สงสัย รัชกาลที่ 1 รออะไรถึง 2 ปี ก่อนขุดหีบศพพระเจ้าตากมาเผา?

ใน “แฟ้มปริศนาพระเจ้าตาก” ยังคงมีเรื่องอยู่เรื่องหนึ่งที่ยังไม่ค่อยมีการถกแถลงกันมากนัก คือเหตุการณ์ในพระราชพงศาวดารรัชกาลที่ 1 เมื่อปีมะโรง จุลศักราช 1146 (พ.ศ. 2327) หรือราว 2 ปีกว่า หลังการผลัดแผ่นดินกรุงธนบุรีมาสู่แผ่นดินกรุงเทพมหานคร เหตุการณ์ที่ว่านั้นคือ

“ฝ่ายข้างกรุงเทพมหานครฯ สมเดจพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ ดำรัศให้ขุดหีบศพเจ้ากรุงธนบุรี ขึ้นตั้งไว้ ณ เมรุวัดบางยี่เรือไต้ ให้มีการมโหรศพ แลพระราชทานพระสงฆบังสกุล เสดจพระราชดำเนิรไปพระราชทานเพลิงทั้งสองพระองค์” [1]

ส่วนพระราชพงศาวดารฉบับอื่นๆ ก็มีข้อความสอดคล้องกัน คือไม่ได้ระบุวันเดือนปีในเหตุการณ์ครั้งนี้ และที่แตกต่างกันอีกอย่างหนึ่งคือ “วิธี” การเรียกพระนามพระเจ้าตาก เช่นในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา เรียกว่า “เจ้าตาก” หรือในจดหมายความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี ยังคงเรียกด้วยความเคารพว่า “แผ่นดินต้น”

พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ ณ เชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้าฝั่งพระนคร

แต่ที่พิเศษเพิ่มเติมไปจากฉบับอื่นเห็นจะเป็นพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 ของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงตรวจชำระและทรงพระนิพนธ์อธิบาย พระราชพงศาวดารฉบับที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรง “ชำระ” นี้ มีข้อความต่อเติมจาก “ฉบับตัวเขียน” อยู่ตรง “วิธี” จัดการงานพระบรมศพพระเจ้าตากคือ “ดำรัสให้ขุดศพเจ้ากรุงธนบุรีขึ้นทำการฌาปนกิจ ที่เมรุวัดบางยี่เรือใต้” [2]

นอกจากการตัด “หีบศพ” ออกและเพิ่ม “การฌาปนกิจ” แล้ว ที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ ทรง “เซ็นเซอร์” ข้อความต่อท้ายเหตุการณ์นี้ออกทิ้งทั้งย่อหน้า ซึ่งเป็นข้อความที่ปรากฏทั้งใน “ฉบับตัวเขียน” และฉบับพระราชหัตถเลขา คือ

“ขณะนั้นพวกเจ้าจอมข้างใน ทั้งพระราชวังหลวง วังหน้า ซึ่งเป็นข้าราชการครั้งแผ่นดินเจ้าตาก คิดถึงพระคุณชวนกันร้องไห้ สมเด็จพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ ทรงพระพิโรธดำรัสให้ลงพระราชอาญาโบยหลังทั้งสิ้น” [3]

ข้อความที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรง “เซ็นเซอร์” ทิ้งไปนี้ สามารถตอบคำถามเหตุการณ์เมื่อปลายกรุงธนบุรีในช่วงเวลาที่ “คนทั้งหลายมีหน้าคร่ำไปด้วยน้ำตา” และแผ่นดินลุกเป็นไฟ ว่าเมื่อสถานการณ์สิ้นสุดแล้ว ยังจะเหลือคน “ภักดี” ต่อพระเจ้าตากสักคนหรือไม่

วัดโคกพระยา สถานที่สำเร็จโทษและฝังพระศพพระมหากษัตริย์และเจ้านายในสมัยกรุงศรีอยุธยา

อย่างไรก็ดี ปัญหาที่เป็น “ปริศนา” ชวนให้สงสัยในเหตุการณ์ “ขุดหีบศพ” นี้คือทำไมพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ จึงเลือกที่จะ “ฌาปนกิจ” พระเจ้าตาก ทั้งๆ ที่อาจจะไม่ต้องทำก็ได้ เพราะ
เจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินจำนวนไม่น้อยที่ถูกสำเร็จโทษจากความขัดแย้งทางการเมืองในแผ่นดินกรุงศรีอยุธยา ยังคงถูกฝัง “ไม่เผาผี” อยู่ที่วัดโคกพระยา โดยที่ไม่มีการขุดขึ้นมาบำเพ็ญพระราชกุศลเลย (อย่างน้อยก็ไม่ปรากฏในพระราชพงศาวดาร) แม้จะเปลี่ยนแผ่นดินไปกี่รัชสมัยก็ตาม

แต่เมื่อทรงคิดที่จะ “ฌาปนกิจ” ไม่ทิ้งไว้เหมือนสมัยกรุงศรีอยุธยา เหตุใดจึงต้องรอถึง 2 ปีกว่า จึงโปรดให้ “ขุดหีบศพ” ขึ้นมา “ฌาปนกิจ”?

