ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกันยายน 2558 |
---|---|
ผู้เขียน | ปรามินทร์ เครือทอง |
เผยแพร่ |
“การเมือง” ในราชสำนักฝ่ายใน ทุกยุคทุกสมัยในสังคมเจ้านายฝ่ายหญิง คงไม่ใช่การเมืองเพื่อชิงบ้านชิงเมือง แต่มักจะเป็นการชิง “พื้นที่” ความใกล้ชิดกับ “เหนือหัว” หลักฐานเรื่องนี้ที่ปรากฏมากที่สุด จะอยู่ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่ก็ไม่เกิดเหตุร้ายรุนแรงนัก อาจเป็นเพราะการจัดสรร “พื้นที่” เป็นไปอย่างลงตัว
ต่างจากสมัยกรุงธนบุรี ซึ่งแม้จะมีข้อมูลหลักฐานอยู่เพียงน้อยนิด แต่ทุกเรื่องล้วนเป็นเรื่องคอขาดบาดตายทั้งสิ้น โดยเฉพาะกรณี “ท้องกับเจ๊ก” คำสั้น ๆ คำนี้ ได้สะท้อนอารมณ์ ความรู้สึก และทัศนคติ ของคนที่ได้ “พื้นที่” ใกล้ชิดอย่างมาก ต่อพระเจ้าตาก ซึ่งมีที่มาที่ไปไม่ได้สูงส่งนัก
เรื่องนี้แม้จะถือเป็นกรณีเล็ก ๆ ที่เกิดขึ้น ไม่ได้มีส่วนสำคัญถึงขั้นเป็นจุดเปลี่ยนทางประวัติศาสตร์ แต่กรณีนี้เป็นเสมือนตัวแทนภาพในประวัติศาสตร์สมัยกรุงธนบุรีได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะปัญหาการยอมรับในความเป็นกษัตริย์ของบุคคลที่อยู่ใกล้ชิดกับศูนย์กลางอำนาจ ที่ไม่ได้มีแต่เพียงพระมเหสี เจ้าจอมเท่านั้น เหล่าบรรดาขุนนางอำมาตย์จำนวนไม่น้อย ก็คงมีมุมมองไม่ต่างกัน
พระมเหสี เจ้าจอมมารดา ในสมัยกรุงธนบุรี
หากตรวจสอบพระราชวงศ์กรุงธนบุรีของพระเจ้าตากจากหนังสือที่นิยมใช้อ้างอิงกันคือ ลำดับสกุลเก่า บางสกุล ภาคที่ 4 สกุลเชื้อสายพระราชวงศ์กรุงธนบุรี (ฉบับร่าง) ก็จะพบเรื่องที่น่าสนใจเรื่องหนึ่งคือ หนังสือเล่มนี้อ้างถึงพระมเหสี เจ้าจอมมารดาของพระเจ้าตากไว้เพียง 7 ท่าน คือ
สมเด็จพระอัครมเหสี (หอกลาง) กรมหลวงบาทบริจา / กรมบริจาภักดีศรีสุดารักษ์ (ฉิม) / เจ้าจอมมารดาทิม / เจ้าจอมมารดาอำพัน / เจ้าจอมมารดาเงิน / เจ้าจอมมารดาฉิมใหญ่ / เจ้าจอมมารดาเจ้าหญิงปราง

แต่ละท่านมีประวัติพอสังเขปดังนี้ สมเด็จอัครมเหสี (หอกลาง) เดิมชื่อสอน มีมาก่อนครองราชย์, กรมบริจาภักดีศรีสุดารักษ์ (เจ้าหญิงฉิม) และเจ้าจอมมารดาเจ้าหญิงปราง เป็นพระธิดาของพระเจ้านครศรีธรรมราช (หนู), เจ้าจอมมารดาทิม เป็นพระธิดาของท้าวทรงกันดาล (ทองมอญ), เจ้าจอมมารดาอำพัน เป็นธิดาเจ้าอุปราชจันทร์ เมืองนครศรีธรรมราช, เจ้าจอมมารดาเงิน ไม่ทราบประวัติ, เจ้าจอมมารดาฉิมใหญ่ เป็นธิดาของเจ้าพระยาจักรี[1]
แต่ไม่ใช่ว่าพระเจ้าตากจะมี “นางห้าม” เพียงเท่านี้ คงจะมี “เจ้าจอม” อีกหลายท่านที่ไม่ได้ถูกบันทึกไว้ เนื่องจากไม่มีพระราชโอรส พระราชธิดา สืบสาย
ข้อที่น่าสังเกตคือ บรรดาพระภรรยาเจ้าทั้ง 7 ท่านนั้น ไม่มีพระนาม “เจ้าหญิง” แห่งกรุงศรีอยุธยาอยู่เลย ทั้งที่พระเจ้าตากทรงรับไว้เป็นฝ่ายในหลังศึกกู้กรุงศรีอยุธยาหลายพระองค์
เว้นแต่เจ้าจอมมารดาทิม ที่ “อาจ” มีส่วนเชื่อมโยงกับสายอยุธยา คือ เจ้าจอมมารดาทิม เป็นพระธิดาของท้าวทรงกันดาล (ทองมอญ) ซึ่งท้าวทรงกันดาล (ทองมอญ) ท่านนี้ ก.ศ.ร. กุหลาบ กล่าวอ้างว่าเป็น “เจ้าจอมอยู่งานพระสนมเอก”[2] ของเจ้าฟ้ากุ้ง
