จุดกำเนิดเจ้าพ่อตะวันออก “ผู้มีอิทธิพล” จากผลพวงนักเลงโต-อั้งยี่ อยุธยาถึงปัจจุบัน

จุดกำเนิดเจ้าพ่อตะวันออก “ผู้มีอิทธิพล” จากผลพวงนักเลงโต-อั้งยี่ อยุธยาถึงปัจจุบัน

จากหลักฐานทางโบราณคดีที่พบในซากเรือจมในทะเลหรือตามชายฝั่งทะเล ตั้งแต่เขตจังหวัดชลบุรีเรื่อยไปถึงจังหวัดตราดนั้น แสดงว่ามีการสัญจรไปมาของการค้าทางทะเลอยู่ตลอดเวลา ตั้งแต่สมัยพุทธศตวรรษที่ 20-21 ลงมาจนถึงปลายสมัยกรุงศรีอยุธยาเลยทีเดียว

Advertisement

การค้าทางทะเลดังกล่าวเป็นเหตุให้เกิดชุมชนหัวเมืองชายทะเลขึ้นหลายแห่ง ล้วนเป็นบ้านเล็กเมืองน้อย และบางแห่งก็ไม่ถาวร มีการเคลื่อนย้ายไปตามความเหมาะสมของกิจกรรมในการเดินเรือ จึงไม่อาจกำหนดตำแหน่งเมืองสำคัญได้ชัดเจน

กรุงศรีอยุธยา

หลักฐานทางประวัติศาสตร์สมัยกรุงศรีอยุธยา ทั้งที่เป็นหลักฐานภายใน และหลักฐานภายนอก มักกล่าวถึงชื่อเมือง เช่น ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด กันบ่อย ๆ แต่ไม่พบอะไรที่แสดงตำแหน่งที่ถาวรของหัวเมืองเหล่านั้นเลย คงมีแต่เพียงเมืองจันทบุรีเพียงแห่งเดียวเท่านั้นที่มีร่องรอยของเนินดิน กำแพงเมือง คูเมืองและโบราณสถานวัตถุ แสดงให้เห็นว่าเป็นเมืองที่ถาวรและสำคัญ ในขณะเดียวกันก็คงเป็นเมืองที่มีอำนาจพอสมควรในการปกครองบรรดาหัวเมืองชายทะเลเหล่านี้

ความไม่แน่นอนในตำแหน่งที่ตั้งของเมืองอันเนื่องมาจากการไม่อยู่คงที่ถาวร ได้สะท้อนให้เห็นสิ่งที่น่าเป็นไปได้อย่างหนึ่งว่า ผู้คนที่เข้ามาตั้งหลักแหล่งนั้นอาจมีการเคลื่อนย้ายโยกย้ายบ่อยครั้ง แล้วยังเป็นพวกที่มีหลายพ่อพันแม่ที่มาจากถิ่นต่าง ๆ เผ่าพันธุ์ต่าง ๆ หรือบ้านเมืองต่าง ๆ ทำให้เกิดความหลากหลายทางวัฒนธรรมขึ้น ไม่อาจรวมกันเป็นกลุ่มก้อนเป็นพวกเดียวกันในทางวัฒนธรรม ที่จะมีผลให้เกิดการบูรณาการทางการเมืองขึ้นได้ ทั้งนี้ก็เพราะศูนย์กลางอำนาจที่สำคัญ เช่น อยุธยา ไม่เห็นความจำเป็น ดังนั้น สภาพและฐานะของเมืองชายทะเลเหล่านี้ จึงอยู่ในลักษณะที่เป็นบริเวณชายขอบตลอดมา

ความเปลี่ยนแปลงในเรื่องตำแหน่งที่ตั้ง และฐานะของบรรดาหัวเมืองชายทะเลตะวันออกนี้ น่าจะเกิดขึ้นอย่างมากตั้งแต่รัชกาลสมเด็จพระนเรศวรเป็นต้นมา อันเนื่องมาจากการสงครามกับทางเขมร เพราะพวกเขมรแอบเข้ามาโจมตีกวาดต้อนผู้คนอยู่เนือง ๆ

พอมาถึงรัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง กิจกรรมการค้าทางทะเลก็เจริญมากขึ้น มีพวกพ่อค้าทางตะวันตกเข้ามาตั้งสถานีการค้า และสนับสนุนให้เกิดชุมชนหัวเมืองชายทะเลเพิ่มขึ้น ซึ่งทางรัฐบาลไทยจำเป็นต้องให้ความสนใจและจัดระบบในการควบคุมและปกครองบ้านเมืองที่เกิดขึ้นเหล่านั้น ทั้งในเรื่องป้องกันการรุกรานจากศัตรู และการรักษาผลประโยชน์ทางการค้าและการเก็บภาษีอากร

