ปราสาทเมืองสิงห์ จริงหรือปลอม

ปราสาทเมืองสิงห์ จังหวัดกาญจนบุรี

หลายเดือนมานี้มีเหตุที่ทำให้ผมต้องไปปราสาทเมืองสิงห์บ่อย ไปเห็นปราสาทเมืองสิงห์ครั้งใดก็ทำให้ผมต้องถามตัวเอง ว่าปราสาทเมืองสิงห์ที่ผมยืนดูอยู่นั้นเป็นองค์จริงหรือปลอม

เมืองสิงห์และปราสาทเมืองสิงห์ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำแควน้อย เขตตำบลสิงห์ อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี

Advertisement

เมืองสิงห์เป็นชื่อเมืองที่ปรากฏในเอกสารทางประวัติศาสตร์ไทยเป็นครั้งแรก ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

แต่แท้จริงชื่อเมืองสิงห์ได้ปรากฏขึ้นในศิลาจารึกที่ปราสาทพระขรรค์ ซึ่งพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ทรงสร้างขึ้นเมื่อพุทธศตวรรษที่ 18 (พ.ศ. 1700-1800) แล้ว

ในศิลาจารึกหลักนั้นได้กล่าวถึงชื่อเมืองต่างๆ ว่าเป็นที่ประดิษฐานพระชัยพุทธมหานาถ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปฉลองพระองค์พระเจ้าชัยวรมันที่ 7

บรรดาชื่อเมืองต่างๆ ที่กล่าวถึงนั้น มีชื่อเมืองอยู่ 6 เมืองที่นักวิชาการเชื่อกันว่าอยู่ในภาคกลางของประเทศไทย ได้แก่

ละโว้ทยะปุระ คือเมืองละโว้ หรือลพบุรี พบโบราณสถานศิลปะขอมแบบบายน เช่น พระปรางค์สามยอด พระปรางค์วัดมหาธาตุ เป็นต้น

สุวรรณปุระ คือเมืองสุพรรณบุรี พบซากโบราณสถานที่อำเภอสามชุก

ศัมพูกะปัฎฏนะ ยังไม่พบหลักฐานว่าอยู่ที่ใด

ชัยราชบุรี คือเมืองราชบุรี มีพระปรางค์วัดมหาธาตุราชบุรี

ศรีชัยสิงห์บุรี คือเมืองสิงห์ อันเป็นที่ตั้งของปราสาทเมืองสิงห์ที่กำลังพูดถึงอยู่นี้

ชัยวัชรบุรี คือเมืองเพชรบุรี มีปราสาทวัดกำแพงแลง

เรื่องราวเกี่ยวกับปราสาทเมืองสิงห์ มีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ว่าปราสาทเมืองสิงห์เป็นปราสาทที่สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ดังปรากฏในหนังสือและบทความหลายแห่ง โดยเฉพาะบทความของ ม.ร.ว.สุริยวุฒิ สุขสวัสดิ์ ในวารสารเมืองโบราณ ปีที่ 9 ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2526

ในบทความนี้มีเหตุผลหลายประการที่สนับสนุนให้เห็นว่าปราสาทเมืองสิงห์ได้สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 โดยเฉพาะหลักฐานทางด้านสถาปัตยกรรมและประติมากรรมที่ปรากฏและพบที่ปราสาทเมืองสิงห์ ซึ่งก็ตรงกับความคิดเห็นของผมที่เชื่อว่าปราสาทเมืองสิงห์สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 โดยส่งหัวหน้าช่างและประติมากรรมบางชิ้นพร้อมทั้งวัตถุดิบ เช่น หินทรายมาจากเขมร หรือเมืองอื่นที่เป็นศูนย์อำนาจของเขมรในเวลานั้น ซึ่งอาจจะเป็นลพบุรีก็ได้ ส่วนลูกมือช่างก็เป็นคนในท้องถิ่น ดังจะเห็นได้จากประติมากรรมบางชิ้นที่มีลักษณะพื้นเมือง หรือลักษณะท้องถิ่นเข้ามาปะปนอยู่ด้วย

ภายในอาคารพิพิธภัณฑ์ที่ปราสาทเมืองสิงห์ จะมีโบราณวัตถุหลายชิ้นที่พบในปราสาทเมืองสิงห์ตั้งแต่เริ่มมีการบูรณะเมื่อปี พ.ศ. 2517

แต่มีโบราณวัตถุ 2 ชิ้นที่ผมเห็นและสะดุดตาเป็นอย่างยิ่งก็คือ

ชิ้นแรก เป็นส่วนด้านบนของใบหูข้างขวาที่มีปูนขาวพอกติดอยู่เล็กน้อย

ชิ้นที่สอง เป็นส่วนของปลายจมูกต่อถึงขอบตาล่างข้างซ้าย

ภาพสันนิษฐานรอยต่อชิ้นส่วนของหูและจมูกระหว่างพระพักตร์พระพุทธรูป หรือพรหมพักตร์ ศิลปะบายน

โบราณวัตถุทั้ง 2 ชิ้นเป็นหินทราย มีขนาดประมาณ 25 x 50 เซนติเมตร อยู่ใกล้ภาพร่างเศียรพระพุทธรูปที่เขียนคำบรรยายไว้ว่า “ภาพสันนิษฐานรอยต่อชิ้นส่วนพระพุทธรูป”

จากคำบรรยายและโบราณวัตถุ 2 ชิ้นดังกล่าวดูจะไปด้วยกันไม่ได้เอาเสียเลย

ทีนี้ลองมาพิจารณาถึงขนาดของโบราณวัตถุ 2 ชิ้น และหลักฐานทางสถาปัตยกรรมของปราสาทเมืองสิงห์ดูบ้าง

