“หลวงพ่อคูณ” กับ “วัตถุมงคล” สิ่งบำรุงศาสนา เครื่องกระตุ้นเตือนใจ หรือช่วยให้รอดปลอดภัย?

หลวงพ่อคูณ

“หลวงพ่อคูณ” กับ “วัตถุมงคล” สิ่งบำรุงศาสนา เครื่องกระตุ้นเตือนใจ หรือช่วยให้รอดปลอดภัย?

หลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ หรือพระเทพวิทยาคม “พระชาวบ้าน” พระนักพัฒนาแห่งวัดบ้านไร่ เกิดเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2466 มรณภาพเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2558 สิริอายุ 92 ปี 7 เดือน พรรษา 71

Advertisement

หลวงพ่อคูณมีชื่อสกุลทางโลกคือ คูณ ฉัตรพลกรัง ใน พ.ศ. 2487 เมื่อท่านอายุครบ 21 ปี ได้อุปสมบท ณ วัดถนนหักใหญ่ อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา ได้รับฉายาว่า ปริสุทฺโธ แปลว่า ผู้บริสุทธิ์

หลวงพ่อคูณอุทิศตนเพื่อพระศาสนา เพื่อชาวบ้าน เพื่อบ้านเมือง ท่านได้บริจาคทานจำนวนมากเพื่อสร้างสาธารณประโยชน์แก่ชาวบ้านในหลายพื้นที่ จนอาจกล่าวได้ว่าหลวงพ่อคูณเป็นพระนักพัฒนาอย่างแท้จริง โดยในทางหนึ่งท่านได้จัดสร้าง “วัตถุมงคล” เพื่อนำเงินมาทำนุบำรุงพระศาสนา ช่วยเหลือชาวบ้าน และพัฒนาชุมชน

หลวงพ่อคูณจัดสร้างวัตถุมงคลมาตั้งแต่บวชได้ 7 พรรษา เริ่มทำวัตถุมงคลตะกรุดโทน ตะกรุดทองคำฝังใต้ท้องแขน ที่วัดบ้านไร่ ราว พ.ศ. 2493 การปลุกเสกวัตถุมงคลของหลวงพ่อคูณ ใช้คาถาว่า “มะอะอุ นะมะพะธะ นะโม พุทธายะ พุทโธ ยานะ”

การปลุกเสกวัตถุมงคลนั้น หลวงพ่อคูณใช้เวลาปลุกเสกสั้นมาก ท่านเคยกล่าวว่า “เมื่อจะปลุกเสกวัตถุใดใจต้องเป็นสมาธิ เมื่อใจมีสมาธิปลุกเสกสิ่งใดก็ขลัง” และไม่มีพิธีอะไรมากมายให้ยุ่งยาก เพียงแค่เอาวัตถุมงคลที่สร้างมาเรียบร้อยแล้วมากอง ๆ เอาสายสิญจน์วงให้รอบ แล้วท่านจะนั่งยอง ๆ นับลูกประคำท่องคาถาก็เป็นอันจบพิธี

วัตถุมงคลของหลวงพ่อคูณที่เป็นที่นิยมมากคือเหรียญหลวงพ่อคูณรุ่นแรก สร้างขึ้นใน พ.ศ. 2512 นับเป็นจุดเริ่มต้นที่กระจายความศรัทธาไปทั่วประเทศ จนมีการสร้างวัตถุมงคลหลายรูปแบบหลายรุ่นตามมามากมาย เมื่อวัตถุมงคลที่จัดสร้างมีมากขึ้น ทั้งรุ่นและปริมาณ ทำให้วัตถุมงคลของหลวงพ่อคูณลดความนิยมลงในช่วง 10 ปีให้หลัง แต่ถึงราว พ.ศ. 2532 วัตถุมงคลบางรุ่นมีปริมาณจำกัด ทำให้เกิดความตื่นตัวสะสมขึ้นมาอีกครั้ง

นอกจากเหรียญหลวงพ่อคูณแล้ว ยังมีวัตถุมงคลประเภทอื่นอีก เช่น ผ้ายันต์, ผ้ายันต์ชายธง, โปสเตอร์ภาพเหมือน, ตะกรุด, พระปิดตา, ผ้ารองเท้าปลุกเสก, ล็อกเกต, ลูกประคำ, เขี้ยวเสือ ฯลฯ

ราว พ.ศ. 2536 แรงศรัทธาที่ชาวบ้านมีต่อหลวงพ่อคูณเพิ่มขึ้นและขยายออกไปทั่วประเทศ สืบเนื่องจากเหตุการณ์ไฟไหม้โรงงานตุ๊กตาที่จังหวัดนครปฐม และเหตุการณ์โรงแรมรอยัลพลาซ่าถล่มที่จังหวัดนครราชสีมา

ผู้รอดชีวิตจากทั้งสองเหตุการณ์มีวัตถุมงคลของหลวงพ่อคูณ และอ้างว่าที่รอดชีวิตมาได้เพราะหลวงพ่อคูณช่วยเหลือ

นางไพรัตน์ ผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์ไฟไหม้โรงงานตุ๊กตาเล่าว่า ได้ตัดสินใจกระโดดออกจากหน้าต่างจากชั้น 3 ลงมาที่พื้นโดยไม่ได้รับอันตราย ขณะกำเหรียญหลวงพ่อคูณรุ่นสหกรณ์ไว้แน่น

