ผู้เขียน | วิภา จิรภาไพศาล |
---|---|
เผยแพร่ |
สิงห์ สิงหเสนา มีนามสกุลคล้ายๆ เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) แต่ทั้งสองไม่ได้มีความเกี่ยวข้องใดกัน “สิงห์ สิงหเสนา” ผู้นี้เป็นใคร ผู้ใช้นามปากกาว่า เสมา ไชยกำแหง จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น เขียนอธิบายเรื่องนี้ไว้ใน “สิงห์เมืองปาก (สิงห์ สิงหเสนา) จากสามัญชนสู่การเป็นเทพเจ้า ‘คนดีจังหวัดร้อยเอ็ด’ “ (ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนมกราคม 2545) ด้วยเห็นว่าเป็นคนดีทำประโยชน์ให้บ้านเมือง แต่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักเท่าใดนัก ซึ่งขอคัดมาเพียงบางส่วนดังนี้
ร้อยเอ็ดเป็นเมืองเก่าแก่มีตำนานกล่าวถึงความเจริญมาแต่โบราณ สังเกตได้จากชื่อเมืองนั้นก็นำมาจากกลอนโบราณที่ว่า “เมืองร้อยเอ็ดสิบเอ็ดปักตู สิบแปดป่องเอี้ยม ซาวเก้าแม่ขั่นใด”
เนื่องจากเมืองร้อยเอ็ดมีวิหารวิจิตรตระการสูง 6 ชั้น มีบันได 29 ชั้น หน้าต่าง 18 ช่อง มีประตู 101 ประตู ตัววิหารสร้างด้วยไม้ เดิมทีเมืองนี้มีชื่อว่าเมืองสาเกดนคร เป็น 1 ในเมืองเอกทั้ง 4 ในสมัยพุทธกาล อันประกอบด้วย 1.เมืองสาเกตนคร (จังหวัดร้อยเอ็ด) 2.เมืองสากลนคร (จังหวัดสกลนคร) 3.เมืองมุกขนคร (เมืองธาตุพนม-เมืองป่ารวก) 4.เมืองอินทรปัฏฐมตร (เมืองพนมเปญ)
ดังนั้น เมื่อพระมหากัสสปเถระได้นำพระอุรังคธาตุมาประดิษฐานไว้ ณ ดอยกัปปนคีรี หรือภูกำพร้า จึงได้มอบหมายให้นครใหญ่ทั้ง 4 นคร ผลัดเปลี่ยนเวรดูแลทำนุบำรุงพระอุรังคธาตุนครละ 3 ปี
ที่มาของชื่อ “ร้อยเอ็ด”
ชื่อเมืองร้อยเอ็ดได้ตั้งขึ้นภายหลังหลายร้อยปี เนื่องจากตั้งชื่อเมืองจากบันทึกใบลานจารด้วยภาษาอีสานโบราณ พออ่านมาถึงวรรคที่ว่า “มีประตู 101 ประตู” ก็เข้าใจกันว่ามีประตูร้อยเอ็ดประตูจริงๆ แต่แท้ที่จริงแล้วการเขียนภาษาอีสานโบราณจะเขียน เลขสิบเอ็ด โดยเขียนเลข 10 ก่อน ตามด้วยเลข 1 จังหวัดร้อยเอ็ดจึงน่าจะมีชื่อว่าจังหวัดสิบเอ็ดมากกว่า
เหตุที่เอาตัวเลขมาตั้งชื่อจังหวัดก็เพราะคําว่า “ประตู” ในที่นี้หมายถึงมีเมืองขึ้นไปมาหาสู่กันถึงสิบเอ็ดเมือง ซึ่งแสดงให้เห็นความเจริญของจังหวัดร้อยเอ็ดแต่โบราณเป็นอย่างดี จารึกในใบลานยังบอกด้วยว่า เมืองร้อยเอ็ดมีความอุดมสมบูรณ์ทำนองเดียวกับจารึกสุโขทัยที่ว่า ในน้ำมีปลาในนามีข้าว แต่ที่แตกต่างก็คือปลาที่จังหวัดร้อยเอ็ดนั้นตัวใหญ่มาก
