เบียร์ : นิธิ เอียวศรีวงศ์ (ตอนที่2)

เบียร์
(ภาพโดย Republica ใน Pixabay)

อ่าน “เบียร์ : นิธิ เอียวศรีวงศ์ ตอนที่ 1” (คลิก)

ดื่ม “เบียร์” อย่างไรจึงอร่อย

คำตอบที่ถูกต้องที่สุดคือดื่มแบบที่คุณว่าอร่อย เช่น ถ้าคุณชอบกินไอติมเบียร์ ก็จงดื่มเบียร์จากร้านที่เขา โฆษณาว่ามีเบียร์วุ้นขาย บางคนว่าดื่มเบียร์ต้องอย่าจิบ แต่ควรดื่มเป็นอึก อย่าไปเชื่อ จงดื่มในลักษณาการที่คุณคิดว่าได้รสชาติถูกใจคุณเป็นใช้ได้ ก็เงินคุณไม่ใช่หรือที่จ่ายไปสําหรับค่าเบียร์

แต่หลังจากดื่มเชอร์เบทเบียร์มานานแล้ว ลองเปลี่ยนวิธีดื่มเป็นอย่างอื่นดูบ้าง แล้วอาจจะเห็นกลิ่น, รสที่แตกต่างจากที่เคย ถ้าชอบก็เปลี่ยน ถ้าไม่ชอบก็อย่าไปเปลี่ยน

เบียร์นั้นเขาดื่มอะไรกัน ไม่ใช่แอลกอฮอล์เพียงอย่างเดียวแน่ เพราะถ้าอย่างนั้นไปซื้อเอทิลแอลกอฮอล์ มาหยดน้ำดื่มก็ได้ เมาเหมือนกันและถูกกว่ากันมากเลย

คอเบียร์ฝรั่งเขาว่า เบียร์มีคุณสมบัติ 6 อย่างให้ “เสพ” คือ สี, ฟองปากแก้ว, รสชาติซึ่งเกิดจากคุณภาพของส่วนผสม, กลิ่น (ของมอลต์, ฮอป, ส่า และการผสมทางเคมี), สมดุล และความรู้สึกที่ได้หลังดื่ม (ฝรั่งเรียกว่า finish)

สีต้องตรงกับคุณสมบัติของเบียร์ ไม่ใช่เบียร์จะต้องใสเพียงอย่างเดียว ที่ควรจะใสก็ใส ที่ควรจะข้นก็ข้น ที่ไม่ควรมีตะกอนลอยแขวนก็ไม่ควรมี ที่ควรมีก็มี ในเมืองไทยเรานิยมดื่มเบียร์ลาเกอร์ตระกูลพิลสเนอร์ ก็ควรมีคุณสมบัติใส สีออกไปทางสีทองเข้มพอสมควร เมื่อรินลงไปแล้วก็จะเห็นเม็ดของคาร์บอนไดออกไซด์ลอยขึ้นเป็นทิว นี่เป็นการเสพเบียร์ทางตาที่สําคัญ เหตุฉะนั้นภาชนะสำหรับการดื่มเบียร์ที่ดีคือแก้วใสนี่แหละครับ ไม่จำเป็นต้องใช้จอกหูกระเบื้องหรือพิวเตอร์ (mug)

ฟองก็เป็นส่วนสำคัญของการดื่มเบียร์ วิธีรินเบียร์ให้เป็นฟองไม่ใช่เทลงไปที่ก้นแรง ๆ กระทุ้งให้เกิดฟองขึ้น เพราะฟองอย่างนั้นไม่ใช่ฟองคุณภาพที่แท้จริง จะเห็นได้ว่าฟองที่ได้มาด้วยวิธีรินแบบนั้นจะเป็นฟองหยาบ เหมือนฟองผงซักฟอก กินไปจนหมดแก้วก็ไม่เกิดคราบฟองที่ริมแก้วให้เห็น

ฟองที่มีคุณภาพต้องได้มาจากการรินเบียร์ไปที่ข้างแก้ว แรงของแก้วที่ไหลลงไปป่วนกันในแก้วก็เพียงพอที่จะทำให้เกิดฟองขึ้นแล้ว ฟองแบบนี้จะเป็นฟองละเอียดค่อนข้างเหนียว ยอดฟองมักไม่ค่อยราบเรียบแต่มีลักษณะเหมือนเนินเขา เมื่อกินเบียร์หมดแก้วแล้วก็จะยังเห็นคราบฟองติดอยู่ตามผนังแก้ว (รวมถึงหนวดและริมปากงามของผู้หญิงด้วย)