ส่วนเหตุการณ์โรงแรมรอยัลพลาซ่าถล่ม หลวงพ่อคูณก็ได้อวยพรขอให้คนติดในตึกแคล้วคลาดปลอดภัย ผู้อยู่ในเหตุการณ์นี้คือ นายธงชัย ผู้ศรัทธาหลวงพ่อคูณมาก เขาเล่าว่า ภรรยาติดอยู่ในตึก ตนจึงนึกถึงหลวงพ่อคูณให้ช่วยเหลือ ที่สุดภรรยาก็ปลอดภัย

หลวงพ่อคูณ พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ ปลุกเสกเหรียญ
หลวงพ่อคูณ และ พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ ขณะทำพิธีปลุกสกเหรียญ หลวงพ่อคูณ รุ่น ทวีคูณ ปี 2537 (เครดิตภาพ หนังสือพิมพ์ ข่าวสด)

นอกจากนี้ ใน พ.ศ. 2539 นายประเสริฐ ชาวจังหวัดสุพรรณบุรี ขับพาเพื่อนซ้อนจักรยานยนต์ไปประสบอุบัติเหตุรถกระบะเสียหลักพุ่งชน เพื่อนของเขาเสียชีวิต แต่ตนเองไม่เป็นอะไร เขาเชื่อว่ามีหลวงพ่อคูณช่วยเหลือ

“เหลือเชื่อมากเลยครับ พระหลวงพ่อคูณองค์นี้ผมห้อยติดคอมาตลอด ที่ผมรอดตายมานี้ ก็ด้วยบารมีของหลวงพ่อคูณจริง ๆ เลยครับ”

วัตถุมงคลของหลวงพ่อคูณจึงกลายเป็นที่ต้องการมากขึ้น เป็นช่องให้มีคนไม่หวังดี ทำวัตถุมงคลปลอมมาหลอกขายชาวบ้าน หลวงพ่อคูณถึงกับกล่าวว่า “มีคนเอาวัตถุบูชาของข้าไปหาประโยชน์กันมาก ทำปลอมกันเยอะ ต่อไปนี้ข้าจะไม่ทำออกมาอีกแล้ว”

อย่างไรก็ตาม หลวงพ่อคูณ มักมีเมตตาจิตอนุญาตให้วัดอื่น ๆ สร้างวัตถุมงคลของท่าน โดยมีท่านเป็นผู้ปลุกเสกเอง ทั้งนี้เพื่อหาเงินมาทำนุบำรุงพระศาสนา ดังเช่น ใน พ.ศ. 2536 วัดเกาะแก้วอรุณคาม จังหวัดสระบุรี จัดสร้างวัตถุมงคลของหลวงพ่อคูณรุ่น “เฮงคูณเฮง” หลายรูปแบบ ทั้ง เหรียญ, ล็อกเกต, รูปหล่อ, แผ่นดวง ฯลฯ เพื่อหาเงินสนับสนุนการสร้างอุโบสถ และที่วัดโคนอน เขตภาษีเจริญ กรุงเทพฯ ก็จัดสร้างวัตถุมงคลที่หลวงพ่อคูณปลุกเสก เพื่อนำเงินมาสร้างหอฉันของวัด

สำหรับผ้ายันต์ของหลวงพ่อคูณรุ่นแรกนั้น สร้างเมื่อ พ.ศ. 2520 เป็นผ้ายันต์ที่ระลึกในงานผูกพัทธสีมา วัดหนองบัวทุ่ง จังหวัดนครราชสีมา

เรื่องวัตถุมงคลนี้ หลวงพ่อคูณเคยให้สัมภาษณ์กับสุทธิชัย หยุ่น เมื่อ พ.ศ. 2538 ว่า

“กูว่าอย่างนี้ ที่เอาเหรียญไป เอาพระไปนั่น คือไม่ใช่ว่าจะไปอวดดีอวดเก่งอะไร เอาห้อยคอไปใส่ในกระเป๋ากางเกงไปกระตุ้นเตือนใจว่า เราจะไปทำสิ่งที่ชั่วช้าสารเลวอย่างหนึ่งอย่างใด ก็ให้นึกถึงคุณพระหรือว่าอายพระที่อยู่กับเรา ความหมายกูออกไปอย่างนี้ ไม่ใช่ว่า เอาไปยิ่งไม่ตาย ฟันไม่ตาย กูไม่เคยพูด… เชื่อหรือไม่เชื่อก็ไม่ว่า มันต้องการ มันอย่างได้ก็ให้มันไป กูจะได้เอาเงินมาพัฒนาประเทศชาติบ้านเมือง…”

และหลวงพ่อคูณยังเคยให้คำสอนไว้ด้วยว่า “วัตถุมงคลเหมือนเปลือกไม้ หากผ่านเปลือกไม้ไปได้ท่านก็จะถึงแก่น ซึ่งการฝ่าเปลือกไม้ไปได้ ท่านต้องรู้จักให้ทาน”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเมษายน 2539

หนังสือ คุณาลัย ปริสุทฺโธ อาลัยหลวงพ่อคูณผู้บริสุทธิ์ (สำนักพิมพ์มติชน, 2558)

หนังสือพิมพ์ข่าวสด วันอังคารที่ 25 กุมภาพันธ์ 2539

หนังสือพิมพ์ข่าวสด วันอังคารที่ 28 ธันวาคม 2536

หนังสือพิมพ์ข่าวสด วันพฤหัสบดีที่ 28 พฤศจิกายน 2536


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2564