“ขุนนาง” คำนี้มีที่มาจากไหน ไว้เรียกผู้ชาย แต่ทำไมใช้ “นาง” ?

ขุนนาง ผู้ชาย คำ ไทย
ข้าราชการสยามผู้ใหญ่ผู้น้อยล้วนไม่สวมเสื้อ ภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถ วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร กรุงเทพฯ

“ขุนนาง” เป็น คำไทย โดยเอาคำว่าขุนและนางมารวมกัน มีหลักฐานว่าใช้มาตั้งแต่สมัยสุโขทัย จะเห็นว่าในศิลาจารึกหลักที่ 2 (วัดศรีชุม) มีจารึกตอนหนึ่งบันทึกไว้ว่า “เป็นขุนยี่ขุนนาง…” โดยทั่วไปแล้วเราจะทราบกันดีว่า “ขุนนาง” มักใช้เรียก ผู้ชาย ที่มียศถาบรรดาศักดิ์รับราชการแผ่นดิน แต่ทำไมถึงใช้คำว่า “นาง” ซึ่งมักเอาไว้เรียกผู้หญิง และคำนี้มาจากไหนกันแน่ บทความนี้มีคำตอบ…

มีผู้สันนิษฐานไว้หลายท่านว่าขุนนางมาจากไหน

Advertisement

หลวงวิจิตรวาทการ นักปราชญ์และนักประวัติศาสตร์ของไทย เคยอธิบายว่า คำว่าขุนนาง หมายถึงผู้ที่มีบุญวาสนา ซึ่งการจะมีบุญวาสนา ผู้ชาย ก็จะต้องมีข้าผู้หญิงไว้ใกล้ตัวมากมาย มีเมียหลายสิบคน จึงทำให้เรียกคนเหล่านี้ว่าขุนนาง

ขณะที่ หมอบรัดเลย์ ก็ให้ที่มาของคำนี้ไว้ไม่ต่างกัน ในหนังสือ อักขราภิธานศรับท์ พ.ศ. 2416 ได้อธิบายไว้ว่า “ขุนนางคือการที่ข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยทั้งปวง ที่ท่านได้เลี้ยงนางไว้นั้น คือความที่รักษานางไว้นั้นเอง” 

ข้อมูลที่ได้มานี้ ทำให้ทราบได้ถึงที่มาของคำว่าขุนนาง และเหตุใดถึงใช้นางแทนนาย

ทว่าไม่ได้มีเพียงเท่านี้ เพราะมีผู้รู้ภาษาจีนได้ลองเทียบเสียงและตั้งข้อสมมติฐานด้วยเช่นกัน 

ไม่ปรากฏว่าผู้ใดเป็นคนต้นคิด แต่เชื่อกันว่า “ขุนนาง” อาจมาจากภาษาจีน ใกล้เคียงกับคำจีนอยู่ 2 คำ นั่นคือ “กวั๊นหนู่” ที่แปลว่า ทาสของประเทศ ส่วนอีกคำก็คือ “กู๊นเหยี่ยง” หรือ “กู๊นหย่าง” ที่แปลว่า ราชการและข้าราชการ เพราะภาษาจีน ตัวอักษร ย กับ น มักจะแทนที่กันได้ ซึ่งถ้าอ่านออกเสียงว่า “กู๊นหน่าง” ก็จะมีความคล้ายคลึงกับขุนนาง

เช่นเดียวกับ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ พระองค์ก็สันนิษฐานว่าคำนี้น่าจะมาจากภาษาจีน ดังที่ระบุใน “สาส์นสมเด็จ” ลายพระหัตถ์ของสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ที่มีถึงสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ว่า 

“อีกปากหนึ่งอธิบายคำว่า ขุน ว่ามาจาก กุ๋น-เจียง กุ๋น-ไตเจียง กุ๋นในภาษาจีนหมายว่าขุนนาง ฟังเข้าที่ 

แต่ก็ไม่พ้นสงสัยไปได้ ถ้ากุ๋นเป็นขุนแล้วเอาคำลูกไปนำหน้าขึ้นขุนเป็นลูกขุนนั้นนำทำไม จะได้ความว่ากระไร คำว่า ขุนนาง เห็นจะพูดหมายรวม คือ ขุนและนาง หมายเอาผัวเมียแล้วกลายเป็นผัวคนเดียว ขุนหมายถึงผัว”