แต่คุณผู้อ่านจะพบว่า รินเบียร์อย่างนี้ในเมืองไทยไม่ค่อยได้ฟองหรือได้ฟองที่บางมาก

ก็จริงครับ ทั้งนี้เพราะเราดื่มเบียร์ในอุณหภูมิที่เย็นจัดเกินไป จึงทำให้ไม่เกิดฟอง นอกจากนี้เบียร์ซึ่งไม่ค่อยมีคุณภาพก็มักฟองน้อยโดยธรรมชาติอยู่แล้ว (ยกเว้นที่เขาใส่สารเร่งคาร์บอนไดออกไซด์ในตอนบ่ม ซึ่งทำให้รสเบียร์เสียไปอีก) จึงทำให้เกิดฟองคุณภาพได้ยาก

เหตุดังนั้นผมจึงไม่ชอบเลยที่ร้านอาหารส่วนใหญ่จะสั่งพนักงานเสิร์ฟไว้ว่า จงรินเบียร์ในแก้วของลูกค้า หน้าโง่อย่าให้พร่องเป็นอันขาด เพื่อทางร้านจะได้ขายเบียร์ได้มาก ๆ หมดแล้วก็รีบเปิดขวดใหม่ บังคับให้ต้องดื่มอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ผมเห็นว่าการดื่มเบียร์ให้หมดแก้วแล้วรินใหม่จะได้ทัศนียภาพของเบียร์แก้วใหม่ ซึ่งเป็นของอร่อยในการเสพ หมดขวดแล้วค่อยสั่งใหม่ เปิดป๊อกก็รินเลย ไม่ใช่เปิดมาทิ้งไว้ข้าง ๆ เป็นนาน

รสชาติของเบียร์เกิดจากส่วนผสมหลายอย่าง โดยเฉพาะมอลต์ของบาร์เลย์ และธัญพืชอื่น ๆ รวมทั้งฮอปซึ่งให้รสขม เบียร์อเมริกันเป็นเบียร์ปร่า ๆ ไม่ใช่เพราะเบียร์อเมริกันมีแอลกอฮอล์น้อยกว่าเบียร์ยุโรปหรือเบียร์ไทย แต่เพราะเบียร์อเมริกันเป็นเบียร์ชั้นเลว จึงไม่มี “ตัว” หรือที่ฝรั่งเรียกว่า body ไม่ได้รสมอลต์ แทบไม่มีกลิ่นฮอป เป็นต้น เบียร์จะมีแอลกอฮอล์มากหรือน้อยไม่ได้อยู่ที่ว่ามัน “จืด” หรือไม่ ส่วนใหญ่ของเบียร์ในเมืองไทยมีปริมาณแอลกอฮอล์พอ ๆ กัน แต่รสชาติต่างกันเท่านั้น

ฉะนั้นเวลาดื่มเบียร์จึงควรปล่อยให้มันไหลซาบซ่าไปทั่วลิ้น เพื่อจะได้สัมผัสรสชาติที่แท้จริงของเบียร์ไปด้วย ผมเข้าใจว่ารสที่คอเบียร์เมืองไทยเรียกว่า “มัน” ก็คือรสของส่วนผสมที่ไม่ขาดไม่เกินของเบียร์ยี่ห้อนั้นนั่นเอง คือมีทั้งตัวและมีทั้งรสครบบริบูรณ์

แต่แปลกที่คอเบียร์ในเมืองไทยส่วนใหญ่ไม่ชอบรสขมของเบียร์ จึงพยายามทำลายรสนี้เสียด้วย การเอาเบียร์ไปแช่จนกลายเป็นเกล็ดน้ำแข็ง ความเย็นจัดนี้ไม่ได้ทําลายปุ่มรับรสขมบนลิ้นเท่านั้น แต่ทำลายทุกปุ่มบรรดามีไปหมดจนไม่ได้รสชาติอะไรของเบียร์ เลยดื่มแล้วดูเหมือนจะสดชื่น แต่ถ้าอย่างนั้นเอาโซดาไปแช่แข็งบ้างก็คงจะได้ความรู้สึกสดชื่นเท่ากัน ถูกสตางค์กว่าอีกด้วย