“ข่อยอยู่ก้ำร้อยเอ็ดคําน้ำชุ่ม ปลาทุ่มบ้อนคือแข้แกว่งหาง ปลานางบ้อนคือทงฟ้าลั่น จักจั่นร้องคือฆ้องลันยาม”
ดูเอาเถิดใหญ่ไม่ใหญ่เวลาปลาขึ้นมาหายใจเสียงดังเหมือนจระเข้แกว่งหาง เหมือนเสียงฟ้าร้องปานนั้น นอกจากนี้เมืองร้อยเอ็ดยังเป็นผู้ส่งออกม้าฝีเท้าดีเรียกว่า ม้าพลาหก หรือม้าแม่แหล, ม้าแม่รัว ใครอยากเห็นว่าม้านี้มีลักษณะอย่างไรให้ไปหาดูได้ที่ลายจุมเจีย ที่ฝาผนังด้านทิศตะวันตกของเจดีย์พระธาตุพนม
เมืองร้อยเอ็ดผ่านร้อนผ่านหนาวมามาก เคยเจริญเป็นเมืองใหญ่ แต่ก็รกร้างถึงขนาดมีพืชชนิดหนึ่งอาศัยแทนคน ร้างขนาดที่สามารถเรียกเป็นเมืองวัชพืชได้เลย เมืองร้อยเอ็ดจึงมีชื่อเล่นว่าเมือง “กุ้มฮ้าง”
“กุ้ม” คือชื่อพืช “ฮ้าง” มาจากเพลงมอเตอร์ไซค์ฮ้างนั่นเอง หมายถึงไม่ดี หมดสภาพ เป็นคําวิเศษณ์แสดงคุณลักษณะ เหมือนจะตอกย้ำข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ที่ว่า ไม่มีอารยธรรมไหนไม่เสื่อมสลายตามกาลเวลาได้เป็นอย่างดี
ต่อมาเชื้อสายเจ้าผู้ครองนครจําปาศักดิ์ คือเจ้าแก้ว หรือจารแก้ว ลูกศิษย์ของพระครูโพนสะเม็ก “ญาครูขี้หอม” ที่ชาวลาวและชาวไทยอีสานให้ความเคารพนับถือ อพยพหนีภัยมาขึ้นฝั่งไทย ได้มาพักคนที่เมือง “ท่ง” (เมืองทุ่ง) บริเวณจังหวัดร้อยเอ็ดปัจจุบัน ภายหลังเมื่อเจ้าผู้ครองนครจําปาศักดิ์คนใหม่ขึ้นครองเมือง เจ้าแก้วจึงได้ลาสิกขามารับตําแหน่งเป็นนายกองรักษาเขตเมืองท่ง ขึ้นตรงกับนครจําปาศักดิ์ เจ้าแก้วมีบุตร 2 คน คือ ท้าวมืด ท้าวทนต์
ท้าวมืดครองเมืองต่อแทนพ่อ สิ้นท้าวมืด ท้าวทนต์ผู้น้อง เกิดผิดใจกับหลานอันเกิดแก่ท้าวมืด 2 คน คือ ท้าวเชียง ท้าวสูน หลานจึงหนีไปพึ่งพระบรมโพธิสมภารของสมเด็จพระบรมราชาที่ 3 พระที่นั่งสุริยาสน์อัมรินทร์ ยกกองทัพอยุธยาขึ้นมา อาเห็นว่าสู้ไม่ได้จึงได้หนีไปตั้งหลักที่บ้านจอก ถึงสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีโปรดให้ข้าหลวงขึ้นมาเกลี้ยกล่อม ศึกอาหลานจึงได้ยุติลง
ท้าวเชียง ท้าวสูน ได้ตั้งเมืองสุวรรณภูมิบริเวณดงเท้าสาร ท้าวทนต์ผู้อา (พระยาขัตติยะวงศา) ตั้งบ้านท่งเป็นเมืองร้อยเอ็ดปกครองสืบมา
ภายหลังเมื่อมีการจัดการปฏิรูปการปกครองหัวเมืองภาคอีสานใหม่ เมืองสุวรรณภูมิจึงถูกยุบรวมกับเมืองร้อยเอ็ด กลายเป็นจังหวัดร้อยเอ็ดในปัจจุบัน
ในฮีตสิบสอง คองสิบสี่ ซึ่งเป็นคติธรรมเกี่ยวกับการปกครองที่ผู้เฒ่าผู้แก่ภาคอีสานถือปฏิบัติสืบต่อกันมานั้น แบ่งออกได้เป็น 2 ส่วนด้วยกันคือ ฮีตสิบสอง หมายถึงประเพณีการทําบุญ 12 เดือนที่ต้องจัดขึ้น และ คองสิบสี่ หมายถึงข้อควรปฏิบัติสําหรับบุคคลในสังคม ยังแยกได้เป็น
