“เบียร์ไอริช” รสชาติที่ได้จากการขูดผนังถ้ำ ที่ว่าเป็น “ทางเข้ายมโลก” และที่กำเนิดราชินีผู้ทรงเสน่ห์

ถ้ำ Oweynagat ไอร์แลนด์ นำ ยีสต์ ผนังถ้ำ ผลิต เบียร์ไอริช

“เบียร์ไอริช” รสชาติที่ได้จากการขูดผนังถ้ำ ที่ว่าเป็น “ทางเข้ายมโลก” และสถานที่กำเนิด “ราชินีเมฟ์” ราชินีผู้ทรงเสน่ห์ในตำนานชาวเซลติก

ถ้ำ Oweynagat หรือที่เรียกกันว่า “ถ้ำแมว” (Cave of Cats) เป็นหนึ่งในโบราณสถานที่ตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศไอร์แลนด์ ว่ากันว่าทางเข้าของถ้ำ Oweynagat เป็นประตูเข้าสู่ยมโลก ที่ทั้งปีศาจและนางฟ้าต่างก็ช่วยกันล่อลวงให้มนุษย์ทั้งหลายเดินเข้าไปเผชิญกับชะตากรรมของตนเอง

นอกจากนี้ ตามตำนานของชาวเซลติก ถ้ำนี้ยังมีความสำคัญอีกประการคือ เป็นถ้ำสถานที่เกิดของ “ราชินีเมฟ์ (Queen Medb)” ราชินีสุดเจ้าชู้ ผู้มีคู่นอนเป็นนายทหารใหญ่ในกองทัพมากหน้าหลายตา

เรื่องราวขององค์ราชินีทรงเสน่ห์องค์นี้ ไม่ใช่เพียงเรื่องเล่าตามตำนานสนุก ๆ เท่านั้น แต่ยังเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องประวัติศาสตร์ของชาวไอริชอีกด้วย ดังจะเห็นได้จากชื่อ “Medb” ซึ่งเป็นคำในภาษาเซลติกสมัยโบราณ ซึ่งแปลว่า “น้ำผึ้งหมัก” เครื่องดื่มที่เป็นองค์ประกอบสำคัญในพิธีบรมราชาภิเษกในช่วงยุคโบราณจวบจนถึงยุคกลางของประเทศไอร์แลนด์

ขณะเดียวกัน “Medb” ยังมีอีกความหมายหนึ่งคือ “หญิงผู้เมามาย” ซึ่งตามตำนานแล้วก็เรียกได้ว่าสมชื่อท่านราชินี เพราะนอกจากชื่อเสียงเรื่องความเจ้าชู้ ราชินีเมฟ์ก็ยังโด่งดังเรื่องความขี้เมาอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม นับเป็นเวลานานกว่าหลายพันปีที่ตำนานและความขี้เมาของราชินีถูกกักเก็บไว้ในถ้ำอยู่ตลอดมา จนกระทั่งเมื่อปี 2017 Richard Siberry เจ้าของบริษัทผลิตเบียร์สัญชาติไอริชนามว่า “Black Donkey Brewery” พร้อมด้วยนักจุลชีววิทยาอีก 1 ชีวิต ได้ “ไถลตัว” เข้าไปในถ้ำ Oweynagat ที่มีปากทางเข้ากว้างเพียง 3 x 4 ฟุต เท่านั้น เพื่อไปทำภารกิจที่พวกเขาเรียกกันว่า “การล่ายีสต์ป่า (a wild yeast chase)”

Siberry และลูกทีมได้ใช้เครื่องมือขูดเก็บยีสต์บนผนังถ้ำ เมื่อนำสิ่งที่ขูดได้มาตรวจสอบแล้วก็พบว่าภารกิจนี้ประสบความสำเร็จดีเกินคาด เพราะแทนที่จะเก็บยีสต์ได้เพียงชนิดเดียว พวกเขากลับได้ยีสต์ถึง 3 ชนิดติดมือกลับมา

