“ร้อนนอก” มาจากสภาพอากาศ แล้ว “ร้อนใน” มาจากอะไร? จนทำให้เกิดแผลในปาก

แผลในปาก แผลร้อนใน
แผลร้อนในภายในปาก (ภาพจาก วิกิพีเดีย)

“แผลร้อนใน” มักเกิดขึ้นในปาก เมื่อได้ชื่อว่าแผลร้อนใน เราจึงเชื่อโดยปริยายว่าเกิดจากร่างกายเสียสมดุล และจบลงด้วยความพยายามลดความร้อนภายในร่างกาย ด้วย จับเลี้ยง, ยาขม, น้ำใบบัวบก ฯลฯ

การแพทย์แผนปัจจุบันระบุว่า แผลร้อนใน เป็นโรคของเยื่อเมือกช่องปากที่พบได้บ่อย มักพบในบริเวณที่เยื่อเมือกช่องปากไม่มีเคราติน เช่น กระพุ้งแก้ม, เหงือก, ลิ้น, เพดานอ่อน หรือพื้นช่องปาก แผลร้อนในพบในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ พบในเพศหญิงมากกว่าผู้ชาย และแนวโน้มความถี่และความรุนแรงลดลงเมื่อผู้ป่วยมีอายุเพิ่มขึ้น

ส่วน แผลร้อนใน เกิดจากอะไร ณ วันนี้ยังไม่สามารถสรุปสาเหตุที่ชัดเจน

แต่ก็มีรายงานปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคหลายอย่าง เช่น การแพ้อาหาร (เช่น กลูเตน), การแพ้สารบางชนิด (เช่น สารกันบูดในยาสีฟัน), ความเครียด, ความไม่สมดุลของฮอร์โมน, การขาดสารต้านอนุมูลอิสระ (เช่น วิตามินซี, วิตามินอี, แมงกานีส ฯลฯ),  การติดเชื้อแบคทีเรีย เป็นต้น

ดังที่กล่าวไปข้างต้น ว่าปัจจุบันไม่ทราบสาเหตุการเกิดโรคที่แน่ชัด จึงยังไม่มีการรักษาที่หายขาด ผู้ที่เป็นแผลร้อนในจึงมีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำ การรักษาเป็นการรักษาตามอาการ ซึ่งโดยทั่วไป แผลร้อนในส่วนใหญ่หายได้ในเวลา 1-2 สัปดาห์ ไม่เป็นแผลเป็น และมีอาการไม่รุนแรง  ทว่าระหว่างที่เป็นแผลร้อนในก็เจ็บปวดและน่ารำคาญ เพราะทำให้เคี้ยว, กลืน, พูด และแปรงฟัน ไม่สะดวก

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

นางสาวณัฐานิษฐ์ รุ่งศิริเสถียร. การเปรียบเทียบประสิทธิภาพของสารอะซีแมนแนน ความเข้มข้นร้อยละ 0.5 และยาไตรแอมซิโนโลน ความเข้มข้น 0.1 ในการรักษาแผลร้อนในในช่องปาก. วิทยานิพนธ์วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. ปีการศึกษา 2555.

ชานล ตั้งเจริญ และคณะ . “แผลร้อนในในช่องปากกลับเป็นซ้ำ: การรายงานผู้ป่วย” ใน, วิทยาสารทันตแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น ปีที่ 25 ฉบับที่ 2 พฤษภาคม-สิงหาคม 2565.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 11 เมษายน 2566