อย่างไรก็ดี ไม่พบหลักฐานเรื่องท้าวทรงกันดาล (ทองมอญ) เป็นเจ้าจอมของเจ้าฟ้ากุ้งอยู่ในเอกสารอื่น ที่จะใช้ตรวจสอบเทียบเคียงได้ เช่น คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม กล่าวถึงพระมเหสีของเจ้าฟ้ากุ้งไว้ 3 พระองค์ คือ เจ้าฟ้านุ่ม (พระมเหสี) เจ้าฟ้าฉิม (พระมเหสีซ้าย) เจ้าฟ้าเทพ (พระมเหสีเดิม)[3] ส่วนคำให้การชาวกรุงเก่า กล่าวถึง “นางห้าม” ของเจ้าฟ้ากุ้งไว้ดังนี้ เจ้าฟ้านุ่ม หม่อมเหญก หม่อมจัน หม่อมเจ้าหญิงสร้อย หม่อมต่วน หม่อมสุ่น[4]
ดังนั้น เรื่องที่จะโยงสายกรุงธนบุรีกับสายกรุงศรีอยุธยาเข้าด้วยกัน ผ่านท้าวทรงกันดาล (ทองมอญ) และเจ้าจอมมารดาทิม จึงน่าจะยังเป็นปัญหาอยู่
อย่างไรก็ดี พระเจ้าตากมีโอกาสที่จะได้สืบสัมพันธ์กับสายกรุงศรีอยุธยาผ่าน “เจ้าหญิง” แห่งกรุงศรีอยุธยาถึง 2 ครั้ง ในรัชสมัยกรุงธนบุรี น่าเสียดายที่โอกาสเช่นนั้นก็ไม่ได้เกิดขึ้น แม้ว่าหลังสงครามกู้กรุงศรีอยุธยายุติลง พระเจ้าตากจะทรงรับเอาเจ้าหญิงอยุธยามา “รับราชการ” ในกรุงธนบุรีหลายพระองค์ แต่เจ้าหญิงอยุธยาหลายพระองค์นั้นก็มีเหตุจนไม่สามารถ “เชื่อม” ราชวงศ์ทั้งสองเข้าด้วยกันได้
เจ้าหญิงอยุธยา
ระหว่างที่พม่า Shutdown กรุงศรีอยุธยาอยู่นั้น เกิดคน 3 จำพวก คือ พวกที่หนีตายออกจากเกาะเมือง พวกที่ปักหลักสู้ตายอยู่ในพระนคร และพวกที่หนีเข้ามาในพระนคร
บรรดาเจ้านายพระราชวงศ์ซึ่งส่วนใหญ่จะปักหลักอยู่ในพระนคร บางส่วนไม่กล้าหนีออกไปเพราะกลัวถูกทหารพม่าจับ แต่บางส่วนก็พยายามหนีออกไปตามที่คิดว่าจะปลอดภัย เช่นในกรณีของพระญาติ หม่อมห้าม พระโอรส พระธิดา ในกรมหมื่นเทพพิพิธ ต่างตัดสินใจหนีออกไปหาผู้นำครอบครัวที่เมืองปราจีนบุรี ฐานที่มั่นของกรมหมื่นเทพพิพิธในขณะนั้น
“คนในกรุงเทพมหานครรู้ก็ยินดี คิดกันพาครอบครัวหนีออกจากพระนคร ออกไปเข้าด้วยกรมหมื่นเทพพิพิธเป็นอันมาก บรรดาหม่อมเจ้าชายหญิงซึ่งเป็นพระหน่อในกรมหมื่นเทพพิพิธ กับทั้งหม่อมห้ามและข้าไท ก็หนีออกไปหาเจ้า”[5]
เหล่าคุณ ๆ ใน “ก๊ก” อื่นก็คงทำให้ลักษณะเดียวกันนี้ คือหนีตามเสด็จ หรือบางท่านก็อาจจะกลับไปหลบอยู่ตามบ้านญาติต่างจังหวัดที่ปลอดจากทหารพม่า หรือตามแต่จะเห็นว่าเป็นที่ปลอดภัยอื่น ๆ เช่น หลวงยกกระบัตร (ทองด้วง) หนีไปอยู่บ้านภรรยาที่อัมพวา พระอาจารย์ศรี หนีออกไปเมืองนครศรีธรรมราช เป็นต้น
เรียกได้ว่าเกิดการบ้านแตกสาแหรกขาดกันไปทั่ว
แต่สำหรับเจ้าหญิงอยุธยาอาจจะไม่มีความสะดวกเทียบเท่ากับบุคคลทั่วไป คือส่วนใหญ่น่าจะหลบอยู่ภายในพระนครนั่นเอง เพราะภายหลังถูกจับและกวาดต้อนไปเมืองพม่าเป็นอันมาก เรียกได้ว่าแทบจะหมดเกลี้ยงพระราชวงศ์เลยทีเดียว
