ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมกราคม 2540 |
---|---|
ผู้เขียน | รศ.ประพนธ์ เรืองณรงค์ |
เผยแพร่ |
ถกตำนาน สืบที่มา หาความหมายของ “มะม่วงหิมพานต์” พันธุ์ไม้หลายชื่อของชาวใต้ เกี่ยวข้องกับ “เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว” อย่างไร?
ถ้าถามชาวใต้ว่า พันธุ์ไม้หลายชื่อของชาวใต้คือพันธุ์ไม้ใด คำตอบคือพันธุ์ไม้ยืนต้นชนิดหนึ่ง มีผลแปลกประหลาด โดยเฉพาะเมล็ดแทนที่จะอยู่ภายในกลับมาห้อยค้างเติ่งอยู่ภายนอกผล ชาวภาคกลางหรือภาคอื่น ๆ รู้จักในนามว่า “มะม่วงหิมพานต์” ส่วนชาวใต้เรียกกันอย่างใดนั้น ผู้เขียนจะนำเสนอในประเด็นที่ว่าด้วยชื่อและความหมายต่อไป
ถิ่นกำเนิด มะม่วงหิมพานต์
มะม่วงหิมพานต์ มีถิ่นกำเนิดที่อเมริกาใต้ เช่นเดียวกับต้นยางพาราและต้นศรีตรัง ต่างแพร่พันธุ์สู่ภาคใต้ของไทยมาจนทุกวันนี้ มะม่วงหิมพานต์มีแพร่หลายในบราซิล เม็กซิโก และเปรู ในทวีปแอฟริกามีกระจัดกระจายในโมซัมบิก แทนซาเนีย ไลบีเรีย และเคนยา
ประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 16 หรือ 400 ปีมาแล้ว นักเดินเรือชาวโปรตุเกสได้นำพันธุ์มะม่วงหิมพานต์ไปแพร่พันธุ์ที่รัฐกัว แถบฝั่งมาลาบา ประเทศอินเดีย เป็นแห่งแรกในทวีปเอเชีย จากนั้นพันธุ์ไม้ชนิดนี้แพร่กระจายสู่ประเทศเขตร้อนในทวีปเอเชีย โดยเฉพาะเขตริมฝั่งทะเล เช่น ลังกา มาเลเซีย อินโดนีเซีย และภาคใต้ของไทย
มะม่วงหิมพานต์ กับตำนานเจ้าแม่ลิ้มกอเนียว
มะม่วงหิมพานต์ แพร่พันธุ์ถึงประเทศไทยเมื่อใดยังไม่มีหลักฐานแน่ชัด บางท่านว่ามาพร้อมกับพันธุ์ยางพารา พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี สมุหเทศาภิบาล มณฑลภูเก็ต นำพันธุ์จากมาเลเซียมาปลูกครั้งแรกที่เมืองตรัง คือประมาณ 90 กว่าปีมาแล้ว แต่ผู้เขียนมีความเห็นว่า ช่วงเวลาที่พันธุ์มะม่วงหิมพานต์เดินทางมาสู่ดินแดนภาคใต้ ควรเนิ่นนานกว่านี้ไม่ใช่เพียง 9 ทศวรรษ
หลักฐานที่แสดงให้เห็นว่า มะม่วงหิมพานต์ ปรากฏที่ภาคใต้มาไม่ต่ำกว่า 400 ปี นั่นคือตํานานเจ้าแม่ลิ้มกอเนียว (หรือ เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว)
ชาวปัตตานีเล่าขานกันมาว่า กอเนียว แซ่ลิ่ม จากเมืองจีนเดินทางด้วยสำเภา 9 ลำ มาติดตามพี่ชายที่ปัตตานี นางอ้อนวอนลิ่มโต๊ะเคี่ยมพี่ชายให้คืนถิ่นเดิม แต่พี่ชายไม่ยอมกลับเพราะเข้ารีตเป็นมุสลิม และได้แต่งงานกับสาวปัตตานีแล้ว ในที่สุดนางตรอมใจ และตัดสินใจผูกคอตายที่ต้นมะม่วงหิมพานต์ เหตุการณ์ครั้งนั้นเกิดขึ้นในสมัยรายาบีรู นางพญาผู้ครองเมืองปัตตานีเมื่อ 400 กว่าปีมาแล้ว (ดูรายละเอียดจากตำนานเมืองปัตตานี ของฮิบรอฮิม ซุกรี หรือประชุมพงศาวดาร เล่ม 3)
