ผู้เขียน | คนไกล วงนอก |
---|---|
เผยแพร่ |
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศ ซึ่งใน พ.ศ. 2510 เป็นปีที่ครบ 50 ปี พระยาราชเสนา (ศิริ เทพหัสดิน ณ อยุธยา) ท่านได้รับปริญญารัฐศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ โดยชาวจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยถือว่าท่านเป็น “จุฬาฯ หมายเลขหนึ่ง” หรือ “นิสิตคนที่ 1”
ทำไมชาวจุฬาฯ จึงถือท่านเจ้าคุณผู้ที่ไม่เคยเข้าเรียนที่จุฬาฯ เป็น “จุฬาฯ หมายเลขหนึ่ง”
เวลาที่สถาปนา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นปีแรกนั้น พระยาราชเสนา รับราชการมีบรรดาศักดิ์เป็น พระยศสุนทร ผู้ว่าราชการเมืองนครราชสีมา และเป็นพระยาภูมิพิชัย ผู้ว่าราชการเมืองชัยภูมิแล้ว
ประวัติของท่านเจ้าคุณราชเสนา และการเป็นนิสิตคนที่ 1 ของจุฬาฯ กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม เคยเรียบเรียงไว้ในบทความชื่อ “นิสิตคนที่ 1” (ศิลปวัฒนธรรม, มีนาคม 2560) โดยเขียนเก็บความบางส่วนจากหนังสือที่พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพท่านเจ้าคุณ เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม ปี 2517 ที่ อาจารย์แม้นมาส ชวลิต เขียนไว้ และจากที่บุคคลอื่นๆ เขียนถึงท่าน มากล่าวถึงพอเป็นสังเขปเท่านั้น
พระยาราชเสนา มีนามเดิมว่า ศิริ เทพหัสดิน ณ อยุธยา เป็นบุตรจมื่นศักดิ์แสนยากร (ม.ล. ปาด เทพหัสดิน) มารดาชื่อน้อม เกิดเมื่อวันที่ 7 มีนาคม ร.ศ. 100 (พ.ศ. 2424) ที่ตำบลเวิ้งบ้านพระยาศรีสหเทพ (ที่เรียกว่าย่านสี่กั๊กพระยาศรีในทุกวันนี้) สะพานมอญ กรุงเทพมหานคร
ที่ท่านเกิดในราชสกุลเทพหัสดินนั้น มีข้อสังเกตอยู่เล็กน้อยว่า สกุลนี้มีบทบาทเกี่ยวกับ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อยู่พอสมควรทีเดียว โดยผู้ที่ดิ้นรนเรื่องการก่อตั้งมหาวิทยาลัยนั้นก็คือ เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี เสนาบดีกระทรวงธรรมการในเวลานั้น ซึ่งก็เป็นสมาชิกผู้หนึ่งของราชสกุลนี้ บุตรสาวสองคนของเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี คือคุณปรียากับคุณธารี ก็เป็นนิสิตหญิงสองคนแรกของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ในจำนวนนิสิตชายหญิงรุ่นแรก 13 คน โดยคุณปรียาได้เป็นผู้อำนวยการสำนักผังเมือง (เทียบเท่าอธิบดี) ที่เป็นสตรีคนแรกด้วย
ท่านเจ้าคุณราชเสนาเริ่มเรียนหนังสือที่โรงเรียนวัดราชบพิธ จนสอบไล่วิชาหนังสือไทยประโยค 1 ได้ จากนั้นก็มาเรียนประโยค 2 ที่วัดพระเชตุพน พร้อมกันนั้นก็ได้เข้ารับราชการเป็นเสมียนกองทหารรักษาราชการมณฑลบูรพา กระทรวงกลาโหมด้วย แม้จะมีอายุเพียง 13 ปีเท่านั้นก็ตาม
ปี 2440 เมื่ออายุได้ราว 16 ปี บิดาได้นำไปถวายตัวเป็นมหาดเล็ก สังกัดเวรเดช ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งโดยเหตุนี้เองในเวลาต่อมา ท่านจึงได้เข้าศึกษาในโรงเรียนมหาดเล็ก และนั่นก็คือที่มาของฐานะความเป็น “นิสิตคนที่ 1” ในอีกหลายสิบปีต่อมา
ประสบการณ์ในการศึกษาในช่วงนี้ของท่าน ต่อมาท่านได้เรียบเรียงขึ้นเป็นบทความชื่อ “ต้นกำเนิดของคณะรัฐประศาสนศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย” อันช่วยให้เราได้เห็นภาพการศึกษาเพื่อสร้างข้าราชการฝ่ายปกครองขึ้นมาในสมัยนั้น นอกเหนือไปจากพระนิพนธ์เรื่องโรงเรียนมหาดเล็กหลวงของสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ท่านเรียนจนสำเร็จ ผ่านการเป็น “มหาดเล็กฝึกหัดราชการ” (คือออกไปฝึกงานในความดูแลของข้าหลวง – ท่านเองไปฝึกที่มณฑลบูรพา เมืองเสียมราฐ) จนสอบได้ “ประโยคกระทรวง” ในปี 2443
ตรงนี้พึงเข้าใจว่า ในการจัดเตรียมคนทำงานสำหรับการปกครองแบบเทศาภิบาลที่ได้เริ่มขึ้นในเวลานั้น นอกจากโรงเรียนมหาดเล็กในกรุงเทพมหานครแล้ว ในบางมณฑลก็มีโรงเรียนสอนการปกครองของตน ผู้ที่เรียนสำเร็จสอบไล่ได้เรียกว่า “ประโยคมณฑล” ดังกรมขุนมรุพงศ์ศิริพัฒน์ได้สร้างขึ้นที่มณฑลปราจีนบุรี
พระยาราชเสนา โลดแล่นงานปกครอง