อนุสาวรีย์พระเจ้าตากสินในค่ายทหารเมืองจันทบุรี

แต่กระนั้นก็ดี เรื่องราวเกี่ยวกับบ้านเมืองทางภูมิภาคตะวันออก ทั้งในเขตชายทะเลและเขตที่ลุ่มดอนภายในก็ยังไม่มีอะไรที่โดดเด่น จนกระทั่งตอนเสียกรุงแก่พม่า จึงเกิดมีความสำคัญขึ้น อันเนื่องมาจากสมเด็จพระเจ้าตากสินทรงพาไพร่พลหนีจากอยุธยามาสร้างกำลังทางหัวเมืองตะวันออก เพื่อกลับไปกู้กรุงศรีอยุธยา

ข้อมูลเกี่ยวกับการเดินทางผ่านมาที่นครนายก ปราจีนบุรี ชลบุรี ระยอง จนถึงการตีเมืองจันทบุรี และตั้งมั่นรวบรวมไพร่พลอยู่ ณ เมืองจันทบุรีนั้น ล้วนแสดงให้เห็นสภาพที่เป็นชายขอบอย่างชัดเจนของบ้านเมืองในภูมิภาคตะวันออก ทั้งในเขตที่ลุ่มตอนภายในกับเขตชายทะเลนั้น

ในเขตที่ลุ่มตอนภายใน ชุมชนที่ตั้งอยู่ในแต่ละแห่ง ไม่ว่าจะเป็นนครนายก และปราจีนบุรี ล้วนมีสภาพเป็นด่าน หรือเมืองด่านที่ผู้คนมีลักษณะเป็นพวกสะสม และหลาย ๆ แห่งทีเดียวที่เป็นช่องของพวกโจรผู้ร้ายหนีอาญาบ้านเมือง ไม่มีอะไรที่เป็นชุมชนใหญ่ แต่มีลักษณะกระจายไปตามที่ต่าง ๆ

ส่วนบรรดาหัวเมืองชายทะเลที่มีอยู่ก็เป็นแหล่งของพวกสะสมเช่นเดียวกัน ผู้ที่เป็นขุนนางเจ้าเมือง หรือกรรมการเมือง เช่น เจ้าเมืองจันทบุรี และเมืองระยอง ชลบุรี ก็มีลักษณะเป็นชาวต่างชาติ หรือไม่ก็พวกโจรหรือนักเลงที่มีอำนาจ และทางกรุงศรีอยุธยาให้ยศตำแหน่งเพื่อความสะดวกสบายในการปกครอง

คนเหล่านี้มีทั้งอำนาจและผลประโยชน์ จึงเป็นเหตุให้สมเด็จพระเจ้าตากสินต้องทรงใช้กำลังในการปราบปรามอย่างเด็ดขาด เช่น การตีเมืองจันทบุรี ซึ่งมีเจ้าเมืองที่แท้จริงคือพ่อค้าที่มีอำนาจ กับการปราบปรามนายทองอยู่นกเล็กที่ชลบุรี ที่แท้จริงคือพวกโจรผู้ร้ายนั่นเอง คนเหล่านี้ย่อมไม่รู้สึกอะไรกับการเป็นคนขายชาติหรือไม่รักชาติอย่างที่เราคิดเห็นกันในปัจจุบัน

สมัยกรุงธนบุรีจนถึงกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น

ตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรีจนถึงกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นนั้น นับได้ว่าได้แลเห็นสิ่งที่เป็นมิติทางสังคม การเมือง และในที่สุดลักษณะทางวัฒนธรรมของบ้านเมืองในภาคตะวันออกเด่นชัดขึ้น

ตัวแปรที่สำคัญที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมขึ้นก็คือ สงครามที่ไทยต้องทำกับเขมร ลาว และญวน

การส่งกองทัพบกไปตีเขมร ต้องผ่านบริเวณที่ดอนลุ่มทางภาคตะวันออก ผ่านอรัญประเทศไปยังเสียมราฐ และพระตะบอง ทางกรุงเทพฯ ได้ขุดคลองไปยังนครนายก เพื่อการขนส่งกำลัง ต่อจากนั้นก็เดินทัพผ่านปราจีนไปยังอรัญประเทศเพื่อเข้าแดนเขมร ในสมัยรัชกาลที่ 3 การปราบปราบลาวและเขมร ทำให้มีการกวาดต้อนผู้คนที่เป็นของลาวมาไว้ที่ปราจีนบุรีและฉะเชิงเทราเป็นจำนวนมาก เป็นเหตุให้เกิดชุมชนใหม่ ๆ นับแต่หมู่บ้านไปจนถึงเมืองด้วยอีกมากมายหลายแห่ง บรรดาเมืองใหม่ที่เกิดขึ้นนั้น ปัจจุบันก็กลายเป็นอำเภอไปหลายแห่ง เช่น เมืองกบินทรบุรี เมืองพนมสารคาม เมืองพนัสนิคม เป็นต้น