ต้นมะม่วงหิมพานต์ที่ลิ้มกอเนียวผูกคอตาย อยู่ใกล้มัสยิดที่พี่ชายกำลังก่อสร้าง นางได้สาปแช่งไว้ว่า ขอให้มัสยิดสร้างไม่แล้วเสร็จ เล่ากันว่าเมื่อก่อสร้างหลังคาขึ้นครั้งใดก็โดนฟ้าผ่าครั้งนั้น จนถึงสามครั้งสามคราเลยเลิกสร้าง ปัจจุบันกลายเป็นมัสยิดร้างอยู่ที่บ้านกรือเซะ พี่ชายเจ้าแม่ลิ้มกอเนียวยังเป็นนายช่างหล่อปืนใหญ่ ที่สำคัญคือปืนพญาตานี หรือนางพญาตานี ภายหลังกองทัพไทยจากกรุงเทพฯ ตีปัตตานีได้แล้ว จึงนำปืนใหญ่นี้มาไว้ในเมืองหลวง ปัจจุบันอยู่หน้ากระทรวงกลาโหม
ต้นมะม่วงหิมพานต์ที่เจ้าแม่ลิ้มกอเนียวผูกคอตาย ภายหลังชาวปัตตานีแกะสลักเป็นรูปเจ้าแม่ นำมาประดิษฐานที่ศาลเจ้าเล่งจูเกียง ในตลาดเมืองปัตตานี ภายหลังเรียก ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเนียว ชาวปัตตานี และชาวจังหวัดใกล้ไกลพากันนับถือศรัทธาในความใจเด็ดและวาจาสิทธิ์ของเจ้าแม่มาจนทุกวันนี้
ผลแท้และผลเทียม
มะม่วงหิมพานต์ มีผลคล้ายชมพู่กะหลาป่า หรือชมพู่แก้มแหม่มมากกว่าคล้ายผลมะม่วง แถมมีเมล็ดเปลือกแข็ง รูปร่างคล้ายไตอยู่นอกผล
นักพฤกษศาสตร์อธิบายว่าตรงที่เราเรียกเมล็ดนั่นคือ ผลแท้ และส่วนที่เป็นผลคล้ายชมพู่นั่นคือ ผลเทียม กล่าวคือดอกสมบูรณ์เพศของมะม่วงหิมพานต์ที่ได้รับการผสมพันธุ์แล้ว จะเจริญพัฒนาเป็นผล โดยแยกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนรังไข่จะเจริญเป็นผลแท้ (Cashew nut) กับส่วนฐานรองดอกและก้านดอกรวมกันเจริญเป็นผลหรือผลปลอม (Cashew apple)
เมื่อสุกเต็มที่แล้ว ผลจริงหรือที่เราเรียกว่าเมล็ดมะม่วงหิมพานต์ จะเปลี่ยนเป็นเปลือกแข็ง มีสีเทาอมน้ำตาล หรือสีเทาอมเขียว เมื่อกะเทาะเปลือกแข็งออก จึงนำเนื้อในมาอบ คั่ว หรือทอด มีคุณค่าทางอาหาร และคุณค่าทางเศรษฐกิจสูงมาก ส่วนผลปลอมคล้ายชมพูเนื้อนิ่ม กลิ่นหอม ผิวสีแดงเหลือง หรือเหลืองอมแดง มีรสฝาดอมหวาน ใช้รับประทานสด ๆ หรือนำไปทำแยม หรือผลไม้กวน ชาวบราซิลนิยมดื่มไวน์มะม่วงหิมพานต์
มะม่วงหิมพานต์ ชื่อและความหมาย
มะม่วงหิมพานต์ มีชื่อทางพฤกษศาสตร์ว่า Anacardium Occidentale Linn. บางชาติเรียกแตกต่างกัน เช่น บราซิลเรียกตามภาษาอินเดียนแดงว่า คายู หรือคาชิว (Cashew) อังกฤษเรียก คายู หรือคาชิว สเปนเรียก มาราน่อน ฝรั่งเศสเรียก อะคาลัว-นัท เยอรมันเรียก อะมานดิส อะนาเดสด์ อินเดียเรียก คายู ชื่อสากล รู้จักกันทั่วโลกคือ คายู หรือคาชิว
ชื่อมะม่วงหิมพานต์ในภาคใต้ของไทยมีชื่อหลากหลาย บางจังหวัดเรียกแตกต่างกัน แต่ที่เรียกเหมือนกันและรู้จักกันดี คือ ยาร่วง, ม่วงเล็ดล่อ, ม่วงท้ายล่อ
