ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
คณะราชทูตที่นำโดย โกษาปาน เดินทางไปยังฝรั่งเศสเมื่อ พ.ศ. 2229 โดยหลังจากเสร็จภารกิจในราชสำนักฝรั่งเศสแล้ว คณะราชทูตได้ไปเยี่ยมชมและท่องเที่ยวดูบ้านเมืองฝรั่งเศสในพื้นที่ต่าง ๆ ครั้นคณะราชทูตกำลังออกเดินทางจากเมือง Valenciennes ไปยังเมือง Douai เจ้าเมือง Valenciennes ได้แนะนำราชทูตว่าทางที่จะผ่านมี “อารามแม่ชี” แห่งหนึ่งอยู่ ควรแวะเข้าไปชม
พระอารามแห่งนี้ตั้งอยู่ที่เมือง Denain มีตํานานกล่าวว่า “ท่านเจ้าเมืองผู้หนึ่งสมัยก่อนชื่อ อาดัลแบรต์ คอสตระวัง กับคุณหญิงของท่าน ชื่อแรน เป็นภคินีของสมเด็จพระเจ้าเปแปง แห่งประเทศฝรั่งเศส ต่างมีศรัทธากล้าหาญพร้อมใจกันอุทิศเคหสถานบ้านเรือนที่อยู่ของตนให้เป็นพระอารามสำหรับบวชภิกษุณี และยังอุทิศเรือกสวนไร่นาถวายเป็นที่ธรณีสงฆ์สำหรับบำรุงพระอารามนั้นอีก แต่ทุกวันนี้ที่ธรณีสงฆ์เหล่านั้นได้ตกเป็นของหลวงเสียโดยมาก
ท่านเจ้าเมืองนี้มีธิดาถึง 10 คน คนหัวปีชื่อนางรังฟรัวย์และธิดา 10 คน คนเหล่านั้นล้วนแต่ได้บวชเป็นภิกษุณีอยู่ในอารามนี้ หมดด้วยกันทั้ง 10 คน และภายหลังปรากฏว่าได้สำเร็จพระอรหันต์เป็นนักบุญสิ้นทุกคนพร้อมทั้งบิดามารดาด้วย…”
แม่ชีใน อารามแม่ชี ล้วนแต่เป็นธิดาของขุนนางชั้นสูง เพราะพระอารามมีข้อกำหนดว่า หากไม่ได้เป็นบุตรของขุนนางมาแต่เดิมแล้วจะเข้ามาขอบวชในพระอารามแห่งนี้ไม่ได้เป็นอันขาด
การบวชแม่ชีที่พระอารามแห่งนี้ก็มีความพิเศษแตกต่าง “วิธีขอบวชสำหรับภิกษุณีเหล่านี้นั้นในชั้นต้นเป็นแต่เพียงใช้ให้ทนายเชื้อขุนนางผู้หนึ่งให้การรับรองแทนตนว่าตนเป็นเชื้อขุนนางจริง เพราะได้เห็นตราประจำตระกูลของนางนั้นเป็นสำคัญ พอทนายรับรองแล้วนางที่ขอบวชนั้นก็คุกเข่าลงต่อหน้าที่ประชุมภิกษุณีและอ้อนวอนว่า ‘เดชะพระบารมีของพระผู้เป็นเจ้า ขอแม่พระและนักบุญรังฟรัวย์ (นางภิกษุณีองค์แรกในพระอารามนั้น) เป็นที่พึ่งขอได้โปรดให้ข้าพเจ้ารับส่วนแบ่งในภักษาหารแห่งพระอารามนี้ด้วยเทอญ’
ว่าเท่านี้แล้วนางหัวหน้าภิกษุณีก็เรียกขนมปังก้อนใหญ่ ๆ มาสองก้อนแล้วยื่นให้นางภิกษุณีผู้ขอบวชใหม่นั้น เป็นอันเข้าใจกันในที่ว่าขอบวชและให้บวชสำเร็จบริบูรณ์แล้ว ส่วนนางภิกษุณีใหม่นั้นพอได้รับขนมปังสองก้อนแล้วก็ตัดให้และแจกจ่ายไปให้คนขอทานทันที เป็นอันเสร็จพิธีบวชภิกษุณีในพระอารามนี้…”
แม่ชีล้วนนุ่งห่มสีขาว เสื้อธรรมดาเป็นเสื้อยาวปกคลุมตั้งแต่ศีรษะลงมาถึงข้อเท้า เวลาเมื่อจะเข้าโบสถ์ต้องสวมเสื้อชนิดสั้นและหลวมทับอีกชั้นหนึ่ง และคลุมเสื้อตัวใหญ่ทับอีกชั้น เสื้อสามชั้นเหล่านี้ล้วยเป็นสีขาวล้วน แต่ริม ๆ เย็บเป็นขลิบต่างกัน คือ เสื้อที่ใช้ประจำนั้นขลิบด้วยสีน้ำเงิน, ชั้นที่สอง ขลิบด้วยกำมะหยี่สีดำ, ชั้นที่สาม ขลิบด้วยสีขาวสีดำสลับกัน ในส่วนของศีรษะจะปกปิดด้วยผ้าขาวบาง ๆ สองชั้นแล้วมีหมวกทับเป็นหย่อมอยู่ตรงกลางอีกชั้นหนึ่ง
