จุดเปลี่ยนอาชีพโสเภณี จากอยู่ประจำสำนัก สู่ขายบริการตามแหล่งบันเทิงยามค่ำคืน

โรงแรมโทรคาเดโร สถานบันเทิง โสเภณี
โรงแรมโทรคาเดโร สถานบันเทิงยามค่ำคืนของกรุงเทพฯ (ภาพจาก วิลาส บุนนาค 1910-2000. กรุงเทพฯ, 2000 ใน "กรุงเทพฯ ยามราตรี" (สำนักพิมพ์มติชน, 2557) หน้า 6)

นับแต่การพัฒนาบ้านเมืองในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมาซึ่งได้เปลี่ยนวิถีชีวิตคนไทยจากริมแม่น้ำคูคลอง มาสู่ถนนหนทางต่าง ๆ ทั่วทั้งกรุงเทพฯ ยามราตรีจึงไม่ได้เงียบสงัดวังเวงเหมือนในยุคก่อนหน้านี้ เนื่องจากคนไทยเริ่มออกมาใช้ชีวิตในยามค่ำคืนกันมากขึ้น จนเข้าสู่ทศวรรศที่ 2420-2480 เกิดอาชีพการให้บริการมากมาย ไม่ว่าจะเป็น พนักงานจุดโคมตะเกียงตามถนน พนักงานขับรถราง คนฉายภาพยนตร์ รวมไปถึง โสเภณี

โดยอาชีพนี้ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ ซึ่งสัมพันธ์กับกาารเปลี่ยนแปลงของการใช้ชีวิตในยามค่ำของคนไทย คือ แต่เดิมโสเภณีจะให้บริการเฉพาะอยู่ประจำสำนักหรือละแวกโรงบ่อนการพนัน แต่เมื่อแหล่งสถานบันเทิงเริงรมย์ในยามค่ำคืนถือเกิดขึ้นมากมาย ทำให้โสเภณีต้องปรับตัว เรื่องนี้ วีระยุทธ ปีสาลี เขียนไว้ใน “กรุงเทพฯ ยามราตรี” (สำนักพิมพ์มติชน, 2557) ดังนี้


 

ตั้งแต่ทศวรรษที่ 2460-2480 ได้เกิดอาชีพใหม่ที่เป็นตัวกำหนดความเป็นเมืองกลางคืนคืออาชีพบริการที่ให้ความบันเทิงทางกามารมณ์แบบตะวันตกตามสถานเริงรมย์ต่าง ๆ กระนั้นก็ตาม อาชีพบริการที่ให้ความบันเทิงทางกามารมณ์แบบดั้งเดิมคือโสเภณีใน 3 ทศวรรษนี้ได้เปลี่ยนรูปแบบจากที่เคยประจำอยู่ตามสำนักต่าง ๆ ที่สำเพ็งและละแวกโรงบ่อน เริ่มทยอยออกมาสู่ท้องถนนและทางสัญจรสาธารณะปะปนกับผู้คนที่ออกมาแสวงหาความสำราญในยามราตรี ดังที่ ธเนศ วงศ์ยานนาวา แสดงทัศนะไว้ว่า

“ถนนที่เป็นสัญลักษณ์ของความเป็นเมืองเมื่อถูกซ้อนทับด้วยธุรกิจขายบริการบนท้องถนนจึงยิ่งสะท้อนภาพความเป็นเมืองได้ดียิ่งขึ้น โดยทั่ว ๆ ไปแล้วการค้ากามเป็นธุรกิจแห่งความเป็นเมือง นับตั้งแต่ปลายรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา การขยายตัวของเมืองและการค้าทำให้เกิดผู้คนที่หากินตามท้องถนนมากขึ้น พอถึงช่วงปี พ.ศ. 2460 กว่าเป็นต้นมา ผู้หญิงขายบริการก็สร้างความสมบูรณ์ให้กับความเป็นเมืองอย่างเต็มเปี่ยมเพื่อให้สมกับที่ได้ชื่อว่าเป็นหญิงงามเมือง หนังสือพิมพ์ ในสมัยนั้นถึงขั้นกล่าวว่าทุก ๆ หนึ่งในสิบของถนนหรือตรอกซอกซอยในกรุงเทพฯ จะต้องมีซ่องโสเภณีตั้งอยู่ ถนนที่ดัง ๆ ก็ได้แก่ ถนนราชดำเนิน” [77]

เช่น สี่แยกถนนราชดำเนินตัดกับถนนดินสอ เมื่อก่อนนั้นเงียบเหงามีผู้คนไม่มากนัก จนทศวรรษที่ 2460 ได้มีผู้ไปเช่าที่ปลูกบ้านเรือนจนเต็มไปหมด ปรากฏเป็นที่ประชุมชนมีร้านขายของตั้งขึ้นหลายร้านและเวลากลางคืนดึก ๆ ก็มีพวกหญิงนครโสเภณีเถื่อน มานั่งลอยโฉมอยู่อย่างชุกชุม [78]