ส่วนบริเวณชายฝั่งทะเลนั้น ก็มีการเปลี่ยนแปลงเนื่องมาจากสงครามเช่นเดียวกัน เพราะการรบกับเขมรและญวนนั้นต้องอาศัยกองทัพเรือด้วย

รัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 3

นับแต่สมัยรัชกาลที่ 1 ลงมาจนถึงรัชกาลที่ 3 ได้เกิดการสร้างเมืองป้อมขึ้นหลายแห่ง เพื่อป้องกันการรุกรานจากข้าศึก เช่น เมืองสมุทรปราการที่แม่น้ำเจ้าพระยา เมืองพระประแดง และเมืองฉะเชิงเทรา ริมแม่น้ำบางปะกงคือตัวอย่างของเมืองป้อมที่ดี แม้ว่าที่ชลบุรี ระนอง และตราด จะไม่มีการสร้างป้อม และสร้างเมืองแต่อย่างใด แต่ที่เมืองจันทบุรี ก็ดูเหมือนจะได้รับการเสริมสร้างให้เป็นเมืองสำคัญที่เป็นฐานทัพ เป็นแหล่งที่ต่อเรือเพื่อใช้ทั้งการสงครามและการค้าขาย สมัยรัชกาลที่ 3 โปรดให้สร้างเมืองป้อมขึ้น ณ ตำบลเขาเนินวง เพื่อเตรียมรับศึกพวกญวน

อีกสิ่งหนึ่งในทางประวัติศาสตร์ที่ทำให้บ้านเมืองทางภาคตะวันออกมีการเปลี่ยนแปลงทางสังคม และเศรษฐกิจที่สำคัญก็คือ การหลั่งไหลเข้ามาของคนจีน

แต่ครั้งรัชกาลที่ 3 คนจีนอพยพเข้ามารับจ้างเป็นแรงงาน และมีอาชีพเป็นพ่อค้า ตลอดจนทำสวนทำไร่กันมากตามจังหวัดชายทะเล ทั้งทางตะวันออกและตะวันตก

ทางตะวันออกดูเหมือนจะมากกว่าคือ ในเขตจังหวัดฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี ชลบุรี ระยอง และจันทบุรี ผลที่ตามมาก็คือ ทำให้เกิดชุมชนที่เป็นย่านตลาด ย่านค้าขายสิ่งของที่ถาวร ซึ่งเป็นพื้นฐานของเมืองในปัจจุบัน เพราะความเป็นเมืองแต่สมัยก่อน ๆ นั้น ไม่ได้ดูที่ตลาดเป็นลักษณะสำคัญ นอกจากย่านตลาดแล้วก็เป็นแหล่งเพาะปลูกพืชไร่ และผลไม้ เช่น อ้อย สับปะรด และผัก

การเข้ามาตั้งหลักแหล่งของคนจีน ทำให้เกิดปฏิสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ และสังคมระหว่างเมืองและหมู่บ้านในชนบทอย่างแพร่หลาย เพราะคนจีนที่เป็นพวกพ่อค้า คือผู้ที่นำสินค้าจากเมืองไปแลกเปลี่ยนกับสินค้าทางเกษตรกับสินค้าป่าจากชาวบ้านในถิ่นต่าง ๆ เกิดมีเส้นทางคมนาคมทั้งทางน้ำทางบก รวมทั้งตลาดและแหล่งซื้อขายสินค้าตามชุมชนของชนบทเป็นจำนวนมาก ในขณะเดียวกันคนจีนเหล่านั้นบางพวกก็เข้าไปตั้งหลักแหล่งแต่งงานปะปนกับชาวบ้าน

ผลที่ตามมาก็คือ ตามเมือง และหมู่บ้านในเขตภาคตะวันออกนั้น เกิดผู้คนที่ผสมผสานกันในทางชาติพันธุ์

หลายเผ่า หลากสกุล มีทั้งไทย จีน ลาว เขมร ญวนและอื่น ๆ แต่ทว่ายังไม่มีการสร้างอะไรที่เป็นขนบประเพณีที่เรียกว่าเป็นวัฒนธรรมร่วมกันขึ้น เป็นแค่เพียงการผสมผสานที่ยังไม่มีความกลมกลืนในทางวัฒนธรรม

ยิ่งกว่านั้นบรรดาประเพณีหลวงจากพระนครที่เคยแพร่หลายไปครอบงำสังคมชนบทในท้องถิ่นต่าง ๆ ตามภูมิภาคอื่น ๆ ก็หาได้มีบทบาทเข้ามาไม่ จึงทำให้สภาพสังคมและวัฒนธรรมของคนในภูมิภาคนี้ มีลักษณะชายขอบ (marginal) อย่างแท้จริง

