ผู้เขียน | ศูนย์ข้อมูลมติชน (MIC) |
---|---|
เผยแพร่ |
16 พฤษภาคม 2558 เวลา 11.45 น. “พระเทพวิทยาคม” หรือ หลวงพ่อคูณ มรณภาพอย่างสงบ
หลวงพ่อคูณ เป็นพระสงฆ์ที่ได้รับความเคารพนับถืออย่างสูง จากปฏิปทา วัตรปฏิบัติ ความเมตตา และการให้ที่ยิ่งใหญ่มหาศาล
หลวงพ่อคูณเจ็บอาพาธด้วยโรคหัวใจตั้งแต่ พ.ศ. 2543 อันเป็นปีที่ท่านทำพินัยกรรมลงวันที่ 25 มิ.ย. 2543 ไว้ ซึ่งในปีเดียวกันนั้นแพทย์ผ่าตัดทำบายพาสหัวใจให้หลวงพ่อคูณจนอาการดีขึ้น
25 ต.ค. 2547 มีอาการอาพาธอีกครั้ง ด้วยอาการเลือดคั่งในสมอง ต้องนำตัวส่ง รพ. ศิริราช แพทย์ผ่าตัดสมองเพื่อนำลิ่มเลือดออกจนอาการปลอดภัย
26 เม.ย. 2552 อาพาธด้วยอาการติดเชื้อในกระแสเลือด ส่งผลให้มีอาการซึมเศร้า และต้องเข้ารักษาตัวที่ รพ. มหาราชนครราชสีมา จนกระทั่งอาการดีขึ้นและกลับวัดบ้านไร่ได้
1 พ.ค. 2552 สุขภาพของท่านอ่อนแอลงอย่างต่อเนื่อง
4 พ.ค. 2554 อาพาธด้วยวัณโรคปอด ต้องเข้ารักษาตัวที่ รพ. มหาราชนครราชสีมา นานถึง 4 เดือน
4 พ.ค. 2556 มีอาการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ และมีอาการแทรกซ้อน คือหลอดลมอักเสบ รวมทั้งเกิดภาวะเสมหะลงคอ ทำให้ปอดเกิดการอักเสบติดเชื้อ
คณะศิษย์ต้องนำตัวส่งรักษาที่ รพ. มหาราชนครราชสีมา จนอาการเริ่มดีขึ้นตามลำดับ ก่อนคณะแพทย์จะนิมนต์กลับวัดบ้านไร่ เมื่อวันที่ 19 ก.ค. 2556 เพื่อพักรักษาตัวอยู่ภายในห้องกระจกที่มีแพทย์และพยาบาลเฝ้าดูแลอาการอย่างใกล้ชิด โดยไม่อนุญาตให้ญาติโยมเข้าเยี่ยมเพื่อป้องกันการติดเชื้อ
ล่วงถึงวันที่ 15 พ.ค. 2558 เวลา 05.40 น. หลวงพ่อคูณในวัย 92 ปี อาพาธหนักอีกครั้ง ถึงขั้นหัวใจหยุดเต้น พยาบาลต้องเร่งปั๊มหัวใจจนชีพจรเริ่มตอบสนอง และรีบนำส่ง รพ. มหาราชนครราชสีมา
แพทย์นิมนต์เข้าเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ เพื่อสแกนสมองและให้ยากระตุ้นหัวใจ พร้อมใส่เครื่องช่วยหายใจด้วย แต่ก็ยังอยู่ในอาการโคม่าขั้นวิกฤตและไม่รู้สึกตัว
ท่ามกลางศิษยานุศิษย์ที่ทราบข่าวต่างแห่มาเฝ้าติดตามอาการอาพาธอย่างใกล้ชีวิต รพ. มหาราชนครราชสีมาออกแถลงการณ์ ฉบับที่ 1 เรื่องอาการอาพาธของหลวงพ่อคูณ ใจความว่า