เชิญเข้าร่วมฟัง สโมสรศิลปวัฒนธรรมเสวนา “ชะตาเมือง – เรื่องดวงดาว” (ผู้ลงทะเบียนล่วงหน้า มีสิทธิ์ลุ้น รับคำทำนายดวงชะตาส่วนตัว “ฟรี” ในงานเสวนา) วิทยากร : บุศรินทร์ ปัทมาคม และ วสุวัส คำหอมกุล, เอกภัทร์ เชิดธรรมธร ดำเนินการเสวนา วันพฤหัสบดีที่ 26 มกราคม 2566 เวลา 13.30-15.00 น. ณ ห้องโถงอาคารมติชนอคาเดมี โปรดสำรองที่นั่งล่วงหน้า ตามลิงค์นี้ https://docs.google.com/…/1WQ6xE0DeELNZriIk…/viewform… หรือ inbox เฟซบุ๊กเพจ Silapawattanatham – ศิลปวัฒนธรรม หรือโทร. 0 2580 0021-40 ต่อ 1206, 1220 เวลา 10.30-12.00 น. และ 13.00-18.00 น. (จันทร์-ศุกร์)
ชะตากรรมเจ้าหญิงอยุธยาหลังกรุงแตก
หลังกรุงแตก พระราชวงศ์กรุงศรีอยุธยาที่ตกค้างอยู่ในพระราชวังหลวงจำนวนหนึ่งถูกพม่ากวาดต้อนไปรวมกันไว้ที่ค่ายโพธิ์สามต้นฐานทัพใหญ่ของกองทัพพม่า รายงานในเอกสารพม่าแจ้งจำนวนพระราชวงศ์กรุงศรีอยุธยาไว้ประมาณ 63 พระองค์ ที่เป็นระดับพระมเหสี พระราชโอรส พระราชธิดา พระราชนัดดา นอกจากนี้ยังมี พระสนม เจ้านายชั้นรองลงมาอีกกว่า 2,000 พระองค์
“พระสนมที่เปนเชื้อพระวงษ์พระเจ้ากรุงศรีอยุทธยา รวม 869 องค์ พระราชวงษานุวงษ์ชายหญิงของพระเจ้ากรุงศรีอยุทธยารวมทั้งสิ้น 2000 เศษ”[6]
หากจำนวนที่กล่าวนี้เป็นจริง ก็นับได้ว่าเจ้านายพระราชวงศ์กรุงศรีอยุธยาน่าจะแทบสิ้นพระราชวงศ์เลยทีเดียว ซึ่งตัวเลขนี้ก็น่าจะเป็นไปได้ เพราะการบันทึกครั้งนั้น ทำไว้ค่อนข้างละเอียด มีการกล่าวถึงพระนามของเจ้านายชั้นสูงไว้ถึง 63 พระองค์ และเมื่อเทียบกับจำนวนเชลยสงครามทั้งหมดที่กองทัพพม่ากวาดต้อนไปได้ครั้งนั้นมากถึง 100,000 กว่าคน
ในขณะที่เอกสารฝ่ายไทย กล่าวถึงจำนวนเชลยสงครามที่ถูกกองทัพพม่ากวาดต้อนไปครั้งนั้นราว 30,000 คน[7] และกล่าวถึงจำนวนผู้เสียชีวิตทั้งจากการสู้รบ ป่วยไข้ อดอาหาร มีจำนวนสูงถึง 200,000 คน

เหตุที่ว่ากองทัพพม่าค่อนข้างละเอียดในการจดบันทึกจำนวนพระราชวงศ์กรุงศรีอยุธยานั้น ดูเหมือนว่าพระราชวงศ์เป็น “ของมีค่า” ที่น่าจะหมายถึงการปูนบำเหน็จรางวัลอย่างสูงแก่ผู้จับได้ ดังนั้น จึงมีความพยายามของแม่ทัพนายกองของพม่าที่จะ “เม้ม” ไว้เสียเอง จนเนเมียวสีหบดีแม่ทัพใหญ่ต้องออกมาประกาศให้คืนแก่ตนทั้งหมด
“ฝ่ายเนเมียวสีหบดีแม่ทัพใหญ่ จึงใช้ทหารไปประกาศแก่นายทัพทั้งปวงว่าตัวเรากระทำการตีกรุงศรีอยุธยาได้สำเร็จเพราะปัญญาและฝีมือเรา ซึ่งนายทัพทั้งหลายจะมาคอยชุบมือเอาส่วน กวาดเอาพระราชวงศ์กษัตริย์ไทยไปไว้ทุกค่ายทัพเป็นบำเหน็จมือของตัวนั้นไม่ชอบ ให้เร่งส่งมาให้เราทั้งสิ้น ถ้ามิส่งมาเราจะยกไปตีเอาขัตติยราชวงศ์ทั้งปวงมาให้จงได้”[8]
บรรดาพระราชวงศ์กรุงศรีอยุธยาที่ถูกจับไปนั้น ก็ไม่น่าจะตกระกำลำบากมากนัก เพราะเหตุว่าทุกพระองค์ “ถึงมือ” พระเจ้ากรุงอังวะทั้งสิ้น
“แลพระราชวงษ์แลพระมเหษีแลพระสนมทั้งปวงกับเครื่องภาชนใช้สอยเงินทองทั้งปวงถวายแด่พระเจ้ากรุงอังวะสิ้น”[9]
แต่ถ้าการกวาดต้อนเป็นแบบ “เก็บละเอียด” เช่นนี้ แล้วเหตุใดในพระราชพงศาวดารตอนต่อมาจึงปรากฏว่ามีพระราชวงศ์หลงเหลืออยู่ติดค่ายโพธิ์สามต้นอีกหลายพระองค์? ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะ ยังมีเจ้านายบางพระองค์หนีรอดไปได้ และบางส่วนเนเมียวสีหบดีคงไม่อยากเอาติดกองทัพไปด้วย อาจเพราะมีพระอาการประชวร หรืออย่างใดอย่างหนึ่ง