การที่ทางรัฐบาลไม่ได้ให้ความสนใจเท่าที่ควรทั้งในด้านการปกครองและการบริหารและการสร้างบูรณาการทางวัฒนธรรมนั้น มีผลทำให้เกิดความขัดแย้งใน พ.. 2391 คือการกำเริบเสิบสานของพวกอั้งยี่ที่เมืองฉะเชิงเทราถึงขนาดที่ฆ่าเจ้าเมืองตาย แล้วยึดเมืองฉะเชิงเทราไว้ ทำให้รัฐบาลต้องใช้กำลังปราบปรามอย่างเฉียบขาด เกิดความเกลียดแค้นในเรื่องชาติพันธุ์ขึ้น พวกจีนทั้งที่เป็นอั้งยี่และไม่ใช่อั้งยี่ ถูกกองทหารของทางรัฐบาล ชาวบ้านที่เป็นคนไทย คนลาว ร่วมกันฆ่าตายเป็นจำนวนพัน ทั้งในเขตจังหวัดฉะเชิงเทรา และชลบุรี

การกบฏอั้งยี่นี้นับได้ว่า แตกต่างจากการกบฏทั้งหลายแหล่ที่เคยมีมาก่อน แต่ก่อนการก่อกบฏที่เกิดขึ้นนั้น เป็นเรื่องของการแย่งชิงอำนาจกันระหว่างคนในเขตการปกครองด้วยกันเองกับการแสดงอำนาจของคนที่ตั้งตัวเป็นผู้วิเศษที่เรียกว่า ผีบุญ การกบฏทั้งสองอย่างนี้ไม่มีลักษณะที่เป็นองค์กรและกระบวนการอะไรที่แน่นอน เพราะขึ้นอยู่กับบุคคลที่เป็นผู้นำ เมื่อประสบความสำเร็จแล้ว หรือถูกปราบปรามแล้วก็หมดสิ้นไป ไม่มีเชื้ออะไรเหลืออยู่

แต่กบฏอั้งยี่ที่เกิดขึ้นนั้นมาจากกระบวนการและองค์กรที่แน่นอน แม้ว่าจะถูกปราบปรามไปแล้วก็ตาม รูปแบบ วิธีการ และกระบวนการยังคงอยู่ เพียงแต่ไม่มีโอกาสและจังหวะที่จะแสดงออกมาเท่านั้น

กระบวนการอั้งยี่นับว่าเป็นประเพณีและวัฒนธรรมใหม่ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยที่เจริญเติบโตสืบเนื่องในภาคตะวันออกจนอาจกล่าวได้ว่าเป็นรูปแบบทางวัฒนธรรมที่เป็นลักษณะเฉพาะของภูมิภาคก็ว่าได้

แต่ก่อนสังคมไทยในชนบท มักมีอำนาจแข่งในท้องถิ่นที่ขัดแย้งกับระบบการปกครองของรัฐบาลอย่างหนึ่ง คือ อำนาจของพวกนักเลงโต (big man)

ผู้ที่เป็นนักเลงโตดังกล่าวนี้ ปกติก็คือ บุคคลที่ใจกว้าง รักเพื่อนพ้องแต่ชอบใช้พละกำลังในทางที่ผิดกฎหมายบ้านเมือง

เมื่อใดที่อำนาจของทางบ้านเมืองลงไม่ถึงในด้านการปกครองให้เกิดความสงบสุขได้ อำนาจของพวกนักเลงโต ก็จะปรากฏขึ้น เกิดเป็นผู้ใหญ่หรือคนสำคัญในท้องถิ่นที่มีบริวารหรือสมัครพรรคพวกมาก ผู้คนมักเข้าใจไปพึ่งพาขอความช่วยเหลือ จนกระทั่งผู้คนจากภายนอกมักมองดูว่าเป็นเหมือน ซ่องโจร หรือ กลุ่มโจร ไป

เมื่อทางรัฐบาลไม่สามารถปราบปรามได้ ก็มักเกลี้ยกล่อมให้สวามิภักดิ์ แล้วแต่งตั้งเป็นขุนนางที่ราชการปกครองท้องถิ่นนั้นไปให้ถูกกฎหมายเสีย การกระทำเช่นนี้อาจกล่าวได้ว่าเป็นนโยบายของการปกครองท้องถิ่นที่อยู่ทางชายขอบข้างเคียง

แต่อำนาจหรืออิทธิพลของนักเลงโตนั้นเป็นศักยภาพเฉพาะบุคคล เมื่อตัวบุคคลหมดสิ้นไปก็สิ้นสุดลงไปด้วย มักไม่มีการสืบเนื่องจนเป็นกระบวนการ ยิ่งกว่านั้นการดำเนินนโยบายของรัฐบาลเองในการให้ตำแหน่งยศถาบรรดาศักดิ์แก่บุคคลเหล่านี้แล้วก็ทำให้กลับมีใจภักดีต่อบ้านเมือง กลายเป็นผู้รักษากฎหมายเอาใจใส่ดูแลวัดวาอารามเพื่อสร้างเสริมความดีแก่วงศ์ตระกูล ทำให้ลูกหลานที่สืบมากลายเป็นขุนนางข้าราชการที่มีชื่อเสียงและเป็นคนสำคัญของบ้านเมืองต่อมาก็มาก

