“เจ้าฟ้าพร” กลัวพระเจ้าท้ายสระระแวงว่าตนจะ “ชิงบัลลังก์” เพราะเหตุใด?

สมเด็จพระเจ้าท้ายสระ เจ้าฟ้าพร ละคร พรหมลิขิต
สมเด็จพระเจ้าท้ายสระ และเจ้าฟ้าพร ในละครพรหมลิขิต (ภาพจาก: Facebook: Ch3Thailand)

เมื่อ เจ้าฟ้าเพชร พระราชโอรสในพระเจ้าเสือ เสด็จขึ้นครองราชย์เป็น สมเด็จพระเจ้าท้ายสระ ทรงแต่งตั้งพระอนุชาคือ เจ้าฟ้าพร ขึ้นดำรงพระอิสริยยศ กรมพระราชวังบวรสถานมงคล หรือ “วังหน้า” ว่าที่กษัตริย์องค์ต่อไป แต่ระหว่างที่เจ้าฟ้าพรทรงเป็นวังหน้า มีเหตุระทึกเกิดขึ้น ทำให้ทรงเกรงว่า สมเด็จพระเจ้าท้ายสระจะระแวงว่าตนคิด “ชิงบัลลังก์” เจ้าฟ้าพรจึงต้องขอพระราชทานอภัยโทษถึง 2 ครั้ง

พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา บรรยายเหตุการณ์นี้ไว้ว่า

Advertisement

“ในปีเถาะ เบญจศกนั้น พระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์เสด็จพระราชดำเนินไปประพาสโพนช้างป่าหัวเมืองนครนายกฝ่ายตะวันออก ในเพลาราตรีนั้นเดือนหงาย เสด็จไปไล่ช้างเถื่อน พระจันทร์เข้าเมฆ ช้างพระอนุชาธิราชขับแล่นตามไปทันช้างพระที่นั่งทรง

“ไม่ทันจะรอรั้ง ช้างพระที่นั่งกรมพระราชวังโถมแทงเอาช้างพระที่นั่ง ควาญท้ายช้างนั้นกระเด็นตกจากช้างนั้นลง ช้างทรงเจ็บป่วยมาก ก็ซวนเซแล่นไปในป่า สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินจึงขับช้างนั้นกลับมายังพลับพลาชัย

“พระมหาอุปราชไม่แกล้งจะให้ช้างแทง แต่หากรอรั้งช้างนั้นมิทันที ตกพระทัยกลัวพระราชอาชญา เสด็จตามไปเฝ้าที่พลับพลาชัย จึงกราบทูลพระกรุณาว่าข้าพระพุทธเจ้าไม่ได้แกล้ง แสงพระจันทร์เข้าเมฆมืดมัวเป็นเงาไม้เห็นไม่ถนัด จะรอรั้งช้างไว้มิทัน ได้ทรงพระกรุณาโปรดอดโทษข้าพระพุทธเจ้าเถิด พระเจ้าอยู่หัวนั้นไม่สงสัย ไม่ทรงพระพิโรธขุ่นเคืองแก่อนุชาธิราชเลย สั่งหมอให้รักษาช้างนั้นแล้วกลับมาพระนคร”

หลังจาก เจ้าฟ้าพร ขอพระราชทานอภัยโทษจากสมเด็จพระเจ้าท้ายสระครั้งนั้นแล้ว ต่อมาก็ทรงขอพระราชทานอภัยโทษในเรื่องเดียวกันอีกครั้ง

“ในปีเถาะเดือน ๔ ข้างขึ้นนั้น สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์เสด็จพระราชดำเนินไปทรงบำเพ็ญพระราชกุศล ณ พระพุทธบาทด้วยบริวารศักดิ์เป็นอันมากทั้งทางบกทางเรือเป็นพยุหบาตรยาตราตามอย่างแต่ก่อน

“ครั้นถึงพระพุทธบาทเสด็จอยู่ท่าเกษม ขึ้นนมัสการบูชาพระพุทธบาทกับด้วยพระอนุชาธิราช ๆ จึงกราบทูลพระกรุณาว่า ขอพระราชทานชีวิต เมื่อข้าพระพุทธเจ้าขึ้นช้างตามเสด็จไป และช้างนั้นแทงช้างทรงพระที่นั่งนั้น ข้าพระพุทธเจ้าจะได้มีเจตนาแกล้งจะให้ช้างแทงนั้นหามิได้ เป็นความสัตย์ความจริง

“ข้าพระพุทธเจ้าจะขอกระทำสัตย์สาบานถวายเฉพาะหน้าพระพุทธบาท ถวายแด่ล้นเกล้าล้นกระหม่อมบัดนี้ สมเด็จพระเชษฐาธิราชทรงพระกรุณาโปรดดำรัสว่า ฉันหามีความแคลงแก่เจ้าฟ้าไม่ เจ้าฟ้าอย่ากระทำสัตย์สาบานเลย เคราะห์ฉันร้ายเอง ตรัสแล้วบูชานมัสการพระพุทธบาท บำเพ็ญพระราชกุศลให้ทานเป็นอันมาก เล่นงานมหรสพสมโภช ๗ วัน บูชาพระพุทธบาทแล้ว ถวายนมัสการลาพระพุทธบาท กลับคืนมายังพระมหานคร”

การขอพระราชทานอภัยโทษถึง 2 ครั้ง ทั้งเจ้าฟ้าพรยังจะกระทำสัตย์สาบานต่อหน้าพระพุทธบาท สะท้อนว่า เหตุการณ์นี้อาจเป็นเรื่องที่เจ้าฟ้าพรทรงกังวลอย่างมากก็เป็นได้ และอีกประการอาจเพราะก่อนหน้านี้ พระสัสสุระ หรือ “พ่อตา” ของเจ้าฟ้าพร คือ พระองค์เจ้าดำ พระราชโอรสในสมเด็จพระเพทราชา “กระทำการหยาบช้า กระด้างกระเดื่อง ลลุมลล้าว เข้าไปในพระราชฐานตำแหน่งที่ห้ามเป็นหลายครั้ง มิได้เกรงกลัวพระราชอาชญา” สมเด็จพระเจ้าท้ายสระจึงให้นำตัวไปสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์

เมื่อช้างพระที่นั่งของเจ้าฟ้าพรแทงช้างพระที่นั่งของสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ เจ้าฟ้าพรจึงยิ่งไม่สบายพระทัย เกรงพระเจ้าแผ่นดินจะทรงระแวงว่า พระองค์จะคิด “ชิงบัลลังก์”

อย่างไรก็ตาม แม้เจ้าฟ้าพรจะเป็นวังหน้า แต่ท้ายสุดก็ไม่ได้เป็นหลักประกันว่าจะได้ครองราชบัลลังก์เสมอไป เพราะเมื่อถึงช่วงท้ายรัชกาล สมเด็จพระเจ้าท้ายสระกลับทรงมอบราชสมบัติแก่ เจ้าฟ้าอภัย พระราชโอรส ทำให้เจ้าฟ้าพรไม่พอพระทัย เกิดเป็นศึกชิงวังหลวงระหว่าง อา-หลาน

ท้ายสุดเจ้าฟ้าพรเป็นฝ่ายมีชัย เสด็จขึ้นครองราชย์เป็น สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ส่วนเจ้าฟ้าอภัยถูกสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์

หมายเหตุ : เนื้อหาที่ยกมาจากพระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา มีการจัดย่อหน้าใหม่ เพื่อความสะดวกในการอ่าน

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา. พระนคร: ศิวพร. พ.ศ. 2511.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 13 พฤศจิกายน 2566