“แล้วเนเมียวสีหบดีให้กองทัพทางเหนือทั้งปวง คุมเอาสมเด็จพระอนุชาธิราชซึ่งทรงผนวชกับพระราชวงศานุวงศ์ทั้งนั้นไปทางเหนือ ยังเหลืออยู่บ้างแต่ที่ประชวร จึงมอบไว้ให้แก่พระนายกอง ที่เล็ดรอดหนีไปได้นั้นก็มีบ้าง”[10]
นี่จึงเป็นที่มาที่ไปว่าเหตุใดจึงมีเจ้าหญิงอยุธยามารับราชการในราชสำนักกรุงธนบุรี
เจ้าหญิงอยุธยาในราชสำนักกรุงธนบุรี
หลังจากพระเจ้าตากตีได้ค่ายโพธิ์สามต้น ซึ่งถือเป็นจุดยุติสงครามกู้กรุงศรีอยุธยา และที่ค่ายโพธิ์สามต้นนี้เองที่พระเจ้าตากทรงรับเอาพระราชวงศ์กรุงศรีอยุธยามาในราชสำนักรุงธนบุรี
“ในเขตแดนแว่นแคว้นสยามประเทศ เหตุว่าหาเจ้าแผ่นดินจะปกครองบมิได้ เหมือนดุจสัตถันดรกัล์ปและทุพภิกขันดรกัล์ป และพระราชวงศานุวงศ์ ซึ่งเหลืออยู่พม่ามิได้เอาไปนั้น ตกอยู่ ณ ค่ายโพธิ์สามต้นก็มีบ้าง ที่หนีไปเมืองอื่นนั้นก็มีบ้าง และเจ้าฟ้าสุริยา 1 เจ้าฟ้าพินทวดี 1 เจ้าฟ้าจันทวดี 1 พระองค์เจ้าฟักทอง 1 ทั้ง 4 พระองค์นี้ เป็นราชบุตรีพระพุทธเจ้าหลวงในพระบรมโกศ
และเจ้ามิตรบุตรีกรมพระราชวัง 1 หม่อมเจ้ากระจาดบุตรีกรมหมื่นจิตรสุนทร 1 หม่อมเจ้ามณีบุตรีกรมหมื่นเสพภักดี 1 หม่อมเจ้าฉิมบุตรีเจ้าฟ้าจีด 1 เจ้าทั้งนี้ตกอยู่กับพระนายกอง ณ ค่ายโพธิ์สามต้น อนึ่งพระองค์เจ้าทับทิมบุตรีสมเด็จพระอัยกานั้น พวกข้าไทพาหนีออกไป ณ เมืองจันทบูร เจ้าตากก็สงเคราะห์รับเลี้ยงดูไว้”[11]

นอกจากนี้ยังมีพระธิดาในกรมหมื่นเทพพิพิธอีกพระองค์หนึ่ง ซึ่งคงจะได้มาเมื่อคราวตีเมืองพิมาย และประหารกรมหมื่นเทพพิพิธด้วยในคราวนั้น
ที่น่าสนใจก็คือ รายพระนามของผู้ที่พระเจ้าตากสงเคราะห์เลี้ยงดูนั้น เป็น “เจ้าหญิง” ทั้งสิ้น เจ้านายฝ่ายชาย เนเมียวสีหบดีอาจจะไม่ปล่อยทิ้งไว้ที่ค่ายโพธิ์สามต้น หรือขณะนั้นไม่เหลือเจ้านายฝ่ายชายอีกเลย จึงเป็นเหตุให้ เจ้าศรีสังข์ (พระโอรสในกรมขุนเสนาพิทักษ์ “เจ้าฟ้ากุ้ง”) เจ้าจุ้ย (พระโอรสในเจ้าฟ้าอภัย – เจ้าฟ้าอภัยเป็นพระราชโอรสพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ) ซึ่งเป็นเจ้านายฝ่ายชายชั้นสูง 2 พระองค์ที่เหลืออยู่ และมีสิทธิ์ในราชบัลลังก์อย่างถูกต้อง ถูกพระเจ้าตากตามล่าอย่างไม่ลดละ
ส่วนเจ้านายฝ่ายหญิงที่พระเจ้าตากรับมาจากค่ายโพธิ์สามต้น มีเพียงบางพระองค์เท่านั้น ที่ทรงเลือกให้เป็น “ห้าม” ในราชสำนักกรุงธนบุรี
พระเจ้าตากรับเจ้าหญิงอยุธยาเป็นเจ้าจอม 4 พระองค์
ในบรรดา “บุตรี” ที่เป็นเจ้าหญิงอยุธยา พระเจ้าตากไม่ได้รับเป็นเจ้าจอมทุกพระองค์ เนื่องจากบางพระองค์สิ้นพระชนม์ไปก่อน บางพระองค์อาจจะมีพระชันษาสูง บางพระองค์อาจจะประชวรหนัก หรืออาจจะมีเหตุผลส่วนพระองค์บางประการ ดังนั้น จึงทรงรับไว้เป็นเจ้าจอมเพียง 4 พระองค์