ชาวภูเก็ต กระบี่ พังงา และระนอง เรียก กาหยู, กาหยี หรือยาโห้ย คำว่า กาหยู หรือกาหยี คงมาจากชื่อสากลของมะม่วงหิมพานต์คือ คายู (Cashew) ออกเสียงอย่างสำเนียงใต้ว่า กาหยู และกลายเสียงเป็นกาหยี
ชาวปัตตานี ยะลา และนราธิวาส มักเรียกตามภาษามลายูท้องถิ่นว่า กือแตแร (Ketere) แต่ชาวบ้านออกเสียงเป็นกะแตแหร, แตแหร หรือถือแหร ชาวสุราษฎร์ธานี มักเรียก ลูกม่วงชูหนวย หรือลูกม่วงทูนหนวย ชาวสงขลา พัทลุง นครศรีธรรมราช มักเรียก ยาร่วง หัวคร็อก หรือเล็ดล่อ
พระยาวินิจวนันดรกล่าวถึงมะม่วงหิมพานต์ภาคเหนือว่า เคยปลูกในวัดมีชื่อต่าง ๆ เช่น มะม่วงกุลา มะม่วงลังกา มะม่วงสิงหล มะม่วงสิโน
เหตุใดจึงชื่อมะม่วง “หิมพานต์”
ชาวไทยทั่วไปคงเห็นว่า เป็นพันธุ์ไม้แปลกประหลาดกว่าพันธุ์ไม้ใด ๆ ในโลก เลยตั้งชื่อว่า มะม่วงหิมพานต์ หมายถึงมาจากนอกฟ้าป่าหิมพานต์ที่อยู่ไกลแสนไกลไปจากโลกมนุษย์ หรือมิฉะนั้นมะม่วงชนิดนี้ เผยแพร่มาจากอินเดีย โดยใช้ป่าหิมพานต์เป็นสัญลักษณ์ของอินเดีย
ชาวใต้เรียก ม่วงเล็ดล่อ หรือมะม่วงท้ายล่อ คือเรียกตามความหมายภาษาถิ่นใต้ คือ ม่วง = มะม่วง เล็ด = เมล็ด ล่อ = โผล่ และท้าย = ก้น ม่วงเล็ดล่อจึงมีความหมายว่า มะม่วงมีเมล็ดโผล่ และมะม่วงท้ายล่อหมายความว่า มะม่วงมีก้นโผล่ (คือเมล็ดโผล่)
ที่เรียกว่าหัวคร็อก หรือหัวคล็อก เรียกตามลักษณะด้ามมีดชนิดหนึ่งของชาวใต้ที่เรียกว่า มีดคล็อก หรือมีดคลก ลักษณะเป็นมีดเหน็บชนิดหนึ่งคล้ายมีดหมอฝักมักทําด้วยไม้แกะสลัก ภาษามลายูเรียก ฆอเลาะ หมายถึงมีดโต้หรือมีดขนาดใหญ่ อ้ายเท่งตัวตลกสำคัญของหนังตะลุงมีมีดคลกเป็นอาวุธ
ที่เรียกว่าม่วงทูนหนวย หรือม่วงชูหนวย แยกศัพท์และความหมายดังนี้ ม่วง = มะม่วง ทูน หรือชู = ยกขึ้น หนวย = หน่วย หมายถึงลักษณะกลม ๆ คือเมล็ดมะม่วง รวมความแล้วหมายถึง มะม่วงยกซูเมล็ดขึ้น
ส่วนที่เรียกว่า ยาร่วง มีผู้ให้ความหมายว่า ผลไม้ชนิดนี้แก้โรคท้องร่วง จึงมีชื่อว่า ยาร่วง (ยาแก้โรคท้องร่วง) ฟังดูแล้วเป็นความหมายใหม่ และผู้ตั้งชื่อไม่ใช่คนในท้องถิ่น เพราะคนในท้องถิ่นเรียกผู้ท้องร่วงว่า คนขี้รั่ว น่าจะเรียกชื่อว่า “ยารั่ว” มากกว่า “ยาร่วง”
คำว่า ยาร่วง มีที่มาจากนิทานพื้นบ้านหลายสำนวน เช่น นิทานเรื่องที่ 1 กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว พระร่วงหรือพญาร่วงเสด็จมาภาคใต้ มีชาวบ้านนำผลไม้ท้องถิ่นขึ้นถวาย พญาร่วงเสวยผลมะม่วงหิมพานต์ บังเอิญพระทนต์กระทบเปลือกแข็งของเมล็ดที่อยู่ภายในผล พญาร่วงเลยไม่พอพระทัยจึงใช้วาจาสิทธิ์บันดาลให้เมล็ดออกมาอยู่ภายนอกผลมาตั้งแต่บัดนั้น พันธุ์ไม้ชนิดนี้จึงเรียก ยาร่วง คือมาจากพญาร่วงตามนิทานดังกล่าว