ส่วนเรื่องที่ว่าเอายีสต์มาทำไมนั้น ต้องย้อนเวลากลับไปเมื่อหลายปีก่อน เมื่อ Siberry และภรรยา Michaela Dillion ย้ายจากนิวยอร์กกลับมายังบ้านเกิดของตนที่ประเทศไอร์แลนด์ และมีความคิดที่อยากจะดื่มเบียร์ดี ๆ เหมือนตอนอยู่นิวยอร์ก เพราะตามผับบาร์ที่ไอร์แลนด์นี้มีเบียร์เพียงแค่ 3 อย่างให้เลือกเท่านั้น คือ Guinness, Smithwick’s และ Heineken

ยิ่งไปกว่านั้น Siberry ก็ยังมีความคิดที่อยากจะผลิตเบียร์ที่มีเอกลักษณ์เป็นของชาวไอริชอย่างแท้จริง ดังนั้นแล้ว Siberry และภรรยาจึงได้ร่วมกันก่อตั้งบริษัท Black Donkey ในปี 2014 และด้วยความพยายามที่จะผลิตเบียร์สัญชาติไอริชที่แท้จริง Siberry จึงได้หันไปมองโบราณสถานซึ่งอยู่ไม่ใกล้ไม่ไกลโรงผลิตเบียร์ของตน คือที่ถ้ำ Oweynagat

แรกเริ่มเดิมที Siberry มีแนวคิดว่าจะลองเอาถังเบียร์เข้าไปเก็บอยู่ในถ้ำ เผื่อว่าจุลินทรีย์ในถ้ำอาจทำปฏิกิริยากับส่วนผสมในถังเบียร์ และทำให้เกิดผลลัพธ์ที่น่าสนใจ แต่ด้วยเหตุผลที่ว่าทางเข้าของถ้ำนั้นแคบเหลือเกิน การเอาถังเบียร์ผ่านเข้าไปในถ้ำคงเป็นเรื่องที่ยากลำบาก แผนการนี้จึงต้องพับเก็บไป เปลี่ยนเป็นภารกิจการล่ายีสต์ป่า เพื่อเอามาทำเบียร์ดังที่กล่าวมาข้างต้น

อย่างไรตาม แผนการการล่ายีสต์ป่าและการผลิตเบียร์จากยีสต์ที่ได้จากผนังถ้ำ Oweynagat นั้นก็เสร็จสิ้นลุล่วงเป็นอย่างดี โดยในปี 2018 Black Donkey ได้เริ่มวางจำหน่ายเบียร์จากภารกิจดังกล่าวในชื่อว่า “Underworld Savage Ale” ซึ่งเป็น “เบียร์ไอริช” ที่มีรสสัมผัสนุ่มลิ้น ฝาดและเปรี้ยวแบบไซตรัส พร้อมด้วยกลิ่นธรรมชาติ และกลิ่นอายของการผจญภัยของเหล่าทีมงาน

โดยเฉพาะ Siberry ที่แม้จะกลัวที่แคบ แต่ก็ยังอุตส่าห์มุดตัวเข้าไปในปากถ้ำเล็ก ๆ เพื่อเอายีสต์ออกมาจาก “ทางเข้ายมโลก” ทำเบียร์ให้เหล่ามนุษย์ดื่มจนได้

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

Hamilton, Sorcha. “Beer from the underworld: a little sip of ancient Ireland”. The Irish Times. 27 Dec 2018, <https://www.irishtimes.com/life-and-style/food-and-drink/drink/beer-from-the-underworld-a-little-sip-of-ancient-ireland-1.3521349>

Nugent, Addison. “In Ireland, a taste of the underworld”. BBC. 27 Dec 2018, <http://www.bbc.com/travel/story/20181213-in-ireland-a-taste-of-the-underworld>


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 12 เมษายน 2565