เส้นทางจุดเริ่มต้นของ “Carlsberg” (คาร์ลสเบอร์ก) เบียร์ชื่อดังจากเดนมาร์ก

โรงกลั่นคาร์ลสเบอร์ก (ภาพจาก www.carlsberggroup.com)

เมื่อพูดถึง “โคเปนเฮเกน คุณนึกถึงอะไร

เงือกน้อยบนโขดหิน สัญลักษณ์ของกรุงโคเปนเฮเกน ที่แม้ไม่ยิ่งใหญ่เหมือนอนุสาวรีย์สันติภาพในเมืองนิวยอร์ก แต่ก็เปี่ยมเสน่ห์พาให้ผู้คนจากทั่วโลกแวะไปเยี่ยมเยือน ถ่ายรูปคู่ด้วย

ฮันส์ คริสเตียน แอนเดอร์สัน พ่อมดแห่งนิทาน

สวนทิโวลี สวนสนุกที่เชื่อกันว่าสวนสนุกดิสนีย์แลนด์ในประเทศญี่ปุ่นได้ความคิดส่วนหนึ่งไปจากที่นี่

ปราสาทเฟรเดอริคสบอร์ก พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์แห่งชาติ ที่เพียบด้วยเรื่องราวแห่งราชวงศ์เดนมาร์ก

เครื่องดื่มสีอำพันรสนุ่ม หอมหวาน ที่ขายดีติดอันดับโลก…คาร์ลสเบอร์ก

เชื่อหรือไม่ว่า ทุกอย่างที่กล่าวมาสามารถร้อยเรียงเป็นเรื่องราวเดียวกันได้

“คาร์ลสเบอร์ก” แม้จะเป็นเบียร์ที่มีผู้นิยมดื่มถึงกว่า 140 ประเทศทั่วโลก…ทว่าไม่ได้มีเพียงเรื่องราวของธุรกิจการค้าเบียร์อย่างเดียว แต่ยังมีบทบาทสำคัญต่อประเทศเดนมาร์ก ในฐานะของผู้อุปถัมภ์ศิลปะและกิจกรรมทางสังคมหลายอย่าง

ไม่ว่าจะย่างก้าวไปแห่งใดในเดนมาร์ก ดูเหมือนจะต้องมีเรื่องราวที่เกี่ยวพันกับคาร์ลสเบอร์กอยู่ร่ำไป โดยเฉพาะการก่อตั้งห้องปฏิบัติการคาร์ลสเบอร์ก นับแต่ปี ค.ศ. 1875 ทั้งยังมีศูนย์วิจัยคาร์ลสเบอร์กที่พร้อมพรั่งด้วยอุปกรณ์อันทันสมัย ทำให้นักวิทยาศาสตร์ชาวเดนมาร์กและนานาชาติ มีเครื่องอำนวยความสะดวกชั้นเยี่ยม เพื่อหาคำตอบให้กับปัญหาทางวิทยาศาสตร์ต่าง ๆ ที่เกิดจากการวิจัยประยุกต์และวิจัยพื้นฐาน

ที่น่าสนใจคือ…เบื้องหลังความสำเร็จของคาร์ลสเบอร์ก มีที่มาจากความพากเพียรเรียนรู้ของชาวนาธรรมดา ๆ คนหนึ่งบนคาบสมุทรจัตแลนด์ ดินแดนทางตอนเหนือของประเทศเดนมาร์ก

เป็นเพราะความทะเยอทะยานต้องการมีชีวิตที่ดีกว่าที่ผลักดันให้ คริสเตียน จาคอบเสน ละทิ้งไร่นาและบ้านเกิด เดินทางเข้าสู่นครโคเปนเฮเกนเพื่อแสวงโชค เมื่อปี ค.ศ. 1801

โรงกลั่นคาร์ลสเบอร์ก ก่อตั้งเมื่อ ค.ศ. 1847 (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤศจิกายน 2540)

แม้ว่าในแรกเริ่ม คริสเตียนทำงานเป็นเพียงพนักงานโรงงานเบียร์ที่ฟาร์มในหมู่บ้านชนบทแห่งนั้น แต่เขาก็มานะอดออมเก็บเงินจนได้จำนวนมากพอ ออกมาเช่าโรงงานเบียร์และดำเนินอาชีพในฐานะนักกลั่นเบียร์ ขณะเดียวกันก็ริเริ่มทดลองนำเทอร์โมมิเตอร์วัดอุณหภูมิเข้ามาใช้ในการผลิตด้วย ไม่นานชื่อเสียงของคริสเตียนก็เป็นที่รู้จักกันดีในฐานะนักกลั่นเบียร์ตัวยง กระนั้นเบียร์ของเขาก็ยังเป็นเบียร์แบบพื้นบ้าน

เรื่องราวเริ่มเป็นเค้าโครงขึ้นเมื่อเขาให้กำเนิดลูกชาย เจคอบ คริสเตียน จาคอบเสน ในปี ค.ศ. 1811