พระยาราชเสนาเริ่มไต่เต้าจากการเป็น “นายชำนาญกระบวน” (ท่านเป็นคนสุดท้ายที่ได้ตำแหน่งนี้) ข้าราชการตำแหน่งนายเวร กระทรวงมหาดไทยในปี 2444 แล้วมาเป็น “พันจันทนุมาศ” ตำแหน่งหัวพันในกระทรวงมหาดไทย จนปี 2447 ก็ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น หลวงสุริยามาตย์ ปลัดกรมพลำภัง (กรมการปกครองในเวลานี้)
การที่ท่านได้เลื่อนเป็นหลวงโดยไม่ต้องเป็นขุน นายพ่วง สุวรรณรัฐ ศิษย์คนหนึ่งของท่าน ซึ่งเป็นปลัดกระทรวงมหาดไทย และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย อธิบายว่า เพราะเหตุจากท่านสำเร็จจากโรงเรียนการปกครองนั่นเอง ข้อนี้บางทีจะเป็นเฉพาะผู้รับราชการในกระทรวง เพราะน่าสังเกตว่า พระยาสุนทรเทพกิจจารักษ์ (ทอง จันทรางศุ) เองก็ผ่านโรงเรียนมหาดเล็ก กระนั้นเมื่อออกไปรับราชการหัวเมืองก็ยังต้องเป็น “ขุนอนุรักษ์ภูเบศร์ ก่อนจะขึ้นเป็น “หลวง” ในราชทินนามเดิม สำหรับบรรดาพวกที่สอบได้ “ประโยคมณฑล” จากหัวเมืองเข้าใจว่าก็คงต้องเป็นไปตามขั้น ดังพระยาสัจจาภิรมย์ก็ต้องผ่านการเป็น “ขุนวิจิตรธานี” มาก่อน แล้วจึงได้เป็น “หลวงเดชะวิไชย” เอาในปี 2454
ในปี 2451 ปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ท่านเจ้าคุณราชเสนาก็ได้เลื่อนเป็นข้าหลวงมหาดไทยดูแลมณฑลกรุงเก่า จากมณฑลกรุงเก่า ในปี 2458 แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ก็ดำรงตำแหน่งผู้รั้งราชการเมืองบุรีรัมย์ ปีต่อมาได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น พระยศสุนทร ผู้ว่าราชการเมืองบุรีรัมย์ ในปีเดียวกันนั้นเองก็ย้ายไปเป็นปลัดมณฑลนครราชสีมา, เป็นผู้ว่าราชการเมืองนครราชสีมา และเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิตามลำดับ
ปี 2462 พระยาราชเสนา ได้เป็นพระยาศิริชัยบุรินทร์ เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม ปีต่อมาท่านได้รับคำสั่งให้กลับเข้ามารับราชการในกรุงเทพมหานครอีกครั้ง ในตำแหน่งเจ้ากรมการเมือง (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นกรมการภายนอก และเป็นกองการต่างประเทศ) และได้รับราชทินนามว่า พระยาราชเสนา
ปี 2469 ดำรงตำแหน่งเจ้ากรมการปกครอง แล้วไปเป็นเจ้ากรมทะเบียน ตำแหน่งสุดท้ายของท่านก่อนที่จะเวรคืนตำแหน่งราชการเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2475 หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ก็คือตำแหน่งเกณฑ์เมืองรั้ง (มีฐานะคล้ายผู้ตรวจราชการกระทรวงในปัจจุบัน) ในกระทรวงมหาดไทย
อย่างไรก็ตาม แม้จะได้กราบถวายบังคมลาจากราชการแล้ว ในปี 2479 กระทรวงมหาดไทยได้แต่งตั้งให้ท่านเป็นนายกเทศมนตรีเมืองนครราชสีมา จนหมดภาวะในปี 2482 แต่หากสภาเทศบาลเมืองนครราชสีมาได้เลือกท่านเป็นนายกเทศมนตรีอีกวาระหนึ่ง ทั้งสองวาระนี้เป็นการทำงานที่ท่านมิได้ขอรับเงินเดือนเลย นอกจากนี้ท่านยังเคยรับเชิญสอนวิชาการปกครองที่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่จริงหลังปี 2500 มาท่านก็ยังทำงานให้กับรัฐบาลคณะปฏิวัติของจอมพลสฤษดิ์อยู่ แม้จะมีอายุมากแล้วก็ตาม
นอกเหนือไปจากงานในหน้าที่แล้ว ท่านเจ้าคุณราชเสนาก็ยังมีราชการพิเศษอื่นๆ เช่นเป็นผู้แทนฝ่ายสยามในคณะข้าหลวงใหญ่สยาม-ฝรั่งเศส ประจำแม่น้ำโขงในปี 2471 เป็นต้น งานสำคัญอย่างหนึ่งของท่านที่นับว่ามีค่าอย่างยิ่งคือการรวบรวมสนธิสัญญาระหว่างไทยกับประเทศต่างๆ ขึ้นไว้เป็นเล่ม (ต่อมาท่านได้มอบงานนี้ให้เป็นลิขสิทธิ์กรมศิลปากร)
นิสิตจุฬาฯ คนที่ 1
ในปี 2510 อันเป็นปีที่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีอายุครบ 50 ปี และ พระยาราชเสนา มีอายุได้ 86 สภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้มอบปริญญารัฐศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์แก่ท่าน คำประกาศเกียรติคุณที่ทางมหาวิทยาลัยเรียบเรียงขึ้นนั้นดูจะเป็นการสรุปประวัติและงานของท่านไว้ได้ดี จึงขอคัดทั้งหมดมาลงไว้ ดังนี้ (จัดย่อหน้าใหม่โดย กอง บก.)
