ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ หรือที่หลายคนนับถือพระองค์เป็น “เสด็จเตี่ย” เป็นพระบรมวงศานุวงศ์ที่มีอนุสรณ์สถานและศาลอยู่ทั่วประเทศ เนื่องด้วยมีผู้เคารพ ศรัทธา และนับถือ กรมหลวงชุมพร ในแง่ “ความศักดิ์สิทธิ์” อยู่มากมาย แล้ว “อนุสรณ์สถานกรมหลวงชุมพร” แห่งแรกอยู่ที่ไหน?
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ (พระนามเดิม คือ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์) เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาโหมด แห่งสายสกุลบุนนาค
พระองค์สำเร็จการศึกษาวิชาทหารเรือที่ประเทศอังกฤษ เมื่อกลับมาแล้วก็ทรงเข้ารับราชการ มีบทบาทในการวางรากฐานกองทัพเรือไทย ทรงมีลูกศิษย์ลูกหาที่เคารพนับถือพระองค์จำนวนมาก เนื่องมาจากทรงมีพระเมตตา และทรงมีความเป็น “นักเลง” ในพระองค์ ด้วยทรงช่วยเหลือผู้เดือดร้อน ปรามคนกระทำไม่ดี ทำให้ทรงได้รับการยกย่องนับถือ
หนึ่งในผู้ที่เคารพยกย่องกรมหลวงชุมพรอย่างมาก คือ พลเรือโท พระยาราชวังสัน (ศรี กมลนาวิน) เสนาธิการทหารเรือ ลูกศิษย์คนแรกของพระองค์ ที่ต่อมาจะมีบทบาทในการสร้าง “อนุสรณ์สถานกรมหลวงชุมพร” แห่งแรก
พระยาราชวังสันได้รับการถ่ายทอดความรู้จากกรมหลวงชุมพรอย่างใกล้ชิด เมื่อทรงจัดให้มีการฝึกภาคทะเลช่วงต้น พ.ศ. 2450 พระยาราชวังสันเป็นนักเรียนนายเรือชั้นสูงสุดเพียงคนเดียวที่ได้ทำหน้าที่เดินเรือ
เมื่อ กรมหลวงชุมพร สิ้นพระชนม์ใน พ.ศ. 2466 พระยาราชวังสันต้องการตอบแทนคุณพระองค์ แต่ช่วงนั้นเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก ไทยก็ได้รับผลกระทบไปด้วย กระทรวงทหารเรือต้องลดงบประมาณด้านต่างๆ
พระยาราชวังสันจึงเลือกสถานที่ที่กระทรวงทหารเรือมีนโยบายจะสร้างอยู่แล้วให้เป็นอนุสรณ์สถาน เพื่อรำลึกถึงกรมหลวงชุมพรไปด้วยในคราวเดียวกัน
ช่วงนั้น กรมอุทกศาสตร์ มีความคิดสร้างประภาคารที่ เกาะไผ่ จังหวัดชลบุรี พระยาราชวังสันจึงขอให้กรมอุทกศาสตร์ตั้งชื่อประภาคารนี้ว่า “ประภาคารอาภากร” เพื่อเป็นอนุสรณ์สถานอุทิศแด่กรมหลวงชุมพร
การสร้างประภาคารอาภากรต้องใช้งบประมาณกว่า 49,000 บาท พระยาราชวังสันจึงแบ่งงบออกเป็น 2 ส่วน ส่วนหนึ่งใช้งบของกระทรวงทหารเรือ และอีกส่วนใช้การรับบริจาค แต่ด้วยสถานการณ์ขณะนั้นที่เศรษฐกิจตกต่ำ การเรี่ยไรจึงล่าช้ากว่าที่วางไว้ แต่ในที่สุดก็สร้างเสร็จสิ้นใน พ.ศ. 2470
ประภาคารอาภากร จึงเป็น “อนุสรณ์สถานกรมหลวงชุมพร” อย่างเป็นทางการแห่งแรกในไทย ที่ทหารเรือสร้างขึ้นด้วยเคารพศรัทธา
อ่านเพิ่มเติม :
- 19 ธันวาคม 2423 วันประสูติ “เสด็จเตี่ย-กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์”
- ทำไมทหารเรือจึงเรียก “กรมหลวงชุมพรฯ” ว่า “เสด็จเตี่ย”
- พระอุปนิสัย-พระจริยวัตรของ “กรมหลวงชุมพรฯ” ที่คนเคารพนับถือ และแง่ความศักดิ์สิทธิ์
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
คเณศ กังวานสุรไกร. “อนุสรณ์สถานกรมหลวงชุมพรฯ จากเกาะไผ่ถึงสัตหีบ : การเปลี่ยนแปลงการระลึกถึงกรมหลวงชุมพรฯ ในกองทัพเรือ พ.ศ. 2470 ถึงทศวรรษ 2510”. นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤษภาคม 2565
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 8 พฤษภาคม 2567