เปิดประวัติ ภาพยนตร์ “พระเจ้าช้างเผือก” หนังของ “ปรีดี” ที่สะท้อนแนวคิดใต้รัฐธรรมยุค 2475

รศ.ดร. ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ ผู้ชาย พูด ห้อง

ภาพยนตร์ “พระเจ้าช้างเผือก” เป็นหนังไทยพูดภาษาอังกฤษที่สร้างขึ้นเพื่อเผยแพร่แนวคิดเรื่องสันติภาพให้แก่นานาประเทศในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 มีเค้าโครงเรื่องมาจากสงครามช้างเผือกและสงครามยุทธหัตถี ในสมัยกรุงศรีอยุธยา และอำนวยการสร้างและเขียนบทโดย “ปรีดี พนมยงค์” ในปี 2484

ในโอกาสอันดี วันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2566 ศิลปวัฒนธรรมได้ร่วมมือกับ “สำนักพิมพ์มติชน” ที่ตีพิมพ์หนังสือคุณภาพมาแล้วมากมาย, “เส้นทางเศรษฐี” ผู้นำสื่อที่สนับสนุนการสร้างอาชีพเอสเอ็มอี และศูนย์ข้อมูลมติชน (MIC) ศูนย์รวบรวมข้อมูลที่มากที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย จัดงาน สโมสรศิลปวัฒนธรรม สเปเชียล “๒๔ มิถุนาฯ วันมหาศรีสวัสดิ์” ที่ มติชนอคาเดมี เนรมิตรบรรยากาศ “วันชาติ” ให้ทุกคนได้สัมผัสแบบเอ็กซ์คลูซีฟ 

พร้อมกิจกรรมสุดปัง หนึ่งในนั้นคือ ฉายภาพยนตร์ “พระเจ้าช้างเผือก” ที่ได้รับการสนับสนุนโดยหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) พร้อมปาฐกถาจาก รศ.ดร.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ให้ทุกคนได้รับชม รับฟังแบบจุใจ!

อ. ธำรงค์ศักดิ์ ได้เริ่มกล่าวปาฐกถาถึงประวัติของหนัง “พระเจ้าช้างเผือก” ว่าเป็นภาพยนตร์ที่ ปรีดี พนมยงค์ เขียนขึ้น สมัยยังเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และแต่งนิยายเรื่องนี้จบในวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2482 ซึ่งเป็นวันเกิดของปรีดีเอง และเริ่มถ่ายทำในปี 2483 ฉายช่วงต้นเดือนเมษายน ปี 2484

ก่อนจะพูดถึง “ภาพลักษณ์ของปรีดี” ที่ถ่ายทอดออกมาจากหนังพระเจ้าช้างเผือก ซึ่งหลายคนน่าจะไม่เคยนึกมาก่อน 

“เวลาพูดถึงพระเจ้าช้างเผือก สิ่งหนึ่งที่เราขาดแคลนเกี่ยวกับปรีดี คือเรามักจะมองว่าภาพลักษณ์ของปรีดีจะเป็นอาจารย์ผู้เข้มขรึม เป็นผู้สนใจด้านเศรษฐกิจ เปลี่ยนแปลงประเทศ แต่จริง ๆ แล้ว อาจารย์ปรีดีถือว่าเป็นคนอ่านนิยายเยอะทีเดียว…เพราะการที่จะมองว่าอะไรคือความงามของผู้หญิงที่ปรากฏอยู่ในพระเจ้าช้างเผือก คือคนที่แต่ง หรือปรีดีจะต้องมีความรู้ในเรื่องนี้อยู่บ้าง แต่เรามักจะติดด้านความเป็นมนุษย์ของปรีดีไป…ที่จริงแล้วปรีดีตอนอยู่ปารีส ฝรั่งเศส ต้องชอบดูหนังอยู่ทีเดียว” ธำรงศักดิ์กล่าว

เมื่อพูดถึง “ผู้สร้าง” ที่มีความสำคัญอย่างมากแล้วนั้น ก็ถึงเวลาที่จะต้องพูดถึง “หนัง” กันต่อไป ซึ่ง อ.ธำรงศักดิ์ ได้อธิบายถึงที่มาของหนังเรื่องนี้ไว้ว่า หนังพระเจ้าช้างเผือกมีจุดประสงค์หลักของปรีดีที่จะต้องการฉายหนังเรื่องนี้ให้เป็นหนังที่สื่อกับต่างชาติ ไม่ใช่ประเทศไทย ซึ่งตรงกันข้ามกับหลวงพิบูลสงครามที่สร้างหนังในตอนนั้นด้วยเช่นกัน โดยจอมพล ป. ในช่วง 2478 มักจะสร้างหนังที่ทำให้คนไทยรักทหารเป็นส่วนใหญ่ เช่นเรื่อง เลือดทหารไทย 