“อนึ่ง ซึ่งพระขัตติยวงศ์ครั้งกรุงเก่านั้น บรรดาเจ้าหญิงทรงพระกรุณาโปรดเลี้ยงไว้ในพระราชวัง และเจ้าฟ้าสุริยา เจ้าฟ้าจันทวดี สองพระองค์นั้นดับสูญสิ้นพระชนม์ ยังอยู่แต่เจ้าฟ้าพินทวดี พระองค์เจ้าฟักทอง พระองค์เจ้าทับทิม ซึ่งเรียกว่าเจ้าครอกจันทบูรนั้น
และเจ้ามิตร บุตรีกรมพระราชวัง โปรดให้ชื่อ เจ้าประทุม หม่อมเจ้ากระจาด บุตรีกรมหมื่นจิตรสุนทร โปรดให้ชื่อ เจ้าบุปผา กับหม่อมเจ้าอุบล บุตรีกรมหมื่นเทพพิพิธ หม่อมเจ้าฉิม บุตรีเจ้าฟ้าจีด ทั้งสี่องค์นี้ทรงพระกรุณาเลี้ยงเป็นห้าม”[12]
ในหนังสือจดหมายความทรงจำฯ ของกรมหลวงนรินทรเทวี ซึ่งมักจะมีเรื่อง “อินไซด์” ในรั้วในวังอยู่เสมอ ขยายความต่อไปอีกว่า “แต่โปรดหม่อมฉิมหม่อมอุบล ประทมอยู่คนละข้าง”[13]
การได้เป็น “ห้าม” ของพระมหากษัตริย์ น่าจะเป็นเรื่องดีของเจ้าหญิงอยุธยา เพราะขณะนั้นทุกพระองค์ล้วนตกอยู่ในสภาพหมดที่พึ่ง ยิ่งเมื่อเปลี่ยนราชวงศ์ จึงขาดญาติพี่น้องที่จะช่วยดูแล โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าได้เป็นเจ้าจอม “ตัวโปรด” ยิ่งสามารถชิง “พื้นที่” แห่งอำนาจในกิจการฝ่ายในได้ ซึ่งเป็นอำนาจที่ทุกคนหมายปอง
แต่เรื่องกลับเป็นตรงกันข้าม การก้าวเข้าสู่ราชสำนักกรุงธนบุรีในฐานะ “เจ้าจอม” กลับกลายเป็นหายนะของเจ้าหญิงอยุธยา
2 เจ้าจอมตัวโปรดถูกประหารคดี “ฝรั่งจับหนู”
“ถึง ณ วันจันทร์ เดือน 7 แรมค่ำ 1 หม่อมเจ้าอุบล หม่อมเจ้าฉิม กับนางละครสี่คน เป็นชู้กับฝรั่งมหาดเล็กสองคน พิจารณาเป็นสัตย์แล้ว มีพระราชโองการ สั่งให้พวกฝีพายทนายเลือกไปทำชำเราประจาน แล้วให้ตัดแขนตัดศีรษะผ่าอกทั้งชายหญิงอย่าให้ใครดูเยี่ยงกันต่อไป”[14]
แน่นอนเรื่องอื้อฉาวเช่นนี้ ย่อมมีรายละเอียดอยู่ในจดหมายความทรงจำฯ ของกรมหลวงนรินทรเทวีเป็นแน่ คือมีการเพิ่ม “คนต้นเรื่อง” ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น
“วิบัติหนูกัดพระวิสูตร์ รับสั่งให้ชิตภูบาลชาญภูเบศ ฝรั่งคนโปรดทั้งคู่ให้เข้ามาไล่จับหนูใต้ที่เสวยในที่ด้วย เจ้าประทุมทูลว่าฝรั่งเปนชู้กับหม่อมฉิมหม่อมอุบล กับคนรำสี่คนเปนหกคนด้วยกัน”[15]
จากข้อมูลชิ้นนี้ทำให้เราทราบเรื่องชัดเจนยิ่งขึ้นว่าเรื่องทั้งหมดเกิดขึ้นได้อย่างไร โดยที่ชื่อบุคคล เหตุการณ์ ก็สอดคล้องกับพระราชพงศาวดาร เท่ากับเรื่องนี้ “มีมูล” ชัดเจน แล้วเมื่อมีการสืบสวนสอบสวน ซึ่งแน่นอนว่าย่อมต้องมีการทรมานตามวิธีปฏิบัติโบราณ ผู้ต้องหามักจะทนไม่ได้แล้ว “รับเป็นสัตย์” กันเป็นส่วนใหญ่ ปัญหาคือ เราไม่มีทางรู้ได้ว่า เรื่องการที่เจ้าจอมทั้งสองเป็นชู้กับฝรั่งมหาดเล็กชาวโปรตุเกสนั้นเป็นเรื่องจริง หรือถูกใส่ร้ายจาก “คนต้นเรื่อง” คือ เจ้าประทุม
ผลการไต่สวนออกมาดังนี้
“รับสั่งถามหม่อมอุบลไม่รับ หม่อมฉิมว่ายังจะอยู่เปนมเหษีคี่ซ้อนฤา มาตายตามเจ้าพ่อเถิด รับเปนสัตย์หมด ให้เฆี่ยนเอาน้ำเกลือรดทำประจานด้วยแสนสาหัส ประหารชีวิตร์ผ่าอกเอาเกลือทา ตัดมือตัดเท้า”[16]
แต่หลังคำสั่งประหาร ก็เกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้นอีก
