“พระครูเอกุตตรสตาธิคุณ” ราชทินนามเอกลักษณ์ของพระสงฆ์จังหวัดร้อยเอ็ด

พระครูเอกุตตรสตาธิคุณ หรือญาคูหลักคำโมง วัดสระทอง
พระครูเอกุตตรสตาธิคุณ หรือญาคูหลักคำโมง วัดสระทอง (รูปนั่งธรรมาสน์) ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะเมืองร้อยเอ็ด พ.ศ. 2443-2469 ภาพถ่ายประมาณ พ.ศ. 2460-2465 (ภาพจาก คุณตาวีระ วุฒิจำนงค์)

จังหวัดร้อยเอ็ด เป็นจังหวัดที่มีชื่อเป็นเอกลักษณ์ สามารถเขียนเป็นตัวเลขได้ คือ 101 นั่นเอง ราชทินนามของพระสงฆ์จังหวัดร้อยเอ็ดที่ได้รับพระราชทานตั้งสมณศักดิ์จากอดีตจนถึงปัจจุบัน มีเอกลักษณ์บ่งบอกว่าเป็นชื่อของจังหวัดร้อยเอ็ด คือ พระครูเอกุตตรสตาธิคุณ (สมณศักดิ์พระครูชั้นสัญญาบัตร) และยังมีสร้อยราชทินนามของพระราชาคณะที่ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เกี่ยวข้องกับชื่อจังหวัดร้อยเอ็ดอีกด้วย อาทิ พระโพธิญาณมุนี นายกเอกุตตรสตเขตต์ วิเศษคณานุรักษ์ สังฆปาโมกข์ , พระสุนทรธรรมประพุทธ เอกุตตรสตาธิคุณ ยติคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี ฯลฯ

คำว่า เอกุตตรสตาธิคุณ มาจากภาษาบาลี การนับตัวเลขของภาษาบาลี เรียกว่า สังขยา (ตัวเลขหรือการนับ) เมื่อมีจำนวนมากขึ้นก็นำจำนวนตัวเลขมาต่อกัน โดยใช้ศัพท์คือ อุตตร และ อธิก เป็นตัวเชื่อม ขออธิบายการต่อศัพท์คำว่า เอกุตตรสตาธิคุณ ดังนี้

วิเคราะห์ว่า เอเกน อุตฺตรํ เอกุตฺตรํ (สตํ)

วิเคราะห์ว่า เอกุตฺตรํ สตํ เอกุตฺตรสตํ

วิเคราะห์ว่า เอกุตฺตรสเตน อธิโก เอกุตฺตรสตาธิโก (คุโณ)

วิเคราะห์ว่า เอกุตฺตรสตาธิโก คุโณ ยสฺส โส เอกุตฺตรสตาธิคุโณ (ปุคฺคโล) แปลว่า ผู้มีคุณอันยิ่งด้วยร้อยอันเกินด้วยหนึ่ง

พระสงฆ์ที่ได้รับพระราชทานแต่งตั้งเป็น พระครูเอกุตตรสตาธิคุณ ตั้งแต่ พ.ศ. 2434 – ปัจจุบัน

รูปที่ 1 พระครูเอกุตตรสตาธิคุณ (เจ้าอธิการจุนลา) เจ้าอาวาสวัดกลางมิ่งเมือง ในปี พ.ศ. 2434 ได้รับพระราชทานแต่งตั้ง เป็น พระครูเอกุตตรสตาธิคุณ ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่เมืองร้อยเอ็ด ตั้งแต่ พ.ศ. 2434 – ไม่ปรากฏหลักฐาน

พระครูเอกุตตรสตาธิคุณ หรือ ญาคูหลักคำโมง
พระครูเอกุตตรสตาธิคุณ หรือญาคูหลักคำโมง วัดสระทอง (รูปนั่งธรรมาสน์) ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะเมืองร้อยเอ็ด พ.ศ. 2443-2469 ภาพถ่ายประมาณ พ.ศ. 2460-2465 (ภาพจาก คุณตาวีระ วุฒิจำนงค์)

รูปที่ 2 พระครูเอกุตตรสตาธิคุณ (ญาคูหลักคำโมง) วัดสระทอง ชาวเมืองเรียกท่านว่า ญาครูหลวง สมณศักดิ์เดิมคือ พระครูอดุลศีลพรต เจ้าคณะรองเมืองร้อยเอ็ด ต่อมาวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2443 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็น พระครูเอกุตตรสตาธิคุณ ดำรงตำแหน่ง เจ้าคณะเมืองร้อยเอ็ด พ.ศ. 2443-2469 มรณภาพเมื่อปี พ.ศ. 2469

