เบียร์สงฆ์โบราณคืนชีพ หลังบาทหลวงเบลเยียมถอดสูตรผลิตเบียร์เก่าแก่กว่า 220 ปีได้

ภาพประกอบเนื้อหา - บราเธอร์ Benoit ในลัทธิ Benedictine แห่งอาราม Saint-Wandrille ในแถบตะวันตกเฉียงเหนือของฝรั่งเศส ชิมเบียร์จากแก้วเมื่อค.ศ. 2013 อารามนี้เป็นอีกหนึ่งอารามสงฆ์ที่ผลิตเบียร์ในยุโรป (ภาพจาก CHARLY TRIBALLEAU / AFP)

สำนักสงฆ์ในยุโรปหลายสายมีชื่อเสียงเรื่องการผลิตเบียร์มายาวนาน ประวัติศาสตร์การผลิตเบียร์ในหมู่นักบวชทางศาสนาดำเนินต่อเนื่องในท้องถิ่นอย่างเข้มข้น ในเบลเยียมก็มีเบียร์ที่ผลิตโดยสำนักสงฆ์อันมีชื่อเสียงด้วยเช่นกัน โดยเรื่องราวของสงฆ์ในเบลเยียมที่ผลิตเบียร์มาตั้งแต่ยุคกลางนั้น ส่วนหนึ่งมาจากเมืองกริมแบร์เกน (Grimbergen) ซึ่งชื่อนี้กลายมาเป็นแบรนด์เชิงพาณิชย์ในภายหลังช่วงยุค 50s แต่ล่าสุด คณะสงฆ์ในกริมแบร์เกน เริ่มกลับมาผลิตอีกครั้งเมื่อมีรายงานว่าพวกเขาถอดสูตรดั้งเดิมและกรรมวิธีในเอกสารที่จัดเก็บไว้อย่างยาวนานได้

ผู้ที่เผยแพร่ความเคลื่อนไหวครั้งล่าสุดนี้คือ บาทหลวง Karel Stautemas ซึ่งท่านได้นำเสนอผลผลิตต่อหน้าเทศมนตรี พร้อมกับกองทัพผู้สื่อข่าวและผู้ที่ให้ความสนใจเมื่อช่วงกลางเดือนพฤษภาคม 2019

Advertisement

บาทหลวง Karel เล่าว่า ความสำเร็จครั้งนี้มาจากการศึกษาค้นคว้าข้อมูลด้านกรรมวิธีของสงฆ์ที่ทำเบียร์ในอาราม Norbertine ก่อนที่อารามจะถูกเผาโดยนักปฏิวัติชาวฝรั่งเศส ค.ศ. 1798 แม้ว่าอารามจะถูกฟื้นฟูกลับมา แต่เชื่อกันว่าโรงผลิตเบียร์พร้อมสูตรการผลิตนั้นสูญหายไปแล้ว

ขณะที่แรงบันดาลใจซึ่งนำมาสู่การผลิตด้วยโรงเบียร์ขนาดเล็ก (microbrewery) ในครั้งนี้นั้น มาจากแหล่งข้อมูลเดิมนั่นคือ การค้นพบข้อมูลกรรมวิธีการผลิตของคณะสงฆ์จากสมุดจดบันทึกสมัยศตวรรษที่ 12 โดยเฉพาะข้อมูลเรื่องการใช้ดอกฮอพแทนที่สมุนไพรหมัก ซึ่งเป็นเคล็ดที่ทำให้กรรมวิธีของคณะสงฆ์ก้าวหน้าไปกว่าคนร่วมสมัยยุคเดียวกัน

รายงานข่าวเผยว่า Grimbergen ก่อตั้งขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1128 และมีประวัติถูกเพลิงไหม้ถึง 3 รอบด้วยกัน แต่ก็สามารถฟื้นฟูกลับมาได้ทุกครั้ง ผู้คนจึงมองว่า Grimbergen ใกล้เคียงกับสัญลักษณ์นกฟินิกซ์ อันสื่อถึงการคืนชีพ และทำให้นึกถึงภาษิตว่า ardet nec consumitur หรือ “ถูกเผาผลาญ แต่ไม่ถูกทำลาย”