ฝังที่ไหน “ขุดศพ” ตรงไหน?

“ถึงหน้าป้อมวิชัยประสิทธิ์ก็ประหารชีวิตตัดศีรษะเสียถึงแก่พิราลัย จึงรับสั่งให้เอาศพไปฝังไว้ ณ วัดบางยี่เรือใต้[4]

วัดบางยี่เรือใต้ สถานที่ฝังพระบรมศพนี้มีข้อยุติอยู่แล้วว่าคือวัดอินทาราม ริมคลองบางกอกใหญ่ และเป็นวัดที่ใช้จัดการงานพระบรมศพ พระศพ เจ้านายสำคัญในสมัยกรุงธนบุรี เช่น การพระบรมศพสมเด็จพระพันปีหลวง กรมพระเทพามาตย์ พระราชมารดาของพระเจ้าตาก

แต่ประเด็นปัญหาที่ต้อง “ขุดลึก” กว่านี้คือ จุดฝังพระบรมศพพระเจ้าตากในวัดอินทารามนั้น อยู่ตรงไหนของวัดกันแน่?

ตาม “ตำนาน” ของวัดอินทาราม เล่าว่า จุดที่ฝังพระบรมศพพระเจ้าตากคือบริเวณที่พระยาศรีสหเทพ (ทองเพ็ง) ใช้เป็นที่สร้างพระอุโบสถหลังใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 3 และใช้เป็นพระอุโบสถถึงปัจจุบัน

บริเวณที่ตั้งพระอุโบสถใหม่นี้ อยู่ห่างจากพระอุโบสถเก่ามาทางด้านขวามือ (เมื่อหันหน้าออกคลอง) ไปเพียงไม่กี่ก้าว เดิมเชื่อว่าบริเวณนี้น่าจะเป็นลานโล่งข้างวัด สำหรับจัดการงานบุญต่างๆ เพราะหน้าวัดนั้นอยู่ติดกับคลองบางกอกใหญ่ และมีพื้นที่ว่างน้อยกว่าด้านข้างพระอุโบสถเก่ามากนัก

ภาพถ่ายทางอากาศในปัจจุบันบริเวณวัดอินทารามระบุที่ตั้งของศาสนสถานสำคัญภายในวัด (ภาพปรับปรุงจาก http://maps.google.co.th)

วัดอินทารามในสมัยกรุงธนบุรีนี้ พระเจ้าตากทรงบูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ทั้งพระอาราม ในปี 2319 ความใหญ่โตกว้างขวางของวัดนี้ในสมัยกรุงธนบุรีนั้น สามารถจินตนาการได้จากงานบำเพ็ญพระราชกุศลพระอัฐิ สมเด็จฯ กรมพระเทพามาตย์ งานนี้ถือเป็นงานใหญ่ที่สุดงานหนึ่งในสมัยกรุงธนบุรีเลยก็ว่าได้ มีเรือเข้าริ้วกระบวนแห่พระอัฐิ 79 ลำ เจ้าหน้าที่เจ้าพนักงานชายหญิงจำนวนหลายพันคน เฉพาะพระสงฆ์ที่มาในงานนี้มีถึง 3,230 รูป [5] เถน เณร ชี อีก 2,891 รูป โรงเรือน โรงทาน โรงทิม โรงมหรสพ เป็นจำนวนนับร้อย ที่สร้างขึ้นเพื่องานนี้

จำนวนผู้คน เจ้าพนักงานชายหญิง พระสงฆ์ นักบวช รวมได้หลายพันคน สิ่งปลูกสร้างอีกนับร้อย มองไม่เห็นทางว่าจะจัดให้ไปอยู่ตรงไหนได้ในวัด นอกเสียจากบริเวณพื้นที่โล่งข้างพระอุโบสถเก่า หรือบริเวณที่เป็นพระอุโบสถในปัจจุบัน

ตรงบริเวณพระอุโบสถใหม่นี้เอง น่าจะเป็นที่ตั้งพระเมรุของ สมเด็จฯ กรมพระเทพามาตย์ คืออยู่ตรงกลางลานพอดี ส่วนโรงเรือนต่างๆ ตลอดจนโรงมหรสพ ก็โอบล้อมพระเมรุ เหมือนอย่างงานพระเมรุท้องสนามหลวงในยุคปัจจุบัน แต่พื้นที่โล่งบริเวณพระอุโบสถใหม่นี้ ในสมัยกรุงธนบุรีคงจะกว้างขวางกว่านี้มาก จึงสามารถจุคนและโรงเรือนได้มากมายอย่างที่บันทึกไว้ในหมายรับสั่ง