ข้อปฏิบัติสําหรับข้าราชการการปกครอง 14 ข้อ ข้อปฏิบัติสําหรับพลเรือน 14 ข้อ ข้อสุดท้ายของคองสิบสี่สําหรับข้าราชการกล่าวไว้ว่า “ผู้เป็นท้าวพระยาจะต้องมีสมบัติเมือง 14 อย่าง”
ในนั้นมีสมบัติเมือง 3 อย่าง ที่ผู้เขียนจะขอกล่าวถึงได้แก่ ขื่อเมือง-ราษฎร ผู้ปกครองท้องถิ่นที่ซื่อสัตย์สุจริต ฝาเมือง-นายทหาร ผู้มีฝีมือ อาจป้องกันเมืองจากข้าศึกได้ แปเมือง-ผู้มียศ ซึ่งประกอบด้วยจริยธรรมอันดี
ลําพังสมบัติเมืองอย่างจะหาได้ก็เป็นการยากอยู่แล้วในสมัยนั้น จึงไม่มีประโยชน์หากจะมาหากันในสมัยปัจจุบัน ไม่ใช่ว่าข้าราชการไทยหาดีไม่ได้ แต่จะให้ดีตามที่ระบุไม่มีขาดตกบกพร่อง ก็เชื่อว่าต้องหากันนานทีเดียว ผู้เขียนจึงมีความเห็นว่าบุคคลที่ถือเป็นสมบัติเมืองนั้นสมควรที่จะยกย่องให้ผู้อื่นรู้จัก
“สิงห์” โลคัล ฮีโร่
บุคคลที่ผู้เขียนจะกล่าวถึงจัดเป็นบุคคลที่มีความพิเศษน่าอัศจรรย์อยู่ในตัว กล่าวคือเป็นผู้กระทําคุณงามความดี มีสมบัติเมืองอยู่ถึง 3 อย่างในตัวของท่าน ถึงขนาดที่ว่าเมื่อล่วงลับดับสูญไปแล้ว ลูกหลานยังนึกถึงคุณงามความดี ยกให้เป็นเทพเจ้าเอาเลยทีเดียว ท่านผู้นี้นามเดิมชื่อ “สิงห์”
เป็นคนบ้านหนองแล้ง แขวงเมืองสุวรรณภูมิ (เมื่อยังไม่ถูกรวมเป็นจังหวัดร้อยเอ็ด) ด้วยความที่เป็นผู้มีสติปัญญา ผ่านการอุปสมบท รู้อรรถรู้ธรรมตามการศึกษาของชาวอีสานสมัยนั้น ยังประกอบไปด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และดํารงไว้ซึ่งสัจจะในหัวใจ เข้าทํานองช้างเผือกหายากในหมู่สัตว์ ภิกษุทรงศีลหายากในหมู่ภิกษุฉันใด ฆราวาสที่รักษาไว้ซึ่งสัจจะก็หาได้ยากในหมู่ฆราวาสด้วยกันฉันนั้น จึงปรากฏว่าเมื่อบ้านหนองแล้งขาดความอุดมสมบูรณ์ เป็นเหตุให้ต้องอพยพย้ายครัวไปยังถิ่นอื่น คนหนุ่มสาวจึงพากันหอบลูกจูงหลานติดตามท่านไป ด้วยหวังพึ่งใบบุญ ตัวท่านจึงต้องรับภาระเป็นผู้นําชาวบ้านโดยปริยาย
อีสานยุคโบราณใครมีเรี่ยวแรงกว่าคนอื่น นับว่าได้เปรียบในการทํามาหากิน เพราะจารีตประเพณีการปกครองสมัยนั้นมีอยู่ว่า
“ผู้หนึ่งผู้ใดจะหวงแหนท้องทุ่ง จะจับจองก่อสร้างเป็นทุ่งนา ต้องปักหลักหลายกรุยโดยตลอดพื้นที่ที่ตนต้องการ ถ้าทําดังนี้ โดยรอบแล้วท้องทุ่งนั้นเป็นสิทธิแก่ผู้นั้น ผู้ใดไปจับจองทับถมลง ในที่ที่เขาหมายกรุยไว้แล้วชื่อว่าละเมิด”