“มอบหมายให้คณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในทุกสาขาทำการรักษา จากการประเมินพบว่า พระเทพวิทยาคม มีลมรั่วในปอดด้านซ้าย และมีเสมหะอุดกั้นทางเดินหายใจ ขณะนี้พักรักษาตัวอยู่ในหอผู้ป่วยวิกฤต (ไอซียู) คณะแพทย์และพยาบาลยังเฝ้าดูแลอย่างใกล้ชิด เนื่องจากสัญญาณชีพยังไม่คงที่ จึงขอความร่วมมือประชาชนงดเยี่ยมอาการอาพาธ”

นพ. พินิศจัย นาคพันธ์ แพทย์ประจำตัวหลวงพ่อคูณ ประเมินในเบื้องต้นว่า น่าจะเกิดจากภาวะปอดแตก เกิดขึ้นเนื่องจากมีปัญหาระบบปอดมาโดยตลอด ทั้งจากโรคถุงลมโป่งพองและวัณโรคปอด
ค่ำวันเดียวกัน รพ. มหาราชนครราชสีมาออกแถลงการณ์ ฉบับที่ 2 ระบุว่า “สัญญาณชีพยังไม่คงที่ ต้องใช้ยากระตุ้นหัวใจและเครื่องช่วยหายใจ มีเลือดออกในทางเดินอาหารจำนวนมาก มีภาวะไตหยุดทำงาน ไม่มีปัสสาวะออก ซึ่งความผิดปกติทั้งหมดนี้เป็นภาวะแทรกซ้อนจากปอดและหัวใจหยุดทำงานเป็นระยะเวลานาน”
เวลา 05.40 น. วันที่ 16 พ.ค. 2558 หลวงพ่อคูณหัวใจหยุดเต้นอีกครั้ง คณะแพทย์ต้องเร่งปั่มหัวใจและใช้วิธีช็อตไฟฟ้าที่หน้าอก
แถลงการณ์ ฉบับที่ 3 ระบุว่า “การเฝ้าตรวจติดตามอาการอาพาธมีภาวะแทรกซ้อนเพิ่มขึ้นจากการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ ทำให้เลือดออกในช่องทรวงอก ส่งผลให้ระบบการหายใจล้มเหลว ภาวะหัวใจหยุดเต้น คณะแพทย์ได้ช่วยฟื้นคืนชีพ สำหรับภาวะไตไม่ทำงาน ได้ให้การรักษาโดยการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม ขณะนี้อาการโดยรวมทรุดลง”
แม้คณะแพทย์จะพยายามช่วยรักษาอาการอาพาธและช่วยยื้อชีวิตให้หลวงพ่อคูณ แต่ท้ายที่สุดในเวลา 11.45 น. วันที่ 16 พ.ค. 2558 หลวงพ่อคูณก็ละสังขารอย่างสงบ
“วันนี้ 16 พฤษภาคม พ.ศ.2558 คณะแพทย์ผู้ทำการรักษารายงานว่า พระเทพวิทยาคมมีอาการโดยรวมทรุดลงได้มรณภาพลงแล้ว เมื่อเวลา 11.45 น. จึงประกาศมาเพื่อทราบ” เป็นแถลงการณ์ ฉบับที่ 4
นพ. พินิศจัย เปิดเผยว่า ความจริงแล้วหลวงพ่อคูณจากไปตั้งแต่อยู่ที่วัดบ้านไร่ เมื่อมีภาวะหยุดหายใจไปนานกว่า 1 ชม. แม้จะช่วยปั๊มชีพจรจนกลับคืนมาได้ 2 รอบ แต่อวัยวะทุกอย่างไม่ตอบสนองใด ๆ แล้ว ระบบการทำงานทุกอย่างในร่างกายล้มเหลว เมื่อสมองขาดออกซิเจนเกิน 10 นาที ทำให้ทุกอย่างหยุดทำงานทั้งหมด แต่แพทย์ก็พยายามยื้อชีวิตของหลวงพ่อให้นานที่สุด
แต่สุดท้ายต้องยอมรับสภาพ ถือว่าหลวงพ่อจากไปอย่างสงบ ท่านไม่ต้องทุกข์ทรมานใด ๆ อีกต่อไป

เปิดพินัยกรรม – ให้จัดพิธีเรียบง่าย
