ผู้เขียน | ธนกฤต ก้องเวหา |
---|---|
เผยแพร่ |
หลังการผลัดเปลี่ยนแผ่นดินในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เป็นสมเด็จพระเพทราชา เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) หรือ “โกษาปาน” มีชะตากรรมเป็นอย่างไร?
แน่นอนว่า โกษาปานเคยเป็นที่โปรดปรานของสมเด็จพระนารายณ์มากกว่าพระเพทราชา แต่ภายหลังการปฏิวัติ พ.ศ. 2231 บทบาทของท่านในแผ่นดินสมเด็จพระเพทราชาแทบไม่ปรากฏ ทั้งที่ถูกแต่งตั้งเป็นพระยาพระคลัง ทำหน้าที่ดูแลชาวต่างประเทศ เรื่องราวของโกษาปานค่อย ๆ เงียบหายไป
ขณะที่พระเพทราชาต้องตามกวาดล้างศัตรูมากมาย ตั้งแต่กบฏที่มีผู้นำอ้างว่าเป็นเจ้าฟ้าอภัยทศ กบฏที่เมืองโคราชและนครศรีธรรมราช การปราบปรามกบฏเหล่านั้นไม่ปรากฏชื่อของโกษาปานว่ามีบทบาทใด ๆ อีก ประหนึ่งไม่ได้รับราชการอีกต่อไปแล้ว
เป็นไปได้ว่าพระเพทราชาไม่โปรดโกษาปานนัก เพราะท่านเคยเป็นคนโปรดมากกว่าพระองค์ เมื่อครั้งสมเด็จพระนารายณ์ยังครองราชสมบัติอยู่ กระนั้นท่านยังมีชื่อเสียงและเป็นที่นิยมของผู้คนจำนวนมากเสียจนพระเพทราชาในฐานะพระเจ้าแผ่นดินเองก็ทรงมีจิตริษยาอยู่อย่างเงียบ ๆ
ถึงขนาดเกรงว่า โกษาปานอาจจะชิงราชสมบัติของพระองค์!
พ.ศ. 2239 เกิดภาวะข้าวยากหมากแพง แผ่นดินสยามเผชิญภัยพิบัติต่าง ๆ ประกอบกับข่าวลือว่า ฝรั่งเศสจะหวนกลับมาทำสงครามกับอยุธยาอีก ทำให้ สมเด็จพระเพทราชา กริ้วอยู่เป็นนิตย์ และมักจะลงพระราชอาญาขุนนางน้อยใหญ่ แม้ไม่มีเหตุอันควรก็ตาม หนึ่งในคนที่ต้องพระราชอาญาอย่างหนักไม่ใช่ใครที่ไหน เป็นพระยาพระคลัง หรือโกษาปานนั่นเอง
หลักฐานฝรั่งเศสเล่าว่า พระเพทราชากริ้วโกษาปานด้วยเหตุอันใดไม่ทราบ แต่รุนแรงถึงขั้น “ฉวยพระแสงฟันถูกจมูกโกษาปาน” เป็นเหตุให้ปลายจมูกโกษาปานแหว่ง หลังเหตุการณ์นั้น ท่านยังถูกจับขัง “ถูกโบยในสภาวะอันน่าอับอายและอดสูเช่นนี้” และถูกยึดทรัพย์สมบัติทั้งปวง บุตรสาว-บุตรชาย อนุภรรยาล้วนถูกจับขังด้วย
ว่ากันว่า โกษาปานตัดสินใจปลิดชีพตนเอง ใน พ.ศ. 2243 เพียง 3 ปี ก่อนการสวรรคตของ สมเด็จพระเพทราชา
สิ้นบุรุษผู้ยิ่งใหญ่และราชทูตผู้มีชื่อเสียงที่สุดของกรุงศรีอยุธยาด้วยประการฉะนี้
อ่านเพิ่มเติม :
- ตาม “โกษาปาน” ชมอารามแม่ชีที่ฝรั่งเศส ชื่นชมการแต่งกาย “แต่งขาวเป็นการเหมาะ”
- พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ตรัสชมโกษาปาน “ราชทูตได้ปฏิบัติล้วนแต่ถูกใจเราทุกอย่าง…”
อ้างอิง :
มานพ ถนอมศรี. (2533). เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน). กรุงเทพฯ : ต้นอ้อ.
หม่อมหลวงมานิจ ชุมสาย; ธิติมา พิทักษ์ไพรวัน แปล. (2531). สมเด็จพระนารายณ์ และโกษาปาน. กรุงเทพฯ : กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 19 ตุลาคม 2566