เผยแพร่ |
---|
พัฒนาการของระบบสาธารณสุขในไทยมีความเป็นมายาวนาน ตั้งแต่ยุครัฐจารีต มาจนถึงรัฐสมัยใหม่ ในงานศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้ ชาติชาย มุกสง ได้อธิบายไว้ว่า ก่อนหน้ารัฐไทย(สมัยใหม่)เข้ามาดูแลสุขภาพอนามัยของประชาชน ลักษณะ “ไม่รับผิดชอบ” ของรัฐไทยในแง่การดูแลสุขภาพอนามัยของราษฎร แสดงให้เห็นผ่านการอธิบายการเจ็บป่วยและตายของประชาชนว่าเป็น “เวรกรรม” ของปัจเจกชนอันสอดคล้องกับโลกทัศน์เชิงความเชื่อทางศาสนาตามอุดมการณ์ของรัฐไทยยุคโบราณ
ชาติชาย มุกสง อธิบายเรื่องการแพทย์ในประวัติศาสตร์ไทยไว้ในหนังสือ “จากปีศาจสู่เชื้อโรค : ประวัติศาสตร์การแพทย์กับโรคระบาดในสังคมไทย” ว่า ในสมัยรัฐแบบจารีต ตั้งแต่สมัยการตั้งถิ่นฐานเป็นบ้านเมือง กลายเป็นเมืองขนาดใหญ่ และเป็นอาณาจักรอันมีหลายเมืองเติบโตขึ้นเป็นศูนย์กลาง จากนั้นก็พัฒนาเป็นรัฐของคนเผ่าไทยหลายเมืองในช่วงพุทธศตวรรษที่ 18 จนภายหลังได้ปรากฏศูนย์กลางอำนาจทางการเมืองและวัฒนธรรมของสุโขทัยในเวลาสั้นๆ และสืบทอดมาเป็นอาณาจักรไทยที่มีอยุธยาเป็นศูนย์กลาง มีการแพทย์ 2 ระบบ ได้แก่
1. แพทย์หลวง รับผิดชอบดูแลรักษาสุขภาพของคนในราชสำนักและตามที่กษัตริย์พระราชทานให้ไปรักษา แน่นอนว่าผู้อุปถัมภ์แพทย์หลวงคือราชสำนัก
2. แพทย์เชลยศักดิ์ กล่าวได้ว่าเป็นระดับ “ผู้เชี่ยวชาญ” (ด้านการแพทย์) อยู่ในแต่ละชุมชน รักษาผู้ป่วยภายในชุมชน ได้รับค่าตอบแทนตามกลไกตลาดและตามวัฒนธรรมของชุมชน แพทย์กลุ่มนี้ไม่ได้มีรัฐเป็นผู้รับผิดชอบ เป็นกิจของแต่ละชุมชน
เมื่อเกิดโรคระบาดหรือภัยคุกคามต่อสุขภาพของไพร่และทาสอันจะส่งผลต่อจำนวนกำลังแรงงานของรัฐ เมื่อนั้นบทบาทของรัฐจารีตในการดูแลสุขภาพของประชาชนถึงจะปรากฏขึ้นอย่างเด่นชัด เพราะในยุคสมัยนั้น กำลังคนถือเป็นแหล่งที่มาของกำลังผลิตในเชิงเศรษฐกิจและเป็นกำลังทหารในสงคราม หลักฐานในยุคหลังพบว่า ในกองทัพสยามมีหมอเดินทางไปราชการพร้อมกองทัพด้วย
แม้การแพทย์สมัยใหม่จะเข้ามานานแล้ว แม้แต่ในสมัยอยุธยาถึงต้นรัตนโกสินทร์ ชาติชาย มุกสง อธิบายว่า การแพทย์สมัยใหม่ไม่ได้กระจายอย่างกว้างขวางมาก่อน การสร้างโรงพยาบาลหรือการป้องกันโรคตามการแพทย์สมัยใหม่ก็กระจุกตัวในเมืองกรุงหรือหัวเมืองสำคัญเท่านั้น
เมื่อมาถึงสมัยที่ตะวันตกมีแนวคิดจักรวรรดินิยมช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 25 รัฐไทยจึงปรับเปลี่ยนบทบาทหลายอย่าง นำไปสู่การบริหารจัดการอำนาจ ดูแลความเป็นอยู่ของราษฎรในชีวิตประจำวัน จากที่เดิมทีแล้ว รัฐมีอำนาจอยู่กับการปกป้องอาณาจักร จัดเก็บภาษี และทำนุบำรุงสัญลักษณ์ทางการปกครอง
การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้นำมาซึ่ง “เครื่องมือ” เพื่อให้ปฏิบัติการได้อย่างมีประสิทธิภาพแทนที่ระบบเดิมอย่างระบบไพร่ที่ยกเลิกไป ชาติชาย มุกสง อธิบายว่า เครื่องมือที่รัฐใช้สร้างสัมพันธ์ระหว่างตัวรัฐเองกับราษฎร “ความรู้” ที่รัฐผลิตผ่านการศึกษาสมัยใหม่ และสถาบันต่างๆ ซึ่งปรากฏขึ้นใหม่นั้น ถือเป็นเทคโนโลยีแห่งอำนาจที่มีประสิทธิภาพมาก ชาติชาย มุกสง ยกตัวอย่างว่า
“ก่อนหน้าที่รัฐไทยจะมารับผิดชอบดูแลสุขภาพของประชาชน ความไม่รับผิดชอบของรัฐไทยต่อสุขภาพอนามัยของราษฎร ได้สะท้อนให้เห็นจากการอธิบายการเจ็บป่วยและการตายว่าเป็น ‘เวรกรรม’ ของปัจเจกชน ซึ่งสอดคล้องกับโลกทัศน์แบบพระพุทธศาสนา อันเป็นอุดมการณ์ของรัฐไทยสมัยโบราณ”
