ครั้งหนึ่งอาชีพ “โสเภณี” เป็นสิ่งจำเป็น-ไม่ต้องเก็บเป็นความลับ

อาชีพโสเภณี อินเดีย
ภาพสมาชิกองค์กรสิทธิสตรีประเทศอินเดียเฉลิมฉลองต่อแนวทางของศาลในการปฏิบัติต่อผู้ให้บริการทางเพศอย่างมีศักดิ์ศรีและความเคารพ (INDIA-COURT-SOCIETY-RIGHTS-SEX-WORKERS / AFP)

อาชีพโสเภณี (sex worker) ยังเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันว่าเป็นอาชีพที่ขัดต่อศีลธรรมอันดีหรือไม่ โดยเฉพาะในประเทศไทยที่มีมุมมองในแง่ลบต่ออาชีพโสเภณี เพราะเห็นว่าการเกิดมาเป็นผู้หญิงต้องรักนวลสงวนตัว เก็บความบริสุทธิ์ให้แก่สามีเท่านั้น การประกอบกิจกรรมทางเพศนอกกรอบ เช่น การไปขายบริการทางเพศ จึงเป็นเรื่องที่รับไม่ได้ในสังคม

แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า อาชีพโสเภณี นั้นมีมาอย่างยาวนานในประวัติศาสตร์ จนถึงในปัจจุบันก็ยังมีผู้ประกอบอาชีพโสเภณีเป็นจำนวนมาก สิ่งที่น่าใจของสังคมปัจจุบัน (พ.ศ. 2565) คือเริ่มมีการทำความเข้าใจกับอาชีพนี้มากยิ่งขึ้นว่า เหตุใดการขายบริการทางเพศจึงเป็นตราบาปให้แก่ผู้หญิง โดยหนังสือ ข้าม เคลื่อน เลื่อน ย้าย: พลวัตผู้ค้าบริการทางเพศข้ามชาติในอาเซียน ของธานี ชัยวัฒน์ (มติชน, 2564) ได้อธิบายรากฐานแนวคิดว่าด้วยการค้าบริการทางเพศ ดังนี้


 

อาชีพโสเภณี เริ่มมีมาตั้งแต่สมัยโบราณ โดยงานทางประวัติศาสตร์หลายชิ้นระบุถึงขั้นว่า อาชีพโสเภณี เป็นอาชีพที่เก่าแก่ที่สุดในโลก หากย้อนกลับไปพิจารณาหลักฐานที่มีการบันทึกไว้ตั้งแต่สมัยกรีกโบราณ จะเห็นได้ว่าในยุคนั้นอาชีพโสเภณีเป็นอาชีพที่ถูกต้องตามกฎหมายและเป็นที่ยอมรับได้ในสังคม

เนื่องจากทั้งชายและหญิงไม่จำเป็นจะต้องรู้สึกละอายใจต่อการประกอบกิจกรรมทางเพศของตนเอง อีกทั้งอาชีพโสเภณีในยุคนั้นยังถือว่ามีความจำเป็น เพราะผู้ชายที่ยังไม่ได้แต่งงานมีโอกาสที่จะมีกิจกรรมทางเพศได้น้อยมาก เมื่ออาชีพโสเภณีเป็นบริการที่จำเป็น การทำงานของโสเภณีในยุคนั้นจึงไม่นับว่าจะทำให้มีตราบาปเกิดขึ้นแก่ตัวผู้หญิงที่ทำงานดังกล่าว

ยิ่งไปกว่านั้น การค้าบริการทางเพศยังไม่ได้ต้องเก็บเป็นความลับว่าใครเป็นผู้ขายและเป็นผู้ซื้อ เพราะไม่ใช่พฤติกรรมที่ผิดปกติแต่อย่างใด

จากข้อเขียนของงานทางด้านประวัติศาสตร์ โสเภณีบนท้องถนนมักจะรวมกลุ่มกันในพื้นที่ที่ถูกกำหนดให้มีการค้าบริการทางเพศได้ (อาจแค่เป็นที่รู้กันเฉพาะกลุ่มหรืออาจถูกกำหนดขึ้นโดยผู้ปกครองในสมัยนั้น) นิยมทาสีลงบนใบหน้าและสวมเสื้อผ้าสีฉูดฉาด เพื่อดึงดูดความสนใจของคนที่จะมาเป็นลูกค้า