ทันทีที่บรรดาลูกศิษย์ที่เฝ้าอยู่หน้าหอพักผู้ป่วยหนักทราบข่าว ต่างร่ำไห้ด้วยความโศกเศร้าเสียใจ ขณะเดียวกัน สื่อมวลชนรายงานเนื้อหาในพินัยกรรมที่หลวงพ่อคูณเขียนไว้ ใจความว่า
“อาตมาหลวงพ่อคูณ อายุ 77 ปี ในขณะนั้น ถิ่นพำนัก วัดบ้านไร่ ต. กุดพิมาน อ. ด่านขุนทด จ. นครราชสีมา ลงวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2543 ขอทำพินัยกรรมกำหนดการ เผื่อถึงการมรณภาพเกี่ยวกับเรื่องการจัดงานศพของอาตมา ภายหลังที่อาตมาถึงแก่มรณภาพลง
1. ศพของอาตมา ให้มอบแก่มหาวิทยาลัยขอนแก่นภายใน 24 ชั่วโมง เพื่อให้มหาวิทยาลัยขอนแก่น มอบให้กับภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น นำไปศึกษาค้นคว้าตามวัตถุประสงค์ของภาคต่อไป
2. พิธีกรรมศาสนา การสวดอภิธรรมศพ ให้คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ทำพิธีสวดพระอภิธรรมศพ ที่คณะแพทยศาสตร์ 7 วัน
3. การจัดทำพิธีบำเพ็ญกุศล เมื่อสิ้นสุดการศึกษาค้นคว้าของภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นแล้ว ให้จัดงานแบบเรียบง่าย ละเว้นการพิธีสมโภชใด ๆ และห้ามขอพระราชทานเพลิงศพ โกศ และพระราชพิธีอื่น ๆ เป็นกรณีพิเศษเป็นการเฉพาะ โดยให้คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กระทำพิธีเช่นเดียวกับการจัดพิธีศพของอาจารย์ใหญ่นักศึกษาแพทย์ประจำปีร่วมกับอาจารย์ใหญ่ท่านอื่น แล้วเผา ณ เมรุบนสถานวัดหนองแวง พระอารามหลวง ต. ในเมือง อ. เมือง จ. ขอนแก่น หรือวัดอื่น
4. เมื่อดำเนินเสร็จสิ้นแล้ว อัฐิ เถ้าถ่าน และเศษอังคารทั้งหมด ให้คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น นำไปลอยที่แม่น้ำโขง จ.หนองคาย ตามที่เห็นสมควรและเหมาะสม”
นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) กล่าวว่า
“อดีตคณบดีคณะแพทยศาสตร์ของ มข. หลายท่านเคยเข้าไปกราบหลวงพ่อคูณ ผมก็เคยได้ไปกราบท่านและหลวงพ่อได้พูดเสมอว่า ‘อีกหน่อยกูก็ได้ไปอยู่กับมึงแล้ว’ ซึ่งแสดงถึงเจตจำนงอันแน่วแน่ของท่านที่ต้องการให้ร่างมาเป็นอาจารย์ใหญ่เพื่อประโยชน์สืบไป และท่านมักสั่งอย่างจริงจังเสมอว่าให้ทำตามพินัยกรรม ไม่อนุญาตแม้กระทั่งลูกศิษย์จะขอบางส่วนของร่างกายท่านไปไว้ที่วัดบ้านไร่ ส่วนพินัยกรรมมี 2 ฉบับ โดยฉบับแรกทำในปี 2536 และถูกยกเลิกไปโดยพินัยกรรมฉบับปี 2543”