นักปราชญ์ที่ไม่อยากเอ่ยนามในที่นี้ชอบพูดให้ฟังบ่อย ๆ ว่า ผู้ที่เป็นต้นสกุลสำคัญ ๆ ของบ้านเมืองบางสกุล เคยเป็นโจรสลัดมาก่อนก็มี

ส่วนขบวนการอั้งยี่นั้นหาเป็นเช่นนั้นไม่ ถึงแม้ว่าหลาย ๆ อย่างจะขึ้นอยู่กับความเข้มแข็งหรือความสามารถส่วนบุคคลที่เป็นผู้นำก็ตาม แต่ก็มักจะมีการรวมกันเป็นองค์กรมีโครงสร้างและวิธีการดำเนินการที่มีเครือข่ายและการสืบเนื่องเสมอ ดังนั้นแม้ว่าอั้งยี่ในสมัยรัชกาลที่ 3 ถูกปราบปรามอย่างโหดเหี้ยมและราบคาบ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะหมดไป มีการก่อหวอดขึ้นบ่อย ๆ ในสมัยต่อ ๆ มา เช่นในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นต้น จนถึงต้องมีการปราบกันก็มี

การให้กรรมสิทธิ์ที่ดินแก่คนทั่วไปในรัชกาลนี้ ถือว่าเป็นมูลฐานสำคัญที่ทำให้เกิดพวกนายทุน และพ่อค้าซึ่งเป็นชนชั้นกลางขึ้น คนเหล่านี้เป็นจำนวนมากที่เป็นชาวจีน และมีลูกหลานดำเนินกิจกรรมที่สืบต่อมาเกิดเป็นหลายก๊กหลายเหล่าที่บางทีมีผลประโยชน์ขัดกันเอง ทำให้เกิดการแข่งขันและทำลายซึ่งกันและกัน แต่ละพวกจึงต้องหาผู้คุ้มกัน ซึ่งในการนี้พวกอั้งยี่เหมาะสมที่สุด เพราะเป็นคนจีนด้วยกัน ในขณะที่การขอความคุ้มครองจากบ้านเมือง เป็นเรื่องไม่สะดวก อันเนื่องมาจากอาชีพและการงานของพวกนายทุนพ่อค้าเหล่านี้ บางอย่างก็ไม่สุจริตนัก แต่ถึงแม้ว่าจะมีอาชีพที่สุจริตแต่ก็ไม่แน่ใจนักว่าทางราชการบ้านเมืองจะให้ความคุ้มครองได้เพียงพอ ยิ่งกว่านั้นบุคคลที่เป็นพ่อค้าเหล่านี้ก็อาจจะถูกพวกอั้งยี่คุกคามรีดไถเงินทองโดยการตอบสนองให้ความคุ้มครองก็มี

เพราะฉะนั้นการที่ยังมีขบวนการอั้งยี่อยู่ดังกล่าวนี้ ย่อมแสดงให้เห็นว่ามีอะไรหลายอย่างที่ไม่สมดุลเกิดขึ้นในสังคมของพวกที่อยู่ทางภูมิภาคตะวันออกที่มีลักษณะเป็นบริเวณชายขอบทางการปกครองในขณะนั้น

สมัยรัชกาลที่ 5

อาจกล่าวได้ว่าตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ลงมาบรรดาหัวเมืองทางชายฝั่งทะเลตะวันออกมีพัฒนาการกว่าสมัยใด ๆ ที่ผ่านมาถึงแม้ว่าแต่ก่อนเคยมีผู้คนอยู่น้อยกระจายกันอยู่ในถิ่นต่าง ๆ แต่ในช่วงเวลานี้ลงมามีคนเคลื่อนย้ายเข้าไปตั้งถิ่นฐานเพิ่มขึ้นอยู่เรื่อย ๆ มีทั้งผู้ประกอบอาชีพเป็นชาวนาปลูกข้าวกันแบบภูมิภาคอื่น ๆ ผู้ประกอบอาชีพในการทำไร่ เช่นทำไร่อ้อยเป็นตัวอย่างผู้ที่ทำสวนผลไม้และปลูกยางพาราก็นับได้ว่าเป็นกลุ่มที่สำคัญกลุ่มหนึ่งพวกที่เคลื่อนย้ายมาขุดแร่ขุดพลอยขายก็เป็นอีกกลุ่ม ในขณะที่ชาวพื้นเมืองที่อยู่มาแต่เดิมตามชายฝั่งทะเลมีอาชีพทำการประมง