โสเภณี บางคนสวมรองเท้าที่พื้นรองเท้าสามารถทิ้งรอยประทับไว้บนถนนที่เต็มไปด้วยฝุ่น เสมือนต้องการบ่งบอกว่า “ตามฉันมา” (follow me) ขณะที่ผู้หญิงที่ทำงานในซ่องบริเวณใกล้เคียงก็มีให้บริการเช่นกัน โดยจะเรียกเก็บค่าบริการด้วยราคาที่สูงขึ้นกว่าโสเภณีเร่ร่อนเล็กน้อย เพราะเชื่อว่าปลอดภัยมากกว่า

อย่างไรก็ดี โดยรวมแล้วโสเภณีเหล่านี้เรียกเก็บเงินจากลูกค้าด้วยราคาแตกต่างกันไปตามรูปแบบการบริการ ค่าใช้จ่ายมีตั้งแต่ประมาณ 1 ใน 9 ถึงประมาณ 2 ใน 3 ของค่าจ้างรายวันสำหรับแรงงานฝีมือในสมัยนั้น ซึ่งถือว่าเป็นค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง และการแต่งตัวแต่งหน้าด้วยสีฉูดฉาดนี้ก็กลายเป็นสัญลักษณ์แบบหนึ่งของการค้าบริการทางเพศในยุคต่อ ๆ มา

อย่างไรก็ดี การทำความเข้าใจประวัติศาสตร์การค้าบริการทางเพศ เป็นการทำความเข้าใจสถาบันทางสังคม และวิธีการที่สถาบันทางสังคมปรับตัวให้สอดคล้องกับการพัฒนาของสังคมที่แตกต่างหลากหลาย หลักฐานทางสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาชี้ให้เห็นว่า ตราบาปที่เกิดขึ้นต่อตัวโสเภณีเป็นผลมาจากพัฒนาการตั้งแต่ก่อนประวัติศาสตร์ของโครงสร้างสังคมแบบพ่อปกครองลูก

การสร้างตราบาปให้แก่โสเภณี เป็นเครื่องมือส่งเสริมการมีคู่ครองของสถาบันครอบครัว ด้วยการลงโทษหญิงสำส่อนว่าเป็น “หญิงชั่ว” (bad woman) ตามแบบฉบับที่ได้นิยามลักษณะของภรรยาและแม่ผู้มีเกียรติพึงมี

สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เนื่องจากในอดีต การพิสูจน์สายเลือดของผู้เป็นแม่นั้นมีความชัดเจนผ่านตั้งครรภ์ของผู้หญิง แต่การพิสูจน์สายเลือดของฝ่ายพ่อนั้นทำได้ยาก ประกอบกับการที่สังคมอยู่ภายใต้ระบอบพ่อปกครองลูกซึ่งเป็นสังคมชายเป็นใหญ่ การสร้างความมั่นใจแก่ฝ่ายชายในการสืบสายเลือด จึงกระทำผ่านการระงับกิจกรรมทางเพศของฝ่ายหญิง การผูกขาดกิจกรรมทางเพศอย่างชอบธรรมแก่ชายโสดเท่านั้นจึงเกิดขึ้น เพื่อสร้างความมั่นใจให้พวกเขาว่า ลูกของภรรยาจะเป็นลูกที่แท้จริงของเขาเท่านั้น

ส่วนหนึ่งเพราะโครงสร้างสังคมในเวลานั้นเกรงว่า ผู้ชายอาจไม่อุทิศตัวให้แก่การดูแลลูกของพวกเขาเอง การสมรสแบบผัวเดียวเมียเดียวจึงกลายเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้หญิงเท่านั้น เพื่อให้สามารถรับรองความเป็นแม่ได้

ขณะที่ไม่บังคับใช้กับผู้ชาย ภายใต้การปกครองแบบพ่อปกครองลูกนี้ ความส่ำส่อนของเพศหญิงจึงไม่พึงประสงค์ต่อผู้ชายในสังคม และทำให้ความรักเดียวใจเดียวเป็นทางเลือกเดียวสำหรับผู้หญิงเพื่อให้ได้รับความเคารพ ซึ่งนี่เป็นรากฐานสำคัญประการหนึ่งของการกดขี่ทางเพศ

จากจุดเริ่มต้นทางประวัติศาสตร์ดังกล่าว ก่อให้เกิดข้อถกเถียงและข้อโต้แย้งจำนวนมากต่อความเป็นหญิง ความเป็นแม่ การประกอบกิจกรรมทางเพศ รวมไปถึงสิทธิของสตรีที่เกี่ยวเนื่องกับการค้าบริการทางเพศจนถึงปัจจุบัน

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 1 มิถุนายน 2565