การสร้างพระราชประวัติ “พระเจ้าตาก” ที่ปฏิเสธเอกสารทางประวัติศาสตร์

พระเจ้าตาก พระยาตาก
พระเจ้าตาก

พระราชประวัติของ “พระเจ้าตาก” หรือสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ตามที่ปรากฏในเอกสารทางประวัติศาสตร์อย่างเช่น พระราชพงศาวดาร หรือจดหมายเหตุนั้น ระบุไว้ว่าพระองค์ถูกสำเร็จโทษประหารชีวิต แต่ข้อมูลอีกด้านหนึ่งจาก ตำนาน เรื่องเล่า มุขปาฐะ กล่าวถึงพระราชประวัติของพระองค์ต่างออกไป คือ ไม่ได้ถูกสำเร็จโทษ และเสด็จฯ ประทับที่นครศรีธรรมราช

ในระยะเวลาต่อมา โดยเฉพาะหลัง 2475 มีการนำข้อมูลชั้นรองเหล่านี้มาเขียนอธิบายพระราชประวัติในอีกมุมหนึ่ง ซึ่งนับว่าเป็นการปฏิเสธเอกสารทางประวัติศาสตร์อย่าง พระราชพงศาวดาร หรือจดหมายเหตุ เรื่องนี้ ปฐมพงษ์ สุขเล็ก อธิบายไว้ในหัวข้อ การสร้างเรื่องเล่าที่ปฏิเสธเอกสารทางประวัติศาสตร์ ในหนังสือ “การเมือง เรื่องเล่า พระเจ้าตาก หลัง 2475” (สำนักพิมพ์มติชน, 2560) ดังนี้


 

การสร้างเรื่องเล่าที่ปฏิเสธเอกสารทางประวัติศาสตร์ เป็นการสร้างเรื่องเล่าด้วยการวิเคราะห์ชุดข้อมูลของตำนานคำบอกเล่าท้องถิ่น รวมทั้งองค์ความรู้ในศาสตร์อื่น ๆ เพื่อปฏิเสธเนื้อหาที่ปรากฏในเอกสารทางประวัติศาสตร์ จากการศึกษาพบว่าชุดข้อมูลหรือองค์ความรู้ที่ผู้แต่งนำมาสร้างเรื่องเล่านี้ได้ใช้ตำนานคำบอกเล่าท้องถิ่นนครศรีธรรมราช และองค์ความรู้ในเรื่องโหราศาสตร์ ดังตัวอย่างในเรื่อง พระเจ้า ตากฯ สิ้นพระชนม์ที่เมืองนคร ผู้แต่งได้อาศัยตำนานคำบอกเล่าท้องถิ่นนครศรีธรรมราช และพยายามนำเสนอว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ไม่ได้ถูกสำเร็จโทษที่ป้อมวิชัยประสิทธิ์ แต่เสด็จหนีมาอาศัยที่เมืองนครศรีธรรมราชจนกระทั่งสวรรคต

ข้อมูลชุดแรกที่ผู้แต่งนำมาจากตำนานคำบอกเล่าท้องถิ่นนครศรีธรรมราช คือคำบอกเล่าของตระกูล ณ นคร สายตระกูลนี้มีความสัมพันธ์กับสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เพราะต้นตระกูล ณ นคร คือ เจ้าพระยานคร (น้อย) บุตรติดครรภ์เจ้าจอมปราง ที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชพระราชทานให้เป็นชายาเจ้าอุปราชพัฒน์ เมื่อเจ้าอุปราชพัฒน์รับพระราชทานเป็นชายาแล้วก็ตั้งไว้เป็นนางเมืองโดยไม่ยุ่งเกี่ยวฉันชู้สาวแต่อย่างไร คนในตระกูล ณ นคร จึงมีความเชื่อกันว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชไม่ได้ถูกประหารชีวิต ดังนี้

พระองค์ได้เสด็จมาประทับอยู่ที่ “เขาขุนพนม” โดยได้บวชเป็นภิกษุ ต่อมาเมื่อเกิดศึกสงครามพม่ายกทัพมาตีเมืองนครศรีธรรมราช เจ้าพระยานคร (พัฒน์) ได้นำหม่อมปรางและพระโอรสที่ติดครรภ์มาจากพระเจ้าตากหลบหนีไปที่ทับพระยา และได้จัดกองกำลังส่วนหนึ่งคุ้มกันไว้ และเจ้าพระยานคร (พัฒน์) ได้ออกมาบัญชาการรบด้วยตนเอง

