
ผู้เขียน | ปดิวลดา บวรศักดิ์ |
---|---|
เผยแพร่ |
“เบียร์” เป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ชนิดหนึ่งที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน มักปรากฏกายตามงานเลี้ยงสังสรรค์หรือเสริมสร้างบรรยากาศให้คนรู้สึกครื้นเครง ภาพลักษณ์ของเบียร์ต่อคนทั่วไปเป็นเครื่องดื่มที่แม้จะดื่มง่ายแต่ก็มีรสชาติขมทำให้หลายคนไม่เปิดใจ
แต่ปัจจุบันคนไทยเริ่มรู้จักสิ่งที่เรียกว่า “คราฟต์เบียร์” หรือเบียร์โฮมเมดจากชุมชนมากขึ้น ทำให้คนจำนวนมากก้าวมาสู่วงการเบียร์อย่างเต็มสูบ ทั้งยังพยายามผลักดันให้เกิดนโยบายสุราเสรีเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจสู่รากหญ้า เฉกเช่นเดียวประเทศอื่น ๆ เช่น เยอรมนี เกาหลีใต้ เวียดนาม รวมไปถึง “ญี่ปุ่น” ประเทศที่เคยผูกขาดภาษีเบียร์สำหรับกลุ่มทุนใหญ่ แต่ตอนนี้คือดินแดนที่เต็มไปด้วยเบียร์พื้นบ้านหลากชนิด!
แต่กว่าดินแดนแห่งโลกปลาดิบจะกลายมาเป็นเมืองสุราเสรีและกระจายรายได้ให้ท้องถิ่นก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะการเปลี่ยนแปลงในญี่ปุ่นไม่ได้เกิดขึ้นเพียงเพราะเสียงสะท้อนของประชาชน ทว่าเกิดขึ้นพร้อมกับวิกฤตเศรษฐกิจฟองสบู่ในช่วงทศวรรษ 1990
คาดกันว่า เครื่องดื่มสีเหลืองทองมีฟองนี้เข้ามายังประเทศญี่ปุ่นโดยผู้เยี่ยมเยือนต่างทวีปชาวดัตช์ ในยุคเอโดะ ปี 1613 ผ่านท่าเรือฮิราโดะ ที่จังหวัดนางาซากิ ซึ่งเป็นท่าเรือเพียงไม่กี่แห่งที่รองรับการค้าต่างชาติ ช่วงแรกเบียร์ไม่เป็นที่รู้จักในหมู่คนพื้นถิ่นเลยแม้แต่นิดเดียว เพราะช่วงเวลานั้นญี่ปุ่นดำเนินนโยบายปิดประเทศ ทำให้เบียร์เป็นที่รู้จักในกลุ่มชาวต่างชาติที่เข้ามาค้าขายเท่านั้น
กระทั่ง 200 ปีต่อมา หรือในปี 1854 ญี่ปุ่นได้เซ็น “สัญญาคานางาวะ” (Treaty of Kanagawa) เพื่อมุ่งหวังจะเปิดประเทศและเข้าสู่ตลาดการค้ากับชาวต่างชาติ “เบียร์” สินค้าที่ (แทบ) ไม่มีใครหน้าไหนรู้จักก็เริ่มผลิบานในญี่ปุ่นมากขึ้น เนื่องจากชาวตะวันตกได้นำความรู้ทางด้านการผลิตเบียร์ซึ่งหอบหิ้วมาจากบ้านเกิดเมืองนอนมาเผยแพร่ในผืนแผ่นดินใหม่
จนปี 1869 “วิลเลียม โคปแลนด์” (William Copeland) ชายชาววีเจียน-อเมริกา ตัดสินใจเปิดร้านเบียร์แห่งแรกในแดนปลาดิบชื่อว่าร้าน Sring Valley Brewery ในย่านอาศัยที่คับคั่งไปด้วยชาวตะวันตก และที่นี่ก็กลายเป็นจุดศูนย์กลางที่ทำให้คนญี่ปุ่นได้ลิ้มลองรสชาติเครื่องดื่มที่ไม่เคยสัมผัสมาทั้งชีวิต