รายงานข่าวเผยว่า สมุดเล่มนี้รอดพ้นจากการถูกเพลิงเผาทำลายเมื่อมีบาทหลวงที่เจาะทะลวงกำแพงห้องสมุดและแอบนำสมุดเหล่านี้ออกมาก่อนที่อารามจะถูกไหม้เสียหาย แต่ปัญหาที่พบคือ พวกเขามีหนังสือซึ่งบันทึกสูตรไว้เรียบร้อย แต่ไม่มีใครที่อ่านสูตรออก

รายละเอียดถูกบันทึกเป็นภาษาลาตินโบราณและภาษาดัตช์ คณะสงฆ์จึงต้องประกาศหาอาสาสมัคร กลุ่มที่พยายามศึกษาสูตรจากบันทึกใช้เวลาหลายชั่วโมงในการแกะข้อมูลจนค้นพบรายชื่อส่วนผสมสำหรับการทำเบียร์ในศตวรรษที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการใช้ดอกฮอพ ประเภทของถัง และขวด

อย่างไรก็ตาม เมื่อนำมาผลิตอีกครั้ง บาทหลวง Karel เล่าว่า เลือกใช้ส่วนผสมบางตัวจากสูตรเท่านั้น โดยให้เหตุผลว่า “คนยุคนี้คงไม่อยากชิมเบียร์ที่ผลิตเมื่อครั้งก่อน” และยอมรับว่า ไม่เป็นการดีหากจะดื่มเบียร์ที่ผลิตใหม่นี้ที่มีปริมาณแอลกอฮอล์ถึง 10.8 เปอร์เซ็นต์มากเกินไปนัก

ขณะเดียวกันรายงานข่าวเผยว่า โรงผลิตเบียร์แห่งอารามสงฆ์ที่กลับมาทำการอีกครั้งมีมาร์ก อองตวน โซชอง (Marc-Antoine Sochon) เป็นผู้ดูแลการผลิต อองตอน กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า เบียร์ในช่วงโบราณกาลจริงๆ แล้ว ไม่ค่อยมีรสชาติมากนัก แทบเหมือนกับขนมปังเหลวก็ว่าได้ ซึ่งการผลิตเบียร์สงฆ์ที่เริ่มกลับมาทำใหม่นั้น รายงานข่าวระบุว่า กระบวนการพยายามลอกเลียนองค์ประกอบต้นแบบด้วยส่วนหนึ่ง อาทิ ไม่ใส่ส่วนผสมเทียมใดๆ ใช้ถังไม้ และวัตถุดิบท้องถิ่นที่เฉพาะเจาะจง

บาทหลวง Karel ยังให้สัมภาษณ์ว่า บาทหลวงในกาลก่อนนั้นค่อนข้างมีหัวก้าวหน้าทีเดียว เนื่องจากพบว่าพวกเขามักเปลี่ยนแปลงสูตรทุกๆ 10 ปี

สำหรับอารามที่บาทหลวง Karel ประจำอยู่นั้นมีนักบวชอีกประมาณ 11 ราย โรงเบียร์ขนาดเล็กจะผลิตเบียร์สำหรับป้อนตลาดเบียร์ฝรั่งเศสและเบลเยียม โดยรายงานข่าวเผยว่า การผลิตเบียร์ครั้งล่าสุดนี้พวกเขาจับมือกับบริษัทผู้ผลิตเบียร์ยักษ์ใหญ่ของโลก 2 ราย ซึ่งบาทหลวง Karel แสดงความคิดเห็นที่น่าสนใจเมื่อถูกถามว่า พวกเขาสะดวกใจไหมกับการร่วมมือกับบริษัทผู้ผลิตเบียร์ขนาดใหญ่ในเชิงพาณิชย์ โดยบาทหลวงมองว่า ความนิยมในเบียร์จากกริมแบร์เกน จะเป็นสิ่งที่ช่วยให้เหล่าสงฆ์ที่ปฏิบัติกิจในอารามสามารถจาริกแสวงบุญและช่วยผู้คนที่เข้ามาเคาะประตูอารามสงฆ์และคนที่ต้องการความช่วยเหลือได้

 


อ้างอิง :

Boffey, Daniel. “Belgian monks resurrect 220-year-old beer after finding recipe”. The Guardian. Online. Published 21 MAY 2019. Access 22 MAY 2019. <https://www.theguardian.com/world/2019/may/21/belgian-monks-grimbergen-abbey-old-beer>


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 22 พฤษภาคม 2562