นอกจากกลุ่มอาชีพเหล่านี้แล้วก็ยังมีพวกพ่อค้าที่เป็นคนหลายชาติหลายภาษาเข้ามาประกอบกิจการตามย่านที่เป็นเมืองและตลาด ทำให้บ้านเมืองในภูมิภาคนี้มีความหลากหลายและซับซ้อนในทางวัฒนธรรมเพิ่มขึ้นกว่าแต่เดิม สภาพและลักษณะทางสังคมก็ยังเป็นแบบชายขอบที่ยังไม่มีความเป็นปึกแผ่นในด้านบูรณาการทั้งทางวัฒนธรรม และการเมืองเช่นเดิม

ชีวิตและความเป็นอยู่ของผู้คนดูเหมือนว่าจะอยู่ภายใต้การปกครองและชี้แนะของทั้งองค์กรของทางรัฐที่มีอำนาจหน้าที่โดยตรง กับกลุ่มบุคคลที่มีอำนาจและเป็นผู้กว้างขวางและมีอิทธิพลในท้องถิ่น ซึ่งดูเหมือนว่าจะมีพลังกว่าทางราชการ และในบางครั้งก็แสดงการขัดขืนและท้าทายอำนาจรัฐ ถ้าหากมีการขัดผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจเกิดขึ้น

กลุ่มบุคคลที่มีอิทธิพลในท้องถิ่นเหล่านี้คือผลพวงของความเป็นมาแต่อดีต ที่เคยมีพวกนักเลงโตและอั้งยี่มาก่อน มีลักษณะเป็นการผสมผสานของทั้งการเป็นนักเลงโตและอั้งยี่ในเวลาเดียวกัน นั้นก็คือบุคคลที่เป็นใหญ่หรือหัวหน้าของกลุ่มนั้น มักเป็นผู้มีนิสัยใจคอกว้างขวางกล้าได้กล้าเสียแบบนักเลงโต ช่วยเหลือและอุปถัมภ์ผู้ที่มาขอพึ่งพาและบรรดาพรรคพวกในท้องถิ่นของตน แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นผู้แสวงหาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ และสถาปนาความมั่นคั่งแก่ตนเอง มีสมัครพรรคพวกที่เป็นบริวารทำหน้าที่คุ้มครองรักษาผลประโยชน์แก่ตน พร้อม ๆ กับการที่จะทำร้ายและทำลายบุคคลอื่น ๆ ที่ขัดผลประโยชน์ของตน

บุคคลที่เป็นหัวหน้าหรือผู้นำเหล่านี้แม้ว่าจะล้มหายตายจากไปเช่นเดียวกับพวกนักเลงโตในอดีตแต่ขบวนการของการมีอิทธิพลแบบอั้งยี่ก็ยังดำรงอยู่เกิดตัวตายตัวแทนสืบเนื่องเรื่อยมา

การมีกลุ่มอิทธิพลประจำท้องถิ่นดังกล่าวนี้มักก่อให้เกิความขัดแย้งกันระหว่างกลุ่มมีอิทธิพลในท้องถิ่นเดียวกันหรือต่างถิ่นอยู่เนือง ๆ โดยที่ทางกฎหมายบ้านเมืองไม่อาจเข้าไปควบคุมได้สะดวกชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนทั่วไปในแต่ละท้องถิ่น จึงมักขึ้นอยู่กับระบบอุปถัมภ์ของ ผู้มีอิทธิพล กับผู้ที่เป็นชาวบ้านผู้ที่ต้องพึ่งพาอยู่เสมอ

ผู้มีอิทธิพล ในท้องถิ่น หรือกลุ่มอิทธิพลในท้องถิ่นตามที่กล่าวมานี้ ไม่ได้มีลักษณะหยุดนิ่ง หากมีการขยายตัวเติบโตจากระดับท้องถิ่นและจังหวัดอยู่เนือง ๆ ในบางครั้งก็มีการกระทำที่ท้าทายต่อกฎหมายบ้านเมืองขึ้นอย่าง เช่น การกระทำของพวกหลงจู๊ในเขตจังหวัดชลบุรีที่กักขังและทำทารุณกรรมต่อคนงานที่มาจากภาคอีสาน และภูมิภาคอื่น จนเป็นเหตุให้มีการปราบปรามและจับกุมกันขึ้น เป็นต้น

ปัจจุบันการสืบเนื่องและการเติบโตของผู้มีอิทธิพลท้องถิ่น ก็ได้พัฒนามาเป็นขบวนการเจ้าพ่อหรือมาเฟียอะไรทำนองนั้น จนมีขอบเขตอำนาจและอิทธิพลครอบงำไปทั่วทั้งจังหวัดและภูมิภาคมีการขัดแย้งการทำลายล้างกันและควบคู่ไปกับการกระทำหลาย ๆ อย่างที่ผิดกฎหมาย จนปรากฏเรื่องราวในหน้าหนังสือพิมพ์อยู่บ่อย ๆ จนอาจกล่าวได้ว่าความขัดแย้งและความรุนแรง (Violence) เป็นลักษณะทางวัฒนธรรมอย่างหนึ่งในหัวเมืองชายทะเลในภูมิภาคนี้ก็ได้

