินเธาว์

ชาวญัฮกุรเล่าว่าในอดีตพวกตนจะเดินทางไปยังบ้านชวนเพื่อซื้อเครื่องใช้ หม้อดิน เครื่องถ้วยจีน อาหารแห้ง และเกลือ ซึ่งเกลือนี้ก็ได้มาจากบ้านตาลนั่นเอง

ถ้าตัดทางตรงไปทางตะวันตกของอำเภอเทพสถิตจะเป็นเมืองศรีเทพ ซึ่งเป็นเมืองสมัยทวารวดี-เขมรก่อนที่จะทิ้งร้างไปเมื่อราวปลายพุทธศตวรรษที่ 18 ที่เมืองศรีเทพนี้อย่างที่ทราบกัน ปรากฏปราสาทในศิลปะแบบบาปวน ซึ่งมักถือกันว่าสร้างขึ้นช่วงรัชกาลพระเจ้าสูรยวรมันที่ 1 หรืออาจหลังจากนั้น

ชาวญัฮกุรเล่าให้ฟังด้วยว่าในสมัยก่อนชาวญัฮกุรบางหมู่บ้าน ถ้าอดอยากข้าวจะเดินทางไปยังเมืองศรีเทพ โดยผ่านทางช่องเขาที่มีชื่อว่า “หนองปล้อง” ที่ตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามกับช่องชิดใช้เวลาเดินประมาณ 2 วัน โดยนำพวกของป่าต่างๆ ไปแลก ผู้เขียนได้สำรวจบริเวณหนองปล้องกับทางองค์การบริหารส่วนตำบลกุดตาเพชร น่าเสียดายที่ยังไม่พบแหล่งโบราณคดีบริเวณดังกล่าว ซึ่งควรจะต้องมีการสำรวจตรวจสอบอย่างละเอียดต่อไป เพื่อให้เข้าใจเส้นทางการเดินทางสมัยโบราณ

ดังนั้น ถึงแม้ว่าในเขตที่ชาวญัฮกุรผู้เป็นตัวแทนของภาษามอญโบราณแบบทวารวดีที่มีชีวิตจะพบหลักฐานทางโบราณคดีที่เก่าไปถึงพุทธศตวรรษที่ 17-18 แต่กับไม่พบหลักฐานที่เกี่ยวกับวัฒนธรรมทวารวดีแต่อย่างใด…

สำหรับกรณีข้อสันนิษฐานการล่มสลายของทวารวดีคลิกอ่านเพิ่มเติมเรื่อง : ข้อสันนิษฐาน ‘รัฐทวารวดี’ ล่มสลาย เพราะกัมพูชานำ ‘กลียุค’ มาสู่ชาว ‘รามัญ’

หมายเหตุ : เนื้อหานี้คัดส่วนหนึ่งจากบทความ “สงครามแย่งปราสาทในตำนานชาวญัฮกุร (เนียะกุร)
และข้อสันนิษฐานการสลายตัวของรัฐทวารวดี” เขียนโดย ผศ. พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ เผยแพร่ในนิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤศจิกายน 2561 จัดย่อหน้าใหม่และเน้นคำใหม่โดยกองบรรณาธิการ

บรรณานุกรม

พิพัฒน์ กระแจะจันทร์. 2556. รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ โครงการศึกษาและฟื้นฟูประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์กลุ่มเลอเวือะ และมอญ. ภายใต้โครงการศึกษาเพื่อพัฒนาภาษาและภูมิปัญญาของกลุ่มชาติพันธุ์บนฐานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น : การบูรณาการความรู้จากงานวิจัยท้องถิ่นสู่ความรู้เชิงวิชาการ. กรุงเทพฯ : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.).

______. 2556. รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ โครงการศึกษาและฟื้นฟูประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์กลุ่มเลอเวือะ และมอญ. ภายใต้โครงการศึกษาเพื่อพัฒนาภาษาและภูมิปัญญาของกลุ่มชาติพันธุ์บนฐานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น : การบูรณาการความรู้จากงานวิจัยท้องถิ่นสู่ความรู้เชิงวิชาการ. กรุงเทพฯ : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) (เอกสารอัดสำเนา)

Diffloth, Gérard. 1984. “The Dvaravati Old Mon Language and Nyah Kur,” in Monic language studies, vol. 1. Bangkok, Thailand : Chulalongkorn University Printing House.

สัมภาษณ์

เติม โย้จัตุรัส อายุ 73 ปี (ชาวญัฮกุร)…, สัมภาษณ์วันที่ 11 พฤศจิกายน 2555

ปริวรรต ธรรมปรีชากร ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑสถานเครื่องถ้วยเอเชียตะวันออกเฉียงใต้, สัมภาษณ์วันที่ 20 มกราคม 2556

พนม จิตร์จำนง อายุ 42 ปี …, สัมภาษณ์วันที่ 18-20 พฤศจิกายน 2555, วันที่ 5-8 มกราคม 2556

สวิทย์ วงษ์ศรี อายุ 55 ปี (ชาวญัฮกุร) …, สัมภาษณ์วันที่ 18-20 พฤศจิกายน 2555, วันที่ 5-8 มกราคม 2556


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 25 มีนาคม 2565