ผู้เขียน | กมลวรรณ ยุทธศิลป์ |
---|---|
เผยแพร่ |
เขาสามมุขและหาดบางแสน กับตำนานความรักถูกกีดกันด้วยชั้นชนที่แสนจะขมขื่น
ตำนานเจ้าแม่เขาสามมุขและหาดบางแสน ตำนานรักที่เล่าขานสืบต่อกันมาตั้งแต่โบราณ เป็นทั้งสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง และจุดท่องเที่ยวสำคัญอันสวยงามของจังหวัดชลบุรี ที่ใคร ๆ ก็รู้จัก แต่ใครเล่าจะรู้ว่าสถานที่ท่องเที่ยวแห่งนี้ ในอดีตจะมีตำนานความรักที่ขมขื่น


ในอดีตกาล ณ หมู่บ้านอ่างศิลา ชลบุรี มีชายหนุ่มรูปงาม นามว่า “แสน” ลูกชายของกำนันพ่าย เศรษฐีประจำชุมชนแห่งนี้ เขามักชอบไปนั่งเล่นบริเวณชายหาดแก้เบื่ออยู่เสมอ เนื่องจากพ่อกำนันต้องการให้แสนแต่งงานกับมะลิ ลูกสาวเจ้าของโรงโป๊ะ แต่แสนก็ขอผัดผ่อนเรื่อยมา
วันหนึ่ง ขณะที่แสนกำลังเล่นว่าวอยู่นั้น สายว่าวของเขากลับขาด ทำให้มันหลุดลอยไป “สาวมุก” (บ้างก็เรียก มุข) หญิงสาวหน้าตาสะสวย หลานสาวของป้าบาน ชาวบ้านที่ย้ายมาจากบางปลาสร้อย (ปัจจุบันคือบริเวณตัวอำเภอเมืองชลบุรี) ซึ่งนั่งเล่นอยู่ที่หน้าผา เมื่อเห็นว่าวลอยผ่านมาจึงคว้าไว้
แสนที่ตามหาว่าวจึงได้พบกับมุก ทั้งคู่ตกหลุมรักกันทันที แสนมอบว่าวเป็นที่ระลึกให้มุก จากนั้นก็นัดพบกันบ่อยครั้ง กระทั่งสัญญาว่าจะแต่งงานกัน แสนได้ถอดแหวนของเขาให้เพื่อเป็นคำมั่นสัญญา อีกทั้งสาบานต่อกันที่หน้าเชิงเขาว่า
“จะรักกันชั่วนิรันดร์ หากผิดคำสาบาน ต้องกระโดดหน้าผาแห่งนี้ตายตามกัน”
ต่อมา พ่อกำนันรู้เรื่องราวความรักของทั้งคู่ จึงกีดกันลูกชายไม่ให้พบกับสาวชาวบ้านคนนั้นอีก และบังคับให้แต่งงานกับลูกสาวเศรษฐีผู้มีหน้ามีตาในสังคม ซึ่งแน่นอนว่า ข่าวงานแต่งก็ดังไปถึงหูของมุกจนได้
ขณะที่ทำพิธีแต่งงาน สาวมุกเข้าไปรดน้ำสังข์ในพิธี เธอถอดแหวนที่แสนให้ไว้วางลงไปที่มือชายคนรัก
เมื่อเขาเห็นแหวน ก็รู้ได้ทันทีว่าหญิงผู้เป็นที่รักมาหา แต่เมื่อเงยหน้ามาดู เธอก็หนีไปเสียแล้ว แสนลุกขึ้นวิ่งจะไปตามมุกให้ได้ แต่ตามไปไม่ทัน สาวมุกได้กระโดดหน้าผาลงไปแล้ว แสนเลยตัดสินใจกระโดดตามไป
หลังจากเหตุการณ์อันโศกเศร้านี้จบลง ชาวบ้านต่างพากันสงสารหนุ่มสาวทั้งสอง ยามพลบค่ำ ผู้คนมักจะเห็นร่างของทั้งคู่บริเวณเชิงเขาแห่งนี้เป็นประจำ จนเป็นที่กล่าวขานเรื่อยมา
จากนั้น ชาวบ้านได้ตั้งชื่อเขาลูกนี้ว่า “เขาสาวมุก” แต่ภายหลังเพี้ยนเป็น “เขาสามมุข” พร้อมกับตั้งศาลไว้ให้ เรียกว่า “ศาลเจ้าแม่สามมุข” ส่วนบริเวณที่พบศพทั้งสอง ชาวบ้านตั้งชื่อว่า “หาดบางแสน” และผู้เป็นพ่อได้ตั้งศาลเพียงตาไว้ให้ เรียกว่า “ศาลเจ้าพ่อแสน” ซึ่งผู้คนมักมาขอพรทั้งเรื่องโชคลาภ สุขภาพ หน้าที่การงาน รวมไปถึงความรักจากทั้ง 2 ศาลนี้


ตำนานเจ้าแม่เขาสามมุขที่เล่าขานกันรุ่นสู่รุ่น เป็นตำนานในพื้นถิ่นที่มีความสำคัญในเชิงคติชนวิทยา ทำให้ใน พ.ศ. 2556 กรมส่งเสริมวัฒนธรรมขึ้นทะเบียนตำนานนี้เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ ในสาขาวรรณกรรมพื้นบ้านและภาษา
อ่านเพิ่มเติม :
- “เขานางหงส์” จ. พังงา แหล่งธรรมชาติที่มาจากตำนานรักอันโศกเศร้าของหญิงสาว
- จุดกำเนิดเจ้าพ่อตะวันออก “ผู้มีอิทธิพล” จากผลพวงนักเลงโต-อั้งยี่ อยุธยาถึงปัจจุบัน
- ตำนานเทพเจ้าจีน “มาจู่” สู่ “แม่ย่านาง” พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์จากหัวเรือถึงคอนโซลรถยนต์
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
โศกนาฏกรรมความรัก ‘เจ้าแม่เขาสามมุก’ จากตำนานที่เล่าขาน สู่ศาลเจ้าอันศักดิ์สิทธิ์ของชลบุรี. (ออนไลน์)
ตำนานเจ้าแม่เขาสามมุก. (ออนไลน์)
คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ (2544). สารานุกรม วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดชลบุรี, กรมศิลปากร (พิมพ์ครั้งที่ 1) : กรุงเทพมหานคร.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2568