16 พฤษภาคม 1918 “สหรัฐฯ” ผ่านกฎหมายหวัง “ปิดปาก” ผู้วิจารณ์รัฐ-ดูหมิ่นธงชาติ-ประณามกองทัพ

แฟ้มภาพการประท้วงด้วยการเผาธงชาติสหรัฐฯในเอลซัลวาดอร์ เมื่อปี 2006 AFP PHOTO / Yuri CORTEZ

สภาคองเกรสของสหรัฐฯได้ผ่านกฎหมายที่ชื่อว่า “Sedition Act of 1918” หรือกฎหมายว่าด้วยการยุยงปลุกปั่น เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 1918 เพื่อขยายขอบเขตของกฎหมาย “Espoinage Act of 1917” หรือกฎหมายว่าด้วยการจารกรรม โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อควบคุมสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนในช่วงที่สหรัฐฯ เตรียมเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1

กฎหมายทั้งสองฉบับคือเครื่องมือสำคัญของ อเล็กซานเดอร์ มิตเชลล์ พาล์เมอร์ (Alexander Mitchell Palmer) อัยการสูงสุดของสหรัฐฯ สำหรับใช้เล่นงานกลุ่มการเมืองหัวรุนแรง ฝ่ายต่อต้านรัฐบาล องค์กรฝ่ายซ้าย และคนต่างด้าว ด้วยเนื้อหาที่มีข้อห้ามกว้างขวาง ตั้งแต่ห้ามการเผยแพร่รายงานหรือถ้อยคำอันเป็นเท็จใดๆ ด้วยเจตนาเพื่อขัดขวางปฏิบัติการของกองทัพ หรือประกาศชัยชนะของศัตรู หรือการกล่าวข้อความใดๆ ต่อนักลงทุนอันจะมีผลร้ายต่อการตัดสินใจซื้อพันธบัตรของรัฐบาล รวมไปถึงการขัดขวาง หรือปลุกปั่นให้ผู้คนต่อต้านกองทัพ และการเกณฑ์ทหารในช่วงสงคราม และยังห้ามการแสดงออกไม่ว่าจะด้วยการพูด เขียน ตีพิมพ์ด้วยภาษาที่แสดงถึงความไม่ภักดี ไม่เคารพ หรือใช้ภาษาที่ดูหมิ่น หยาบคาย ต่อองค์กรของรัฐ หรือต่อธงชาติ หรือเครื่องแบบของกองทัพ หรือรัฐธรรมนูญ

ในวันที่ 2 มกราคม 1920 หน่วยงานของรัฐใน 33 เมืองทั่วประเทศได้กักตัวผู้คนไว้หลายพันคน หลายคนถูกคุมขังโดยไม่มีการแจ้งข้อหาเป็นระยะเวลายาวนาน โดยไม่สนหลักการ “สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน” ซึ่ง พาล์เมอร์อ้างว่า กระบวนการนี้คือวิธีการเดียวที่สามารถใช้รับมือกับพวก “บอลเชวิก” (คอมมิวนิสต์) ที่วางแผนล้มล้างรัฐบาลสหรัฐฯ ได้

อย่างไรก็ดี กฎหมาย Sedition Act ได้ถูกยกเลิกไปโดยสภาคองเกรสในปี 1921 ขณะที่กฎหมาย Espionage Act ส่วนสำคัญๆ ยังคงมีผลบังคับใช้จนถึงปัจจุบัน แม้ว่าอาชญกรรมตามลักษณะว่าด้วยการยุยงปลุกปั่นส่วนใหญ่จะถูกล้มล้างไปตามผลของคำพิพากษาในคดี Sullivan v. New York Times (1964) ว่าด้วยการวิจารณ์เจ้าหน้าที่รัฐของสื่อ ซึ่งศาลตัดสินว่าเป็นเสรีภาพที่ได้รับการคุ้มครองตามบทบัญญัติเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญครั้งที่ 1 (First Amendment) เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่า จำเลยมีเจตนาร้าย หรือด้วยความประมาทมิได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงตามสมควร

 


ข้อมูลจาก:

1. Senate Accepts Sedition Bill, New York Times

2. U.S. Congress passes Sedition Act, History (http://www.history.com/this-day-in-history/u-s-congress-passes-sedition-act)

3. A. Mitchell Palmer, Encyclopedia Britannica