ดังนั้นหากพื้นที่บริเวณพระอุโบสถใหม่ เหมาะจะเป็นพื้นที่จัดงานบุญต่างๆ เสียแล้ว ย่อมไม่ใช่ป่าช้าของวัดแน่จึงไม่น่าที่จะใช้บริเวณเดียวกันนี้ขุดหลุมฝัง “หีบศพ” พระเจ้าตากอดีตพระมหากษัตริย์ เพราะพื้นที่อยู่ติดคลองและเสมอกับหน้าวัดเก่า จึงออกจะประเจิดประเจ้ออยู่ไม่น้อยที่จะฝัง “หีบศพ” ไว้ตรงนี้ และน่าจะเป็นสถานที่พลุกพล่านพอสมควร เพราะเป็นพื้นที่โล่งข้างวัดสำหรับประกอบงานบุญอยู่เสมอ

คิดในแง่ดี บริเวณลานโล่งข้างพระอุโบสถเก่านี้ ผู้คนเข้าถึงได้ง่ายเพราะอยู่ติดคลอง จึงสะดวกในการเข้าสักการบูชา ทำบุญทำกุศลถวายพระบรมศพ แต่ในทางกลับกันก็ง่ายต่อการคิดประทุษร้ายขุดพระบรมศพขึ้นมาเพื่อการหนึ่งการใดได้เช่นเดียวกัน

พระอุโบสถหลังใหม่ วัดอินทาราม พระยาศรีสหเทพ (ทองเพ็ง) สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๓ “ตำนานวัด” เล่าว่าเป็นจุดที่ฝังพระบรมศพสมเด็จพระเจ้าตากสิน

อย่างไรก็ดี ไม่มีหลักฐานชัดเจนในเรื่องนี้ นอกจาก “ตำนานวัด” ที่เล่าสืบกันมา จึงต้องอนุโลมไปตามนั้นก่อนจะมีหลักฐานใหม่ๆ เกิดขึ้นในอนาคต

แต่ที่แน่ๆ เป็นไปได้อย่างยิ่งว่า บริเวณลานโล่งข้างพระอุโบสถเก่าหรือบริเวณที่ตั้งของพระอุโบสถใหม่ในปัจจุบัน เหมาะสมอย่างยิ่งที่จะเป็นสถานที่ “ฌาปนกิจ” พระบรมศพพระเจ้าตาก เช่นเดียวกับงานพระศพอื่นๆ ในสมัยกรุงธนบุรี

“ขุดหีบศพ” ขึ้นมาเผา เฉลิมพระเกียรติ หรือทอนพระเกียรติ?

การประหารชีวิตพระเจ้าตากนั้นต่างจากการสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์ ตามโบราณราชประเพณีอยู่หลายอย่าง คือพระมหากษัตริย์และเจ้านายสมัยกรุงศรีอยุธยาเมื่อเวลาถูกสำเร็จโทษนั้นส่วนมากยังดำรงพระอิสริยยศอยู่ ไม่ได้ถูกถอดเป็นไพร่ก่อนการสำเร็จโทษอย่างที่นิยมกันในสมัยรัตนโกสินทร์

นอกจากนี้การสำเร็จโทษถือเป็นโบราณราชประเพณีที่พระมหากษัตริย์ “พระราชทาน” ความตายให้กับเจ้านายเชื้อพระวงศ์ จึงเป็นการ “ประหาร” ที่ยังทรงไว้ซึ่งพระเกียรติยศ และมีแบบแผนการปฏิบัติอย่างละเอียดชัดเจนและเคร่งครัด ตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายตราสามดวง

พระเจดีย์คู่หน้าพระอุโบสถเก่า วัดอินทาราม เชื่อว่าองค์ด้านซ้ายในภาพบรรจุพระบรมอัฐิสมเด็จพระเจ้าตากสิน ส่วนองค์ด้านขวาบรรจุพระบรมอัฐิพระอัครมเหสี

ตรงกันข้ามกับการประหารนักโทษสามัญอย่างสิ้นเชิง ที่ต้องลดเกียรติเป็น “อ้ายอี” และประจานอย่างสาสม เพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างต่อไป

แต่พระเจ้าตากนั้นทรงถูกประหารในขณะที่ “หมดสภาพ” จากความเป็นพระมหากษัตริย์ไปก่อนแล้ว คือทรงออกผนวชเมื่อคราวพระยาสรรค์ยึดเมือง ซึ่งถือเป็นจุดสิ้นสุดความเป็นกษัตริย์นับแต่ทรงครองผ้าเหลือง และพงศาวดารก็นับเอาเวลานั้นเป็นจุดสิ้นสุดรัชสมัยกรุงธนบุรี ไม่ได้ถือเอาวันสวรรคตเป็นจุดสิ้นสุดแผ่นดิน เหมือนอย่างพระมหากษัตริย์ที่ถูกถอดหรือสวรรคตในบัลลังก์