ว่าด้วยขนาดของโบราณวัตถุ 2 ชิ้นนั้น ถ้ามีส่วนประกอบที่สมบูรณ์จะมีขนาดพระพักตร์ (หน้า) กว้างประมาณ 1 เมตร ใหญ่กว่าพระพักตร์ของพระมงคลบพิตร หรือพระพักตร์ของหลวงพ่อวัดพนัญเชิง จังหวัดพระนครศรีอยุธยาเสียอีก ก็ในเมื่อพระพักตร์มีขนาดใหญ่อย่างนั้นตัวองค์จะใหญ่ขนาดไหน และถ้าเป็นพระพุทธรูปประทับนั่ง หน้าตักจะกว้างเท่าไหร่ จะประดิษฐานไว้ที่ส่วนใดของปราสาท เพราะตัวปราสาทเมืองสิงห์ (ไม่รวมกำแพง) มีขนาดกว้างประมาณ 50 เมตร ยาวประมาณ 60 เมตรเท่านั้น

ว่าด้วยหลักฐานทางรูปแบบสถาปัตยกรรมของปราสาทเมืองสิงห์ที่มีลักษณะทางสถาปัตยกรรมแบบบายนในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ซึ่งก่อด้วยศิลาแลง ส่วนหลังคาและส่วนยอดของปรางค์ก่อด้วยหินทรายโดยมีร่องรอยการใช้ปูนปั้นหุ้มประกอบ อันเป็นลักษณะเด่นของสถาปัตยกรรมแบบบายน และลักษณะเด่นอีกอย่างหนึ่งก็คือ บนยอดปรางค์ประธานมักจะทำเป็นรูปหน้าคน หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่าพรหมพักตร์ ไว้ทั้ง 4 ทิศ นัยว่าเป็นพระพักตร์ของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร

เกี่ยวกับรูปหน้าคนหรือพรหมพักตร์นี้ ผมได้เคยเห็นว่ามีจริงบนยอดปรางค์ของปราสาทเมืองสิงห์ (เขียนไว้ในบทความเรื่อง ขุดอดีตที่บ้านเก่าเมืองกาญจนบุรี วารสารศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 22 ฉบับที่ 7 พ.ศ. 2544) ซึ่งก็ตรงกับลักษณะของโบราณวัตถุ 2 ชิ้นที่อยู่ในพิพิธภัณฑ์ของปราสาทเมืองสิงห์

ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า โบราณวัตถุ 2 ชิ้นนั้นเป็นชิ้นส่วนของรูปหน้าคน ไม่ใช่พระพุทธรูปอย่างที่เขียนไว้แน่นอน

ก็แล้วทำไมเมื่อบูรณะปราสาทเมืองสิงห์เสร็จแล้วรูปหน้าคนจึงหายไป หายไปไหน?

ในเรื่องนี้ผมมีข้อสันนิษฐานอยู่ 2 ประการ คือ

1. หน้าคนถูกขโมยไป ในช่วงที่ผมเคยเห็นเมื่อปี พ.ศ. 2505 ถึงปีที่เริ่มมีการบูรณะ พ.ศ. 2517 เป็นเวลาห่างกัน 12 ปี ในช่วงเวลานั้นเริ่มมีการก่อสร้างถนนสายกาญจนบุรีไปทองผาภูมิ เพื่อขนส่งวัสดุอุปกรณ์เกี่ยวกับการสร้างเขื่อนเขาแหลม (เขื่อนวชิราลงกรณ์) ซึ่งถนนสายนี้ก็ไม่ห่างจากปราสาทเมืองสิงห์มากนัก ผู้ประสงค์ร้ายอาจจะใช้รถขนาดใหญ่เข้าไปขนออกมาก็ได้ เพราะตั้งแต่ก่อนหน้า พ.ศ. 2505 ก็มีขโมยเข้าไปลักขุดที่ปราสาทเมืองสิงห์แล้ว อาจจะทำให้องค์ปรางค์พังทลายลงมาง่ายต่อการขนย้าย และในขณะเดียวกันการส่งโบราณวัตถุไปต่างประเทศก็ไม่ได้เข้มงวด จึงอาจเป็นไปได้ว่าหน้าคนไปประทับอยู่ต่างประเทศแล้ว

2. หน้าคนอยู่ในปราสาทเมืองสิงห์นั่นแหละ ไม่ได้หายไปไหน ที่ผมพูดอย่างนี้หลายคนคงสงสัยว่ามันเป็นอย่างไร ในความน่าจะเป็นก็คือ ในขณะที่มีการบูรณะปราสาทเมืองสิงห์อย่างเร่งรีบอยู่นั้น ช่างผู้รับเหมาบูรณะไม่มีความรู้ในเรื่องรูปแบบสถาปัตย์และโบราณคดี พอยกก้อนหินขึ้นมาเพื่อจะเอาไปใส่ที่หมาย แต่เห็นว่าหินก้อนนั้นไม่เรียบ มีส่วนโค้งส่วนเว้าเข้าที่หมายไม่ได้ ก็เลยเอาขวานถากให้เรียบเพื่อให้ใส่ในที่หมายได้ ด้วยประการฉะนี้หน้าคนจึงหายไป

สำหรับโบราณวัตถุ 2 ชิ้นที่ได้กล่าวถึงไปแล้วนั้น เกิดรอดหูรอดตาเหลือเป็นหลักฐานให้ขบคิดกันต่อมา และถ้าโบราณวัตถุ 2 ชิ้นนั้นไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับปราสาทเมืองสิงห์แล้วจะเข้ามาอยู่ในปราสาทได้อย่างไร ใครเอาเข้ามา เอามาจากไหน เอามาทำอะไร

เอ้า ช่วยกันคิดหน่อยเถอะ!

อ่านเพิ่มเติม :


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 14 มีนาคม 2560