“ด้วยสภาจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย ได้พิจารณาเห็นว่า พระยาราชเสนา (ศิริ เทพหัสดิน ณ อยุธยา) นิสิตเก่าจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัยตั้งแต่สมัยยังเป็นโรงเรียนข้าราชการพลเรือน และได้รับประกาศนียบัตรทางการปกครองเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2443 นับว่าเป็นนิสิตเก่าคนที่ 1 รุ่นที่ 1 เมื่อ 67 ปีมาแล้ว
พระยาราชเสนาเคยรับราชการฝ่ายปกครอง ดำรงตำแหน่งต่างๆ ตั้งแต่ตำแหน่งเริ่มต้นจนถึงเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด ปลัดมณฑล เจ้ากรมปกครอง ฯลฯ ได้แสดงความสามารถดีเด่นจนได้รับสถาปนาและเลื่อนยศบรรดาศักดิ์ตามลำดับตลอดมาจนรับพระราชทานบำนาญ
นอกจากราชการประจำ พระยาราชเสนายังได้รับแต่งตั้งให้ปฏิบัติราชการพิเศษ เช่น เป็นข้าหลวงใหญ่ฝรั่งเศสสยามประจำแม่น้ำโขง ข้าหลวงใหญ่ปักปันเขตแดนไทย-อินโดจีน และเป็นกรรมการของรัฐบาลมากมายหลายหน้าที่ ครั้งสุดท้ายยังได้รับแต่งตั้งจากรัฐบาลคณะปฏิวัติให้เป็นที่ปรึกษาของคณะกรรมการปรับปรุงการปกครองและการพิจารณาเรื่องนครหลวงของไทย
ท่านผู้นี้ได้เคยเขียนบทความและบันทึกประวัติศาสตร์ทางการปกครองไว้ ณ ที่หลายแห่ง ซึ่งนับว่ามีคุณค่าทางรัฐศาสตร์ของไทย ทั้งในส่วนวิชาการก็เคยเป็นอาจารย์ทางวิชารัฐศาสตร์ในจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย เป็นผู้สอนและเป็นประธานและกรรมการในการอบรมและสอบไล่ของกระทรวงมหาดไทยในวิชาการปกครอง เป็นที่รับนับถือและเคารพยกย่องในทางรัฐศาสตร์ โบราณคดี และประวัติศาสตร์ สมควรยกย่องในฐานะนิสิตเก่าและอาจารย์เก่ารุ่นอาวุโสที่สุดผู้มีกิติคุณทั้งทางราชการและวิชาการ
สภาจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัยจึงเห็นสมควรอย่างยิ่งที่จะให้ได้รับพระราชทานปริญญารัฐศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์เพื่อเป็นการยกย่องเกียรติคุณสืบไป”
พระยาราชเสนาได้ตอบผู้ที่ถามถึงความรู้สึกของท่านในการที่ได้รับปริญญากิตติมศักดิ์ จาก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในวันนั้นว่า
“รู้สึกเป็นเกียรติและยินดีเป็นล้นเกล้าฯ ขอขอบคุณสภามหาวิทยาลัยที่ได้เสนอชื่อให้ได้รับพระราชทานปริญญาครั้งนี้ด้วย”
อ่านเพิ่มเติม :
- 26 มีนาคม 2459 กำเนิดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย “มหาวิทยาลัยไทยแห่งแรก”
- “จามจุรี” ไม้สัญลักษณ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไม่ใช่ดอกไม้ท้องถิ่นของไทย
- จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย “สถานอุดมศึกษาของชาวสยาม” ในสมัยแรกสถาปนา
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 14 เมษายน 2563