รสขมนี้เป็นรสสำคัญสุดของเบียร์เลยนะครับ ถ้าเบียร์ไม่ขมก็ไม่รู้จะดื่มไปทำไม เช่นถ้าเบียร์มีรสหวานเหมือนน้ำขวด ผมเชื่อว่าคุณสุจิตต์ วงษ์เทศ คงไม่สามารถดื่มเบียร์ทั้งลังข้ามคืนได้ ถ้าขืนทำป่านนี้ก็คงตายด้วยโรคหัวใจวายไปแล้วด้วย

แต่ขมก็มีหลายพรรณนะครับ ขมไม่อร่อยเป็นอย่างไรก็ลองเอาเบียร์ที่ถูกแช่แข็งแล้วมาละลายจนได้อุณหภูมิที่เหมาะสมแล้วดื่มดูสิครับ จะพบว่ารสขมของเบียร์จะเปลี่ยนเป็นลักษณะขมปี๋ ออกขื่น และเปรี้ยวนิด ๆ ด้วย ไม่ได้เป็นสรรพรสเลย

อันที่จริงการเอาเบียร์ไปแช่ในตู้เย็นไว้นาน ๆ ก็ไม่ดี ถึงไม่แข็งก็ไม่ดี เพราะทำให้รสเบียร์เปลี่ยนไปเป็นขมปี๋ ออกขื่นอย่างว่าได้เหมือนกัน ถึงได้บอกไงครับว่า สั่งเบียร์ที่ไหนก็ให้สั่งยี่ห้อที่คนอื่น ๆ ในแถวนั้นเขานิยมกันนั่นแหละดี มันจะได้ไม่ถูกแช่เย็นไว้นานเกินไป

กลิ่นนี่ยิ่งมีความสำคัญใหญ่ ไม่น้อยไปกว่ารสเลย เบียร์ที่ดีจะให้กลิ่นของมอลต์และฮอปที่พอเหมาะ คือไม่ฉุนเกินไปจนเอียน แต่เรื่องนี้ไม่น่าห่วงเท่ากับมีกลิ่นน้อยเกินไป โดยเฉพาะเบียร์ตลาดที่เราดื่มในเมือง ไทยนั้นให้กลิ่นจางเกินไป (ยกเว้นตอนอ้วก ซึ่งเป็นกลิ่นเบียร์ที่บูดเสียแล้ว) เบียร์ดีบางยี่ห้อนั้น แค่รินลงแก้วก็ได้กลิ่นหอมออกมาแล้วโดยยังไม่ทันดื่ม

สมดุลคือส่วนผสมที่ลงตัวของรสชาติและกลิ่น ได้ส่วนผสมที่พอเหมาะและไม่เปลี่ยนแปลงในการดื่ม ได้ กลิ่นที่ลงตัวของมอลต์และฮอป เป็นต้น เรื่องสมดุลนี้เป็นศิลปะสําคัญที่สุดของ brewmaster หรือศิลปินหมักเบียร์ เลยนะครับ แต่ละอย่างจะมีสัดส่วนอย่างไร หมักในอุณหภูมิเท่าไร บ่มในอุณหภูมิเท่าไร เป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่เขากําหนดมาไว้ในเบียร์ของเขา

ในอังกฤษแม้จนถึงทุกวันนี้ เขาไม่ได้นับปริมาณของแอลกอฮอล์ในเบียร์เป็นเปอร์เซ็นต์ต่อน้ำหนักหรือ ปริมาตร แต่เขานับกันตาม “แรงโน้มถ่วงเดิม” หมายความว่ามีสัดส่วนของสารที่สามารถหมักขึ้นได้ต่อปริมาณน้ำเท่าไร เช่นถ้าเบียร์ที่มีสัดส่วนของแรงโน้มถ่วงเดิม เท่ากับ 1040 ก็แปลว่ามีสารที่หมักขึ้นได้อยู่ 40 ส่วน ในปริมาณน้ำ 1000 ส่วน ยิ่งมีสัดส่วนของสารที่หมักขึ้นได้มาก ก็มีแนวโน้มว่าจะมีแอลกอฮอล์สูงขึ้น