วันเวลาผ่านไปเบียร์ก็เริ่มแทรกซึมเข้าไปในชีวิตประจำวันของคนญี่ปุ่น และไม่ได้มีเพียงชาวต่างชาติเท่านั้นที่ผลิตของเหลวสีเหลืองรสชาติขมปร่าออกมาเพื่อเสิร์ฟความต้องการของคนในพื้นที่ ชาวญี่ปุ่นจำนวนหนึ่งก็ผลิตเบียร์เป็นของตนเองเช่นกัน โดยผลิตภัณฑ์ที่ออกมาในช่วงนั้นก็ได้แก่ ซัปโปโร (Sapporo) ก่อตั้งในปี 1876, คิริน (Kirin) ก่อตั้งในปี 1888, อาซาฮี (Aasahi) ก่อตั้งในปี 1892, ซันโตรี (Suntory) ก่อตั้งในปี 1899 ซึ่งแบรนด์ทั้งหมดนี้เชื่อว่าใครหลายคนทั้งที่เป็นคอเบียร์ และไม่ใช่คอเบียร์ก็น่าจะรู้จักกันดี
ทิศทางของเครื่องดื่มมึนเมาชนิดนี้ในญี่ปุ่นดูท่าจะไปได้สวย เพราะคนในประเทศตอบรับกับผลผลิตที่ออกมาจากน้ำมือชนชาติเดียวกัน ถึงขั้นว่าปริมาณเบียร์ในประเทศมีปริมาณแซงหน้าเบียร์นำเข้าจากต่างชาติ
ทว่าในเรื่องดี ๆ ก็ยังมีเรื่องร้าย ๆ ซ่อนอยู่ เพราะแม้เบียร์จะสร้างรายได้ให้กับคนในประเทศ แต่ก็เพียงไม่กี่เปอร์เซ็นต์จากทั้งหมด
ในปี 1901 รัฐบาลญี่ปุ่นได้เข้ามามีบทบาทเพื่อสนับสนุนตลาดเบียร์ในประเทศให้เติบโตมากขึ้น โดยออกกฎหมายที่เรียกว่า “Beer Tax Law” มุ่งจัดเก็บภาษีนำเข้ามากขึ้นเป็นพิเศษ และกำหนด “ปริมาณขั้นต่ำ” ในการผลิต และหากผู้ผลิตไม่สามารถทำตามเงื่อนไขที่รัฐกำหนดก็จะไม่ได้รับใบอนุญาต
จำนวนขั้นต่ำของการผลิตเบียร์ในประเทศญี่ปุ่นดูเหมือนจะเพิ่มทวีคูณขึ้นเรื่อย ๆ เพราะในปี 1908 ระบุไว้ที่ 180,000 กิโลลิตรต่อปี พอปี 1940 ก็กระโดดไปที่ 1,800,000 กิโลลิตรต่อปี และในปี 1959 สูงถึง 2,000,000 กิโลลิตรต่อปี
เหตุผลที่ต้องทำเช่นนี้ เพราะรัฐบาลต้องการช่วยให้ประเทศญี่ปุ่นซึ่งขณะนั้นยังไม่มีกำลังต่อสู้กับต่างชาติมากพอ ได้เติบโตและแจ้งเกิดในตลาดเบียร์ได้ แต่พวกเขากลับลืมไปว่ากฎหมายนี้จะเป็นหลุมร้ายสำหรับชาวรากหญ้าที่อยากจะผลิตสูตรเบียร์เป็นของตนเอง
Beer Tax Law ยังคงเป็นกฎหมายที่ดำเนินการใช้ในญี่ปุ่นมาเรื่อย ๆ แม้ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ตลาดเบียร์ในประเทศจะชะงักก็ตาม แต่รัฐบาลก็ไม่เคยประกาศหยุดใช้ หรือเข้าทศวรรษ 1970 ที่เศรษฐกิจของญี่ปุ่นโตอย่างสุดขีด รัฐบาลก็ไม่มีทีท่าว่าจะยกเลิกกฎหมาย
เมื่อเป็นเช่นนี้จึงทำให้กลุ่มประชาชนหัวเสรี รวมถึงกลุ่ม SMEs เริ่มต่อต้านและออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลแก้กฎหมายใหม่ให้เอื้อกับคนที่ไม่ใช่กลุ่มทุนใหญ่บ้าง ทว่าจนแล้วจนรอดก็ดูไร้วี่แวว
จนกระทั่งเข้าทศวรรษ 1990 ญี่ปุ่นเผชิญปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจฟองสบู่แตก ผู้คนที่เคยดำเนินธุรกิจอย่างมั่งคั่งต่างล้มละลายกันระนาว ประชาชนผู้มีเงินเพื่อสินค้าฟุ่มเฟือยต่าง ๆ ก็ต้องเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของตนเองใหม่ทั้งหมด