บรรยากาศภายในพระวิหารสมเด็จพระเจ้าตากสิน วัดอินทาราม

ครั้นเมื่อเวลาที่พระยาสุริยอภัยยกกองทัพมาถึงกรุงธนบุรี ก็เจรจาความเมืองกับพระยาสรรค์ และสั่งให้สึกพระเจ้าตากออกจากความเป็นพระ “แล้วพันธนาการไว้ด้วยเครื่องสังขลิกพันธ์” [6] อันเป็นเครื่องจองจำของนักโทษสามัญ

ฐานะของพระเจ้าตากในวาระสุดท้าย จึงไม่ต่างจากนักโทษสามัญนัก ดังนั้นจึงมีการใช้คำว่า “ประหารชีวิต” คำว่า “ตัดศีรษะ” คำว่า “ถึงแก่พิราลัย” (ซึ่งใช้กับเจ้าประเทศราชหรือสมเด็จเจ้าพระยา) คำว่า “เอาศพไปฝัง” คำว่า “ขุดหีบศพ” คำว่า “ฌาปนกิจ” [7] และคำว่า “บังสุกุล” [8] จึงเป็นเครื่องสะท้อนฐานะของพระเจ้าตาก “ในพระราชพงศาวดาร” สมัยรัตนโกสินทร์ได้เป็นอย่างดีอยู่แล้ว

ดังนั้นจึงไม่แปลกอะไรที่ “งานศพ” พระเจ้าตากจะเป็นไปแบบ “สังเขป” คือขุดขึ้นมาเผาอย่างสามัญ
“ให้ขุดหีบศพเจ้าตาก ขึ้นมาตั้งไว้ ณ เมรุวัดบางยี่เรือใต้” พูดให้ง่ายคือน่าจะขุดขึ้นมาเผาทั้งโลงบนเชิงตะกอน ไม่มีการพระราชทานพระโกศอย่างศพเจ้า

เป็นไปได้หรือไม่ว่า พระเจ้าตากอาจจะเป็นพระบรมศพแรกในแผ่นดินใหม่ จึงเตรียมการไม่ทัน?

ซึ่งก็อาจจะเป็นจริงเช่นนั้นได้เหมือนกัน เพราะยังไม่แน่ชัดว่างาน “ฌาปนกิจ” พระเจ้าตาก จัดขึ้นในเดือนใดของปีมะโรง

เนื่องจากในปีมะโรงนั้น มีพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ สิ้นพระชนม์อยู่ 2 พระองค์ คือ พระองค์เจ้าหญิง (ยังไม่มีพระนาม) และพระองค์เจ้าหญิงผอบ แต่จะถวายพระเพลิงเมื่อใด ไม่มีหลักฐานเช่นกัน

อย่างไรก็ดี การสร้างพระโกศนั้นมีอยู่แล้วในสมัยกรุงธนบุรี อย่างน้อยก็ในงานพระราชทานเพลิงสมเด็จฯ กรมพระเทพามาตย์ “จึงเชิญพระโกศพระบรมศพสมเด็จพระพันปีหลวง กรมพระเทพามาตย์ ใส่เรือพระที่นั่งกิ่ง” [9] จึงไม่น่าจะมีปัญหาใด ถ้าหากจะอัญเชิญพระบรมศพพระเจ้าตากลงในพระโกศ

พระโกศองค์นี้เองที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ใช้ “เทิดพระเกียรติ” พระเจ้าตาก และพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ คือทรงอ้าง “ตำนาน” ว่า พระบรมศพพระเจ้าตากนั้น “ใส่พระโกศ” ไม่ได้เผาทั้งโลง

“ซึ่งมีเค้าเงื่อนในทางตำนาน ว่าพระเจ้ากรุงธนบุรีสร้างสำหรับพระศพกรมพระเทพามาตย์ราชชนนี แล้วได้ทรงพระศพพระเจ้ากรุงธนบุรี ต่อมาเมื่อมีโกศอื่นขึ้นแล้วปรากฏว่าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานลองโกศโถใบนั้น ไปประกอบโกศศพเจ้าพระยานครน้อย โดยมีนัยว่าเป็นราชบุตรของพระเจ้ากรุงธนบุรี” [10]

เห็นได้ชัดว่า “ตำนาน” นี้ ขัดแย้งกับพระราชพงศาวดารทุกฉบับ ซึ่งกล่าวไว้ตรงกันว่าให้ “ขุดหีบศพ” ขึ้นตั้งไว้ ณ เมรุวัดบางยี่เรือใต้

ดังนั้นจะเป็นเพราะพระเจ้าตากทรงเป็น “ลูกครึ่ง” ตั้งแต่ก่อนครองราชย์ หรือสถานภาพก่อนถูกประหาร ที่เทียบเท่าเพียงนักโทษสามัญ หรือจะเป็นเพราะ “เรื่องเก่า” ระหว่างพระเจ้าตากกับเจ้าพระยาจักรี อย่างไรไม่เป็นที่แน่ชัด การ “ฌาปนกิจ” พระเจ้าตากจึงเป็นไปอย่าง “ศพสามัญ” ไม่มีการส่งเสด็จสู่ “สวรรคาลัย” ด้วยพระเมรุมาศอันวิจิตรพิสดารแต่อย่างใด

พระบรมรูปสมเด็จพระเจ้าตากสินหน้าพระอุโบสถหลังใหม่ วัดอินทาราม ธนบุรี

ไม่ขุด ไม่เผา ผิดหรือไม่?

