“ไล่จับหนู” เป็นเหตุ พระเจ้าตาก สั่งประหารเจ้าจอมสุดโหด ผ่าอก-ทาเกลือ-ตัดมือเท้า

จิตรกรรม ฝาผนัง วัดสุทัศน์ ผู้หญิง นางใน
ภาพประกอบเนื้อหา - จิตรกรรมฝาผนัง วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร

ในสมัยกรุงธนบุรี ยุค พระเจ้าตาก เกิดเหตุการณ์ประหาร “เจ้าจอม” สุดสยอง ถึงขั้น “ผ่าอกเอาเกลือทา ตัดมือตัดเท้า” ที่มีต้นเหตุมาจากฝรั่ง “ไล่จับหนู” จนนำไปสู่การลอบเป็นชู้กับหม่อมห้ามนางในของพระเจ้าตาก

“เจ้าจอม” ที่ว่านี้มีชื่อว่า หม่อมฉิม และหม่อมอุบล เดิมเป็นเจ้าหญิงในพระราชวงศ์สมัยอยุธยา ก่อนที่จะมาถวายตัวรับใช้พระเจ้าตากเมื่อตั้งราชธานีใหม่แล้ว เจ้าจอมทั้งสองเป็นที่โปรดปรานมาก ถึงขนาดที่ “ประทมอยู่คนละข้าง” คือนอนหลับประกบข้างซ้ายและขวาของพระเจ้าตากเลยทีเดียว

เมื่อเป็นคนโปรด ย่อมต้องถูกริษยาจากบรรดา “เจ้าจอม” ด้วยกันเองอย่างไม่ต้องสงสัย ครั้นอยากจะใส่ความว่าร้าย แต่หาก “ไม่มีมูลฝอยหมาไม่ขี้” จะทำได้อย่างไร 

กระทั่งวันหนึ่ง หนูเจ้ากรรมดันมากัดมุ้งที่พระแท่นบรรทม ดังที่มีในบันทึกของกรมหลวงนรินทรเทวีว่า “วิบัติหนูกัดพระวิสูตร์ รับสั่งให้ชิตภูบาลชาญภูเบศ ฝรั่งคนโปรดทั้งคู่ให้เข้ามาไล่จับหนูใต้ที่เสวยในที่ด้วย” เรื่องราวความวุ่นวายจึงเกิดขึ้น

พระเจ้าตากจึงรับสั่งให้ “ฝรั่ง” สองคนคือ ชิตภูบาล และชาญภูเบศ ให้เข้ามา “ไล่จับหนู” (รัชกาลที่ 5 ทรงสันนิษฐานว่า ฝรั่งทั้งสองคนอาจเป็นนายเวรมหาดเล็ก เป็นพวกโปรตุเกสอย่างพวกกุฎีจีน) แต่เรื่องราวที่บันทึกต่อจากนั้นไว้ไม่ได้เล่ารายละเอียดไว้ว่า ระหว่าง “ไล่จับหนู” เกิดไล่จับอย่างอื่นด้วยหรือไม่อย่างไร ในบันทึกตัดภาพไปที่ “เจ้าประทุมทูลว่าฝรั่งเปนชู้กับหม่อมฉิมหม่อมอุบล กับคนรำสี่คนเปนหกคนด้วยกัน”

หม่อมประทุมกราบทูลฟ้องต่อพระเจ้าตากว่า หม่อมฉิม หม่อมอุบล และนางรำอีกสี่คน รวมเป็นหกคนเป็นชู้กับฝรั่งคนโปรดทั้งสอง พระเจ้าตากไต่สวน หม่อมอุบลให้การปฏิเสธ แต่หม่อมฉิมยอมรับผิด โดยในบันทึกดังกล่าวเล่าว่า “รับสั่งถามหม่อมอุบลไม่รับ หม่อมฉิมว่ายังจะอยู่เปนมเหษีคี่ซ้อนฤๅมาตายตามเจ้าพ่อเถิด รับเปนสัตย์หมด ให้เฆี่ยนเอาน้ำเกลือรดทำประจานด้วย แสนสาหัสประหารชีวิตร์ผ่าอกเอาเกลือทา ตัดมือตัดเท้าสำเร็จโทษ”