เจคอบ คริสเตียน จาคอบเสน (Jacob Christian Jacobsen)

เจคอบเป็นนักทดลองยิ่งกว่าพ่อของเขาเสียอีก ความที่ได้รับการส่งเสริมด้านการศึกษา ประกอบกับได้รับมรดกเป็นโรงงานเบียร์หลังจากพ่อเสียชีวิต ในปี ค.ศ. 1835 เขาตัดสินใจกระโจนลงสู่ธุรกิจน้ำเมา ในช่วงที่สงครามนโปเลียนสิ้นสุดพอดี ครั้งนั้นนักกลั่นเบียร์เดนมาร์กต่างพากันกลั่นเบียร์ชั้นยอดจากข้าวสาลี ขณะที่นักดื่มหัวสมัยใหม่ก็กล่าวขวัญถึงเบียร์สไตล์ใหม่จากแคว้นบาวาเรียนของเยอรมัน

ความหอมหวานของเบียร์เยอรมันอิมพอร์ตที่เจคอบได้ลิ้มลองที่ร้านขายไวน์ในโคเปนเฮเกน ยิ่งกระตุ้นความใคร่ที่จะได้เป็นเจ้าของการกลั่นแบบบาวาเรียนยิ่งขึ้น หนุ่มเจคอบตกลงใจเดินทางไป Altona เรียนรู้เรื่องการผลิตเบียร์เพิ่มเติม และมีโอกาสได้ข้ามน้ำไปเมืองมิวนิค หลายครั้งหลายครา เพื่อศึกษาเรื่องการหมักบ่มเชื้อยีสต์กับกาเบรียล เซดลเมยร์ (Gabriel Sedlmayr) ผู้ยิ่งใหญ่แห่งโรงกลั่นสปาเตน ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้บุกเบิกการเพาะเชื้อยีสต์บริสุทธิ์ได้สำเร็จเป็นคนแรก

แม้ว่าความเข้าใจเกี่ยวกับเชื้อยีสต์ในขณะนั้นยังอยู่ในความคลุมเครือ แต่เขาก็ตระหนักว่าถ้าจะไขปริศนาเกี่ยวกับเชื้อยีสต์ได้ เขาจะต้องมีหัวเชื้อยีสต์ในอุณหภูมิพอเหมาะ และต้องมีปริมาณมากพอ

ที่สุดในปี ค.ศ. 1845 เจคอบก็ได้หัวเชื้อยีสต์จากเซดลเมยร์ 2 ถัง แน่นอน เขาต้องรีบเดินทางกลับก่อนที่เชื้อยีสต์นั้นจะสลาย!

พนักงานของคาร์ลสเบอร์ก เมื่อ ค.ศ. 1871 (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤศจิกายน 2540)

จากมิวนิคถึงเดนมาร์ก ระยะทาง 600 ไมล์ ต้องใช้เวลาเดินทางด้วยรถม้าหลายสัปดาห์ ไหนจะต้องควบม้าให้เร็วที่สุดเพื่อแข่งกับเวลา ไหนจะต้องหยุดรถเพื่อเติมน้ำรักษาอุณหภูมิของยีสต์ให้เย็นเป็นระยะ ๆ ตลอดทาง

หลังจากการเดินทางโดยรถม้าอันยาวนานและแสนน่าเบื่อสิ้นสุดลง เขาก็นำเชื้อยีสต์เบียร์สไตล์บาวาเรียน 2 ถัง กลับมาถึงเดนมาร์กโดยยังคงสภาพสมบูรณ์

โรงงานบรรจุขวดของคาร์ลสเบอร์ก เมื่อ ค.ศ. 1903 (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤศจิกายน 2540)

แต่เท่านั้นยังไม่พอ เพื่อที่ว่าเขาจะได้มีเซลลาร์ที่ดีเยี่ยมสำหรับเก็บเบียร์ เขานำเชื้อยีสต์ที่ได้ตรงไปยัง Valby โรงกลั่นเบียร์แห่งใหม่ที่เขาใช้เงินมรดกจากแม่มาซื้อที่ดินแปลงสวย มีแหล่งน้ำบริสุทธิ์ไหลผ่าน อยู่ติดกับทางรถไฟสายแรกของเดนมาร์ก โดยนำชื่อ “คาร์ล” ของลูกชาย มาผสมกับ “เบอร์ก” ซึ่งในภาษาเดนนิช แปลว่าเนินเขา เป็นที่มาของชื่อ “คาร์ลสเบอร์ก” ที่เลื่องชื่อตราบทุกวันนี้

และแล้วในวันที่ 10 พฤศจิกายน ค.ศ. 1847 เขาก็สามารถผลิตยีสต์แบบจมได้เป็นผลสำเร็จภายในโรงกลั่น “คาร์ลสเบอร์ก”

อรุณรุ่งแห่งการกลั่นเบียร์แบบใหม่เริ่มขึ้นแล้วในเดนมาร์ก!

 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 พฤษภาคม 2565