ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
เจ้าฟ้ากรมขุนสุเรนทรพิทักษ์ หรือเดิมคือ เจ้าฟ้านเรนทร เป็นพระราชโอรสพระองค์โตในสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ และทรงเป็นพระราชนัดดาในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ พระองค์ทรงรักหลานองค์นี้มาก ถึงขั้นที่ทรงพิโรธหนัก เมื่อ เจ้าฟ้ากุ้ง ซึ่งเป็นพระราชโอรสของพระองค์กระทำการอุกอาจ ลอบทำร้ายเจ้าฟ้านเรนทร จนเจ้าฟ้ากุ้งต้องลี้ภัยไปบวช ส่วนผู้สมรู้ร่วมคิดไม่รอด โดนประหารด้วยท่อนจันทน์
เจ้าฟ้านเรนทร ซึ่ง “อา” คือ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ สถาปนาขึ้นเป็นเจ้าฟ้ากรมขุนสุเรนทรพิทักษ์ ทรงอยู่ในร่มกาสาวพัสตร์โดยไม่ทรงเกี่ยวข้องใดๆ กับการเมือง แต่ก็มิวายถูกระแวง เนื่องจากความสัมพันธ์ระหว่างพระองค์กับสมเด็จพระปิตุลานั้นใกล้ชิดกันมาก เรียกว่าเป็น “หลานรัก” ก็ว่าได้ ถึงขั้นพระเจ้าแผ่นดินทรงแต่งตั้งให้ “ทรงกรม” แม้ทรงผนวชอยู่ จนเกิดข่าวลือสะพัดว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศจะยกราชสมบัติแก่เจ้าฟ้ากรมขุนสุเรนทรพิทักษ์
เรื่องนี้ทำให้ พระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ากรมขุนเสนาพิทักษ์ หรือ เจ้าฟ้าธรรมธิเบศไชยเชษฐ์สุริยวงศ์ หรืออีกพระนามคือ “เจ้าฟ้ากุ้ง” พระราชโอรสพระองค์โตในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ซึ่งดำรงพระอิสริยยศ กรมพระราชวังบวรสถานมงคล หรือ “วังหน้า” ที่โดยนัยคือว่าที่กษัตริย์พระองค์ต่อไป ไม่พอพระทัย ถึงขั้นให้พระองค์เจ้าอินทร์ และพระองค์เจ้าจันทร์ ไปลวงเจ้าฟ้ากรมขุนสุเรนทรพิทักษ์ให้เสด็จมายังพระราชวัง เพื่อเข้าเฝ้าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ซึ่งทรงพระประชวร
ขณะนั้นเป็นเวลาค่ำ เจ้าฟ้ากุ้งลอบดักทำร้ายด้วยการฟันพระแสงดาบไปถูกจีวรขาด แล้วก็ทรงหลบหนีไป
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศเห็นจีวรของเจ้าฟ้ากรมขุนสุเรนทรพิทักษ์ขาด ก็ตรัสถาม พระองค์จึงตอบว่า “กรมขุนเสนาพิทักษหล่อนหยอก” เรื่องนี้ทำให้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศทรงพิโรธหนัก ดำรัสให้ค้นหาตัวเจ้าฟ้ากุ้งแต่ไม่พบ พบแต่พระองค์เจ้าอินทร์ และพระองค์เจ้าจันทร์ ก็ทรงสั่งให้นำไปสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์
ด้านเจ้าฟ้ากุ้ง กรมหลวงอภัยนุชิตผู้เป็นพระราชมารดา ได้พาเข้าไปหลบในพระวอ แล้วไปยังวัดโคกแสง ให้เจ้าฟ้ากุ้งทรงผนวชที่วัดนั้น ไม่ให้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศลงพระราชอาญา
ทั้งหมดจึงไม่เกินเลยที่จะกล่าวว่า เจ้าฟ้ากรมขุนสุเรนทรพิทักษ์ คือ “หลานรัก” สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศอย่างแท้จริง
อ่านเพิ่มเติม :
- สมเด็จพระเจ้าท้ายสระ มีทายาทกี่พระองค์?
- พระราชโอรส “พระเจ้าท้ายสระ” ชวดบัลลังก์ เหตุ “พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ” มีกุนซือดี
- “เจ้าฟ้าพร” กลัวพระเจ้าท้ายสระระแวงว่าตนจะ “ชิงบัลลังก์” เพราะเหตุใด?
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 13 ธันวาคม 2566