“สำเร็จโทษเสร็จแล้ว ไม่สบายพระไทยคิดถึงหม่อมอุบล ว่ามีครรภ์อยู่สองเดือน ตรัสว่าจะตายตามหม่อมอุบล ว่าใครจะตายกับกูบ้าง เสมเมียกรมหมื่นเทพพิพิธว่าจะตามเสด็จ หม่อมทองจันทร์ หม่อมเกษ หม่อมลา สั่งบุษบาจะตามเสด็จด้วย”[17]
โชคดีที่ ท้าวทรงกันดาล (ทองมอญ) นิมนต์พระมาถวายพระพรขอชีวิตไว้ เรื่องจึงได้ยุติ สรุปว่าเจ้าจอมจากค่ายโพธิ์สามต้นยังเหลืออีก 2 พระองค์

คดีปริศนา “ท้องกับเจ๊ก” ใครท้อง?
ไม่ห่างจากคดี “ฝรั่งจับหนู” เท่าไร ก็เกิดเรื่องกับฝ่ายในขึ้นอีก “คนต้นเรื่อง” ในคดีนี้คือพระเจ้าตากเอง แต่มีปัญหาว่า ใครคือนางห้ามที่ประสูติเจ้า
“นางห้ามประสูตรเจ้า ท่านสงไสยว่าเรียกหนเดียวมิใช่ลูกของท่าน รับสั่งให้หาภรรยาขุนนางเข้าไปถาม ได้พยานคนหนึ่ง ว่าผัวไปหาหนเดียวมีบุตร จึงถามเจ้าตัวว่าท้องกับใคร ว่าท้องกับเจ๊ก เฆี่ยนสิ้นชีวิตรในฝีหวาย แต่เจ้าเล็กนั้นสมเด็จพระพุทธิเจ้าหลวงพระไอยกาเอาไปเลี้ยงไว้”[18]
บังเอิญว่าเรื่อง “ท้องกับเจ๊ก” นี้ ปรากฏหลักฐานอยู่ในจดหมายความทรงจำฯ เพียงแห่งเดียว ไม่ปรากฏในเอกสารอื่น จึงไม่สามารถเทียบเคียงความถูกต้องเพื่อหาตัว “ผู้ต้องสงสัย” ว่าเป็นใครกันแน่
อันที่จริงเรื่องนี้ทำท่าจะจบลงด้วยดี เพราะแม้พระเจ้าตากจะทรงระแวงสงสัยว่า “หนเดียว” ทำไมถึงท้องได้ ทั้งยังทรงสอบสวนกับพยานที่สามารถยืนยันได้ว่า “หนเดียว” ก็ท้องได้ แต่เมื่อทรงถาม “เจ้าตัว” กลับได้คำตอบเชิงประชดว่า “ท้องกับเจ๊ก” เลยเป็นเหตุให้ต้องถูกเฆี่ยนจนต้องสิ้นชีวิตไป
ปัญหาคือ นางห้ามประสูติเจ้า ท่านนี้เป็นใคร ที่แน่ ๆ ย่อมไม่ใช่พระมเหสี เจ้าจอม ที่มีรายชื่อในหนังสือลำดับสกุลเก่าฯ แน่ เพราะท่านเหล่านั้นยังมีชีวิตอยู่จนมีพระราชโอรส พระราชธิดา ในเวลาต่อมา หากเป็นเจ้าจอมที่ไม่เคยปรากฏชื่อในที่ใด ๆ ก็จะกลายเป็นว่านางห้ามท่านนี้จะเป็นปริศนาตลอดไป แต่ยังมีเจ้าจอมอีก 2 พระองค์ ที่มีตัวตนชัดเจน คือเจ้าประทุม กับเจ้าบุปผา หรือในจดหมายความทรงจำฯ เรียกว่า บุษบา ส่วนทั้งสองพระองค์จะเกี่ยวข้องกับคดีนี้หรือไม่ ย่อมเป็นปริศนาที่ต้องแก้กันต่อไป
ระยะเวลาที่เจ้าจอมทั้งสองจะประสูติเจ้า ก็มีโอกาสเป็นไปได้ เพราะเจ้าจอมอุบล เจ้าจอมรุ่นเดียวกันในคดี “ฝรั่งจับหนู” ก็ทรงครรภ์ได้ 2 เดือนก่อนจะถูกประหาร เจ้าประทุม คือคนที่ฟ้องคดี “ฝรั่งจับหนู” เจ้าบุปผา คือคนที่ยอมตายตามเสด็จในคดีเดียวกัน ดังนั้น สองพระองค์นี้ก็สามารถตกเป็น “ผู้ต้องสงสัย” ว่าจะเป็น “นางห้ามประสูตรเจ้า” ได้อยู่เช่นกัน
กุญแจสำคัญดอกสุดท้ายในเรื่องนี้คือ “เจ้าเล็ก” ที่ประสูติออกมา พระราชมารดาถูกเฆี่ยนจนสิ้นพระชนม์ แล้วสมเด็จพระพุทธิเจ้าหลวงพระไอยกาเอาไปเลี้ยงไว้ ซึ่งท่านผู้นี้ก็คือ “เจ้าพระยาจักรี” หลังจากเจ้าพระยาจักรีเอา “เจ้าเล็ก” ไปเลี้ยงไว้ไม่นานก็เกิดเรื่องใหญ่ขึ้น
“ประทมอยู่แว่วเสียงลูกอ่อนร้องที่ข้างน่า กริ้วว่าลูกมันหาเอาไปกับแม่มันไม่ ยังจะทำพันธุ์ไว้อีก สมเด็จพระไอยกาทราบ ทรงพระดำริห์ระแวงผิด จึงส่งให้เจ้าวังนอก ว่าสุดแต่เธอก็ทำตามกระแสรับสั่งสำเร็จโทษเสีย”[19]
