ผู้เขียน | ชิษณุพงศ์ แจ่มปัญญา |
---|---|
เผยแพร่ |
วิชา “คงกระพันชาตรี” เป็นสิ่งที่เลื่องลือมานานในสังคมไทย อย่างทหารไทยสมัยก่อนที่เล่าสืบกันมาว่าหลายคนฟันแทงไม่เข้า แม้ดูเป็นเรื่องเหนือธรรมชาติอย่างมาก แต่มันมีที่มาของเรื่องเล่านั้นอยู่ ด้วยศาสตร์แห่งไสยนั่นเอง
คงกระพันชาตรี คือวิชาอะไร?
ในยุคโบราณที่แนวคิดแบบวิทยาศาสตร์ยังไม่แพร่หลาย ศาสตร์ที่ยังมีอิทธิพลต่อความคิดและความเชื่อของคนยุคโบราณยังอยู่กับแนวคิดเรื่องศาสตร์แห่งไสย
คงกระพันชาตรี เป็นวิชาเวทมนตร์คาถาอีกแขนงหนึ่ง ที่ทหารสมัยก่อนนั้นขวนขวายที่จะเล่าเรียนติดตัวไว้ เพื่อเสริมความมั่นใจในการออกศึกแต่ละครั้ง อีกทั้งยังเสริมความทนทานต่ออาวุธระยะประชิดทั้งปวง อย่างดาบ หอก ทวน ง้าว แหลน ฯลฯ
แต่วิชานี้จะไม่ครอบคลุมถึงอาวุธระยะไกลอย่างปืน ซึ่งจะมีวิชาที่รองรับการโจมตีด้วยปืนอยู่ นั่นคือ “วิชามหาอุด” ทำให้กระสุนที่ยิงออกมาเกิดความผิดปกติ ทำให้ยิงไม่ออกบ้าง หรือทำให้ปากกระบอกปืนแตกไปเลยก็มี
วิชาคงกระพันชาตรีเป็นวิชายอดนิยมอย่างยิ่ง เนื่องด้วยพลานุภาพของมัน และเป็นวิชาที่ทำให้ทหารมีแรงกระตุ้นและแรงใจให้วิ่งเข้าประจันหน้ากับข้าศึก
แต่ต่อมาความนิยมในวิชานี้ก็เสื่อมลงตามกาลเวลา อาจด้วยเหตุผลที่ว่าในปัจจุบันการศึกสงครามเต็มไปด้วยเทคโนโลยีและอาวุธระยะไกลแล้ว วิชาที่ป้องกันอาวุธระยะประชิดเป็นหลักคงจะไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป แต่ก็ยังมีให้เห็นอยู่ในหมู่พวกอันธพาลนักเลงที่ใช้วิชานี้เสริมความแกร่งให้ตัวเอง ประกอบกับการสักยันต์แล้วไปสร้างความยุ่งยากให้กับผู้อื่น จนตำรวจต้องมีการควบคุมป้องกันบุคคลเหล่านี้เป็นพิเศษ
คงกระพัน-ชาตรี
น้อยคนนักที่จะรู้ว่าวิชาดังกล่าวเป็นเพียงคำที่เรียกรวม ๆ กันของวิชา “คงกระพัน” กับวิชา “ชาตรี” เท่านั้น ซึ่งแน่นอนอยู่แล้วว่าทั้งสองแบบนั้นมีความแตกต่างกันอยู่ ผลของวิชาก็จะเป็นไปในทางเดียวกัน คือการคุ้มกันจากภยันตรายต่าง ๆ ซึ่งในแต่ละวิชานั้นจะมีจุดสำคัญคละกันไป
วิชาคงกระพัน เป็นวิชาที่อาวุธระยะประชิด และวิธีการโจมตีทั้งปวงมิอาจทำอันตรายใด ๆ กับร่างกายผู้ใช้วิชาได้เลย แต่มีจุดอ่อนที่สำคัญของวิชานี้อยู่ นั่นคือการโจมตีด้วยหอกทิ่มแทงสวนทวารหนัก ก็จะทำอันตรายแก่ผู้ใช้วิชาจนถึงแก่ความตายได้
วิชาคงกระพันเป็นวิชาที่ใช้เสกกับของที่กิน เรียกว่า “อาพัด” เช่น อาพัดเหล้า อาพัดหมาก เป็นต้น ซึ่งกินแล้วก็จะมีวิชาคงทน บางทีก็ใช้เสกกับฝุ่น ปูนหรือ น้ำมันหอม นำมาทาร่างกายเพื่อทำให้คงกระพัน แต่วิชาเมื่อเสกกับสิ่งเหล่านี้จะอยู่ได้ไม่นาน ไม่เหมือนกับการเสกแบบ “เรียกเข้าตัว” เช่น การเรียกน้ำมันหรือประกายเหล็กเข้าร่างกาย