พระมหากษัตริย์และเจ้านายจำนวนมากในสมัยกรุงศรีอยุธยา เมื่อถูกสำเร็จโทษก็จะขุดหลุมฝังพระศพไว้บริเวณนั้น โดยไม่ปรากฏในพระราชพงศาวดารเลยว่ามีการขุดพระศพขึ้นมาทำการพระราชกุศลถวายพระเพลิงหลังจากนั้น

เท่าที่มีหลักฐานในพระราชพงศาวดาร มีพระมหากษัตริย์กรุงศรีอยุธยาถูกสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์ 9 พระองค์ เจ้านายชั้นสูงอีกสิบกว่าพระองค์ เชื่อว่าทั้งหมดยังคงถูกฝังอยู่ที่ “โคกพระยา” จนถึงทุกวันนี้ โดยไม่ถือเป็นความ “ไม่เคารพ” หรือผิดจารีตประเพณี ของพระมหากษัตริย์ที่ครองราชสมบัติสืบต่อจากพระองค์ที่สวรรคตแต่อย่างใด

ดังนั้นจึงไม่ “แปลก” อะไร ถ้าหากพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ จะทรง “ปล่อยทิ้งไว้” เช่นเดียวกับสมัยกรุงศรีอยุธยา

การ “ขุดหีบศพ” ขึ้นมา “ฌาปนกิจ” ต่างหาก จึงนับเป็นเรื่อง “แปลก” ที่น่าสนใจ ว่าทรงทำเพราะเหตุใด?

น่าเสียดายที่พระราชพงศาวดารไม่ได้ชี้แจงเหตุผลในพระราชดำริครั้งนี้

ต่างจากเหตุการณ์เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ ทรงพระพิโรธ “วังหน้า” กรมพระราชวังบวรฯ ถึงขั้นจะ “ไม่เผาผี” กัน เพราะกรณีหม่อมลำดวล หม่อมอินทปัต “คิดการแผ่นดิน” คราวนั้นจึงมีพระราชดำรัสว่า “กรมพระราชวังบวรฯ รักลูกยิ่งกว่าแผ่นดิน ให้สติปัญญาให้ลูกกำเริบจนถึงคิดประทุษร้ายต่อแผ่นดิน เพราะผู้ใหญ่ไม่ดีจะไม่เผาผีแล้ว” [11]

พระบวรราชานุสาวรีย์สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท กรมพระราชวังบวรฯ ในรัชกาลที่ ๑ ณ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ กรุงเทพฯ

คล้ายกับกรณีสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ทรงพระพิโรธสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ เพราะการ “แหกโผ” แต่งตั้งรัชทายาท ไม่ถูกใจสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เหตุการณ์นั้นก็จะ “ไม่เผาผี” เช่นเดียวกัน

ไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งทางการเมือง หรือเรื่องอื่นๆ จนถึงขั้น “ไม่เผาผี” กันนี้ ก็น่าจะอยู่ในข่ายของการ “ไม่เผาผี” พระเจ้าแผ่นดินและเจ้านายที่ถูกสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์ ซึ่งถูกฝังไว้ที่ “โคกพระยา” เช่นเดียวกัน

เหตุการณ์เช่นนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะ “เจ้า” เท่านั้น “ไพร่” ก็ถืออาการ “ผีไม่เผาเงาไม่เหยียบ” นี้ เป็นการประกาศความโกรธเคือง “ไม่อโหสิ” กันทั้งในชาตินี้และชาติหน้า

ดังนั้นการที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ มีพระราชดำรัสให้ “ขุดหีบศพ” พระเจ้าตากขึ้นมา “ฌาปนกิจ” นั้น แสดงว่าทรงคลายพระพิโรธแล้วหรืออย่างไร?

ย้อนกลับไปดูอาการพระพิโรธของ “เจ้าพระยาจักรี” เมื่อคราวพิพากษาโทษพระเจ้าตากก่อนจะอนุญาตให้นำไปประหาร ดังนี้

“ตัวเป็นเจ้าแผ่นดินใช้เราไปกระทำการสงครามได้ความลำบากกินเหื่อต่างน้ำ เราก็อุตสาหะกระทำศึกมิได้อาลัยแก่ชีวิต คิดแต่จะทำนุบำรุงแผ่นดินให้สิ้นเสี้ยนหนาม จะให้สมณพราหมณาจารย์และไพร่ฟ้าประชากรอยู่เย็นเป็นสุขสิ้นด้วยกัน

