มหาวิทยาลัยถูกด่า เมื่อพยายามสอนประวัติศาสตร์ให้ถูกต้องว่า “อังกฤษคือผู้รุกราน”

กัปตันเจมส์ คุก
ภาพเขียนของกัปตันเจมส์ คุก นักสำรวจชาวอังกฤษที่ถูกสอนกันมานานว่าเป็นผู้พบออสเตรเลีย โดย Nathaniel Dance-Holland [Public domain], via Wikimedia Commons

บีบีซีไทย เคยรายงานว่า มหาวิทยาลัยแห่งรัฐนิวเซาท์เวลส์ (UNSW) ใน ออสเตรเลีย ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก หลังออกคู่มือแนะนำการใช้คำในงานเขียนวิชาการว่าด้วยชนพื้นเมืองและประวัติศาสตร์ออสเตรเลีย โดยแนะนำให้นักศึกษาใช้คำว่า “รุกราน” เมื่อกล่าวถึงการที่ กัปตันเจมส์ คุก ชาวอังกฤษ เดินทางมาถึงและเข้ายึดครองออสเตรเลีย แทนการใช้คำว่า “ค้นพบ” หรือ “ตั้งถิ่นฐาน” แบบที่เคยใช้กันมา (บีบีซี, 30 มีนาคม 2559)

แต่เมื่อผู้เขียนอ่านคู่มือดังกล่าวแล้วพบว่า คำแนะนำเพียงบอกว่า คำใดที่เหมาะสมกว่าอีกคำ แต่ไม่ได้ระบุถึงขนาดที่ว่าจะต้องใช้คำนี้แทนอีกคำไปอย่างตายตัว

Advertisement

ตั้งถิ่นฐาน หรือรุกราน?

คู่มือดังกล่าวมีคำแนะนำที่น่าสนใจ เช่น ประวัติศาสตร์ออสเตรเลียควรแบ่งเป็นยุคก่อนการรุกราน และยุคหลังการรุกราน การใช้คำว่า “ตั้งถิ่นฐาน” ตามคำแนะนำชี้ว่า เป็นการละเลยข้อเท็จจริงที่ว่า ดินแดนของชนพื้นเมืองได้ถูกชาวอังกฤษแย่งชิงไป คำว่ารุกรานจึงเหมาะสมกว่า และการบอกว่า กัปตันคุกเป็นผู้ค้นพบออสเตรเลียก็เป็นสิ่งที่ขัดกับความเป็นจริง

เมื่อก่อนหน้านั้นชาวอะบอริจินและชาวเกาะบริเวณช่องแคบตอร์เรสต่างใช้ชีวิตอยู่ในออสเตรเลียอยู่ก่อนแล้ว จึงควรบอกว่า กัปตันคุกคือชาวอังกฤษคนแรกที่ทำแผนที่บริเวณชายหาดของ “นิวฮอลแลนด์” (New Holland ชื่อเดิมของออสเตรเลียถูกเรียกโดยนักสำรวจชาวดัทช์ที่เคยเดินทางมาถึงออสเตรเลียก่อนกัปตันคุก)

หลังข่าวการประกาศใช้คู่มือแพร่ออกไป ไคล์ ซานดิแลนด์ (Kyle Sandilands) พิธีกรรายการวิทยุชื่อดังผิวขาวของออสเตรเลียได้ออกมาคัดค้าน โดยระบุว่าการกระทำดังกล่าวเป็นสิ่งที่ไม่มีประโยชน์ มีแต่สร้างความแตกแยก

“พวกนักวิชาการมหาลัยคิดว่าเราคือผู้รุกรานแผ่นดินนี้ ผมไม่สนหรอกว่าใครมาถึงที่นี่ก่อน และใครทำอะไรไว้ ลืมไปเถอะ นั่นมันตั้ง 200 ปีมาแล้ว” พิธีกรคนดังกล่าว ทั้งนี้จากรายงานของ news.com.au

ด้าน อลัน โจนส์ (Alan Jones) นักวิจารณ์สายอนุรักษนิยม ก็ไม่เห็นด้วยกับการออกหนังสือแนะนำของทางมหาวิทยาลัยให้กับนักศึกษา โดยอ้างว่าเป็นการจำกัดกรอบความคิดของนักศึกษา

“คู่มือขยะโดยมหาวิทยาลัยแห่งนิวเซาธ์เวลส์เป็นตัวแทนของฝ่ายต่อต้านพุทธิปัญญานิยม (anti-intellectualism) และความถูกต้องทางการเมือง (political correctness การหลีกเลี่ยงการกระทำใดๆที่จะกระทบต่อกลุ่มด้อยโอกาสหรือชนกลุ่มน้อย)ที่แย่ที่สุด” โจนส์กล่าว (news.com.au)

ด้านมหาวิทยาลัยแห่งรัฐนิวเซาท์เวลส์ออกแถลงการณ์ระบุว่า “มหาวิทยาลัยขอปฏิเสธความเข้าใจที่ว่า ข้อมูลสำหรับอาจารย์ว่าด้วยศัพท์เฉพาะทางของชนพื้นเมืองเป็นการบังคับใช้ภาษาหรือเป็นสิ่งที่ออกแบบมาเพื่อความถูกต้องทางการเมือง คู่มือดังกล่าวมิได้กำหนดว่าถ้อยคำใดที่จะใช้ได้บ้าง”