บริเวณ “หอพระสูง” ในปัจจุบันนั้น คนในตระกูล ณ นคร เชื่อกันว่าสมัยอยุธยา นครศรีธรรมราช เป็นเมืองในลักษณะประเทศราช เป็นศูนย์กลางการปกครองภาคใต้ไปตลอดมลายู มีการติดต่อซื้อขายสินค้ากับฝรั่งโปรตุเกสเป็นอิสระ โดยจะต้องส่งส่วยให้กับทางอยุธยาทุกปี

ตัวกำแพงเมืองจึงมีอิทธิพลของโปรตุเกสอยู่สูง เพราะก่อนมีการบูรณะกำแพงเมืองนั้น ลักษณะกำแพงเมืองที่มีคูเมืองขวางกั้น มีเชิงเทินสำหรับตั้งรับข้าศึก และมีประตูกลแบบซ่อนทางเข้าไว้ ล้วนแล้วแต่ได้รับอิทธิพลจากโปรตุเกสทั้งสิ้น

“เนินดิน” ที่ก่อขึ้นสูงบริเวณสนามหน้าเมืองนั้น คือกองอิฐและมูลดินที่เหลือจากการซ่อมแซมกำแพง ที่ทรุดโทรมลงมาในสมัยธนบุรี

ต่อมาเมื่อพระเจ้าตากสินสิ้นพระชนม์ที่เขาขุนพนม ก็ได้มีการปรับแต่งพื้นที่ปลูกวิหารบนเนินสูงดังกล่าว แล้วมีการจัดขบวนแห่พระศพมายังสนามหน้าเมือง และได้พักพระบรมศพไว้ที่วิหารสูงแห่งนี้ ภายหลังเมื่อฌาปนกิจพระบรมศพที่สนามหน้าเมืองเสร็จ เมรุที่ใช้เผาก็ถูกรื้อออกตามประเพณีโบราณ

ส่วนหอพระสูงหรือวิหารนั้นถูกปลูกสร้างขึ้นมาระหว่างพักพระบรมศพนั่นเอง เพราะที่บริเวณนั้นเป็นที่พักพระบรมศพของพระเจ้าตาก ซึ่งถือว่าเป็นพระเจ้าแผ่นดิน เพื่อป้องกันไม่ให้ใครมาใช้สถานที่ซ้ำกับบริเวณดังกล่าว

ก็เลยสร้างและตกแต่งวิหารเพิ่มเติมครอบเอาไว้ และสร้างพระพุทธรูปไว้องค์หนึ่ง และที่สำคัญในวิหารสูงจะมีลักษณะพิเศษคือจะเป็นโบสถ์ทรงมหาอุตต์

จากเรื่อง พระเจ้าตากฯ สิ้นพระชนม์ที่เมืองนคร (ทศยศ กระหม่อมแก้ว. 2550 : 67-68)

พระบรมรูป พระเจ้าตาก ที่ เขาขุนพนม
พระบรมรูปพระเจ้าตาก ที่เขาขุนพนม

จากตัวอย่างเรื่อง พระเจ้าตากฯ สิ้นพระชนม์ที่เมืองนคร ข้างต้น เป็นการสร้างเรื่องเล่าจากคำบอกเล่าท้องถิ่นด้วยการสัมภาษณ์บุคคลในสมาชิกของตระกูล ณ นคร ที่อาศัยในนครศรีธรรมราช ซึ่งจากคำบอกเล่าได้มีความสัมพันธ์กับโบราณสถาน 2 แห่ง คือ วิหารสูง และวัดเขาขุนพนม โดยเฉพาะวัดเขาขุนพนมที่มีความเชื่อว่าเป็นที่อาศัยของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชจนสวรรคต วัดเขาขุนพนมแห่งนี้ ได้พบโบราณวัตถุจำนวนมาก เช่น พระพุทธรูป อาวุธ ของใช้ต่าง ๆ และที่สำคัญคือพระพุทธบาทที่มีลวดลายแปลกกว่าลายพระพุทธบาททั่วไป โดยเฉพาะเป็นศิลปะจีน หลักฐานเหล่านี้จึงเป็นการสนับสนุนคำบอกเล่าท้องถิ่นเมืองนครศรีธรรมราชของตระกูล ณ นคร