ทั้งนี้แสดงให้เห็นว่า ความสมดุลเฉพาะเรื่องของส่วนผสมเพียงอย่างเดียว มีความสำคัญขนาดไหน เราใน ฐานะผู้ดื่มหรือผู้ขายเบียร์จึงไม่ควรไปเปลี่ยนสมดุลนี้อย่างง่าย ๆ เช่น ไม่ควรเอาน้ำแข็งหย่อนลงไปในแก้วเบียร์เป็นอันขาด เพราะจะทำให้ค่าของแรงโน้มถ่วงเดิมเสียไปทันที เนื่องจากน้ำแข็งละลายน้ำให้เพิ่มขึ้น

ผมไม่ทราบว่าเพราะเหตุใด แต่เบียร์ที่ถูกทำให้เป็นวุ้นหรือแข็งแล้ว แม้เอามาละลายใหม่ก็ทำให้เสียสมดุลไปเหมือนกัน เพราะรสชาติเสียไปอย่างที่กล่าวแล้วข้างต้น ผมเรียกเบียร์วุ้นหรือเบียร์แช่แข็งเป็นเบียร์ที่เสียแล้วเสมอ ไม่ควรเอามาเสิร์ฟลูกค้าหรือเพื่อนเป็นอันขาด ผมอยากเดาว่า เมื่อเบียร์ถูกทำให้เป็นน้ำแข็ง ก็คือแยกส่วนของน้ำและส่วนผสมอื่นซึ่งเคยผสมกลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกับน้ำออกจากกัน แม้เอามาละลายอีกก็ไม่สามารถผสมกลมกลืนกับน้ำได้เหมือนเดิม คือเสียสมดุลไปแล้วนั่นเอง

finish หรือความรู้สึกที่ได้หลังดื่มเป็นเรื่องอธิบายยาก ดื่มลงไปแล้วรู้สึกสดชื่น, อร่อย, กินอาหารอื่นลงไปแล้วก็ไม่รู้สึกพะอืดพะอม ฯลฯ พูดสั้น ๆ ก็คือดีล่ะครับ

คราวนี้ก็ถึงเรื่องของอุณหภูมิในการดื่มเบียร์ อุณหภูมิของเบียร์นั้นมีหลายระดับ แล้วแต่ว่าเป็น เบียร์ชนิดไหน ที่คนอังกฤษมักดื่มเบียร์ในอุณหภูมิ “ห้อง” ก็เพราะเบียร์ของเขาเป็นพวกเอลซึ่งต้องการอุณหภูมิในการดื่มสูงกว่า เบียร์ดี ๆ บางยี่ห้อจะบอกอุณหภูมิสำหรับดื่มไว้ที่ข้างขวดเลย บ้านเราผลิตเบียร์ลาเกอร์ตระกูลพิลส์เนอร์เป็นส่วนใหญ่ เบียร์ประเภทนี้ควรดื่มที่อุณหภูมิประมาณ 10 องศาเซลเซียส (ต่ำกว่าเบียร์อื่น ๆ อีกหลายประเภท)

แต่อย่าเคร่งครัดนักนะครับ เพราะเมืองไทยเป็นเมืองร้อน ก็อาจแช่เย็นให้ต่ำกว่านี้ไปอีกสักหนึ่งหรือสอง องศา กะว่าเมื่อรินเบียร์แล้วดื่มไปสัก 1/4 แก้ว เบียร์ที่เหลือจะอยู่ในอุณหภูมิที่เหมาะสมพอดี ถ้าไปดื่มเบียร์ยอดดอยในหน้าหนาว ก็อาจไม่ต้องแช่เลยก็ได้

อุณหภูมิระดับนี้คอเบียร์เมืองไทยจะบอกว่าเย็นไม่พอ (ส่วนใหญ่ถ้าไม่นับเบียร์วุ้นแล้ว คอเบียร์เมืองไทยจะดื่มเบียร์ที่ประมาณ 4 องศา หรือต่ำกว่านั้น) แต่ขอให้คุณลองดื่มเบียร์ในอุณหภูมิ 10 องศาดูสักครั้งเถิดครับ แล้วสังเกตให้ดีว่าคุณได้กลิ่นของมอลต์และฮอปดีขึ้น และรสชาติก็มีความหลากหลายมากกว่าขมเพียงอย่างเดียว