ก็เหตุไฉนอยู่ภายหลังตัวจึงเอาบุตรภรรยาเรามาจองจำทำโทษ แล้วโบยตีพระภิกษุสงฆ์ และลงโทษแก่ข้าราชการและอาณาประชาราษฎร เร่งเอาทรัพย์สินโดยพลการด้วยหาความผิดมิได้ กระทำให้แผ่นดินเดือดร้อนทุกเส้นหญ้า ทั้งพระพุทธศาสนาก็เสื่อมทรุดเศร้าหมองดุจเมืองมิจฉาทิฐิฉะนี้” [12]

ครั้นเมื่อเพชฌฆาต “ลากตัวเอาขึ้นแคร่หามไปกับทั้งสังขลิก” พระเจ้าตากทรงคิดจะขอเจรจา แต่เจ้าพระยาจักรี “โบกพระหัตถ์มิให้นำมาเฝ้า”

เวลานั้นอาจจะเพิ่งเสร็จจากการปฏิวัติ มีเหตุชุลมุนวุ่นวาย เจ้าพระยาจักรีจึงอาจจะอยู่ในอารมณ์ “เดือด” อยู่ก็เป็นได้

แต่เมื่อเวลาผ่านมา 2 ปี เหตุการณ์ต่างๆ น่าจะทุเลาแล้ว แต่ครั้นถึงการ “ฌาปนกิจ” เมื่อมีคนอาลัยชวนกันร่ำไห้ กลับกลายเป็นว่า “ทรงพระพิโรธดำรัสให้ลงพระราชอาญาโบยหลังทั้งสิ้น”

ดังนั้นการที่ยังไม่ทรงคลายพระพิโรธ ก็ยังมีทางเลือกที่จะ “ปล่อยไว้เฉยๆ” อย่างเช่นสมัยกรุงศรีอยุธยาก็ได้ แต่อยู่ๆ กลับทรงเลือกที่จะทำอย่าง “สังเขป” โดยไม่มีพิธีรีตอง เมื่อเวลาผ่านไปแล้วถึง 2 ปี

เพราะเหตุใด?

2 ปี รออะไร?

เวลาผ่านไป 2 ปีหลังผลัดแผ่นดิน การบ้านการเมืองในสมัยต้นรัชกาล เริ่มเข้าที่เข้าทางหมดแล้ว ศัตรูทางการเมืองถูกกำจัดจนสิ้น การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการสำเร็จลงด้วยดี ไม่น่าจะมี “แรงกระเพื่อม” หรือความกดดันทางการเมืองจากแผ่นดินก่อน

ดังนั้นแรงกดดันทางการเมืองจาก “อำนาจเก่า” จึงไม่น่าจะเป็นสาเหตุสำคัญในเรื่องนี้

อีกสมมุติฐานหนึ่งที่ไม่ควรจะตัดทิ้งไป แม้จะเป็นสมมุติฐานที่ค่อนข้าง “โรแมนติค” ก็ตาม แต่เรื่องบางเรื่องก็อาจเกิดขึ้นอย่างธรรมดาๆ ไม่ได้มีความซับซ้อนอะไร

คือเวลาที่มีการ “ฌาปนกิจ” พระเจ้าตาก นั้น “เจ้าฟ้าเหม็น” พระราชโอรสของพระเจ้าตากกับเจ้าจอมมารดาฉิมใหญ่ (พระราชธิดาของรัชกาลที่ 1) ซึ่งเป็นหลานโปรดของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ มีพระชนมายุ 5 พรรษาแล้ว พอจะซอกแซกถามถึงพระราชบิดาของพระองค์ได้แล้ว จึงอาจจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทรง “จำใจ” ต้อง “ขุดหีบศพ” ขึ้นมา “ฌาปนกิจ” โดยสังเขป

อย่างไรก็ดี ยังพอมีเบาะแสให้สืบสวนในทางอื่นอยู่บ้าง ซึ่งสามารถถอดรหัสได้จากพระราชกรณียกิจ ก่อนและหลัง กรณี “ขุดหีบศพ” นี้เอง

พระราชกรณียกิจในช่วงปีขาล จุลศักราช 1144 (พ.ศ. 2325) ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ หรือก่อน “ฌาปนกิจ” 2 ปี ตามลำดับพระราชพงศาวดาร พอสรุปได้ดังนี้

วันที่ 7 เมษายน หลังการปฏิวัติ 1 วัน ก็มีการ “ชำระบัญชี” กลุ่มคนที่เป็นปฏิปักษ์ทางการเมือง โดยเฉพาะเจ้านายและขุนนางที่หยิบดาบขึ้นต่อต้านการปฏิวัติ เช่น พระเจ้าหลานเธอ กรมขุนอนุรักษ์สงคราม พระเจ้าหลานเธอ กรมขุนรามภูเบศ กับขุนนางคนสำคัญอีกเกือบ 40 คน ถูกประหารทั้งหมด

วันรุ่งขึ้น มีการปูนบำเหน็จ “ข้าหลวงเดิม” รวมถึงผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการปฏิวัติ และเริ่มมีพระราชดำริให้ฐาปนา (ก่อสร้าง) พระราชวังแห่งใหม่ขึ้นทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา

ในเดือนเมษายนถึงต้นเดือนพฤษภาคม เป็นเรื่องของปฏิบัติการตามล่า พระเจ้าลูกเธอ กรมขุนอินทรพิทักษ์ กับพวก ซึ่งตีฝ่าวงล้อมกองทัพฝ่ายของเจ้าพระยาจักรีจากกรุงกัมพูชาหลบหนีเข้ามาอยู่แถวสระบุรี สุดท้ายโดยการนำทีมไล่ล่าของกรมพระราชวังบวรฯ ก็ได้ตัวและถูกประหารเช่นกัน เพราะพระเจ้าลูกเธอ กรมขุนอินทรพิทักษ์ ไม่เต็มใจอยู่ในแผ่นดินใหม่

ระหว่างนี้มีการประหาร “บรรดาที่มีความผิดขุ่นเคือง” กับกรมพระราชวังบวรฯ อีก 80 กว่าคน

วันที่ 5 พฤษภาคม มีพระราชพิธียกหลักเมือง วันรุ่งขึ้นมีพระราชพิธีตั้งวังใหม่

วันที่ 10 มิถุนายน มีพระราชพิธีปราบดาภิเษกโดยสังเขป

วันที่ 13 มิถุนายน จึงเสด็จข้ามฟากมาประทับ ณ พระราชวังใหม่ (ขณะนั้นยังไม่เสร็จสมบูรณ์)

ในช่วงเดือนกรกฎาคม มีการประดิษฐานพระราชวงศ์ ทรงสถาปนาเจ้านายฝ่ายหน้า ฝ่ายใน ทรงแต่งตั้งข้าราชการวังหลวง วังหน้า และพระภิกษุสงฆ์

สรุปว่าปีแรกของแผ่นดินกรุงรัตนโกสินทร์ มีพระราชกรณียกิจอยู่กับการจัดการศัตรูทางการเมือง การสถาปนาพระราชวงศ์ การแต่งตั้งขุนนาง พระสงฆ์ และการสถาปนาพระราชวังแห่งใหม่

ถัดมา ปีเถาะ จุลศักราช 1145 (พ.ศ. 2326) เหตุการณ์สำคัญในปีนี้ไม่เท่ากับปีแรก มีเพียงการตั้งพระนาม “เจ้าฟ้าเหม็น” ว่า เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ การปราบกบฏวังหน้า 2 คน คิดร้ายต่อกรมพระราชวังบวรฯ และโปรดให้พระยานครสวรรค์ไปตีไซ่ง่อน

“พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร” หรือ “พระแก้วมรกต” ขณะมิได้ประดับเครื่องทรง

อีกเหตุการณ์หนึ่งที่สำคัญในปีนี้คือ โปรดให้ก่อสร้างวัดพระแก้วขึ้นในพระบรมมหาราชวัง

เหตุการณ์ในช่วงปีที่ 2 ของแผ่นดินกรุงรัตนโกสินทร์ ดูจะ “เงียบๆ” เพราะทั้งการบ้าน และการเมือง ลงตัวไปหมดแล้วตั้งแต่ปีแรก

ต่อมาคือปีมะโรง จุลศักราช 1146 (พ.ศ. 2327) คือปีที่มีการ “ฌาปนกิจ” พระเจ้าตาก

ต้นปีมะโรงเป็นเรื่องค้างจากปีก่อน เนื่องจากพระยานครสวรรค์ แม้ว่าจะรบกับไซ่ง่อนจนมีชัยชนะ แต่ไปคืนอาวุธต่างๆ ที่ยึดได้ให้กับแม่ทัพญวน เป็นเหตุให้ถูกประหาร มาปีนี้จึงโปรดให้กรมหลวงเทพหริรักษ์ไปตีไซ่ง่อนแก้มืออีกครั้ง แต่กลับพ่ายแพ้กลับมา

หลังจากเหตุการณ์นี้ พระราชพงศาวดารจึงต่อด้วยการ “ฌาปนกิจ” พระเจ้าตาก จึงน่าจะเป็นเหตุการณ์ในช่วงต้นปี

ถ้าหากพิจารณามาถึงตรงนี้แล้ว ก็ยังไม่พบเงื่อนงำใดๆ ที่จะนำไปสู่การ “ฌาปนกิจ” ได้

“กุญแจ” ไขปริศนาของเรื่องนี้จึงอยู่ที่เหตุการณ์หลังจาก “ฌาปนกิจ” แล้ว เกิดอะไรขึ้นบ้างในกรุงรัตนโกสินทร์

นั่นคือเหตุผลที่แท้จริงของการ “รอ”

เผาอดีตทิ้งไป เริ่มต้นใหม่ เมืองฟ้าอมร

หลังจากการ “ฌาปนกิจ” พระบรมศพพระเจ้าตากตอนต้นปีมะโรงแล้ว ปลายปีเดียวกันนี้ก็มีการยกยอดพระมหาปราสาทในพระบรมมหาราชวัง