ว่ากันว่าความเชื่อในวิชาที่เรียกประกายเหล็กเข้าตัวนั้นมีคุณสมบัติทำให้ร่างกายแข็งดั่งเหล็ก แม้นฟันด้วยขวานก็เหมือนฟันกระทบโดนเหล็กแข็งแบบไหนแบบนั้น โดยวิชาคงกระพันแบบเรียกเข้าตัวจะคงอยู่กับร่างกายตลอดไป อีกทั้งยังมีการทำเป็นเครื่องรางของขลังเพื่อคุ้มตัวด้วย อย่าง ตะกรุด ประเจียด พิศมรมงคล เสื้อยันต์ แหวนพิรอด ลูกประคำ ลูกสะกด ซึ่งล้วนเป็นเครื่องรางของขลังที่เป็นสิ่งเสริมวิชาคงกระพันทั้งสิ้น
ส่วน วิชาชาตรี จะต่างจากวิชาคงกระพันที่ว่า วิชาคงกระพันจะมีความคงทนต่ออาวุธหลาย ๆ อย่าง คือฟันแทงไม่เข้า แต่ยังมีความรู้สึกเจ็บปวดอยู่ ส่วนวิชาชาตรีจะมีคุณสมบัติทำให้ผู้ใช้นั้นไม่มีความรู้สึกเจ็บปวดใด ๆ ทำให้ร่างกายนั้นเบาและทำให้ของหนัก ๆ เช่น หินใหญ่ ที่เข้ามากระทบร่างกายนั้นเบาลงทันตาเห็น อีกทั้งยังทำให้ร่างกายเบาถึงขั้นกระโดดโลดได้สูงถึง 3 วา หรือ 6 เมตรเลยทีเดียว
ถึงจะเป็นวิชาที่แลจะมีคุณอนันต์ แต่ก็ยังมีจุดอ่อนอยู่เช่นกัน คือการที่โดนตีด้วยของเบา อย่างไม้อ้อ ไม้ระกำ หรือไม้โสนตี ก็จะทำให้เป็นอันตรายได้ อันวิชาชาตรีจะแตกต่างจากวิชาคงกระพันอีกแบบหนึ่ง คือวิชาชาตรีจะไม่ใช่วิชาเสกอาพัด แต่จะเป็นวิชาแต่งตัว กล่าวคือ เป็นวิชาที่บริกรรมคาถาและเอามือลากตามตัว จึงไม่มีจำพวกเครื่องราง หรือของกินของป้ายนั่นเอง
ทั้งสองวิชานี้เป็นวิชาไสยศาสตร์ที่เป็นการสร้างเสริมความแข็งแกร่ง พละกำลัง และความมั่นใจให้กับตัวเมื่อยามออกศึกสมัยก่อน แต่ดังที่กล่าวไปข้างต้น วิชาไสยศาสตร์เหล่านี้เริ่มที่จะเลือนหายไป เพราะการนำไปใช้อย่างผิด ๆ ของพวกอันธพาลทั้งหลาย
แต่วิชาเหล่านี้จะหายไปหรือไม่นั้น ก็ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณและดุลยพินิจของผู้ที่ศึกษาเรื่องไสยศาสตร์ และผู้ที่มีศรัทธาต่อวิชาเหล่านี้ว่าจะศึกษาและศรัทธาหรือไม่ หรือจะหลงลืม สุดท้ายก็ขึ้นอยู่กับความเชื่อของผู้คนทั้งหลาย
อ่านเพิ่มเติม :
- “อ.เทพย์ สาริกบุตร” นักวิชาการสายไสยศาสตร์-พุทธาคม เคยให้ฤกษ์คณะรัฐประหารจนต้องบวช?
- คุณไสย ความรู้และเครื่องมือกำจัดศัตรคู่อาฆาตสมัยโบราณ
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
เทพย์ สาริกบุตร. วิขาคงกระพันชาตรี. กรุงเทพฯ : เสริมวิทย์บรรณาคาร. 2522
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 11 มิถุนายน 2562