ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
การ “สัก” เพื่อรักษาโรค พบหลักฐานในอีสาน?
หลายคนคงเคยได้ยินและเคยเห็นการ “สัก” ซึ่งปัจจุบันมีการสักอย่างแพร่หลายเกือบทุกเพศทุกวัย การสักลายแต่ละคนมีวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกันออกไป บ้างสักเพื่อความสวยงาม สักตามความเชื่อ สักเพื่อลงอาคม สักเพื่อแสดงสังกัดหรือเพื่อความเป็นหมู่พวกเดียวกัน ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับความต้องการของแต่ละคน
แต่ถ้าเป็นการสักเพื่อ “รักษาโรค”? การสักเพื่อรักษาโรคหลายคนคงไม่คุ้นและไม่เคยได้ยินการสักแบบนี้ มาก่อน นิตยสารศิลปวัฒรธรรม ฉบับธันวาคม 2527 มีบทความเรื่อง “จิตรกรรมบนความเจ็บปวด” โดย สมชาย นิลอาธิ ในบทความตอนหนึ่งพูดเรื่องการสักเพื่อ “รักษาโรค” ไว้ว่า
การสักเพื่อรักษาโรคพบหลักฐานในอีสาน ทราบมาว่ามีการสักเพื่อรักษาโรคคือ “รักษาโรคปะดง” การสักดังกล่าวผู้สักจำเป็นจะต้องมีความรู้ความสามารถด้านการรักษาโรคตามแผนโบราณด้วยจึงจะทำการสักได้ ซึ่งจะนิยมใช้น้ำมันที่เชื่อว่าจะเป็นยารักษาโรคดังกล่าวได้แทนหมึกดำและหมึกแดง ฉะนั้นเมื่อสักแล้วเสร็จรอยแผลสักจะหายจะไม่มีรอยอย่างการสักหมึกอยู่เลย
หมอจะให้ผู้ป่วยนอนลงเพื่อตรวจดูแนวปะดง แล้วจึงใช้เหล็กแหลมปลายเดียวที่เสียบกับปลายด้ามไม้จุ่มน้ำมันสักไล่ปะดงเป็นระยะ ๆ ตามความรู้และความเข้าใจของหมอเท่านั้น และจะสักกันสด ๆ โดยไม่ต้องเคี้ยวฝิ่นหรือผูกมัดกันเลย
ปัจจุบันการสักลายเพื่อรักษาโรคคงไม่มีให้เห็นแล้ว ด้วยยุคสมัยและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปตามการรักษาที่พัฒนาใหม่อย่างต่อเนื่อง แต่การสักลายยังคงได้รับความนิยมกันอย่างแพร่หลายอยู่ในปัจจุบัน ด้วยค่านิยมที่แตกต่างกันออกไป ทั้งด้านความเชื่อ ลวดลาย ล้วนขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้สักเอง
อ่านเพิ่มเติม :
- ตำนานความเชื่อเรื่อง “รอยสัก” มาจากอิทธิฤทธิ์ของพระพุทธเจ้า
- ความเชื่อใน “วิชาคงกระพันชาตรี” ศาสตร์ลับแห่งความแข็งแกร่งของทหารไทยสมัยก่อน
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2561