อย่างไรก็ตาม ก็ไม่อาจปฏิเสธความเป็นจริงที่ว่า ไม่ว่าจะเป็นขบวนการเจ้าพ่อหรือมาเฟียในระดับจังหวัดหรือภูมิภาค หรือผู้มีอำนาจในระดับท้องถิ่นอะไรต่าง ๆ ของเขา เนื้อแท้ของสิ่งเหล่านี้ก็คือความสัมพันธ์ในระบบอุปถัมภ์ที่มีอิทธิพลกับผู้อุปถัมภ์ที่เป็นชาวบ้านชาวเมืองนับเป็นวิถีชีวิตหรือรูปแบบทางวัฒนธรรมอย่างหนึ่งของสังคมในภูมิภาคนี้ที่มีมาแต่ประวัติศาสตร์ เป็นปรากฏการณ์ที่น่าจะดำรงไปอีกนาน เพราะชีวิตความเป็นอยู่ตลออดจนความสงบสุขของผู้คนธรรมดาส่วนใหญ่ในสังคมไม่ได้รับความกระทบกระเทือนและยังต้องพึ่งพาต่อสิ่งเหล่านี้หรือระบบเหล่านี้อยู่

การเสียเมือง และการเป็นสถานที่ท่องเที่ยว-ที่พักตากอากาศ

ความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางบ้านเมืองในภูมิภาคตะวันออกนี้อีกอย่างหนึ่ง ซึ่งจำเป็นต้องกล่าวในที่นี้ก็คือการเสียเมืองจันทบุรีให้กับฝรั่งเศสในสมัยรัชกาลที่ 5 กับการที่บริเวณชายฝั่งทะเลเป็นสถานที่ท่องเที่ยวและที่พักตากอากาศ

เรื่องแรกอันเป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับดินแดนนั้นสะท้อนให้เห็นข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งที่ว่าการเข้าครอบครองของฝรั่งเศสจักรวรรดินิยมในยุคนั้น ก็เป็นแรงผลักดันของคนภายในจังหวัดที่แสวงหาผลประโยชน์จากการมีสิทธิ์เป็นคนในสังกัดของมหาอำนาจ ซึ่งก็แน่นอนว่าเป็นลักษณะอย่างหนึ่งของสังคมชายขอบ ที่ทางรัฐบาลไทยไม่อาจสร้างความเป็นปึกแผ่นทางการเมืองและการปกครองได้ในขณะนั้น

ส่วนเรื่องการเกิดสถานที่ท่องเที่ยวและพักตากอากาศนั้น ก็เป็นการเริ่มต้นมาแต่การเสด็จประพาสและสร้างวังและที่พักตากอากาศของพระมหากษัตริย์ เจ้านาย ขุนนางและต่อมาผู้ที่เป็นคหบดีนับตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา นับแต่บริเวณ บางปู อ่างศิลา บางแสน ศรีราชา เกาะสีชัง พัทยา เรื่อยไปจนถึงระยอง หาดแม่พิมพ์ ได้มีการพัฒนาการเป็นสถานที่ท่องเที่ยวและตากอากาศเรื่อยมาจนปัจจุบัน

ในสมัยรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 นั้นสถานที่และชุมชนเหล่านี้คือบริเวณที่ห่างไกล จึงต้องมีการเสด็จประพาสและไปท่องเที่ยวกัน ซึ่งก็สะท้อนให้เห็นสภาพแวดล้อมและฐานะการเป็นบริเวณชายขอบของบ้านเมือง ที่มีศูนย์กลางอยู่กรุงเทพมหานครในยุคนั้น

ทีนี้หันมามองสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ นับตั้งแต่สมัยการทำสงครามเวียดนามของพวกอเมริกันจนเป็นเหตุให้มีการสร้างสนามบินอู่ตะเภา และการทำถนนที่เป็นเส้นทางยุทธศาสตร์ไปยังภาคตะวันออกเฉียงเหนือเรื่อยมาจนถึงการขยายตัวทางเศรษฐกิจ การทำพืชไร่ การตัดป่ารุกที่ทำกิน การพบแหล่งก๊าซตลอดจนถึงโครงการท่าเรือน้ำลึก และการสร้างแหล่งอุตสาหกรรมชายฝั่งทะเล รวมทั้งการสร้างเมืองพัทยาและที่อื่น ๆ ให้เป็นแหล่งทองเที่ยวอะไรต่าง ๆ นานา

