ผู้เขียน | สุทธาสินี จิตรกรรมไทย เจียจันทร์พงษ์ |
---|---|
เผยแพร่ |
เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ “ทูลกระหม่อมดาวร่วง” ที่มาชื่อ “โรงพยาบาลศิริราช”
โรงพยาบาลศิริราช เป็นโรงพยาบาลเก่าแก่สุดของไทย ก่อตั้งขึ้นใน พ.ศ. 2431 ชื่อโรงพยาบาลมาจาก “เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์” ที่ชาววังขานพระนามว่า “ทูลกระหม่อมดาวร่วง”
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ (แรกประสูติ คือ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์)
พระองค์ทรงเป็นพระราชโอรสลำดับที่ 53 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2428 ณ พระที่นั่งบรมราชสถิตย์มโหฬาร ห้องเขียว ในพระบรมมหาราชวัง
อ่านเพิ่มเติม : สกุลยศ “เจ้าฟ้า” และ “พระองค์เจ้า” ต่างกันอย่างไร?
เมื่อแรกประสูติ เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ทรงมีพระนามที่ชาววังเรียกขานอย่างลำลองว่า “ทูลกระหม่อมดาวร่วง” มีที่มาจากคืนวันประสูติมีดาวร่วงเป็นสายจำนวนมาก ดังที่ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 4 แผ่นที่ 10 วันอาทิตย์ เดือน 7 ขึ้น 15 ค่ำ ปีกุนนพศก 1249 (พ.ศ. 2430) ระบุว่า
“ในเวลาค่ำวันนั้น มีมหัศจรรยบนอากาศคือเปนดวงดาวเล็ก ๆ ฤาบางทีมีเปนสายต่อจากดวงเล็ก ร่วงลงมาโดยรอบทิศานุทิศ ตั้งแต่เวลาค่ำแล้วไปจนดึกยังมิได้สิ้นสูญ”
เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ ทรงเจริญพระชนมายุตามลำดับ เป็นที่รักยิ่งของรัชกาลที่ 5 และสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ทว่าต่อมาประชวรด้วยพระโรคบิด ทรงอาเจียน พระวรกายซูบ มีพระบังคนเหลวหลายสิบครั้ง มีพระเสมหะและพระโลหิตเจือปน ทรงอ่อนเพลียอย่างหนัก พระอาการทรุดอย่างรวดเร็ว แม้แพทย์หลวงจะถวายพระโอสถแต่พระอาการกลับไม่ดีขึ้น
หลังจากประชวรอยู่เกือบ 20 วัน ในที่สุดเจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ก็สิ้นพระชนม์ เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2430 พระชนมายุ 1 ปี 6 เดือน 19 วัน หรือลำดับวันได้ 550 วัน
การสูญเสียครั้งนี้ทำให้รัชกาลที่ 5 และสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถทรงเศร้าโศกเสียพระทัยยิ่ง ถึงขั้นประชวรพระวาโย
ระยะเวลาไล่เลี่ยกันนั้น มีโครงการจัดตั้งโรงพยาบาล และอยู่ระหว่างขั้นตอนดำเนินงานก่อสร้างโรงพยาบาล เมื่อเจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์สิ้นพระชนม์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชหัตถเลขาถึงคณะกรรมการสร้างโรงพยาบาลตอนหนึ่งว่า
“ภายหลังเกิดวิบัติเคราะห์ร้ายลูกซึ่งเป็นที่รักตายเป็นที่สลดใจด้วยการที่รักษาไข้เจ็บ เห็นว่าแต่ลูกเราพิทักษ์รักษาเพียงนี้ยังได้ความทุกข์เวทนาแสนสาหัส ลูกราษฎรที่อนาถาทั้งปวงจะได้ความลำบากทุกข์เวทนายิ่งกว่านี้ประการใด ยิ่งทำให้มีความปรารถนาที่จะให้มีโรงพยาบาลยิ่งขึ้น
“ภายหลังกรมหมื่นดำรงราชานุภาพคิดการที่จะตั้งโรงพยาบาล ทำความเห็นมายื่น เห็นว่าเป็นทางที่จะจัดการตลอดได้ จึงได้ตั้งท่านทั้งหลายเป็นคอมมิตตีจัดการ แลได้ปรึกษากับแม่เล็กเสาวภาผ่องศรี มีความชื่นชมในการที่จะสงเคราะห์แก่คนที่ได้รับความลำบากด้วยป่วยไข้นี้ด้วย ยอมยกทรัพย์สมบัติของลูกที่ตายให้เป็นส่วนในการทำโรงพยาบาลนี้เป็นต้นทุน…”
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริให้ในงานพระเมรุเจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ ณ ท้องสนามหลวง ใช้สิ่งก่อสร้างที่เป็นไม้จริง เนื่องด้วยเมื่อเสร็จการพระเมรุแล้วจะพระราชทานแก่โรงพยาบาล
เมื่อการพระเมรุลุล่วง โปรดเกล้าฯ ให้รื้อพระเมรุไปสร้างเรือนคนไข้ได้ 4 หลัง ในโรงพยาบาล ทั้งยังพระราชทานเครื่องเรือนเครื่องใช้ทั้งปวง อาทิ เตียง ตู้ โต๊ะ เก้าอี้ ฯลฯ รวมถึงพระราชทานเงินพระมรดกในเจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ จำนวน 700 ชั่ง (เทียบได้ราว 56,000 บาท) เป็นทุนสร้างโรงพยาบาล
นอกจากนี้ รัชกาลที่ 5 ยังพระราชทานนามโรงพยาบาลแห่งนี้ด้วยว่า “โรงพยาบาลศิริราช”
อ่านเพิ่มเติม :
- ทำไม “สมเด็จพระพันปีหลวง” พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 5 ทรงนอนตอนเช้า และทรงตื่นในเวลาค่ำ?
- พระองค์เจ้าอิศรวงศ์วรราชกุมาร “ลูกชาย” องค์แรกในรัชกาลที่ 5 ผู้ทรงมีพระชันษาสั้น
- “ประภาพรรณพิไลย-ประไพพรรณพิลาส” พระราชธิดา “ฝาแฝด” คู่เดียวในรัชกาลที่ 5
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนครคีรี. “มหามกุฎราชสันตติวงศ์ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๔๒๘ วันประสูติสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์”.
หอสมุดศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล. “สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์”.
ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 4 แผ่นที่ 10 วันอาทิตย์ เดือน 7 ขึ้น 15 ค่ำ ปีกุนนพศก 1249.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 8 พฤษภาคม 2567