ชาติชาย มุกสง มองว่า การเข้ามาของจักรวรรดินิยมตะวันตกทำให้รัฐไทยต้องตอบสนอง ทั้งการสร้างประเทศให้มีอารยธรรมแบบฉบับรัฐในตะวันตกเพื่อต่อต้านการคุกคามของจักรวรรดินิยมตะวันตกเพื่อจะได้ไม่ต้องตกเป็นเมืองขึ้น โดยการแพทย์ก็เป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบในการปรับปรุงกิจการด้วย
ขณะเดียวกัน การพัฒนาประเทศของรัฐไทยก็ประสบอุปสรรค เดิมทีการเพิ่มประชากรในสมัยรัฐจารีตใช้วิธีทำสงครามกวาดต้อนคน แต่ในยุคจักรวรรดินิยมกลับไม่สามารถทำได้เพราะดินแดนรอบข้างตกเป็นของอาณานิคมตะวันตกไปแล้ว การเพิ่มประชากรทำได้โดยการเพิ่มอัตราการเกิดและลดอัตราการตาย
ดังนั้น การแพทย์และการสาธารณสุขจึงเป็นเครื่องมือสำคัญของรัฐไทยเพื่อเพิ่มกำลังแรงงานทางเศรษฐกิจ และเพิ่มกำลังทางทหารด้วยเช่นกัน ชนชั้นนำไทยตระหนักถึงความสำคัญของการเพิ่มกำลังคนในทางเศรษฐกิจ
ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 การให้บริการการแพทย์สมัยใหม่ให้ประชาชน ทั้งการรักษาโรคและบริการอื่นๆ ค่อนข้างจำกัด
คาร์ล ซิมเมอร์แมน นักสังคมวิทยาชาวอเมริกัน รายงานผลการสำรวจในช่วงก่อนหน้าการเปลี่ยนแปลงการปกครอง (ราว 2473-2474) ว่า “ชนบทไทยไม่ได้รับประโยชน์จากการแพทย์แผนปัจจุบันเลย มีเพียงไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ที่ได้รับการรักษาโรคโดยการแพทย์แผนปัจจุบันจากโรงพยาบาลที่จัดตั้งโดยรัฐบาลและมิชชันนารี” [1]
ขณะที่พระบำราศนราดูร ให้ข้อมูลว่า การตั้งโรงพยาบาลในหัวเมืองมีขึ้นเพราะปัญหาทางการเมือง ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ ที่ระนองมีโรงพยาบาลรัฐเพียงแห่งเดียว มีขึ้นสืบเนื่องจากไม่อยากให้คนไทยข้ามไปรักษาที่โรงพยาบาลของอังกฤษที่เกาะสอง (วิกตอเรียพอยท์)
โรงพยาบาลในท้องถิ่นในจังหวัดอื่นๆ อาทิ นครราชสีมา เชียงใหม่ สงขลา ภูเก็ต สุพรรณบุรี นครสวรรค์ ฯลฯ ล้วนขาดแคลนเจ้าหน้าที่ งบประมาณ และอุปกรณ์ แม้จะมีโรงพยาบาลแล้วก็ตาม ชาวบ้านก็ยังไม่ได้ยอมรับการแพทย์สมัยใหม่ไปเสียหมด
ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองช่วงระยะแรก ปีแรกนั้นแทบไม่ได้ปรากฏความเปลี่ยนแปลงมากนัก แต่ภายหลังการรัฐประหารพ.ศ. 2476 พระบำราศนราดูร ซึ่งมีประสบการณ์ในวงสาธารณสุขสมัยราชาธิปไตยมาก่อน เล่าในบทความเรื่องประวัติกระทรวงสาธารณสุขว่า
“หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้วการบริหารงานของกรมสาธารณสุขก็ได้ดำเนินการตามโครงการและนโยบายเดิมแต่ได้มีการเปลี่ยนแปลงไปบ้าง…รัฐบาลเห็นจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องสร้างโรงพยาบาลเพื่อช่วยในการบำบัดโรคภัยไข้เจ็บแก่ประชาชนให้กว้างขวางยิ่งขึ้น”
อ้างอิง:
ชาติชาย มุกสง. จากปีศาจสู่เชื้อโรค : ประวัติศาสตร์การแพทย์กับโรคระบาดในสังคมไทย. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : มติชน, 2563.
พระบำราศนราดูร. “ประวัติกระทรวงสาธารณสุข,” ใน อนุสรณ์ 15 ปีกระทรวงสาธารณสุข. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์พระจันทร์, 2500. น. 40-41.
คาร์ล ซี. ซิมเมอร์แมน. การสำรวจเศรษฐกิจในชนบทแห่งสยาม. แปลโดย ซิม วีระไวทยะ. พระนคร : โรงพิมพ์ศรีหงส์, 2477.
เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 22 เมษายน 2564