พระเจ้าตากสินทรงน่าจะคั่งแค้นพระราชหฤทัยเป็นอันมาก เพราะเจ้าจอมคนโปรดกลับทำเรื่องผิดลับหลังพระองค์เช่นนี้ จึงรับสั่งให้เฆี่ยน แล้วเอาน้ำเกลือราดแผลให้เจ็บปวดอย่างแสนสาหัส ก่อนจะประหารชีวิต ด้วยการผ่าอกเอาเกลือทา ตัดมือ ตัดเท้า

เหตุการณ์นี้อาจจะเกิดขึ้นจากความริษยาหึงหวงของหม่อมประทุม สร้างเรื่องใส่ความกำจัดเจ้าจอมคนโปรดไปให้พ้นทางเสีย การที่หม่อมทั้งสองยอมรับผิดอาจเพราะถูกไต่สวนตามวิธีปฏิบัติแบบโบราณที่มีการทรมานผู้ต้องหา เมื่อทนไม่ได้แล้วก็อาจ “รับเปนสัตย์” หรือไม่การที่ฝรั่งลอบเป็นชู้นี้ก็อาจจะเกิดขึ้นจริงก็ได้ แต่จะจริงมากจริงน้อยขนาดไหนนั้นก็ไม่อาจทราบได้ แต่การที่ฝรั่งมา “ไล่จับหนู” น่าจะ “ชี้โพรงให้กระรอก” ได้ดีเลยทีเดียว

รัชกาลที่ 5 ทรงวิเคราะห์ถึงประเด็นนี้ว่า “ทำนองเปนความสงไสยว่าเจ้าประทุมหึงเจ้าอุบล แกล้งทูลใส่ความ แต่ที่แท้ก็อาจจะเปนจริงได้ เจ้าอุบลคนนี้เคยตกเปนเมียนายแก่นพวกหลวงแพ่งครั้งหนึ่งแล้ว เจ้าฉิมก็คงซัดเซคเนจรมาแล้วเหมือนกัน อาจจะทำผิดได้” 

รัชกาลที่ 5 ทรงอธิบายเพิ่มว่า หม่อมฉิมเคยได้เสียตกเป็นเมียของคนอื่นมาก่อน ชะรอยหม่อมอุบลก็อาจจะไม่ต่างจากหม่อมฉิม คือเป็นพวก “ซัดเซคเนจร” หาใช่หญิงสาวบริสุทธิ์ผุดผ่อง กระนั้น รัชกาลที่ 5 ทรงวิเคราะห์ไว้อีกว่า หม่อมอุบลน่าจะเป็นคนที่ไม่ค่อยเหี้ยมหาญ แต่หม่อมฉิมนั้นเห็นจะเป็นคนที่มีโวหาร กล้าพูด หม่อมฉิมจึงกล้ายอมรับว่าทำผิด แล้วหม่อมอุบลจึงได้พลอยรับผิดตาม ถูกพระราชอาญาประหารชีวิต

เรื่องราวในเหตุการณ์นี้ นำมาสู่อาการ “พระสติฟั่นเฟือน” ของพระเจ้าตาก ทรงอาลัยถึงหม่อมอุบล ตรัสว่าจะตายตามนางไปเลยทีเดียว แต่ได้ท้าวทรงกันดาล (ทองมอญ) นิมนต์พระมาถวายพระพรขอชีวิตไว้ เรื่องจึงได้ยุติ

“พระสติฟั่นเฟือน” หมายถึง พระเจ้าตาก “บ้า” อย่างนั้นหรือ? ประวัติศาสตร์กล่าวถึงพระอาการนี้อย่างไร ติดตามรับชมได้ใน PODCAST X สมฤทธิ์ ลือชัย EP.1 ไขปริศนา พระเจ้าตาก “บ้า” จริงหรือ

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง : 

พระราชวิจารณ์ จดหมายความทรงจำ ของ พระเจ้าไปยิกาเธอ กรมหลวงนรินทรเทวี (เจ้าครอกวัดโพ) ตั้งแต่ จ.ศ. 1129 ถึง 1182 เปนเวลา 53 ปี พิมพ์ครั้งแรก ร.ศ. 128 โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ

ปรามินทร์ เครือทอง. “ท้องกับเจ๊ก : การเมืองฝ่ายในของราชสำนักกรุงธนบุรี”. ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 36, ฉบับที่ 11 (ก.ย. 2558) : หน้า 86-97.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 8 สิงหาคม 2566