ขณะเดียวกันในปี 2479 หลวงวิจิตรวาทการ ก็สร้างหนังเรื่องเลือดสุพรรณ ที่สร้างความฮือฮาเป็นกระแสยาวนาน และสร้างความคิดแบบใหม่ให้คนไทยรักชาติแบบไม่กลัวตาย และรัฐบาลเริ่มผลิตแนวคิดเรื่องความรักชาติมากยิ่งขึ้นเพื่อให้สอดรับกับวาทะกรรมก่อนหน้า ไม่ว่าจะเป็นการทำแผนที่เสียดินแดนของไทย และส่งไปยังแบบเรียนของนักเรียน ปลุกเร้าให้คนไทยยอมรับเรื่องเกณฑ์ทหาร จนเกิดยุวชนทหาร และทหารรักษาดินแดนในเวลาต่อมา เพื่อที่จะให้บุคคลเหล่านี้เข้าไปทำศึกสงครามอินโดจีน 

แต่ความคิดของปรีดีกลับไม่เป็นเช่นนั้น เพราะรัฐบุรุษอาวุโสผู้นี้ต้องการให้คนไทยรักชาติ แต่จะทำสงครามก็ต่อเมื่อเพื่อปกปักรักษาบ้านเมืองของตนเอง ไม่รุกรานคนอื่น ทำให้เกิดพระเจ้าช้างเผือกซึ่งสะท้อนความคิดของปรีดีได้เป็นอย่างดี

“พระเจ้าช้างเผือกจึงตอบโจทย์ ว่าเราสามารถทำสงครามในการเตรียมพร้อมในการรบได้ เราสามารถเตรียมช้าง รถถัง แต่เราจะต้องไม่ทำสงครามเพื่อรุกรานคนอื่น แต่เราจะทำสงครามเพื่อปกป้องปกป้องการรุกราน” ธำรงศักดิ์กล่าว

นอกจากหนังเรื่องนี้จะสะท้อนให้เห็นถึงความคิดใหม่ ๆ ต่อท่าทีของสงครามที่ควรจะเป็นของไทยแล้วนั้น พระเจ้าช้างเผือกยังสะท้อนให้เห็นถึงความคิดของระบอบใหม่ที่ “ปรีดี” พยายามสอดแทรกเข้าไปในเนื้อหาของเรื่องอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นความเป็นผู้นำในความคิดแบบใหม่ที่จะต้องเห็นประชาชนเป็นที่ตั้ง, เรื่องผัวเดียวเมียเดียว, วิถีประเพณีแบบไทย และการหมอบกราบ

“เวลาเรานั่งดูนั่งเรื่องนี้…เราจะเห็นฉากที่ขุนนางยืนต้อนรับ ไม่มีการเคี้ยวหมาก…ฉากคุยเรื่องเมียที่ต้องมี 365 คน”

สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงความคิดแบบใหม่ที่ถูกคาดหวังให้เกิดหลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครอง การที่ตัวละครในนั้นต้องคุยเรื่องการมีภรรยาหลายคนเพราะในอดีตการมีภรรยาหลายคนเป็นเรื่องปกติและแก้ยากมากในสังคมไทย ทำให้กฎหมายเรื่องแพ่งและพาณิชย์ แต่หลังจากช่วง 2475 ก็เกิดการเปลี่ยนแปลง ซึ่งจากภาพยนตร์ “พระเจ้าฉากเผือก” ปรีดีก็เลือกนำเสนอประเด็นนี้ผ่าน “พระเจ้าจักรา” ที่จะไม่มีภรรยาหลายคนเฉกเช่นกษัตริย์หงสา 

นอกจากนี้ยังปรากฏให้เห็น “ตัวอย่างที่ควรจะเป็น” ของการเป็นผู้นำที่ฉายในภาพยนตร์ โดย อ.ธำรงศ์ศักดิ์ ได้เล่าไว้ว่า “ช้างเผือกเป็นหนึ่งเงื่อนไขให้พระเจ้าหงสาต้องประกาศสงคราม โดยเราต้องส่งช้างเผือกให้เขา ถ้าไม่ส่งก็จะเกิดสงคราม ทั้งหมดนี้เป็นการนำเสนอภาระหน้าที่และบทบาทของกษัตริย์ยุคใหม่ที่ต้องทำเพื่อประชาชนและชาติ ขณะเดียวกันกษัตริย์อีกฝั่งนั้นทำเพื่อตนเอง หลงใหลในน้ำเมาและสตรี อยากได้อะไรก็ต้องได้…ทั้งหมดนี้คือแนวคิดภายใต้รัฐธรรมนูญ 2475 แม้เรากำลังดูเรื่องอดีตของอยุธยา แต่มันคือหนังภายใต้ความคิดคณะราษฎร การทำสงครามไม่ใช่เพื่อให้ประชาชนลำบาก แต่ต้องหลีกเลี่ยงความยากลำบากให้ประชาชนให้ได้ ทำให้หนังเรื่องนี้กษัตริย์ไทยจึงตัดสินใจต่อสู้กันเอง”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 23 มิถุนายน 2566