หลวงพ่อคูณถือว่าเป็นพระเถระชั้นผู้ใหญ่ของจังหวัดนครราชสีมา มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวคือใช้ภาษาพูดสมัยโบราณ โดยมีคำว่า “มึง” และ “กู” เป็นคำติดปาก และมักจะชอบนั่งยอง ๆ จนกลายเป็นสัญลักษณ์ประจำตัว อีกทั้งยังเป็นพระนักเทศน์สอนประชาชนด้วยคำง่าย ๆ แต่ได้เนื้อหาธรรมะอันลึกซึ้ง
ด้วยวิถีวัตรที่เรียบง่ายและเป็นกันเอง ท่านจึงเป็นที่เคารพศรัทธาของลูกศิษย์และพุทธศาสนิกชนทั่วประเทศ ขณะเดียวกันท่านยังเป็นพระเกจิอาจารย์ที่สร้างวัตถุมงคลมากมาย ซึ่งล้วนมีพุทธคุณด้านเมตตา มหานิยม และแคล้วคลาด
จนวัตถุมงคลของท่านกลายเป็นที่นิยมของเซียนพระและนักสะสมทั่วประเทศ ด้วยความที่มีลูกศิษย์จำนวนมาก จึงมีผู้นำเงินมาบริจาคให้ท่านมากเช่นกัน ซึ่งเงินที่ท่านได้ก็จะนำไปสร้างสาธารณประโยชน์มากมายทั่วทั้งจังหวัดนครราชสีมา อาทิ โรงพยาบาล โรงเรียน มหาวิทยาลัย ถนน และมอบทุนการศึกษาให้ลูกหลานชาวโคราชอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังมอบเงินสร้างวัดโรงเรียน และมหาวิทยาลัยหลายแห่ง ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ

หลวงพ่อคูณยังเคยเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อทูลเกล้าฯ ถวายเงินกว่า 100 ล้านบาท เพื่อโดยเสด็จพระราชกุศลตามพระราชอัธยาศัย
“ถ้าผมมีเงินผมจะบริจาคเงินทำบุญให่หมด ผมจะส่างกุศลให้กับพระพุทธศาสนาจะสงเคราะห์สังคมส่วนรวมที่กระทำเพื่อคนยากคน เช่น ส่างโบสถ์ ส่างศาลา ส่างโรงเรียน โรงพยาบาล เป็นต้น ผมจะไม่เก๊บเงิน ไม่ติ๊ดตัวเลย”
คำอธิษฐานของหลวงพ่อคูณ ที่กล่าวไว้ใน พ.ศ. 2488 คือความตั้งใจ ความมุ่งมั่น ความปรารถนาอันบริสุทธิ์และแน่วแน่ของหลวงพ่อ ไม่เสื่อมคลาย ไม่เคยยึดทิฐิ ไม่เคยตกถอย
“เงินที่นำมาทำบุญกั๊บกู กูจะไม่เก๊บไว่ เขานำมาฝากกูกูก็นำไปทำบุญให่เขาต่อ เขาก็เอามาให่กูอิ๊กมันก็หมุนเวียนไปอย่างนี่ การทำบุญทำทานจะต้องฟึ้ก ยิ่งให่ มันก็ยิ่งมา ถ้ากูเก๊บไว่ เขาจะได้บุญอะไรเหล่า และเขาก็ไม่เอามาให่กูต่อไป”
อ่านเพิ่มเติม :
- วิถีของ หลวงพ่อคูณ “พระบ้านบ้าน” ที่อยู่ในใจคนนับล้าน
- “หลวงพ่อคูณ” กับ “วัตถุมงคล” สิ่งบำรุงศาสนา เครื่องกระตุ้นเตือนใจ หรือช่วยให้รอดปลอดภัย?
- “ต่อหน้าทำเป็นรัก ลับหลังแล้ว คนอื่นให้เงินก็เอา” วาทะ หลวงพ่อคูณ ถึงการซื้อขายเสียง
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 16 พฤษภาคม 2568