นายสิงห์ได้นําพี่น้องชาวบ้านขุดล้างถางพงปรับโพนดินเป็นที่เตียน โดยการลงแขกช่วยกันทุกคน เมื่อสำเร็จเรียบร้อยจากดงกลายเป็นทุ่ง อาศัยที่เป็นคนยุติธรรม จึงได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ตัดสินแบ่งปันเขตที่นา นายสิงห์ได้ใช้ความไว้วางใจตัดสินให้แต่ละคนมีที่ทำกินเป็นที่พอใจของทุกๆ ฝ่าย ความดีข้อแรกนี้หากเป็นบุคคลที่ไม่มีสัตย์เสียแล้ว มีหรือที่ชาวบ้านจะทนอยู่เฉย เป็นต้องเกิดโกลาหลเพราะต่างคนต่างอยากได้มากกว่าคนอื่น
เมื่อคนต่างถิ่นได้ทราบถึงกิตติศัพท์จึงพากันอพยพย้ายครัวไปสมทบกับท่านมากขึ้น คนดีใครๆ เขาก็ต้องการ ภายหลังเมื่อขนาดครัวเรือนเพิ่มขึ้น ถึง พ.ศ. 2412 ชาวบ้านจึงพากันตั้งชื่อหมู่บ้านของตนว่า “หมู่บ้านหนองหมื่นถ่าน” และพร้อมใจกันยกเอานายสิงห์เป็นหัวหน้าหมู่บ้าน บ้านหนองหมื่นถ่านนี้ปัจจุบันตั้งอยู่ในอําเภออาจสามารถ จังหวัดร้อยเอ็ด
สภาพความเป็นอยู่ทั่วไปสมัยนั้นดูได้จากเมื่อ ร.ศ. 118 พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ข้าหลวงต่างพระองค์สำเร็จราชการมณฑลภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เสด็จมาตรวจราชการที่เมืองร้อยเอ็ด ถึงขนาดพระองค์ท่านต้องตั้งพื้นที่แถบนี้เป็นอำเภอ เพราะโจรผู้ร้ายชุกชุม เที่ยวสร้างความลำบาก แก่ราษฎรในเมืองสุวรรณภูมิและเมืองร้อยเอ็ด โจรพวกนี้เป็นโจรนานาชาติ เพราะปรากฏว่ามีทั้งลาว, ข่า, แสก รวมญาติหากัน พระองค์ท่านจึงได้มอบหมายให้ขุนมัณฑรานุกร (ชม) เป็นนายอำเภอคอยปราบปรามให้ราบคาบ
เมื่อนายสิงห์ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าหมู่บ้านอยู่นั้น จึงมีหน้าที่พิเศษเพิ่มขึ้น นอกจากการสร้างวัดสร้างวา บำรุงศาสนา ชักจูงให้ชาวบ้านอยู่ในศีลธรรม เล่าเรียนเขียนอ่านตามหน้าที่ของผู้ปกครองอันดี ยังต้องเป็นธุระจัดเวรยาม คอยสอดส่องปัองกันโจรผู้ร้าย หากได้ข่าวว่าลูกบ้านในปกครองของตนถูกโจรผู้ร้ายข่มเหง นายสิงห์จะเป็นผู้สืบหาตัวโจรผู้ร้ายมาลงโทษ บางครั้งต้องกินเวลาเป็นเดือนๆ อาบเหงื่อต่างน้ำ ข้ามเขตจากเมืองสุวรรณภูมิไปเมืองร้อยเอ็ด, มหาสารคาม เรียกว่าเป็นทั้งนักพัฒนาและมือปราบในตัวเสร็จสรรพ
จึงไม่เป็นที่น่าแปลกใจที่นายอำเภอ กรมการเมือง หรือข้าหลวงในพื้นที่ใกล้เคียงจะได้ยินกิตติศัพท์เรื่องฝีมือการปราบปราม และต้องการเห็นหน้าค่าตาทำความรู้จักเป็นที่สุด (เกร็ดจากปากคําผู้เฒ่าผู้แก่ เมื่อแกะรอยจนเจอผู้ร้ายแล้วปกติมักจะจับตัวส่งท้องที่ก่อคดี แต่หากพิจารณาแล้วว่าหนทางไกลไม่สะดวกแก่การหอบหิ้ว กอปรกับก่อคดีอุกฉกรรจ์ ผู้ร่วมกันตามหามักจะใช้วิธีส่งผู้ร้ายลงหลุมเป็นที่สุด) ถึงขนาดกรมการเมืองสุวรรณภูมิเสนอ ให้ท่านเป็นกำนันประจำตำบลบ้านตาเณร ที่เลื่องลือเรื่องโจรเขมร เข้ามาปล้นสะดมลักวัวควายชาวบ้าน เพราะเชื่อถือในฝีมือ แต่ก็ต้องพากันหน้าม้านไปตามกัน