ดัชต์มาก่อนกัปตันเจมส์ คุก

ซาราห์ เมดดิสัน (Sarah Maddison) นักรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยเมลเบิร์น ได้กล่าวสนับสนุนคู่มือดังกล่าวโดยระบุว่า “มันเป็นเรื่องเลอะเทอะสิ้นดีที่จะบอกว่า กัปตันคุกเป็นคนพบออสเตรเลีย เขาไม่ใช่คนขาวคนแรกที่มาที่นี่ด้วยซ้ำ มีนักสำรวจชาวดัทช์เป็นสิบๆ คนที่เคยมาที่นี่ก่อน กัปตันเจมส์ คุก” ทั้งนี้จากรายงานของ Telegraph นายกรัฐมนตรีแห่งรัฐควีนส์แลนด์ อันนาสตาเซีย ปาลาสซิก (Annastacia Palaszczuk) เป็นนักการเมืองใหญ่ของออสเตรเลียที่ออกมาสนับสนุนคู่มือดังกล่าวที่สอนในสิ่งที่เป็น “ความจริง”

“เป็นเวลาหลายปีที่โรงเรียนและสถาบันศึกษาของออสเตรเลียไม่พูดความจริงเกี่ยวกับกระบวนการก่อตั้งออสเตรเลีย…มีชนพื้นเมืองจำนวนมากต้องเสียชีวิต มีการฆ่าล้างเผ่าพันธ์ นี่คือความจริงที่ต้องมีการบอกกล่าว” นายกฯ ควีนส์แลนด์กล่าว และเมื่อถูกถามว่าสิ่งที่เธอพูดหมายความว่า ออสเตรเลียถูกรุกรานใช่หรือไม่ เธอตอบว่า “ใช่” (บีบีซี)

Backburner คอลัมนิสต์ของ SBS สื่อของออสเตรเลียยังได้ล้อเลียนกรณีนี้โดยอ้างว่า มีผู้ออกมาแสดงความไม่พอใจมหาวิทยาลัยแห่งรัฐนิวเซาท์เวลส์อย่างรุนแรง หนึ่งในนั้นกล่าวว่า “นี่มันชั่วช้าจริงๆ…เราไม่ได้ต้องการให้มหาวิทยาลัยของเรามีข้อมูลที่ถูกต้อง นี่คือสถานที่สำหรับการเรียนเท่านั้น ไม่ใช่ที่สำหรับรับการศึกษา ถ้าฉันอยากรู้ประวัติศาสตร์ด้านมืดของออสเตรเลียสิ่งที่ฉันจะทำก็คือ เดินไปที่สนามหลังบ้านแล้วเอาหัวฝังลงไปในสนามทรายจนกว่าความปรารถนาที่จะเผชิญหน้ากับอดีตของฉันจะหมดไป”

“…คำว่า ‘รุกราน’ เป็นคำที่น่ารังเกียจ คือ…มันก็ใช่นะว่าคำนี้มันสามารถบรรยายสิ่งที่เกิดขึ้นได้ แต่นั่นควรจะเป็นเหตุผลที่เราจะใช้มันเหรอ? ทำไมเราไม่บอกว่า ‘เขาได้รับเชิญมา’ หรือว่า ‘มันเป็นการปิคนิคที่สนุกสนาน ในขณะที่ทุกๆ กลุ่มชนได้ร่วมอาศัยกันอย่างกลมเกลียว’ เอาเถอะ มันอาจจะไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นจริง และยังเป็นการลบล้างช่วงเวลาแห่งความรุนแรงและการกดขี่ แต่มันจะช่วยให้ฉันรู้สึกดีขึ้นมาหน่อยกับสิ่งต่างๆ”

ผู้คัดค้านรายนี้ยังเสนอว่า “ฉันคิดว่ากระบวนการปรองดองด้วยการยอมรับเหตุการณ์อันโหดร้ายที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งที่เป็นอันตราย ซึ่งไม่ได้ช่วยอะไรเลย มันมีแต่จะทำให้ฉันหดหู่ หรือแย่กว่านั้นคือทำให้ฉันเกิดความเข้าใจ สิ่งที่ดีกว่าก็คือ ทำไมเราไม่ลองคิดว่าออสเตรเลียเพิ่งจะมีขึ้นวันนี้ ไม่เคยมีประวัติศาสตร์ใดๆ แล้วก็ใช้ชีวิตร่วมกันไป ก็เพราะฉันบอกไปแล้วนิว่าไม่เป็นไร นั่นถึงจะเวิร์กจริงมั้ย เอ๊ะนี่ฉันเพิ่งแก้ปัญหานี้ไปรึเปล่า?”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

BBC (มหาวิทยาลัยในออสเตรเลียถูกวิจารณ์หนัก หลังออกคู่มือระบุว่าอังกฤษ “รุกราน” แดนจิงโจ้ (30 มีนาคม 2559)

Top politician says Australia was invaded, UNSW (Indigenous Terminology)

The Telegraph (Australian university accused of ‘rewriting history’ over British invasion language)

news.com.au (Kyle tees off about ‘bulls***’ university guidelines around indigenous history)

SBS (Outrage As University Teaches History Correctly)


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 1 เมษายน 2559