เศรษฐกิจที่เคยอู้ฟู่บัดนี้จางหายภายในชั่วพริบตา รัฐบาลญี่ปุ่นต้องออกมาตรการต่าง ๆ เพื่อรองรับความเป็นอยู่ของคนในสังคม หนึ่งในนั้นก็คือกฎหมายเรื่องผลิตเบียร์ที่มีปัญหาคาราคาซังมาช้านาน
ในปี 1994 ญี่ปุ่นตัดสินใจออกกฎหมายใหม่อย่าง “Liquor Tax Law” ฉบับแก้ไขใหม่ขึ้น ซึ่งถ้าลองอ่านรายละเอียดดูจะทราบว่าเป็นกฎหมายที่หนุนกลุ่มพ่อค้าแม่ขายรายย่อยอย่างมาก เพราะรัฐบาลตัดสินใจลดจำนวนปริมาณขั้นต่ำสำหรับการผลิตเบียร์ในญี่ปุ่นให้เหลือเพียง 60,000 กิโลลิตรต่อปี แตกต่างจากเดิมหลายเท่าตัว เพื่อหวังว่าการเปิดโอกาส (ที่เรียกร้องกันมาอย่างยาวนาน) นี้จะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ และสามารถกระจายรายได้สู่ประชาชนส่วนใหญ่ไปในตัว
หลังจากประกาศใช้กฎหมายไปไม่นาน การผลิตเบียร์ในกลุ่มประชาชนรายย่อยก็เติบโตขึ้นอย่างมาก ทั่วทั้งประเทศเกิดโรงเบียร์ขนาดเล็กถึง 300 แห่ง ทั้งยังเกิดแรงกระเพื่อมต่าง ๆ ในกลุ่ม SMEs ทั่วประเทศ เช่น การก่อตั้ง Japan Brewers Association เพื่อแลกเปลี่ยนและเรียนรู้เรื่องเบียร์ ทั้งในแง่การผลิตและการขาย
แม้ “คราฟต์เบียร์” จะไม่สามารถยืนระยะได้เหมือนกับเบียร์แบรนด์ใหญ่ ๆ จากกลุ่มทุน เพราะหากวิเคราะห์ตามสถิติส่วนแบ่งการตลาดเบียร์ญี่ปุ่นในปี 2021 แบรนด์ที่ครอง 4 อันดับแรกล้วนมาจากเบียร์ชั้นนำที่ขายตามท้องตลาด เริ่มตั้งแต่ อาซาฮี, คิริน, ซันโตรี, ชัปโปโร
แต่การมี “คราฟต์เบียร์” ก็ถือเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่ก่อให้เกิดผลดีต่อทั้งสองฝ่าย เพราะไม่เพียงกลุ่มผู้บริโภคจะได้เพิ่มทางเลือก และลิ้มลองเครื่องดื่มรสชาติใหม่ ๆ แต่ฝ่ายผู้ผลิตยังได้มีที่ทางเป็นของตนเอง ก่อให้เกิดรายได้ในชุมชน ทั้งชาวบ้านยังได้สร้างสรรค์เครื่องดื่มรสชาติใหม่ ๆ จากวัตถุดิบพื้นถิ่นของตนเองออกมา อย่างที่เราเห็นแบรนด์ต่าง ๆ เช่น เบียร์โอคอตสค์ (Okhotsk Beer) จากจังหวัดฮอกไกโด, เบียร์โคเอโดะ (Coedo Beer) จากจังหวัดไซตามะ เป็นต้น
อ่านเพิ่มเติม :
- เบียร์ : นิธิ เอียวศรีวงศ์ (ตอนที่1)
- “เบียร์ไอริช” รสชาติที่ได้จากการขูดผนังถ้ำ ที่ว่าเป็น “ทางเข้ายมโลก”
- ชาวจีนเน้นเมาก่อนอิ่ม เอาข้าวบาเลย์มาหมัก “เบียร์” ตั้งแต่ 5 พันปีที่แล้ว
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
ปริพนธ์ นำพบสันติ. Loveable Japan. กรุงเทพฯ: broccoli, 2566.
ไชยวัฒน์ ค้ำชู. “ระบบเศรษฐกิจการเมืองญี่ปุ่น ยุคหลัง ‘ฟองสบู่แตก’: ความต่อเนื่องและการเปลี่ยนแปลง.” วารสารสังคมศาสตร์ 31, 1 (มกราคม-มิถุนายน 2543): 47-86.
https://www.bangkokbiznews.com/world/1069435
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 17 สิงหาคม 2566