สิ่งเหล่านี้ล้วนก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจสังคม การเมือง วัฒนธรรมของภูมิภาคตะวันออกทั้งหมดอย่างรวดเร็วกว่าภูมิภาคอื่น ๆ ก็ว่าได้ ทำให้สภาพสังคมมีความหลากหลาย ซับซ้อน ก้าวหน้า และล้าหลังในเวลาเดียวกัน

อย่างคร่าว ๆ สิ่งที่เห็นอยู่ในปัจจุบันก็คือ ในเขตที่ลุ่มดอนภายในมีถนนหนทางถึงกัน เกิดย่านที่เป็นเมือง อันเป็นศูนย์กลางของเกษตรกรรมแบบพืชไร่ เกิดสังคมชาวไร่ที่แตกต่างไปจางสังคมชาวนาในที่ราบลุ่มแต่อดีต การติดต่อคมนาคมกับทางกัมพูชาที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ก็อาจทำให้บริเวณนี้มีสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงมากขึ้นไม่ได้อีกเช่นกัน

ส่วนในเขตชายทะเลนั้นคงไม่ต้องพูดถึงก็ได้ มีทั้งสังคมเมือง สังคมอุตสาหกรรม สังคมชาวสวน ชาวไร่ ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมอย่างไม่เคยมีมาก่อนแน่นอน เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างชนชั้นระหว่างคนพื้นเมืองแต่เดิมที่ต้องสูญเสียที่ดินและต้องเปลี่ยนอาชีพ กับกลุ่มคนต่างถิ่นที่มีผลประโยชน์และมีความได้เปรียบในทุกทาง

เมื่อดูอนาคตของการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจก็นับได้ว่าดูสดใส แต่ปัญหาทางสังคมที่ตามมานั้นค่อนข้างจะมืดมนถ้าหากไม่มีการศึกษาเพื่อทำความเข้าใจหาทางป้องกันและแก้ไข

การที่จะทำให้เกิดความรู้และความเข้าใจถึงความเป็นมาทางสังคมและวัฒนธรรมอย่างลึกซึ้ง เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นให้เป็นผลดีนั้น การศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเพื่อทราบความเป็นมาทางสังคมของแต่ละท้องถิ่นที่มีการสืบเนื่องมาแต่โบราณ นับเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งบรรดาชื่อของสถานที่สำคัญ ๆ นับแต่ชื่ออำเภอ ตำบล หมู่บ้าน หรือวัด (place names) ล้วนเป็นเรื่องที่ควรแก่การศึกษาเพื่อทราบความเป็นมาและความหมายที่เป็นลักษณะเฉพาะทางภูมิศาสตร์และวัฒนธรรมในท้องถิ่นนั้น

แต่สิ่งที่จะละเลยเสียมิได้ก็คือประวัติ และบทบาทของผู้นำท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นผู้นำทางภูมิปัญญา ทางการเมือง ก็ล้วนเป็นเรื่องที่จะต้องศึกษาทั้งสิ้น ถ้าหากต้องการที่จะทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับพัฒนาการทางสังคมและวัฒนธรรมที่เคลื่อนไหวรุดหน้าหลากหลายและซับซ้อนในภูมิภาคตะวันออกนี้

“บริเวณชายทะเลภาคตะวันออกเป็นสังคม “ชายขอบ” ที่ราชธานีกรุงศรีอยุธยาควบคุมไม่ได้และไม่สนใจเข้าควบคุม ในที่สุดก็กลายเป็น ซ่องโจร ของพวก นักเลงโต ที่มาจากร้อยพ่อพันแม่ 

เมื่อคนจีนอพยพเข้าไปตั้งถิ่นฐาน จึงเริ่มมีขบวนการ อั้งยี่ 

ความขัดแย้งและความรุนแรงก็เกิดขึ้น จนเป็นลักษณะทางวัฒนธรรมอย่างหนึ่งของหัวเมืองชายทะเลภาคตะวันออก นั่นคือ โคตรเหง้าเหล่ากอเจ้าพ่อตะวันออก” 

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


รายงานเรื่องนี้กองบรรณธิการ “ศิลปวัฒนธรรม” ปรับปรุงมาจากบทความทางวิชาการเรื่อง “ภาคตะวันออกกับการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่น” ของ รองศาสตราจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม แห่งภาควิชามานุษยวิทยา คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร (ในขณะนั้น) ซึ่งเสนอต่อที่ประชุมสัมมนา เรื่อง “ชลบุรี : ประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรม” ที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ บางแสน จัดขึ้นเมื่อวันที่ 13-16 กันยายน 2532


หมายเหตุ : กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรมปรับปรุงบทความตีพิมพ์ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับมิถุนายน 2533 ในชื่อบทความว่า “โคตรเหง้าเหล่ากอเจ้าพ่อตะวันออก”


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 17 มิถุนายน 2562