ข้อมูลชุดที่สอง คือคำบอกเล่าของชาวบ้านท้องถิ่นเมืองนครศรีธรรมราชที่มีเรื่องเล่าสืบต่อกันมา โดยเฉพาะเรื่องบรรพบุรุษของตนเป็นองครักษ์ของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ที่พาสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชหลบหนีมาที่เขาขุนพนม ดังนี้

เมื่อแรกไปถึงก็พบกับ “ยายคร้าว พราหมณ์กุล” ซึ่งจะว่าไปก็เป็นคนสายสกุล “คีรีเพชร” ที่เชื่อว่าเป็นอีกสายสกุลหนึ่งที่เชื่อว่าเคยเป็นองครักษ์ของพระเจ้าตาก

ซึ่งยายคร้าวนี้เองที่เป็นคนเฒ่าคนแก่ที่สุด ที่อาจารย์วิเชียร ณ นคร เล่าว่าเป็นผู้อาวุโสสุดในสายสกุลที่เป็นองครักษ์พระเจ้าตาก แต่ความจำของท่านยังดีอยู่มากแม้วัยจะล่วงเลยมาถึง 80 ปีแล้วก็ตาม

จากเรื่อง พระเจ้าตากฯ สิ้นพระชนม์ที่เมืองนคร (ทศยศ กระหม่อมแก้ว, 2550 : 85)

จากเรื่อง พระเจ้าตากฯ สิ้นพระชนม์ที่เมืองนคร ข้างต้น ผู้แต่งได้พยายามสร้างเรื่องเล่าเพื่อนำเสนอเรื่องราวขององครักษ์ที่พาสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชมาที่เมืองนครศรีธรรมราชด้วยการอ้างอิงบุคคลที่มีอยู่จริง เพื่อปฏิเสธเรื่องการถูกสำเร็จโทษของพระองค์ที่ป้อมวิชัยประสิทธิ์ ด้วยการแสดงให้เห็นถึงความมีตัวตนของผู้ที่สืบเชื้อสายขององครักษ์เหล่านั้น

นอกจากคำบอกเล่าที่แสดงให้เห็นถึงการมีตัวตนขององครักษ์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชแล้ว อีกข้อมูลหนึ่งที่ได้จากชาวท้องถิ่น คือบทเพลงกล่อมเด็กโบราณที่ท่องจำสืบต่อกันมามีความหมายที่สามารถชี้ให้เห็นถึงความเกี่ยวพันกับสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ดังนี้

ฮาเออ

ว่าตาแป๊ะหนวดยาว

ถึงคราวสิ้นทุกข์

เอาศพใส่โลงดีบุก

ไปค้างในดอนดง

ลูกเจ้าจอมหม่อมลับ

ถือฉัตรถือธง

เอาศพไปค้างในดอนดง

ค่อยปลงเมรุใหญ่เหอ

ผมอาศัยการตีความจากสมมุติฐานแรกคือ “โลงดีบุก” ซึ่งเป็นเครื่องยศของชนชั้นสูงเมืองนครศรีธรรมราชเท่านั้น เนื่องจาก “ดีบุก” มีราคาแพง และเป็นของมีค่าใช้ประกอบเครื่องยศของเจ้าเมืองประเทศราชอย่างนครศรีธรรมราช ผู้มีความสามารถบรรจุศพลงในโลงดีบุกได้ย่อมไม่ใช่คนธรรมดาอย่างแน่นอน โดยเฉพาะท่อนที่ว่า “ลูกเจ้าจอมหม่อมลับ ถือฉัตรถือธง” นั่นแสดงให้เห็นเป็นอย่างดีว่า ผู้ตายย่อมไม่ใช่บุคคลธรรมดา เพราะมีเครื่องสูงอย่างฉัตรอย่างธงมาประกอบพิธี

หรือแม้แต่ท่อนที่ว่า “เอาศพไปค้างไว้ในดอนดง ค่อยปลงเมรุใหญ่เหอ” นั้นสามารถตีความได้ว่า ผู้ตายมียศสูง แต่ผมตั้งข้อสงสัยไว้ว่า ในเมื่อมียศใหญ่โตทำไมต้องเอาศพไปไว้ในป่าดง แล้วถึงค่อยมาเผาในเมรุ

