ผู้เขียน | พล อิฏฐารมณ์ |
---|---|
เผยแพร่ |
ขุนนางสยามชี้ “ย่านปทุมวัน” เหมาะทำเป็น “นครโสเภณี” มากกว่า “เมืองมหาวิทยาลัย”
อาชีพ “โสเภณี” เป็นอาชีพเก่าแก่ที่มีมาแต่โบราณกาล ในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้มีการออกพระราชบัญญัติป้องกันสัญจรโรค รัตนโกสินทร์ศก 127 โดยมาตรา 4 วรรคสาม ได้อธิบายความหมายของคำว่า “หญิงนครโสเภณี” ไว้ว่าหมายถึง “หญิงที่รับจ้างทำชำเราส่ำส่อน โดยได้รับผลประโยชน์เป็นค่าจ้าง”
ตามมาตรา 6 ในกฎหมายฉบับเดียวกันกำหนดให้ผู้ที่ต้องการตั้งโรงหญิงนครโสเภณี จำเป็นต้องขออนุญาตจากทางการเสียก่อน
ในบทความ “นครโสเภณี หรือเมืองมหาวิทยาลัย” โดย บัณฑิต จุลาสัย และรัชดา โชติพานิชย์ ใน ศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤษภาคม พ.ศ. 2559 ระบุว่า การอนุญาตให้มีการค้าประเวณีในยุคนั้นทำให้รัฐมีรายได้จากการออกใบอนุญาตโดย นายโรงต้องเสียค่าธรรมเนียมขอรับใบอนุญาตฉบับละ 30 บาท สำหรับใบอนุญาตที่ระยะเวลาอนุญาตเป็นเวลาไม่เกิน 3 เดือน ส่วนหญิงโสเภณีเสียค่าธรรมเนียมฉบับละ 12 บาท สำหรับระยะเวลาการอนุญาตไม่เกิน 3 เดือนเช่นกัน
ในการประกอบ “กิจกาม” ความเหมาะสมของสถานที่ก็เป็นสิ่งที่ต้องคำนึงสำหรับการจัดตั้งโรงหญิงนครโสเภณี และกระทรวงนครบาลในยุคที่เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) เป็นเสนาบดีก็เห็นว่า ย่านปทุมวัน ริมถนนประทัดทอง (พระรามที่ 6) ซึ่งเป็นถนนตัดใหม่อยู่ระหว่างถนนประทุมวัน (ถนนพระรามที่ 1) และถนนหัวลำโพง (ถนนพระรามที่ 4) เป็นสถานที่เหมาะสมที่จะสร้างเป็นแหล่งหญิงนครโสเภณี เนื่องจากเป็นที่ลับตาและไม่ไกลจากแหล่งชุมชน อีกทั้งการเดินทางไปมาสะดวก
แต่ขณะเดียวกัน สภากรรมการจัดการโรงเรียนข้าราชการพลเรือนในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ได้เลือกพื้นที่ในบริเวณเดียวกันเพื่อจัดตั้งโรงเรียน จนทำให้เจ้าพระยายมราชต้องมีหนังสือกราบบังคมทูลถวายความเห็นคัดค้านลงวันที่ 31 พฤษภาคม ร.ศ. 131 (พ.ศ. 2455 สมัยรัชกาลที่ 6) มีข้อความตอนหนึ่งว่า
“ที่จะตั้งโคมเขียวนั้นหายากอย่างที่สุด ออกหน้าออกตานักไม่ได้อย่างหนึ่ง ไกลจากที่ประชุมชนในเวลานี้นักไม่ได้อย่างหนึ่ง ไม่เหมือนโรงเรียนซึ่งจะตั้งขึ้นไหนๆ ก็ตั้งได้ เพราะฉนั้นขอพระบารมีปกเกล้าฯ เปนที่พึ่ง ขอรับพระราชทานที่นี้ให้ได้คงไว้สำหรับการส่วนนี้ต่อไป”
หลังจากนั้น เจ้าพระยายมราช ยังได้มีหนังสือไปถึงกรมราชเลขาธิการในพระองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในวันที่ 25 มิถุนายนปีเดียวกัน เพื่ออธิบายเพิ่มเติมย้ำถึง “ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ” ของการตั้งโรงหญิงนครโสเภณีว่า