อย่างไรก็ดี สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ บิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทย ได้ทรงตอบกลับประเด็นนี้ว่า “คำที่เรียกว่าขุนนาง ความบ่งชัดว่าเรียกรวมทั้งชายและหญิง คือข้าราชการกับภรรยา กำเนิดของคำขุนนางน่าจะเกิดแต่การพระราชพิธีบางอย่าง ซึ่งเรียกไปเข้ากระบวนทั้งสามีภรรยา

พิธีเช่นนั้นมีปรากฏอยู่ในพิธีสิบสองเดือนในกฎมณเฑียรบาลไทยและกฎมณเฑียรบาลพม่า อาจจะเขียนโดยย่อหรือพูดตามสะดวกปากว่า ‘หมายเรียกขุนนางไปเข้าพิธี’ เป็นต้น

ครั้นภายหลังมาแม้ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ผู้หญิงนอกวังเข้าเกี่ยวข้องในการพิธีน้อยลงจนแทบจะไม่มีทีเดียว ยังเหลือพิธีถือน้ำอย่างเดียว ซึ่งภรรยาข้าราชการต้องไปถือ ณ วัดพระศรีรัตนศาสดารามด้วยกันกับสามี แต่คำว่า ขุนนาง เคยพูดกันติดปากมาเสียนานแล้ว จึงกลายเป็นเรียกข้าราชการผู้ชาย ทูลนี้โดยเดา ขอให้ทรงพิเคราะห์ดูเถิด”

และได้พระดำริต่ออีกว่า “ที่เรียกคำว่า ขุนนาง ก็น่าจะมาแต่คำควงเหมือนกัน เช่นว่า ให้หมายสั่งทั้ง ขุน – นาง แล้วจึงมาเปลี่ยนเป็นฝ่าย หน้า – ใน” 

ทิ้งท้ายด้วย ขุนวิจิตรมาตรา ที่กล่าวถึงที่มาของคำนี้ไว้ด้วยเช่นกัน ซึ่งท่านคาดว่ามาจากการเพี้ยนของคำตั้งต้นอย่าง “คะระวะนะ”

“คะระวะนะ ออกเสียงเป็น คะโรนามะ เพี้ยนมาเป็นคะโรนาง เป็นโครนนาง มาเป็น โคนนาง มาเป็น คุนนาง แล้วก็กลายมาเป็นขุนนาง คำว่าขุนนางนี้มีผู้เคยตีความหมายกันมามาก แต่ก็ยังไม่รู้กันแน่ว่าแปลว่าอะไร

ผู้เขียนขอลงสันนิษฐานไว้ในที่นี้ว่า ขุนนางเป็นคำมาจาก คะระวะนะ ซึ่งเป็นต้นตอ แล้วเพี้ยนกันมาเป็นต่อๆ ดังกล่าวแล้ว แปลว่าประมุขหรือพระเจ้าแผ่นดินนั้นเอง (เทียบคำ จุนนิง ภาษาเยอรมัน ที่แปลว่า พระเจ้าแผ่นดิน)

อนึ่ง คำว่า โครนนาง หรือขุนนาง ซึ่งหมายถึงหัวหน้าหรือพระเจ้าแผ่นดิน ในชั้นเดิมคงจะใช้หมายถึงเมียด้วยเป็นคู่กัน คือเรียกทั้งพระเจ้าแผ่นดินและมเหสีว่า โครนนาง ต่อมาภายหลังจึงใช้ผันแปรไป โดยแยกออกเรียกเป็นสองคำ โครนหรือโคนหรือขุน หมายถึง พระเจ้าแผ่นดินชาย นางหมายถึงมเหสี คำว่านางที่ใช้กันมาแต่โบราณจึงหมายถึงหญิงสูงศักดิ์ทั้งสิ้น”

จากข้อสันนิษฐานทั้งหมดน่าจะทำให้พอเห็นที่มาของคำว่าขุนนางอยู่บ้าง ทว่าก็ยังไม่มีข้อสรุปที่แน่ชัดว่าคำนี้มีที่มาจากอะไร และต้องทำการศึกษากันต่อไป

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

ส. พลายน้อย. ขุนนางสยาม. กรุงเทพฯ: มติชน, 2537.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก 21 พฤษภาคม 2567