นิทานเรื่องที่ 2 ครั้งโบราณกาลมีมโนห์ราคณะหนึ่งรำสวย และขับกลอนดี มาแสดงที่หมู่บ้านใกล้ต้นมะม่วงหิมพานต์ เสียงโหม่งเสียงกลองเร้าอารมณ์ ผสมผสานกับเสียงร้องของมโนห์รา ชวนสะกดใจผู้ชม และผู้ฟังให้เคลิบเคลิ้มหลงใหล ขณะนั้นเมล็ดมะม่วงหิมพานต์ค่อยโผล่หน้าออกมาจากผลด้านใน
มนต์เสน่ห์มโนห์รา ทำให้เมล็ดมะม่วงหิมพานต์ทั้งหมดเคลื่อนออกมาด้านนอกเพื่อยลโฉม และฟังเสียงมโนห์ราให้กระจ่างชัด มันเพลิดเพลินจนลืมไปว่า ขณะนั้นช่องทางหรือประตูที่ออกมาได้ปิดสนิทแล้ว เมื่อมโนห์ราเลิกแสดง ปรากฏว่าผู้ชมต่างกลับบ้าน แต่เมล็ดมะม่วงหิมพานต์อดเข้าไปในผล จึงค้างเติ่งมาจนทุกวันนี้
นิทานเรื่องที่ 3 ในอดีตนานแสนนาน มีหมูและลิงเป็นเกลอกัน ไม่ว่าจะไปแห่งใด จะกินอะไร ต่างก็ไปและกินด้วยกันเสมอ วันหนึ่งสัตว์ทั้งสองพบกระต่ายตัวหนึ่งกำลังตื่นตูมอยู่พอดี พลางบอกว่ามันได้ยินเสียงประหลาดอยู่ในถ้ำไม่ไกลนัก ขอให้สัตว์ทั้งสองไปพิสูจน์ดูว่ามันคือเสียงอะไร หมูและลิงตกลงเข้าไปในถ้ำ ต่างผูกหางเข้าด้วยกัน ถ้าจะหนีก็จะหนีด้วยกัน
เมื่อสัตว์ทั้งสองค่อยเดินเข้าไปในถ้ำเพียงครู่เดียว ก็ได้ยินเสียงกึกก้องกัมปนาทปานโลกถล่มทลาย ทั้งหมูและลิงต่างวิ่งหนีอย่างไม่คิดชีวิต เมื่อออกจากถ้ำมันยังวิ่งต่อไป สุดท้ายไปชนต้นมะม่วงหิมพานต์ดังโครมใหญ่ ทำให้ผลมะม่วงหิมพานต์ตกใจ เมล็ดเลยออกมาอยู่นอกผลตั้งแต่บัดนั้น ส่วนสัตว์ทั้งสองหางขาดจากกัน ลิงบางจำพวกหางจึงสั้นมาจนทุกวันนี้ ข้างหมูปรากฏว่าปากและจมูกบวมเจ่อ แถมหางสั้นมาจนปัจจุบัน
บทส่งท้าย
มะม่วงหิมพานต์ เป็นพันธุ์ไม้ใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วน ไม่ว่าจะเป็นราก ลำต้น เปลือก ใบ ผล เมล็ด และเปลือกหุ้มเมล็ด ผู้สนใจเกี่ยวกับประเด็นนี้ โปรดอ่านจากหนังสือว่าด้วยเรื่องมะม่วงหิมพานต์โดยตรง บทส่งท้ายในที่นี้จะพูดถึงเกมการเล่นสนุกของเด็กชายชาวใต้สมัยก่อนที่เกี่ยวข้องกับเมล็ดมะม่วงหิมพานต์ รวมทั้งกรรมวิธีการเผาเมล็ดมะม่วงสมัยนั้น
เกมการเล่นที่พูดถึงนี้คือ การเล่น “ซัดราว” หรือ “ฟัดราว” เด็ก ๆ วางเมล็ดมะม่วงบนราวคนละเท่า ๆ กันแล้วแต่จะตกลง ราวมักทำด้วยไม้ไผ่ผ่าซีก หรือใช้ไม้แบน ๆ อย่างไม้บรรทัด พอวางเมล็ดมะม่วงได้พอดี ปลายราวแต่ละข้างวางบนกระป๋องนม หรือแท่งอิฐหรือหิน มีความสูงจากพื้นดินราว 15-20 ซ.ม. เด็กแต่ละคนใช้เมล็ดมะม่วงหิมพานต์ที่ตนคิดว่าโตและหนักที่สุดต่างถือไว้คนละเมล็ด เพื่อผลัดกันซัดราว หรือขว้างให้ถูกราวที่วางเมล็ดมะม่วง โดยกำหนดจุดขว้างห่างจากราวประมาณ 4-5 เมตร ใครขว้างโดนราวจนเมล็ดมะม่วงกระเด็นตกพื้นผู้นั้นเป็นฝ่ายชนะ และได้รับมะม่วงที่ตกบนพื้นเป็นกรรมสิทธิ์