ไม่เพียงแค่ถนนเท่านั้น หญิงโสเภณียังแอบแฝงขายบริการอยู่ตามแหล่งบันเทิงยามค่ำคืนของเมือง ได้แก่ โรงภาพยนตร์ สถานกินดื่มสาธารณะ สถานเริงรมย์ สวนลุมพินี เขาดิน ที่พักคนเดินทางหรือโรงแรม

ดารารัตน์ เมตตาริกานนท์ เรียกโสเภณีที่ไปแอบแฝงขายบริการตามสถานที่เหล่านี้ว่าเป็นโสเภณีในยุคแห่งการเปลี่ยนแปลง (พ.ศ. 2464-2487) กล่าวคือ เป็นยุคหัวเลี้ยวหัวต่อระหว่างโสเภณี แบบเก่าที่สำเพ็ง (พ.ศ. 2411-2463) กับโสเภณีแบบใหม่ที่ได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมอเมริกา (พ.ศ. 2488-2503) เหตุผลที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบโสเภณีในยุคนี้ได้แก่ ความต้องการหลีกเลี่ยงการเสียภาษีให้แก่รัฐบาล และการปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงของสังคม เศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรม และค่านิยมสมัยใหม่ ๆ [79]

อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนรูปแบบของอาชีพโสเภณี เริ่มตั้งแต่ปลายทศวรรษที่ 2450 ดังปรากฏข่าวการพลุกพล่านของหญิงโสเภณีตามสถานที่สาธารณะต่าง ๆ อย่างโรงหนังญี่ปุ่น ที่พักคนเดินทาง ร้านน้ำชากาแฟ และโรงยาฝิ่น ในหนังสือพิมพ์ สยามออบเซอรเวอร ว่า

“เราได้ทราบข่าวว่า เวลานี้ตัวกามโรคเที่ยวพลุกพล่านมากตามแถวหลังโรงหนังญี่ปุ่นหลวง ถึงกับฉุดคร่าชวนชายไปสมสู่ พลตำรวจบางคนเห็นเข้าก็ห้ามปราม แต่บางคนก็เห็นเป็นสนุกหัวเราะเล่น ใช่แต่เท่านั้น พวกหญิงตามที่พักคนเดินทางก็เลี่ยงกฎหมายได้อยู่มาก และใครก็รู้ว่าเป็นที่พักของตัวกามโรค ใช่ว่าจะเป็นที่พักคนเดินทางจริงก็เปล่าอีก พูดเรื่องตัวกามโรค ก็ควรพูดต่อไปอีก พวกร้านเจ๊กขายกาแฟกวางตุ้งและโรงสูบฝิ่นก็มีผู้หาหญิงไปคอยนั่งอยู่หน้าประตูให้เรียกคน บางโรงถึงกับฉุดจะให้เข้าไปสูบฝิ่นหรือกินกาแฟก็มี แต่ฉุดเฉพาะพวกจีนกวางตุ้งพวกเดียวกัน ไม่ลามปามเหมือนหญิงไทย ซึ่งไม่เลือก” [80]

รูปแบบการขายบริการโสเภณีในทศวรรษที่ 2460-2480 มีความซับซ้อนเพราะได้ซ่อนตัวอยู่ในอาชีพอื่น ๆ เช่น หญิงบริกรตามโรงน้ำชาและโรงยาฝิ่น หมอนวดตามที่พักคนเดินทาง และหญิงคู่เต้นรำตามสถานเริงรมย์ (Partner) เช่นเดียวกับหญิงโสเภณีในฮ่องกง ในระยะเดียวกันที่เมื่อมีข้อห้ามการค้าโสเภณีในปี ค.ศ. 1935 โสเภณีราคาเริ่มตกและเปลี่ยนอาชีพไปเป็นหญิงนักร้อง (Singsong Girls) หมอนวด หญิงนั่งคุยกับแขก (Escort Girls) และคู่เต้นรำตามสถานเริงรมย์ [81] สถานเริงรมย์ยามค่ำคืนของเมืองที่รุ่งเรืองในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 จึงเป็นสถานที่ที่หญิงโสเภณีเข้าไปใช้ทำมาหากินเป็นจำนวนมาก

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เชิงอรรถ :

[77] ธเนศ วงศ์ยานนาวา. “ดอกไม้โลกีย์ ราคีมีแค่สตางค์,” ใน อรสมสุทธิสาคร. ดอกไม้ราตรี สินค้ามีชีวิต. (กรุงเทพฯ : สารคดี, 2545), น. 9-10.

[78] “ข่าวเบ็ดเตล็ด,” สยามราษฎร์. (วันพุธที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2464) : 5.

[79] ดารารัตน์ เมตตาริกานนท์. “โสเภณีกับนโยบายของรัฐบาลไทย พ.ศ. 2411-2503,” น. 90-131.

[80] “หลุกพล่านมาก,” สยามออบเซอรเวอร. (วันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2458). อ้างใน ปียกนิฎฐ์ หงษ์ทอง. สยามสนุกข่าว, น. 201.

[81] CHENG Po Hung. Early Prostitution in Hong Kong. Translated of 香江風月 by Philip MAK, Annie CHOW Mo Oi, Jane SZE Kwan Yuk (Hong Kong) : University Museum and Art Gallery, The University of Hong Kong, 2010), p. 10.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 22 กันยายน 2564