การที่เจ้าพระยาจักรีเสี่ยงพระราชอาญาแอบเอาเจ้าเล็กไปเลี้ยงไว้นั้น ถือเป็นเบาะแสสำคัญอีกชิ้นหนึ่งในเรื่องนี้ ส่วนเจ้าวังนอก (คือกรมขุนอินทรพิทักษ์ พระราชโอรสพระเจ้าตาก) ก็รับคำสั่งประหารเจ้าเล็กจากเจ้าพระยาจักรีด้วยเหตุว่าท่านกลัวความผิด
หากนางห้ามประสูติเจ้าพระองค์นี้คือ เจ้าประทุม การที่เจ้าพระยาจักรีจะแอบเอาเจ้าเล็กมาเลี้ยงไว้ ก็เป็นเรื่องสมเหตุสมผลอยู่ เนื่องจากเจ้าประทุมเป็นพระราชธิดาในสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร “นายเก่า” เจ้าพระยาจักรี เพราะท่านเคยรับราชการเป็นมหาดเล็กในสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร
แต่หากนางห้ามประสูติเจ้าเป็นเจ้าบุปผานั้น เจ้าพระยาจักรีไม่น่าถึงขั้นเสี่ยงชีวิตของตัว รับเอาเจ้าเล็กมาแอบเลี้ยงไว้ เพราะเจ้าบุปผาท่านนี้ คือพระธิดาในกรมหมื่นจิตรสุนทร ผู้ที่เคลื่อนไหวจะทำรัฐประหารสมเด็จพระเจ้าอุทุมพรเมื่อคราวเปลี่ยนแผ่นดินจากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ แต่สุดท้ายกรมหมื่นจิตรสุนทรก็ถูกประหารชีวิตไป
ดังนั้น นางห้ามประสูติเจ้าท่านนี้จึงมีโอกาสสูงที่จะเป็นเจ้าประทุม ซึ่งหากท่านถือศักดิ์ว่าเป็นลูกกษัตริย์ เป็นเจ้าหญิงแห่งกรุงศรีอยุธยา คำกราบทูล “ท้องกับเจ๊ก” ก็อาจจะหลุดออกมาได้เช่นกัน
การเมืองเรื่อง “ข้างใน”
การที่พระเจ้าตากทรงรับเอาเจ้าจอมทั้งสี่มารับราชการนั้น ดูเหมือนจะเป็นการสร้าง “สงครามเย็น” ขึ้นที่พระราชฐานฝ่ายใน ซึ่งปรกติก็มีบรรยากาศของการ “ชิงพื้นที่” เพื่ออยู่ใกล้ชิดกับอำนาจให้มากที่สุดอยู่แล้ว เมื่อมาประกอบกับพื้นฐานเบื้องหลังของเจ้าจอมทั้งสี่ ยิ่งน่าคิดว่า เหตุการณ์ร้ายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นนั้น ล้วนแต่เกี่ยวข้องกับ “การเมือง” ที่ใหญ่กว่า เป็นเรื่องในอดีตที่พระบิดาของแต่ละพระองค์สร้างไว้
สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร พระราชบิดาของเจ้าประทุม มีความขัดแย้งกับกรมหมื่นจิตรสุนทร หนึ่งใน “เจ้าสามกรม” ที่คิดโค่นบัลลังก์, กรมหมื่นจิตรสุนทร พระบิดาของเจ้าบุปผา ขัดแย้งกับสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร และกรมหมื่นเทพพิพิธ ซึ่งทรงสนับสนุนสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร ถึงขั้นจะโค่นบัลลังก์สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์คืนให้กับสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร
หรือพูดให้ชัดคือ พ่อของเจ้าประทุม เป็นผู้สั่งประหารพ่อของเจ้าบุปผา
กรมหมื่นเทพพิพิธ พระบิดาของหม่อมเจ้าอุบล ขัดแย้งกับกรมหมื่นจิตรสุนทร เป็นฝ่ายต้านรัฐประหารจนทำให้กรมหมื่นจิตรสุนทรต้องถูกประหาร, กรมหมื่นเทพพิพิธ พระบิดาของ หม่อมเจ้าอุบล ถูกพระเจ้าตากประหารหลังศึกพิมาย