เพราะท่านปฏิเสธว่า “ลำพังตัวท่านเองไม่มีปัญหาดอกจะให้ไปอยู่ไหนก็ได้ทั้งนั้น ขึ้นชื่อว่าคนมีมือมีเท้าเหมือนกันหมด แต่ไอ้การที่จะให้ไปนอนตีพุงเป็นกำนันห่างไกลหมู่ญาติของฉันนี่สิ ลำบากใจนะนาย เพราะเขาตามฉันมา และยกฉันเป็นหัวหน้า ถ้าจะหนีเขาไปกระไรอยู่ ทางนั้นใช่ว่าไม่มีโจร อาศัยฉันนี้ละจึงพออยู่กันได้ ถ้าฉันไปเขาจะเป็นยังไง พวกท่านที่มีสติปัญญาก็คิดอ่านหาทางกันเองเถิด ถ้าขาดเหลือจริงๆ ฉันจะช่วย แต่จะให้ย้ายไปประจำนั้นเสียใจ”
ว่าแล้วก็เดินแบกปืนนกสับลับทุ่งไป ทิ้งให้กรมการเมืองนึกแย้งอยู่ในใจว่า สติปัญญาก็พอมีอยู่แต่ไอ้การลงมือปฏิบัตินะสิ ฉันไม่ถนัด โอ้หนอ…ข้าราชการไทยสมัยไหนสมัยนั้น
นายสิงห์ผู้นี้เป็นใครมาจากไหน ทำไมถึงได้กล้าหาญผิดธรรมดา ก็เล่าสืบต่อกันมาว่า ท่านรูปร่างสูงใหญ่ เนื้อหนังเหนียวแน่นขี่ม้าได้เป็นวันๆ สติปัญญาว่องไว อีกทั้งทรงวิทยาธิคุณ ไม่ว่าคำร่ำลือจะเป็นเช่นใด สิ่งหนึ่งที่อนุชนรุ่นหลังต้องยอมรับคือ ท่านก็สามัญชนอย่างเราๆ ท่านๆ นี่ละ เพียงแต่สืบเชื้อสายมาจากไพร่พลของพระวอ-พระตา คราวหนีกองทัพเวียงจันมาจากหนองบัวลำภู พ.ศ. 2314 โดยครัวส่วนหนึ่งซึ่งมีท้าวนามดูแลมาตกค้างที่บ่อพันขัน เขตเมืองทุ่ง ภายหลังจึงเกิดหมู่บ้านขึ้นหลายหมู่บ้าน บ้านหนองแล้งก็เป็นส่วนหนึ่งในนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่า นายสิงห์สืบเชื้อสายมาจากชายชาติทหารเวียงจันเป็นแน่แท้
ศึกฮ่อ-วีรกรรมครั้งแรก
แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ประเทศไทยต้องรับศึกหนักจากหลายฝักหลายฝ่าย เริ่มจากศึกฮ่อ ตามด้วยการล่าอาณานิคมของฝรั่งเศส จนต้องเสียดินแดนแถบฝั่งซ้ายลุ่มแม่น้ำโขง จังหวัดจันทบุรีและตราด เจ็บแค่ไหนดูได้จากนายทหารเรือไทยต้องสักคําว่า “ร.ศ. 112” ไว้กลางอก เพื่อค่อยเตือนใจไม่ให้หลงลืมความอัปยศครั้งนั้น
เมื่อฮ่อบุกนั้นทางกรุงเทพฯ แตกตื่นเป็นอันมาก เพราะเป็นการบุกแบบสายฟ้าแลบ แบบเดียวกับญี่ปุ่นบุกเพิร์ลฮาร์เบอร์ โดยที่คนไทยยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าฮ่อนี้มันคืออะไรกันแน่? นิราศหนองคายซึ่งแต่งโดยนายทิม บรรยายให้เห็นถึงความเข้าใจของคนไทยที่มีต่อฮ่อเป็นอย่างดี