อาจจะเป็นไปได้ไหมว่า ผู้ตายมียศมีศักดิ์ถึงขั้นเทียบเท่ากับเจ้าเมืองประเทศราชได้ และอาศัยอยู่ในป่าเขาก่อนที่จะย้ายศพออกมาเผา ซึ่งในที่นี้ผมขอตั้งสมมุติฐานแรกว่าเป็น “พระเจ้าตากสิน” ที่มีความเชื่อพื้นถิ่นและบอกเล่าต่อ ๆ กันมายาวนานว่าพระองค์หนีภัยการเมืองมายังนครศรีธรรมราช และเสด็จประทับที่วัดเขาขุนพนมที่อยู่ในเขตป่าเขาจนสิ้นพระชนม์

จากเรื่อง พระเจ้าตากฯ สิ้นพระชนม์ที่เมืองนคร (ทศยศ กระหม่อมแก้ว. 2550 : 99-101)

จากเรื่อง พระเจ้าตากฯ สิ้นพระชนม์ที่เมืองนคร ข้างต้น ผู้แต่งยังได้อาศัยข้อมูลจากบทเพลงกล่อมเด็กโบราณและการวิเคราะห์คาดคะเนในการสร้างเรื่องเล่า เพื่อสร้างความเป็นมาและความน่าเชื่อถือ ในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชและเมืองนครศรีธรรมราชในช่วงบั้นปลายชีวิตของพระองค์

การสร้างเรื่องเล่าที่มีเนื้อหาขัดแย้งกับเรื่องราวที่ปรากฏในเอกสารทางประวัติศาสตร์ นอกจากผู้แต่งจะอาศัยตำนานคำบอกเล่าท้องถิ่นเมืองนครศรีธรรมราชดังที่อธิบายไปข้างต้นแล้วนั้น ผู้แต่งยังอาศัยองค์ความรู้ในเรื่องโหราศาสตร์ ด้วยการพยากรณ์ดวงพระราชสมภพ ดังตัวอย่างเรื่องดวงพระเจ้าตากไม่ถูกประหาร ที่ผู้แต่งได้พยายามนำเสนอเรื่องเล่าที่ปฏิเสธเรื่องพระสติวิปลาสของพระองค์ ดังนี้

…ผมจะวิเคราะห์ดวงของพระเจ้าตาก ตามหลักวิชาที่ได้ศึกษาค้นคว้ามาเพื่อแสดงและชี้ชัดให้เห็นว่า ท่านเป็นบ้าจริงหรือไม่?

……..

ดาวเสาร์ (7) เป็นดาวทุกข์โทษ เมื่ออยู่ในเรือนกัมมะ จึงส่งผลให้พระองค์อุบัติขึ้นมาในโลก เพื่อบรรเทาทุกข์โทษทั้งหลายให้กับผู้อื่นโดยพระองค์ท่านเป็นผู้แบกภาระหรือรับทุกข์โทษนั้นด้วยพระองค์เอง แม้ความทุกข์หรือภาระดังกล่าวจะมากมายปานใด พระองค์ท่านก็ไม่ทรงเป็นบ้าเสียสติหรอกครับ เพราะเสาร์ (7) ได้รับกระแสที่ดีจากดาวศุภเคราะห์และดาวที่ให้คุณหลายดวง คือ มีอาทิตย์ (1) มหาอุจ และพุธ (4) กุม มีราหู

(8) คู่มิตร เล็ง และมีเนปจูน (น) เจ้าเรือนภพ ศุภะ นำหน้า

จากเรื่อง ดวงพระเจ้าตากไม่ถูกประหาร (เล็ก พลูโต. 2551 : 69, 71)

จากเรื่อง ดวงพระเจ้าตากไม่ถูกประหาร ข้างต้น ผู้แต่งได้ปฏิเสธความวิปลาสของพระองค์ เพราะจากเอกสารทางประวัติศาสตร์ได้กล่าวว่า พระองค์มีพระสติวิปลาส มีอาการดุร้ายฉุนเฉียว…ด้วยการสร้างคำอธิบายให้เห็นถึงดวงความวิปลาส ที่ไม่ปรากฏในดวงของพระองค์

อีกเนื้อหาตอนหนึ่งที่ขัดแย้งกับเนื้อหาในเอกสารทางประวัติศาสตร์ คือการสวรรคตของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ข้อมูลจากเอกสารทางประวัติศาสตร์กล่าวว่าพระองค์ถูกสำเร็จโทษที่ป้อมวิชัยประสิทธิ์ แต่เรื่อง ดวงพระเจ้าตากไม่ถูกประหาร ได้ปฏิเสธการถูกสำเร็จโทษของพระองค์ ดังนี้