พระครูเอกุตตรสตาธิคุณ (มี)
พระครูเอกุตตรสตาธิคุณ (มี) วัดบึงพระลานชัย ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดร้อยเอ็ด พ.ศ. 2469-2474 (ภาพจาก พระครูสุตกิจจานุยุต)

รูปที่ 3 พระครูเอกุตตรสตาธิคุณ (มี) วัดบึงพระลานชัย สมณศักดิ์เดิม คือ พระครูสุนทรธรรมธาดา เจ้าคณะแขวงอำเภอเกษตรวิสัย ต่อมาเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2469 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็น พระครูเอกุตตรสตาธิคุณ สังฆวาหะ ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดร้อยเอ็ด พ.ศ. 2469-2474 ท่านถึงแก่มรณภาพด้วยโรคชรา เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2474 อายุ 70 ปี

พระครูเอกุตตรสตาธิคุณ (ทอก)
พระครูเอกุตตรสตาธิคุณ (ทอก) เจ้าอาวาสัดสระทอง และเจ้าคณะอำเภอธวัชบุรีรูปแรก ภาพจาก พระมหามนตรี มนฺติวฑฺฒโน

รูปที่ 4 พระครูเอกุตตรสตาธิคุณ (ทอก) วัดยางใต้ นามเดิม พระวินัยธรทอก พุทฺธสโร พ.ศ. 2477 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ เป็น พระครูเอกุตตรสตาธิคุณ ต่อมาได้ย้ายมาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดสระทอง และดำรงตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอธวัชบุรีรูปแรก

พระครูเอกุตตรสตาธิคุณ (ผาย)
พระครูเอกุตตรสตาธิคุณ (ผาย) วัดสระทอง สมณศักดิ์ต่อมา คือ พระมงคลญาณเถร ภาพจาก พระมหามนตรี มนฺติวฑฺฒโน

รูปที่ 5 พระครูเอกุตตรสตาธิคุณ (ผาย) วัดสระทอง นามเดิม พระมหาผาย ขันติโก น.ธ.เอก, ป.ธ.4 เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2494 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ เป็น พระครูเอกุตตรสตาธิคุณ และเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2501 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะมีนามว่า พระมงคลญาณเถร

พระครูเอกุตตรสตาธิคุณ (สายัณห์)
พระครูเอกุตตรสตาธิคุณ (สายัณห์) วัดมิ่งเมือง ปัจจุบัน คือ พระราชปริยัติวิมล เจ้าคณะจังหวัดร้อยเอ็ด (ธ) ภาพจาก พระสังฆาธิการ https://sangkhatikan.com/monk_view.php?ID=843

รูปที่ 6 พระครูเอกุตตรสตาธิคุณ (สายัณห์) วัดมิ่งเมือง (ธ) นามเดิม พระมหาสายัณห์ ปญฺญาวชิโร น.ธ.เอก, ป.ธ.4 ,ดร. พ.ศ. 2531 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตร เจ้าคณะอำเภอชั้นเอก ที่ พระครูเอกุตรสตาธิคุณ และวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2552 เป็น พระราชาคณะชั้นราช ที่ พระราชปริยัติวิมล โสภณศาสนกิจ ยติคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี เจ้าคณะจังหวัดร้อยเอ็ด (ธ)

พระครูเอกุตตรสตาธิคุณ (สมเดช)
พระครูเอกุตตรสตาธิคุณ (สมเดช) วัดบูรพาภิราม พระอารามหลวง ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดบูรพาภิราม และเจ้าคณะอำเภอธวัชบุรี

รูปที่ 7 พระครูเอกุตตรสตาธิคุณ (สมเดช) นามเดิม พระมหาสมเดช ฐิตวีโร น.ธ.เอก,ป.ธ.4,ปร.ด ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดบูรพาภิราม พระอารามหลวง เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2548 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตร ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระอารามหลวงชั้นเอก ที่ พระครูเอกุตตรสตาธิคุณ และปัจจุบันดำรงตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอธวัชบุรี

สร้อยราชทินนามพระราชาคณะเกี่ยวข้องกับชื่อจังหวัดร้อยเอ็ด พระสงฆ์ที่ได้รับพระราชทานแต่งตั้งเป็นพระราชาคณะ ตั้งแต่ พ.ศ. 2477-2514

พระโพธิญาณมุนี นายกเอกุตตรสตเขตต์ วิเศษคณานุรักษ์ สังฆปาโมกข์
พระโพธิญาณมุนี นายกเอกุตตรสตเขตต์ วิเศษคณานุรักษ์ สังฆปาโมกข์ วัดเหนือ (ธ) เจ้าคณะจังหวัดร้อยเอ็ด พ.ศ. 2474-2490 (ลาสิกขา) ภาพจาก พระครูสุตกิจจานุยุต

รูปที่ 1 พระโพธิญาณมุนี นายกเอกุตตรสตเขตต์ วิเศษคณานุรักษ์ สังฆปาโมกข์ วัดเหนือ (ธ) นามเดิม พระมหาคำ สุวรรณกูฏ ป.ธ.5     

สร้อยราชทินนามคำว่า นายกเอกุตตรสตเขตต์  แปลว่า นา (พื้นที่) อันมีเป็นร้อยอันเกินด้วยหนึ่งของผู้นำ

ลำดับสมณศักดิ์ พ.ศ. 2477 เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ที่ พระโพธิญาณมุนี นายกเอกุตตรสตเขตต์ วิเศษคณานุรักษ์ สังฆปาโมกข์

การปกครอง เจ้าคณะจังหวัดร้อยเอ็ด พ.ศ. 2474-2490 (ลาสิกขา)

พระสุนทรธรรมประพุทธ เอกุตตรสตาธิคุณ ยติคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี
พระสุนทรธรรมประพุทธ เอกุตตรสตาธิคุณ ยติคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี วัดกลางมิ่งเมือง เจ้าคณะจังหวัดร้อยเอ็ด พ.ศ. 2490-2528 (ภาพจาก กลุ่มทำเนียบอดีตพระราชาคณะภาคอีสาน)

รูปที่ 2 พระสุนทรธรรมประพุทธ เอกุตตรสตาธิคุณ ยติคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี วัดกลางมิ่งเมือง นามเดิม พระมหาหล้า สีลวํโส น.ธ.เอก, ป.ธ.5

สร้อยราชทินนามคำว่า เอกุตฺตรสตาธิกคุณ แปลว่า ผู้มีคุณอันยิ่งด้วยร้อยอันเกินด้วยหนึ่ง

ลำดับสมณศักดิ์ พ.ศ. 2481 เป็น พระครูสัญญาบัตร ที่ พระครูสุนทรธรรมนิเทสก์

5 ธันวาคม พ.ศ. 2490 เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ที่ พระสุนทรธรรมประพุทธ เอกุตตรสตาธิคุณ สังฆปาโมกข์

5 ธันวาคม พ.ศ. 2499 เป็นพระราชาคณะชั้นราช ที่ พระสุนทรธรรมประพุทธ เอกุตตรสตาธิคุณ ยติคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี

การปกครอง เจ้าคณะจังหวัดร้อยเอ็ด พ.ศ. 2490-2528 (มรณภาพ)

พระราชสิทธาจารย์ (บุญเรือง ปภสฺสโร)
พระราชสิทธาจารย์ (บุญเรือง ปภสฺสโร) วัดมิ่งเมือง (ธ) อดีตเจ้าคณะอำเภอเสลภูมิ และอดีตเจ้าคณะจังหวัดร้อยเอ็ด (ธ) ภาพจาก พระสังฆาธิการ https://sangkhatikan.com/monk_view.php?ID=843

รูปที่ 3 พระราชสิทธาจารย์ เมื่อครั้งสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ที่ พระประภัสสรมุนี เอกาธิกสตบุรี ธรรมิกคณิสสร วัดมิ่งเมือง (ธ) นามเดิม พระครูบุญเรือง ปภสฺสโร

สร้อยราชทินนามคำว่า เอกาธิกสตบุรี  แปลว่า เมืองอันมีร้อยอันยิ่งด้วยหนึ่ง

ลำดับสมณศักดิ์ พ.ศ. 2481 เป็น พระครูสัญญาบัตร ที่ พระครูวิโรจน์ผดุงศาสน์

5 ธันวาคม พ.ศ. 2496 เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ที่ พระประภัสสรมุนี เอกาธิกสตบุรี ธรรมิกคณิสสร