แท้จริงฮ่อก็คือชนกลุ่มน้อยชาวเขาในประเทศจีน นับถือศาสนาอิสลาม เมื่อกองทัพจีนกวาดล้างคราว พ.ศ. 2408 ก็แตกหนีกันมาอยู่แคว้นสิบสองจุไทย กองทัพจีนไล่ตามมาอย่างไรไม่ทราบกลับถูกฮ่อตีกลับไป ฮ่อเลยยึดแคว้นสิบสองจุไทยเป็นที่มั่น และเกิดแยกเป็น 2 พวก มีธงเป็นสัญลักษณ์ ได้แก่ ฮ่อธงดํา มีลิ่วตายันเป็นหัวหน้า ฮ่อธงเหลือง มีปวงนันซีเป็นหัวหน้า ธงเหลืองแพ้ธงดํา เลยพเนจรมาหาที่มั่นใหม่ เที่ยวที่เข้ามาจนล้ำอาณาจักรไทย โดยตีเมืองเชียงขวางและเมืองพวนเรื่อยมา มีที่มั่นใหม่คือทุ่งเชียงคํา แขวงเวียงจัน วันดีคืนดีก็ยกพลไปเยี่ยมพวกญวนบ้าง หมายตาว่าจะเข้าหลวงพระบางต่อ และเกือบจะข้ามโขงมาหนองคายอยู่แล้ว ดีที่ทางกรุงเทพฯ ไหวตัวทัน ส่งทัพพระยามหาอํามาตย์ (ชื่น กัลยาณมิตร) มาสกัดและที่ฮ่อแตกกลับไปซะก่อน
ฮ่อนี้ถือได้ว่าเป็นพวกที่มีความวิเศษในตัว กล่าวคือ นอกจากจะเป็นอันธพาลแล้ว ไม่ว่าจะถูกตีแตกกี่ครั้งต่อกี่ครั้ง และถึงแม้จะเสียหัวหน้าก็ยังอุตส่าห์มีความพยายามรวบรวมกันเป็นกองทัพขึ้นอีก ที่เป็นเช่นนี้เพราะเมื่อฮ่อตีเมืองใดแล้วมักจะเก็บเอาเด็กพื้นเมืองมาเลี้ยงตามแบบฮ่อไว้ผมเปีย และยังรับสมัครอันธพาลนักเลงที่ไม่นิยมทำมาหากินมาเป็นพวกด้วย ทัพฮ่อจึงผสมไปด้วยฮ่อแท้และฮ่อเทียมมากมายคณานับ ทำให้ฝ่ายไทยต้องเสียเวลาปราบปรามอยู่หลายครั้ง และเป็นสงครามที่ไทยใช้แม่ทัพเปลืองที่สุด จนมาสงบราบคาบเมื่อเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีเป็นแม่ทัพ
นายสิงห์ก็ได้อาสาคุมกำลังเมืองสุวรรณภูมิไปรบกับพวกฮ่อที่ทุ่งเชียงคำ แขวงเมืองเวียงจันด้วย และคงไปอีกหลายครั้งเหมือนกัน เพราะบอกแต่เพียงว่าเริ่มไปครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2428 ทางราชการคงจะไม่พลาดนักรบฝีมือดีเป็นแน่แท้ ระหว่างรบกับฮ่อนี่เองทำให้นายสิงห์ตระหนักว่า โจรไม่ได้ชุมแต่ในแขวงเมืองสุวรรณภูมิที่ท่านรับผิดชอบเท่านั้น เพราะเบื้องหลังศึกฮ่อก็ยังมีศัตรูที่น่ากลัวแอบแฝงอยู่
ร.ศ. 112
การปราบฮ่อดําเนินอยู่จนกระทั่งถึง พ.ศ. 2432 จึงได้ยกทัพกลับ ระหว่างนี้นายสิงห์เรียกได้ว่าเทียวไปเทียวกลับไทย-ลาวเป็นว่าเล่น จนลืมไปว่าหน้าตาของญาติพี่น้องเป็นอย่างไร