“ที่ที่จะสร้างโรงเรียนนั้นหาง่าย เพราะเปนสิ่งที่เปิดเผยจะตั้งที่ไหนก็ตั้งได้ แต่ที่ที่จะตั้งพวกโคมเขียว เปนสิ่งที่จะต้องปิดบัง แลทั้งไม่ให้ใกล้ไกลเดินไปด้วย ใช่แต่เท่านั้น เมื่อจะคิดถึงประโยชน์พระคลังข้างที่แล้วก็ได้ผลมากดีกว่าสร้างโรงบ่อน เพราะโรงบ่อนอย่างไรๆ ก็ต้องเลิก แต่การนี้มีแต่จะเจริญขึ้นทุกวัน จะหาผลประโยชน์อันใดเทียบเทียมก็หายาก เพราะฉนั้น ถ้ามีโอกาศ ขอคุณหลวงได้โปรดนำความขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณา ทราบฝ่าลอองธุลีพระบาท ขอให้กระทรวงธรรมการเลือกที่เสียใหม่จะดีกว่า”
อย่างไรก็ดี บัณฑิตและรัชดากล่าวว่า การขอพระราชทานที่ประทุมวันนั้น กระทรวงธรรมการไม่ได้เป็นผู้ดำเนินการตามที่เจ้าพระยายมราชเข้าใจ หากสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมหลวงพิศณุโลกประชานารถ (พระอิสริยยศในขณะนั้น) กรรมการสภากรรมการจัดการโรงเรียนข้าราชการพลเรือนในพระบาทสมเด็จพระ จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นผู้กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงมีพระบรมราชานุญาตให้กรรมการ สภากรรมการจัดการโรงเรียนข้าราชการพลเรือนฯ เป็นผู้เช่าที่ดินประทุมวัน (ปทุมวัน) ไปแล้ว ตามพระราชหัตถเลขาลงวันที่ 16 พฤษภาคม ร.ศ. 131 ก่อนหน้าที่เจ้าพระยายมราชจะยื่นหนังสือคัดค้านการตั้งโรงเรียนข้าราชการพลเรือนฯ
การคัดค้านของเจ้าพระยายมราชจึงไม่เป็นผล ต้องหาที่ตั้ง “โคมเขียว” หรือโรงหญิงนครโสเภณีในที่แห่งอื่น และภายหลังการออกกฎหมายว่าด้วยการปราบปรามการค้าประเวณีใน พ.ศ. 2503 ก็ทำให้ “โรงหญิงนครโสเภณี” ถึงกาลอวสาน
ส่วนโรงเรียนข้าราชการพลเรือนฯ ก็กลายมาเป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันอุดมศึกษาแห่งแรกของสยามประเทศ
อ่านเพิ่มเติม :
- 26 มีนาคม 2459 กำเนิดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย “มหาวิทยาลัยไทยแห่งแรก”
- นิสิตคนที่ 1 ของจุฬาลงกรณ์ ผู้ไม่เคยเข้าเรียนที่จุฬาฯ ?!?
- “จามจุรี” ไม้สัญลักษณ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไม่ใช่ดอกไม้ท้องถิ่นของไทย
- จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย “สถานอุดมศึกษาของชาวสยาม” ในสมัยแรกสถาปนา
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
“นครโสเภณี หรือเมืองมหาวิทยาลัย”. โดย บัณฑิต จุลาสัย และ รัชดา โชติพานิช, ใน ศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤษภาคม 2559
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 20 กุมภาพันธ์ 2559