5 ธันวาคม พ.ศ. 2501 เป็นพระราชาคณะชั้นราช ที่ พระราชสิทธาจารย์ วรญาณประสิทธิ์ สุวินิตนรากร ยติคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี

การปกครอง พ.ศ. 2484 เป็น เจ้าคณะอำเภอเสลภูมิ พ.ศ. 2496 เป็น เจ้าคณะจังหวัดร้อยเอ็ด (ธ)

พระศีลคุณวิสุทธิ์ เอกุตตรสตานุศิษฎ์ ธรรมิกคณิสสร
พระศีลคุณวิสุทธิ์ เอกุตตรสตานุศิษฎ์ ธรรมิกคณิสสร วัดบึงพระลานชัย (ธ) เจ้าคณะจังหวัดร้อยเอ็ด (ธ) พ.ศ. 2513-2515 (ภาพจากเพจ พระธรรมฐิติญาณ)

รูปที่ 4 พระศีลคุณวิสุทธิ์ เอกุตตรสตานุศิษฎ์ ธรรมิกคณิสสร วัดบึงพระลานชัย (ธ) นามเดิม พระปลัดแก้ว อุปติสฺโส

สร้อยราชทินนามคำว่า เอกุตตรสตานุศิษฏ์ แปลว่า ผู้มีความรู้ด้วยร้อยอันเกินด้วยหนึ่ง

ลำดับสมณศักดิ์ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2497 เป็นพระครูสัญญาบัตร ที่ พระครูคุณสารพินิจ

5 ธันวาคม พ.ศ. 2514 เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ที่ พระศีลคุณวิสุทธิ์ เอกุตตรสตานุศิษฎ์ ธรรมิกคณิสสร

การปกครอง เจ้าคณะจังหวัดร้อยเอ็ด (ธ) พ.ศ. 2513-2515

ราชทินนามของผู้ว่าราชการเมืองร้อยเอ็ดคนแรก พ.ศ. 2448-2451

ราชทินนามเอกลักษณ์บ่งบอกว่าเป็นชื่อของจังหวัด นอกจากราชทินนามของพระสงฆ์แล้ว ยังมีราชทินนามของผู้ว่าราชการเมืองร้อยเอ็ดคนแรกด้วย คือ พระยาขัติยวงษาเอกาธิกะสตานันท์ นามเดิม ท้าวสุวรรณเหลา ณ ร้อยเอ็จ

พระยาขัติยวงษาเอกาธิกะสตานันท์ (เหลา ณ ร้อยเอ็จ) ผู้ว่าราชการ เมืองร้อยเอ็ด
พระยาขัติยวงษาเอกาธิกะสตานันท์ (เหลา ณ ร้อยเอ็จ) ผู้ว่าราชการเมืองร้อยเอ็ดคนแรก พ.ศ. 2448-2451

คำว่า พระขัติยวงษา เป็นชื่อของเจ้าเมืองร้อยเอ็ด คนที่ 1-7 พ.ศ. 2318-2433

คำว่า เอกาธิกะสตานันท์ แปลว่า  ผู้เพลิดเพลินด้วยร้อยอันยิ่งด้วยหนึ่ง

ลำดับตำแหน่ง

พ.ศ. 2441 ได้รับบรรดาศักดิ์ เป็น พระสตาเนทประชาธรรม ปลัดเมืองร้อยเอ็ด

พ.ศ. 2442 เป็นผู้รักษาราชการเมืองร้อยเอ็ด

พ.ศ. 2448 ได้รับบรรดาศักดิ์ เป็น พระยาขัติยวงษาเอกาธิกะสตานันท์

พ.ศ. 2454 ได้รับพระราชทานยศ เป็น อำมาตย์ตรี

พ.ศ. 2458 เป็น จางวางเมืองร้อยเอ็ด

ถึงแก่กรรมเมื่อ พ.ศ. 2474

เห็นได้ว่าราชทินนามของพระสงฆ์และผู้ว่าราชการเมืองร้อยเอ็ด ที่ได้รับพระราชทานเป็นนามที่เกี่ยวข้องกับจังหวัดร้อยเอ็ดทั้งหมด  ในปัจจุบันสมณศักดิ์ที่ยังได้รับการแต่งตั้งคือ พระครูเอกุตตรสตาธิคุณ เป็นสมณศักดิ์พระครูชั้นสัญญาบัตร ได้รับการแต่งตั้งจากอดีตถึงปัจจุบัน รวมทั้งหมด 7 รูป ปัจจุบันพระครูเอกุตตรสตาธิคุณ (สมเดช ฐิตวีโร น.ธ.เอก, ป.ธ.4, ปร.ด) ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดบูรพาภิราม พระอารามหลวง และเจ้าคณะอำเภอธวัชบุรี