ทั้งสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร กรมหมื่นจิตรสุนทร กรมหมื่นเทพพิพิธ ต่างก็เป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ แต่ต่างพระราชมารดากัน มีเพียงหม่อมเจ้าฉิม พระธิดาในเจ้าฟ้าจีดเพียงพระองค์เดียวที่ไม่ได้มีความขัดแย้งใน “ศึกสายเลือด” ครั้งนี้ และท่านเป็นเพียงผู้เดียวที่ยอมตายตามเสด็จพระเจ้าตาก
แต่อดีตของท่านก็ไม่ต่างจากเจ้านายพระองค์อื่น คือ พระองค์ดำพระบิดาของเจ้าฟ้าจีดก็ถูกพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระสั่งประหาร ส่วนเจ้าฟ้าจีดนั้นทรงไปยึดเมืองเจ้าพระยาพิษณุโลก ระหว่างความวุ่นวายในสงครามเสียกรุงภายหลังก็ถูกเจ้าพระยาพิษณุโลกจับถ่วงน้ำสิ้นพระชนม์
จะเห็นได้ว่าเจ้าจอมทั้ง 4 พระองค์ ล้วนแต่มีบาดแผลในใจ ไม่เพียงแต่ต้องยอมรับราชการในแผ่นดินกรุงธนบุรี โดยเฉพาะหม่อมเจ้าอุบล ต้องมาเป็นเจ้าจอมของผู้ที่ประหารพระบิดา แล้วยังต้องแวดล้อมไปด้วยศัตรูทางการเมืองของพ่อที่ฆ่าฟันกันมา จึงเป็นการยากที่ “สงครามเย็น” จะไม่เกิดขึ้นในราชสำนักฝ่ายในของกรุงธนบุรี
ดังนั้นความผิดต่าง ๆ ที่เจ้าจอมกลุ่มนี้สร้างขึ้นไม่ว่าจะจงใจ หรือเหตุการณ์บังคับก็ตาม ล้วนแต่เป็นสิ่งที่น่าเห็นใจอย่างยิ่ง
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
เชิงอรรถ :
[1] ลำดับสกุลเก่า บางสกุล ภาคที่ 4 สกุลเชื้อสายพระราชวงศ์กรุงธนบุรี (ฉบับร่าง), (พระนคร : โรงพิมพ์พระจันทร์, 2480), น. (ข)
[2] ก.ศ.ร.กุหลาบ. มหามุขมาตยานุกูลวงศ์ เล่ม 1 ว่าด้วยลำดับวงศ์ตระกูลขุนนางไทยทั้งสิ้นในแผ่นดินสยาม. (พระนคร : โรงพิมพ์สยามประเภท, ร.ศ. 134), น. 429.
[3] คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม เอกสารจากหอหลวง, (กรุงเทพฯ : คณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทยฯ, 2534), น. 45
[4] คำให้การชาวกรุงเก่า คำให้การขุนหลวงหาวัด และพระราชพงศาวดารกรุงเก่าฉบับหลวงประเสริฐอักษร[1]นิติ์, (พระนคร : คลังวิทยา, 2515), น. 143.
[5] พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา, (กรุงเทพฯ : คลังวิทยา, 2516), น. 286.
[6] นายต่อ (แปล). มหาราชวงษ์พงษาวดารพม่า. (กรุงเทพฯ : มติชน, 2545), น. 270.
[7] พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา, น. 197.
[8] เรื่องเดียวกัน, น. 297.
[9] มหาราชวงษ์พงษาวดารพม่า, น. 271.
[10] พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา, น. 298.
[11] เรื่องเดียวกัน, น. 316.
[12] เรื่องเดียวกัน, น. 334.
[13] กรมหลวงนรินทรเทวี. จดหมายความทรงจำของพระเจ้าไปยิกาเธอ กรมหลวงนรินทรเทวี (เจ้าครอกวัดโพ) ตั้งแต่ จ.ศ. 1129-1182). (กรุงเทพฯ : ต้นฉบับ, 2546), น. 55.
[14] พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา, น. 334.
[15] จดหมายความทรงจำฯ, น. 55.
[16] เรื่องเดียวกัน, น. 55.
[17] เรื่องเดียวกัน, น. 56.
[18] เรื่องเดียวกัน, น. 57.
[19] เรื่องเดียวกัน, น. 58.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 7 ตุลาคม 2562