เหตุใด “พระองค์เจ้าดำ” ถูกพระเจ้าท้ายสระสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์?

พระองค์เจ้าดำ พระราชโอรสสมเด็จพระเพทราชา ราชวงศ์บ้านพลูหลวง กรุงศรีอยุธยา ละคร พรหมลิขิต ช่อง 3
พระองค์เจ้าดำ พระราชโฮรสสมเด็จพระเพทราชา ในละครเรื่องพรหมลิขิต ช่อง 3 (ภาพจาก ช่อง 3)

ประวัติศาสตร์กรุงศรีอยุธยา การผลัดแผ่นดินหรือการปราบปราบผู้แข็งข้อ ไม่เชื่อฟัง มักเกิดการนองเลือดเสมอ เช่น “พระองค์เจ้าดำ” พระราชโอรส สมเด็จพระเพทราชา ที่ต่อมาถูก “สมเด็จพระเจ้าท้ายสระ” ผู้เป็นหลาน สั่งสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์ เหตุเพราะทรงประพฤติตนโดยไม่เกรงกลัวพระราชอาชญา ตามที่ พระราชพงศาวดาร ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน บันทึกไว้ว่า

“ขณะนั้นพระองค์จ้าวกอประด้วยทิฐิมาณะ กระทำการหยาบช้า กระด้างกระเดื่อง ลลาบลล้าวเข้าไปในพระราชถานตำแหน่งที่ห้ามเปนหลายครั้งมิได้เกรงกลัวพระราชอาชญา

จึ่งสมเดจ์พระเจ้าอยู่หัวก็มีพระราชดำหรัสปฤกษาด้วยสมเดจ์พระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวร ตรัสเหนว่าโทษพระองค์จ้าวดำนั้นผิดเปนมหันตโทษ จึ่งให้จับพระองค์จ้าวดำพันทนาไว้ แล้วให้เอาไปสำเหรจ์โทษเสียด้วยท่อนจันทณ์ เอาพระศภไปฝังเสีย ณะ วัดโคกพญา

แลพระองค์จ้าวแก้วซึ่งเปนบริจาพระองค์จ้าวดำนั้นเปนม่ายอยู่ จึ่งเสดจ์ไปทรงผนวดเปนพระรูปอยู่ ณะ พระตำหนัดวัดดุสิต กับด้วยสมเดจ์พระไอยกีกรมพระเทพามาศนั้น”

โดยหลังจากพระองค์เจ้าดำถูกประหารแล้วนั้น พระองค์เจ้าแก้ว ผู้เป็นพระชายาในพระองค์เจ้าดำจึงเสด็จไปผนวชเป็นพระรูปชี แล้วประทับที่พระตำหนักวัดดุสิต สถานที่ประทับเดียวกับ กรมพระเทพามาตย์ พระราชมารดาเลี้ยงของพระเจ้าเสือ

แม้ในพระราชพงศาวดารจะไม่ได้เอ่ยถึงบทบาทของพระองค์เจ้าดำมากไปกว่านี้ และพระองค์เองก็ไม่น่าจะสั่งสมกำลังเพื่อแข่งกับสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ แต่การฝ่าฝืนกฎในพระราชวังหลวง ก็น่าจะทำให้สมเด็จพระเจ้าท้ายสระผู้เป็นหลานขัดเคืองพระราชหฤทัยอยู่ไม่น้อย

พระองค์เจ้าดำจึงถูกประหารในที่สุด

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

พระราชพงศาวดาร ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน ตรวจสอบชำระจากเอกสารตัวเขียน. หน้า 293. จากเว็บไซต์ https://dl.parliament.go.th/handle/20.500.13072/522521


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 31 ตุลาคม 2566