ถัดมาไม่กี่วันจึงมีการอัญเชิญพระแก้วมรกต “ทรงพระกรุณาให้อัญเชิญพระพุทธปฏิมากรแก้วมรกตจากโรงในวังเก่าฟากตะวันตก ลงเรือพระที่นั่งกิ่ง มีเรือแห่เป็นกระบวนข้ามฟากมาเข้าพระราชวัง” [13]

ปีรุ่งขึ้น ปีมะเส็ง จุลศักราช 1147 (พ.ศ. 2328) มีการก่อสร้างกำแพงเมือง ขุดคลองเมือง สร้างป้อม และพระราชทานชื่อป้อม ชื่อประตูเมือง ประตูพระราชวัง

ภาพเขียนพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระนครและพระบรมมหาราชวังขึ้นทางฟากตรงข้ามกับกรุงธนบุรี เขียนโดย อาจารย์พิชัย นิรันต์ ปัจจุบันภาพนี้อยู่ที่อาคารรัฐสภา

เมื่อการสร้างพระนครและพระราชวังใหม่เสร็จสมบูรณ์แล้ว จึงโปรดให้มีพระราชพิธีปราบดาภิเษกใหม่ เป็นอย่างสมบูรณ์ตามโบราณราชประเพณี

ต่อเนื่องกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษก โปรดให้มีงานฉลอง “สมโภชพระนคร” แล้วพระราชทานนามใหม่ว่า “กรุงเทพมหานครฯ” [14]

หลังจากที่จัดการ “เผาอดีต” ทิ้งไปอย่างสมบูรณ์เมื่อปีที่แล้ว ปีถัดมานี้จึงถือเป็นปีเริ่มต้นเมืองใหม่อย่างแท้จริง

ปิดท้าย

การ “ฌาปนกิจ” ให้เรื่องของพระเจ้าตากจบลง ในจังหวะและเวลาที่ “เมืองใหม่” เกิดขึ้นมาแทนที่อย่างงดงามอลังการ ดูไม่น่าจะเป็นเรื่องบังเอิญ

สิ่งที่เกิดขึ้นหลังการ “ฌาปนกิจ” ล้วนมีนัยยะเชื่อมโยงไปถึงการสลัด “อดีต” ทิ้งทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นการย้ายพระแก้วมรกต พระคู่บ้านคู่เมืองกรุงธนบุรี การสถาปนาพระราชวังใหม่ การสถาปนาพระนครใหม่ และพระราชพิธีปราบดาภิเษกใหม่อย่างสมบูรณ์ตามแบบโบราณราชประเพณี

ดังนั้นการรอเวลาถึง 2 ปี เพื่อให้ “อนาคต” พร้อมสมบูรณ์ จึงเป็นจังหวะเวลาที่เหมาะสมและมีเหตุผลยิ่ง ที่จะปิดฉาก “อดีต” ให้สนิท ไม่มีข้อครหา ไม่มีเสียงซุบซิบนินทา และไม่มี “สิ่งสำคัญ” ใดในแผ่นดินเก่า หลงเหลือติดค้างมาถึงแผ่นดินใหม่อีก

การปิดฉากอดีตครั้งนี้จึงเป็นสิ่งที่ต้องรอและต้องทำ

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เชิงอรรถ :

[1] พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 2 ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ ฉบับตัวเขียน, (กรุงเทพฯ : อมรินทร์วิชาการ, 2539), น. 49.

[2] พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 ของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงตรวจชำระและทรงพระนิพนธ์อธิบาย, พิมพ์ครั้งที่ 6. (กรุงเทพฯ : กองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, 2531), น. 26.

[3] พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา เล่ม 2, (กรุงเทพฯ : คลังวิทยา, 2516), น. 475.

[4] เรื่องเดียวกัน, น. 451.

[5] กรมหลวงนรินทรเทวี. จดหมายความทรงจำของพระเจ้าไปยิกาเธอ กรมหลวงนรินทรเทวี (เจ้าครอกวัดโพ) ตั้งแต่ จ.ศ. 1129-1182. (กรุงเทพฯ : ต้นฉบับ, 2546), น. 139.

[6] พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา เล่ม 2, น. 447.

[7] คำว่า “ฌาปนกิจ” นี้ปรากฏอยู่เฉพาะฉบับสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ทรงชำระเท่านั้น

[8] ในงานพระบรมศพ หรือพระศพ จะใช้คำว่า “สดับปกรณ์” แทนคำว่า “บังสุกุล” อันเป็นคำสามัญ

[9] เรื่องเดียวกัน, น. 395.

[10] สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ และสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. สาส์นสมเด็จ เล่ม 21. (กรุงเทพฯ : คุรุสภา, 2514), น. 127.

[11] พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ ฉบับตัวเขียน, น. 186.

[12] พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา เล่ม 2, น. 451.

[13] พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา เล่ม 2, น. 477.

[14] พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ ฉบับตัวเขียน, น. 62.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 12 มกราคม 2560