…จุดรอดของพระองค์ที่ใช้เป็นตัวชี้ขาดว่า เป็นดวงชะตานักโทษประหาร หรือถูกผู้อื่นฆ่าตายหรือไม่? อยู่ตรงที่ทั้งพระราชลัคนาและดาวเจ้าเรือนพระราชลัคนาไม่ได้ต้องกระแสดาวมรณะ หรือดาวอังคารโดยตรงหรืออย่างจัง คือกุมนำหน้าอยู่ในภพกัมมะเหมือนกับดวงนักโทษประหารสองรายที่ยกตัวอย่างมาอ้างอิง

อีกทั้งพระราชลัคนาและดาวเจ้าเรือนพระราชลัคนาก็โดนบาปเคราะห์หรือดาวร้ายเบียนแค่หอมปากหอมคอ ไม่มากมายหรือหนักหนาสาหัสนัก…

จากเรื่อง ดวงพระเจ้าตากไม่ถูกประหาร (เล็ก พลูโต. 2551 : 119)

ป้อมวิชัยประสิทธิ์
ป้อมวิชัยประสิทธิ์ ที่ในพงศาวดารพระราชหัตถเลขา เล่ม 2 บอกว่าเป็นสถานที่ประหารพระเจ้าตาก

จากเรื่อง ดวงพระเจ้าตากไม่ถูกประหาร ข้างต้น ผู้แต่งได้อธิบายดวงชะตาสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชว่าไม่ปรากฎเกณฑ์ชะตาที่เป็นนักโทษประหาร จึงเป็นไปไม่ได้ที่พระองค์จะถูกจองจำจนถูกสำเร็จโทษในที่สุด โดยก่อนหน้านี้ผู้แต่งได้สร้างเรื่องเล่าที่อธิบายถึงดวงชะตา ที่ปรากฏเกณฑ์ชะตาเป็นนักโทษประหาร คือดวงชะตาของซัดดัม ฮุสเซ็น และดวงชะตาของเฉลียว ปทุมรส และเมื่อนำมาเปรียบเทียบกับดวงชะตาสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชพบว่าแตกต่างกัน

การสร้างเรื่องเล่าจากตำนานคำบอกเล่าท้องถิ่น และศาสตร์อื่น ๆ เป็นการสร้างเรื่องเล่าที่มุ่งเน้นการนำเสนอวาระสุดท้ายของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชนับตั้งแต่มีอาการพระสติวิปลาส จนถึงวาระสุดท้ายของพระชนมชีพ เรื่องเล่าที่ถูกสร้างขึ้นมีทั้งเนื้อหาที่สนับสนุนหรือสอดคล้องกับเรื่องเล่าที่ปรากฏในเอกสารทางประวัติศาสตร์ คือ พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา และจดหมายเหตุความทรงจำกรมหลวงนรินทรเทวี ซึ่งพบไม่มากเมื่อเทียบกับเรื่องเล่าที่มีเนื้อหาปฏิเสธเรื่องเล่าที่ปรากฏในเอกสารทางประวัติศาสตร์ฉบับต่าง ๆ ที่ถูกนำเสนอในเนื้อหาที่สำคัญว่า สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชไม่ได้ถูกประหาร แต่เสด็จหนีรอดมาได้ และมาอาศัยอยู่ที่เมืองนครศรีธรรมราช โดยอาศัยหลักฐานข้อมูลจากคำบอกเล่าท้องถิ่นเมืองนครศรีธรรมราชเป็นสำคัญ และองค์ความรู้ในเรื่องโหราศาสตร์

การสร้างเรื่องเล่าที่มีเนื้อหาปฏิเสธเอกสารทางประวัติศาสตร์ ถึงแม้การสร้างเรื่องเล่าจะอาศัยหลักฐานข้อมูลที่มีความน่าเชื่อถือไม่มากเมื่อเทียบกับเอกสารทางประวัติศาสตร์ฉบับต่าง ๆ แต่เรื่องเล่าจากตำนานพื้นบ้านหรือศาสตร์อื่น ๆ เหล่านี้ได้ส่งผลให้เรื่องเล่าสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเกิดการเปลี่ยนแปลงไปจากเอกสารประวัติศาสตร์อย่างมาก

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 24 กันยายน 2564