พงศาวดารบันทึกไว้ว่า “เมื่อราชทูตได้แลเห็นนางภิกษุณีเหล่านี้ในชั้นแรกชักงง ๆ ไปสักครู่หนึ่ง ค่าที่เห็นแปลกตาในการนุ่งห่ม ซึ่งตั้งแต่ท่านเข้ามาเมืองฝรั่งเศสยังไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อนเลย พอค่อย ๆ หายงงลงบ้างแล้วจึงได้พูดออกมาว่า ‘เสื้อขาว ๆ ดังนี้เข้าทีมากสมควรกว่าเสื้อสีอื่น ๆ ทั้งหมด ขึ้นชื่อว่าสตรีแล้วแต่งขาวเป็นการเหมาะ’
การที่ท่านราชทูตออกความเห็นในเรื่องสีขาวว่าเหมาะสำหรับการนุ่งห่มของสตรีนั้น บางทีจะเป็นเพราะท่านเคยเห็นนางชีไทยนุ่งขาวห่มขาวเป็นพื้นเสียกระมัง แต่อย่างไรก็ดีพอท่านแสดงความเห็นเรื่องนุ่งขาวห่มขาวนี้แล้ว การเจรจาในระหว่างราชทูตและนางภิกษุณีเหล่านั้นจึงค่อยสนิทกันขึ้นไม่กระดากเหมือนตอนต้นเมื่อแรกพบ”
จากนั้นแม่ชีอาวุโสท่านหนึ่งของ อารามแม่ชี จึงพาราชทูตเยี่ยมชมพระอาราม ระหว่างนั้นแม่ชีอาวุโสอธิบายเรื่องการลาบวช (สึก) ของแม่ชีในพระอารามให้ฟังว่า เมื่อแม่ชีคนใดมีโอกาสที่จะแต่งงานกับขุนนาง ก็สามารถลาบวชได้ และการลาบวชก็ไม่มีพิธีรีตองอะไร เป็นแต่ลาเพื่อนแม่ชีด้วยกัน และขอบใจกันในการที่ได้ให้อาศัยอยู่ในร่มพระศาสนาเท่านั้น
เมื่อราชทูตได้ทราบวิธีการลาบวช และทราบในพระวินัยของแม่ชีแห่งพระอารามนี้ ท่านก็ได้กล่าวว่า “วินัยนี้ดูเหมือนถือไม่ยากเลยอะไร ๆ ดูเหมือนช่างง่ายดายด้วยกันทุกข้อ จะบวชเมื่อไรก็ได้ จะสึกเมื่อไรก็ได้ ถ้าเป็นเมืองไทยละก็เข้าใจว่าคงบวชไม่นานเป็นแน่ เพราะชายผู้ดีหมดทั้งบ้านทั้งเมือง ต่างคงมุ่งหมายแต่จะใคร่ขอเป็นคู่ครองหมดด้วยกันทั้งนั้น”
พงศาวดารบันทึกต่อไปว่า “คุยกันไปคุยกันมา นางภิกษุณีเหล่านั้นเลยเชื้อเชิญราชทูตเข้าไปในห้องกินข้าวหวังจะเลี้ยงท่านตามธรรมเนียมแขกเมืองชั้นผู้ใหญ่ แต่ราชทูตไม่รับเชิญ เป็นแต่รับเลี้ยงน้ำชานิดหน่อยพอมิให้เสียไมตรีแล้วก็ลาออกจากพระอาราม ทั้งนี้ก็เพราะเกือบถึงกลางวันอยู่แล้ว และเจ้าพนักงานหลวงแผนกรับรองดูแลราชทูตก็ได้เตรียมอาหารสำหรับรับประทานกลางวันคอยท่าอยู่ที่เมืองเล็ก ๆ ชื่อเกรอง ซึ่งเป็นเมืองรายทางใกล้เข้าไปกับพระอารามนั้นอยู่แล้ว…“
อ่านเพิ่มเติม :
- พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ตรัสชมโกษาปาน “ราชทูตได้ปฏิบัติล้วนแต่ถูกใจเราทุกอย่าง…”
- โกษาปาน และจานพระเจ้าหลุยส์ที่อาจไขปริศนาอยุธยา เรื่องน่ารู้ที่ไม่มีใน “บุพเพสันนิวาส”
อ้างอิง :
ประชุมพงศาวดาร เล่ม 32 (ประชุมพงศาวดารภาคที่ 57 (ต่อ) – 58) โกศาปานไปฝรั่งเศส ภาค 1 (ต่อ) และภาค 2. กรุงเทพฯ : คุรุสภา, 2512.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 28 เมษายน 2564