การเล่นครั้งต่อ ๆ ไปเป็นเช่นดังกล่าวข้างต้น เกมจะยุติต่อเมื่อฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดหมดทุน คือหมดเมล็ดมะม่วง ฝ่ายชนะผู้ร่ำรวยเมล็ดมะม่วง จะชวนเพื่อน ๆ ไปช่วยกันคั่วเผากินเนื้อในเมล็ดต่อไป
เด็ก ๆ หรือผู้ใหญ่สมัยนั้นใช้กรรมวิธีการคั่วแบบง่าย ๆ คือใช้กระทะ หรือกะละมังเก่า ๆ วางบนก้อนหินหรือก้อนเส้า เชื้อเพลิงมักอาศัยทางมะพร้าวหรือใบมะพร้าวแห้ง ความร้อนส่งผลให้น้ำมันจากเมล็ดไหลเยิ้ม และลุกเป็นไฟ บางเมล็ดจะดีดกระเด็น แถมมีควันคละคลุ้งโชยกลิ่นหอมหวนชวนกิน ผู้คั่วใช้ไม้ยาว ๆ คอยพลิกเมล็ดไม่ให้ลุกเป็นไฟจนนานเกิน มิฉะนั้นเมล็ดจะไหม้กรอบ เนื้อในกินไม่ได้ ผู้คั่วเมล็ดมะม่วงชักสนุกตรงคอยระมัดระวังไม่ให้เมล็ดมะม่วงที่ลุกเป็นไฟกระเด็นมาถูกใบหน้าหรือลำตัว
เมื่อกะว่าเนื้อในเมล็ดสุกแล้ว ผู้คั่วรีบคว่ำกระทะลงบนพื้น เพื่อให้ไฟในกระทะดับมอดแล้วจึงหงายกระทะอีกครั้ง จากนั้นเด็ก ๆ หรือผู้ใหญ่จะล้อมวงกะเทาะเปลือกเมล็ดที่สุกดำโดยใช้ไม้หรือก้อนหินทุบเปลือกเมล็ดเพียงเบา ๆ จึงจะได้เนื้อในมากินกันอย่างเอร็ดอร่อย ปัจจุบันชาวบ้านมีเครื่องมือกะเทาะเปลือกจึงไม่จำเป็นใช้วิธีเผาดังกล่าว แต่บรรยากาศแห่งความสนุกแบบชาวบ้านค่อย ๆ หมดไป
อย่างไรก็ตาม มะม่วงหิมพานต์ พันธุ์ไม้หลายชื่อของชาวใต้ยังมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจ เพราะมันเป็นพันธุ์ไม้อเนกคุณ ปัจจุบันทางราชการขยายพันธุ์ไปยังภาคอื่น ๆ ด้วย
อ่านเพิ่มเติม :
- ผลไม้ในสมัยรัชกาลที่ 5 มะม่วง-เงาะ-ทุเรียน ฯลฯ สวนที่ไหน? ที่ขึ้นชื่อ
- แยกท่าพระ กรุงเทพฯ เคยมีผลไม้? อร่อยขึ้นชื่อจนที่อื่นสู้ไม่ได้
- ทำไมเรียก “ทุเรียน”? และการเล่าขานผลไม้ที่กลิ่นเหม็นเหมือน “ขี้ซำปอกง”
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
หนังสืออ้างอิง :
ประชุมพงศาวดาร เล่ม 3. คุรุสภา, 2506
วินิจวนันดร, พระยา. วนสาร. 2 (7), 2480 : 340-364.
วิจิตร วรรณชิต และคณะ. วารสารสงขลานครินทร์. 8 (4), ต.ค.-ธ.ค. 2529 : 485-487
ฮิบราฮิมสุกรี, หะสัน หมัดหมาน (แปล). ตำนานปัตตานี. ศูนย์การศึกษาเกี่ยวกับภาคใต้ มอ.ปัตตานี, 2530
หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “พันธุ์ไม้หลายชื่อของชาวใต้” เขียนโดย รศ.ประพนธ์ เรืองณรงค์ ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับมกราคม 2540
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 24 พฤษภาคม 2565