เสร็จจากการปราบฮ่อครั้งนั้นหมู่บ้านหนองหมื่นถ่าน จึงมีการจัดงานบายศรีรับผู้ใหญ่บ้านเป็นการใหญ่ แท้จริงศึกฮอสมควรสงบเมื่อกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคมทรงเป็นแม่ทัพ ร่วมกับจมื่นไวยวรนาถ (ยศเดิมเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี) ทำลายค่ายฮ่อที่ทุ่งเชียงคำจนไม่มีชิ้นดีแล้ว แต่สาเหตุที่เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีต้องยกทัพขึ้นไปคำรบสอง ก็เพราะมีตาอยู่จ้องหยิบชิ้นปลามัน ไม่ใช่ใครที่ไหน ฝรั่งเศสนั่นเอง
เหตุจากฮ่อรุกรานเข้าเขตญวนที่ฝรั่งเศสดูแลอยู่ ฝรั่งเศสเลยถือโอกาสปราบปราม ตีมาจนถึงหลวงพระบาง เวลาเดียวกับทัพไทยที่มาถึงเชียงคำ ทั้งสองฝ่ายจึงตั้งทัพยันกันพอเห็นหน้า เมื่อเห็นว่าฮ่อหมดพิษสงฝรั่งเศสก็เริ่มออกลายนักล่าอาณานิคม สมกับที่พระพุทธเจ้าหลวงท่านว่า “ฝรั่งนี้ปากมันยาว ความคิดมันสูง” ละโมบจะเอาหลวงพระบางด้วย เที่ยวยุแหย่ชาวเมืองให้ก่อการขึ้น แถมด้วยการชักธงฝรั่งเศสขึ้นในทุ่งเชียงคำที่ไทยยึดจากฮ่อ ถือเป็นการหมิ่นเกียรติทหารไทย จนต้องปีนเสาขึ้นไปกระชากธงฝรั่งเศสหลายต่อหลายครั้ง
หลังก่อสงครามประสาทยังส่งทหารญวนลงเรือปืนใหญ่ มีนายร้อยเอกโทเรอส์เป็นผู้นำ ล่องเรือมาตามฝั่งโขง วันที่ 1 เมษายน ร.ศ. 112 ทหารฝรั่งเศสขึ้นลาดตระเวนชายฝั่งไทย นายร้อยโทขุนศุภมาตราซึ่งดูแลดินแดนแถบนี้เห็นเข้าเลยสั่งยิง ฝรั่งเศศแพ้ยับ แถมนายร้อยแอกโทเรอส์ถูกส่งต่อไปถวายพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร ข้าหลวงต่างพระองค์ประจำอุบลราชธานี โปรดให้เกณฑ์กำลังคนเมืองศรีสะเกษ, ขุขันธ์, มหาสารคาม, ร้อยเอ็ด เมืองละ 800 เมืองสุวรรณภูมิ, ยโสธร เมืองละ 500 รวมพลที่เมืองอุบลฯ รวมทหารไทยทั้งสินกว่า 9,000 คน โดยพระองค์ท่านมีพระประสงค์ไม่ให้ฝรั่งเศสตีเมืองอุบลฯ แตกโดยเด็ดขาด ในกำลังพลที่รวบรวมมนี้เป็นทหารชำนาญการรบสมัยใหม่ 5,000 คน นอกนั้นได้จากการเกณฑ์ตามหัวเมืองดังที่กล่าวมาแล้ว
ด้านเมืองสุวรรณภูมิเมื่อเกณฑ์คนได้ครบตามรับสั่งแล้ว จึงให้อุปฮาด (ตำแหน่งข้าราชการอีสาน) เป็นหัวหน้าคุมไพร่พลครั้งนี้นายสิงห์ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้คอยช่วยเหลืออุปฮาดอีกที เพราะเห็นว่าเป็นผู้มีความคิดรู้การหนักเบา และเคยผ่านการรบในศึกฮ่อมาอย่างโชกโชน เป็นที่ไว้ใจของผู้บังคับบัญชาและไพร่พลที่ตามไปด้วยกัน
วันที่ 20 พฤษภาคม เมื่อทัพของนายสิงห์เดินทางถึงเมืองอุบลฯ ก็ได้รับคำสั่งให้ไปช่วยทัพหน้าที่กำลังรบติดพันกับข้าศึกที่ค่ายดอนสาคร การรบเป็นไปอย่างดุเดือด เสียงปืนใหญ่ของทั้งสองฝ่ายคำรามรับกันไปมา ผสมกับปืนเล็กยาวและลูกระเบิดซึ่งส่งเสียงไม่ขาดระยะ