ข้อแนะนำคอเบียร์และเจ้าของร้านขายเบียร์อีกอย่างหนึ่งก็คือ ซื้อเบียร์มาเป็นลังแล้ว อย่าเพิ่งรีบเอาแช่ตู้เย็น จะกินเบียร์หรือขายเบียร์ตอนเย็นก็แช่ก่อนดื่มสัก 2-3 ชั่วโมง ทยอยไหลเวียนเข้าตู้เย็นไปเรื่อย ๆ เพราะอย่างที่บอกแล้วว่าเบียร์แช่เย็นไว้นาน ๆ นั้นเสียรส เสียกลิ่น ส่วนที่ยังไม่ดื่มหรือยังไม่ได้ขายก็เก็บไว้ในลังให้มิดชิด ไม่เปิดให้แสงเข้า วันหลังจะดื่มใหม่ค่อยแช่ใหม่

ส่งท้าย

ถ้าใครไม่ใช่คอเบียร์อ่านเรื่องนี้แล้วหันไปเป็นคอเบียร์ ผมคงเสียใจมาก เพราะเบียร์เป็นเครื่องดื่มที่ไม่จำเป็น เป็นอบายมุข ผิดศีล เสียเงินโดยใช่เหตุ มักเป็นอันตรายต่อสุขภาพเพราะคอเบียร์จะดื่มมากเกินไป จึงควรอ่านเพื่อเก็บไว้เป็นประเด็นสนทนากับเพื่อคอเบียร์เท่านั้น

ส่วนคอเบียร์ทั้งหลาย เลิกได้เลิกเสียเถิด (จงเชื่อสิ่งที่ผมพูด อย่าเชื่อสิ่งที่ผมทำ) 

แต่ถ้าเลิกไม่ได้ก็ทดลองดื่มเบียร์ให้พลิกแพลงออกไปอย่างที่ผมบรรยายมาบ้าง อาจได้พบรสชาติของเบียร์ที่คุณไม่เคยพบมาก่อนบ้างเท่านั้น

นอกจากเบียร์เป็นเรื่องผิดศีลแล้ว ยังไม่เหมาะกับโครงสร้างเศรษฐกิจบ้านเราเท่าไรนัก ดังผมจะอธิบายย่อ ๆ ดังนี้

ในยุโรปและอเมริกาปัจจุบัน ผู้คนพากันเอือมระอากับรสชาติของเบียร์ตลาดซึ่งปร่า ๆ แบน ๆ เหมือนกันทุกยี่ห้อ จึงมีโรงเบียร์ขนาดเล็กที่ผลิตเพื่อป้อนตลาดเล็ก ๆ ของท้องถิ่นเกิดขึ้นมาก บางยี่ห้อเกิดดังขึ้นมาก็อาจขยายตลาดออกไปกว้างกว่าท้องถิ่น แต่ก็ยังคงเป็นตลาดเล็ก ๆ เหมือนเดิม เพราะเบียร์ไม่ใช่เครื่องดื่มสำหรับคอที่พิถีพิถันมากนัก อย่างไรก็ตามธุรกิจผลิตเบียร์ที่มีรสชาติชวนดื่มเป็นเอกลักษณ์ของตนเองก็อยู่ได้ และกินส่วนแบ่งตลาดของเบียร์ตลาดทั่ว ๆ ไปไม่น้อยเหมือนกัน เพราะมีอยู่หลายยี่ห้อ

ธุรกิจโรงเบียร์เล็ก ๆ ก็เกิดในเมืองไทยเหมือนกัน เพราะมีการแก้กฎหมายให้ผลิตเบียร์ขายในร้านของตน เองได้ แต่เท่าที่ผมมีประสบการณ์ โรงเบียร์เหล่านี้ก็ไม่ได้ผลิตเบียร์ที่วิเศษวิโสไปกว่าเบียร์ตลาด รสชาติอาจแปลกไป แต่ก็ปร่า ๆ และไม่จับตัว (ไม่มี body) เหมือนกัน