ส่วนพระราชาคณะที่มีสร้อยราชทินนามเกี่ยวข้องกับเมืองร้อยเอ็ด มีจำนวน 4 รูป พระราชาคณะที่ได้รับพระราชทาน มีราชทินนามเกี่ยวข้องกับจังหวัดร้อยเอ็ดรูปสุดท้าย คือ พระศีลคุณวิสุทธิ์ เอกุตตรสตานุศิษฎ์ ธรรมิกคณิสสร เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ วัดบึงพระลานชัย (ธ) ได้รับพระราชทานเมื่อ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2514

ปัจจุบันพระราชาคณะในจังหวัดร้อยเอ็ด ไม่มีสร้อยราชทินนามเกี่ยวข้องกับจังหวัดร้อยเอ็ดเหมือนในอดีต น่าเสียดายสร้อยราชทินนามเอกลักษณ์เฉพาะนี้ ควรจะมีการอนุรักษ์ไว้เช่นในอดีต

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


บรรณานุกรม :

กฤษณะ สนิทพจน์. จังหารนิทัศน์ ท้องที่อำเภอจังหารจากอดีตสู่ปัจจุบัน ร้อยเรียงประวัติศาสตร์อำเภอจังหาร ด้านการปกครอง – ด้านการศึกษา. กรุงเทพฯ : ประยูรสาส์นไทยการพิมพ์, 2561.

เติม วิภาคพจนกิจ. ประวัติศาสตร์อีสาน. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำรา  สังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2530.

วัฒนธรรมพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดร้อยเอ็ด. หนังสือเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 5 ธันวาคม 2542. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2542

อมรวงษ์วิจิตร (ม.ว.ปฐม คเนจร), หม่อม. ประชุมพงศาวดารภาคที่ 4 พงศาวดารหัวเมืองมณฑล

อีสาน อำมาตย์เอก พระยาศรีสำรวจ (ชื่น ภัทรนาวิก) ม .ม,ท. ช, รัตน ว,ป,ร. 4 พิมพ์แจกในงานศพ พัน ภัทรนาวิก ผู้มารดา. กรุงเทพฯ : โสภณพิพรรฒธนากร, 2458.

อดีตรำลึก. บุญมี คำบุศย์. กรุงเทพฯ: นำอักษรการพิมพ์. 2541 พิมพ์แจกเนื่องในงานวันเกิดครบ 7 รอบเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2541

เอกสารราชกิจจานุเบกษา :

หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ราชกิจจานุเบกษา แจ้งความพระราชทานสมณศักดิ์ ลงวันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2478 เล่ม 52 ตอนที่ 1901

หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ราชกิจจานุเบกษา เรื่อง แจ้งความพระราชทานสมณศักดิ์ ลงวันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2477 เล่ม 51 ตอนที่ 3140

หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ราชกิจจานุเบกษา เรื่อง พระราชทานตั้งสมณศักดิ์ ลงวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2469 เล่ม 43 ตอนที่ 3049

หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ราชกิจจานุเบกษา แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์ ลงวันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2490 เล่ม 64 ตอนที่ 27

หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ราชกิจจานุเบกษา แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์ ลงวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2496 เล่ม 70 ตอนที่ 78

หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ราชกิจจานุเบกษา แจ้งความสำนักคณะรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์ ลงวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2500 เล่ม 74 ตอนที่ 6

หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ราชกิจจานุเบกษา แจ้งความสำนักคณะรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์ ลงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2514 เล่ม 88 ตอนที่ 151

สัมภาษณ์ :

พระครูสุตกิจจานุยุต, พระมหาอเนก อมรเวโช, พระมหาตาลเดี่ยว ชวนปัญโญ, ส.ณ.คณาธิป ศรีสุข เปรียญ 8, อ.วรชาติ คำสวาสดิ์, อ.สงคราม จันทร์ทาคีรี ป.ธ.9


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 12 เมษายน 2563