ในการรบทุกครั้งนายสิงห์ได้ออกนำหน้าทหารเมืองสุวรรณภูมิ เข้าทำการรบอย่างแข็งขัน อาศัยที่ยึดมั่นในพระรัตนตรัยและมุ่งสนองคุณแผ่นดิน ไม่อาลัยต่อชีวิต เป็นเหตุให้ทหารทั้งหลายจิตใจฮึกเหิม ทำการรบไม่ย่อท้อ สาเหตุเพราะเมื่อเห็นนายแข็งขันลูกน้องก็มีกำลังใจไปด้วย ที่เคยนึกกลัวก็กลับพานมีน้ำใจมานะขึ้น การรบเป็นไปอย่างดุเดือด ฝรั่งเศสมิอาจตีเมืองอุบลฯ แตกตามที่หมายใจเอาไว้ได้ จนถึงเดือนสิงหาคมฝรั่งเศสส่งเรือรบปิดอ่าวเจ้าพระยา พระพุทธเจ้าหลวงจึงต้องตัดพระทัยเสียส่วนน้อยรักษาส่วนใหญ่ ยินยอมมอบดินแดนฝั่งซ้ายลุ่มแม่น้ำโขงให้แก่ฝรั่งเศส สิ้นสุดการรบแต่เพียงนั้น
มียศ
เสร็จจากการรบทางราชการมีบำเหน็จแก่นายกองที่ร่วมรบทั้งหลาย โดยพิจารณาจากความดีความชอบที่ทําเอาไว้
ด้วยเกียรติคุณความดีงามของนายสิงห์ได้ทำการรบต้องอาวุธบาดเจ็บประดาตาย ไม่อาลัยต่อชีวิต ผลการปฏิบัติหน้าที่เป็นที่ประจักษ์ต่อผู้ร่วมรบครั้งนั้น และสรรเสริญความกล้าหาญไม่กลัวตายต่อๆ กันมา ทางราชการจึงแต่งตั้งนายสิงห์เป็น “เมืองปาก” มียศตำแหน่งตามหน้าที่ข้าราชการฝ่ายปกครอง ทั้งยังพิจารณาพระราชทานเครื่องยศบำเหน็จรางวัลเป็นอันมาก ให้สมกับความเหนื่อยยากที่ได้รับ ยังความปลื้มปีติแก่ชาวบ้านหนองหมื่นถ่านเป็นยิ่งนัก ที่มีผู้ใหญ่บ้านสามัญชนธรรมดาแต่อาสาจนได้ดีจนมียศ ปรากฏ
เมืองปากสิงห์ได้ปกครองหมู่บ้านสืบมา และยังทำหน้าที่เป็นนักพัฒนาและมือปราบอยู่เช่นเคย โจรผู้ร้ายแถบบริเวณใกล้เคียงท่านก็อุตส่าห์เสียสละแรงกายแรงใจออกไปปราบปราม โดยเห็นกับความยากลำบาก ส่วนการปกครองลูกบ้านนายสิงห์ก็ได้อบรมให้อยู่ในกรอบศีลธรรมอันดี ยึดมั่นในพระพุทธศาสนา
ล่วงมาถึงรัชกาลที่ 6 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริให้คนไทยมีนามสกุล เพื่อชัดเจนต่อการระบุตัวบุคคล อำเภอเมืองสุวรรณภูมิจึงพร้อมใจกันมอบชื่อสายสกุลให้กับลูกหลานที่สืบต่อเชื่อสายของนายสิงห์ว่า “สิงหเสนา”
เมืองปากสิงห์ (สิงห์ สิงหเสนา) ถึงแก่กรรมอย่างสงบเมื่ออายุได้ 100 กว่าปี เมื่อสิ้นท่านไปแล้วลูกหลานที่ยังคิดถึงวัตรปฏิบัติและความดีของท่านอยู่จึงยกท่านให้เป็นเทพารักษ์ ผีปู่ตา ดูแลดอนปู่ตา สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ประจําหมู่บ้าน ทั้งลูกหลานส่วนหนึ่งยังได้รวบรวมเงินทองก่อสร้างอนุสาวรีย์เมืองปากสิงห์ขึ้นที่หมู่บ้านหนองหมื่นถ่าน อำเภออาจสามารถ จังหวัดร้อยเอ็ด
เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์เมื่อ 19 มิถุนายน 2562