โรงเบียร์ขนาดเล็กของเราจะสามารถผลิตเบียร์ดีออกมาได้หรือไม่? ผมคิดว่ายากส์ครับ เพราะถ้าไม่ซื้อ มอลต์, ฮอป และยีสต์จากโรงงานใหญ่มาผลิต ก็ต้องซื้อจากต่างประเทศ ทั้งกระบวนการผลิตเบียร์ก็ไม่ได้อยู่ในภูมิปัญญาของไทย แม้แต่การดื่มยังไม่อยู่เลย จะไปหวังอะไรกับการผลิต ฉะนั้นจะเรียกโรงเบียร์หรือร้านเบียร์ เหล่านี้ว่าเป็นเอสเอ็มอีก็ไม่ควร เพราะเป็นเอสเอ็มอีที่ไม่มีฐานทางภูมิปัญญาอยู่เลย จึงเป็นเอสเอ็มอีที่ไม่มีอนาคตและไม่ให้อนาคตแก่ใคร

ตรงกันข้ามกับเบียร์ คนไทยเคยหมักเมรัยมาหลากหลายชนิด แต่ถูกรัฐหวงห้ามไม่ยอมให้ผลิตอีกต่อไป เพราะอยากจะเอาแต่ค่าต๋งจากนายทุนใหญ่ลูกเดียว ฉะนั้นผมจึงเห็นว่าแก้กฎหมายให้เอกชนรายอื่นผลิตเบียร์แข่งยังไม่พอ ต้องแก้กฎหมายให้คนไทยสามารถผลิตเมรัยอื่น ๆ เช่น สาโท, กะแช่, หวาก ฯลฯ ได้โดยเสรี แม้แต่จะบรรจุขวดไปขายในตลาดนอกท้องที่ของตัวก็ควรทำได้โดยอิสระ ถึงอย่างไรรัฐก็ได้ภาษีมูลค่าเพิ่มไปแล้วหรือจะเก็บภาษีสรรพสามิตเพิ่มเข้าไปอีกก็ยังได้

โดยอาศัยความเชี่ยวชาญในการหมักเมรัยเหล่านี้ ในไม่ช้าก็จะมีการพัฒนาให้เหมาะกับตลาดของยุคปัจจุบันทั้งในด้านรสชาติ (เช่นอย่าให้กะแช่ออกรสหวานเป็นต้น), การเก็บรักษา, การหยุดกระบวนการบูด ฯลฯ เราก็จะได้ อุตสาหกรรมเอสเอ็มอีที่แท้จริง คือมีพื้นฐานอยู่บนภูมิปัญญาไทย แม้อาจต้องเรียนและซื้อเทคโนโลยีอื่น ๆ เข้ามาเสริมก็ตาม ฐานก็ยังเป็นเทคโนโลยีไทยอยู่นั่นเอง

และอีกในไม่ช้าเราก็จะสามารถส่งออกเมรัยไทยไปวางในตลาดโลกได้ แม้ไม่อาจครองตลาดได้เหมือนเบียร์ยี่ห้อข้ามชาติที่เข้ามาหมักเบียร์ในประเทศไทย แต่ตลาดมีช่องว่างเล็ก ๆ กระจายอยู่ทั่วไปในทุกประเทศที่เราอาจเจาะเข้าไปถึงได้ เหมือนอย่างที่สาเกญี่ปุ่นสามารถวางขายได้ทั่วโลก

นี่คือการเผชิญกับกระแสโลกาภิวัตน์ นั่นคือหันไปสร้างเสริมและพัฒนาจากฐานภูมิปัญญาไทย เพื่อจะได้เชื่อมต่อกับวิทยาการที่เป็นสากลโดยไม่ต้องตกเป็นเบี้ยล่างอยู่ตลอดไป

ไม่อย่างนั้นแล้วเราก็คงต้องสั่งเบียร์ยี่ห้อที่เราออกเสียงได้ไม่ชัดมาดื่มไปไม่มีที่สิ้นสุด

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : เนื้อหานี้คัดส่วนหนึ่งจาก “เบียร์”  เขียนโดย นิธิ เอียวศรีวงศ์ ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับธันวาคม 2543 [เว้นวรรคคำ ปรับย่อหน้าใหม่ และเน้นคำเพิ่มเติมโดยกองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม]


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 9 สิงหาคม 2566