ผ่าปมสังหารล้างตระกูลแม็กโดนัลด์แห่งสกอต ต้นตอมาสู่ซีน วิวาห์เลือด ใน Game of Thrones

วิวาห์เลือด Red wedding Game of Thrones สกอตแลนด์
(ซ้าย) ภาพประกอบเนื้อหา - พื้นที่ทางธรรมชาติในสกอตแลนด์ (ขวา) ฉากเหตุการณ์ Red wedding ในซีรีส์ Game of Thrones [ภาพจาก YouTube/HBO]

ผ่าปมสังหารล้าง “ตระกูลแม็กโดนัลด์” แห่งสกอต ต้นตอมาสู่ซีน “วิวาห์เลือด” Red Wedding ใน Game of Thrones

ซีรีส์ Game of Thrones เรื่องราวแฟนตาซียุคกลางที่ได้รับอิทธิพลจากเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ อาจถูกขมวดเรื่องแบบไม่เป็นที่น่าพอใจสำหรับแฟนหลายกลุ่ม แต่หากมองอิทธิพลของซีรีส์ในแบบที่กว้างกว่าแง่มุมด้านความบันเทิงแล้ว ซีรีส์ชุดนี้ทำให้แวดวงวิชาการได้รับความสนใจไปด้วย โดยเฉพาะในด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี

Advertisement

แม้แต่นักโบราณคดีก็ยังถูกกระตุ้นให้ขุดค้นศึกษาพื้นที่ “เกล็นโค” (Glen Coe) ในสกอตแลนด์ซึ่งเกิดเหตุสังหารหมู่ตระกูลแม็กโดนัลด์ และสร้างแรงบันดาลใจมาสู่เหตุการณ์ “วิวาห์ (สี) เลือด” หรือ Red Wedding ในซีรีส์ดัง

***เนื้อหาต่อไปนี้เปิดเผยเนื้อเรื่องสำคัญในซีรีส์***

สำหรับแฟนซีรีส์แฟนตาซีที่อ้างอิงเรื่องราวจากนวนิยายชุด “บทเพลงแห่งน้ำแข็งและไฟ” (A Song of Ice and Fire) ของ จอร์จ มาร์ติน (George R.R. Martin) นักเขียนอเมริกัน น่าจะจดจำเหตุการณ์สังหารหมู่ที่เรียกกันว่า “วิวาห์เลือด” (Red Wedding) อันโหดเหี้ยม ถือเป็นซีนที่ช็อกแฟนๆ มากที่สุดอีกครั้งหนึ่ง

การสังหารหมู่ในงานเลี้ยงต้อนรับฉบับซีรีส์ ซึ่งเกิดขึ้นในการออกอากาศฤดูกาลที่ 3 สืบเนื่องมาจาก ร็อบบ์ สตาร์ก ตัวละครสำคัญในเรื่องจากตระกูลสตาร์ก ตัดสินใจแต่งงานกับหญิงที่ตนเองรักแทนที่จะรักษาสัญญากับลอร์ดวอลเดอร์ แห่งตระกูลเฟรย์ ว่าจะแต่งงานกับลูกสาวคนหนึ่งของวอลเดอร์

ผลจากการตัดสินใจครั้งนี้ ทำให้บุคคลสำคัญในตระกูลสตาร์ก ตระกูลที่มีบทบาทสำคัญอีกกลุ่มในอาณาจักรแฟนตาซีของซีรีส์นี้ ซึ่งกำลังเพลิดเพลินในบรรยากาศงาน ถูกสังหารหมู่โดยเจ้าบ้านที่ทำหน้าที่ต้อนรับแขกในงาน อันจัดขึ้นหวังจะสมานความบาดหมางของตระกูลคู่กรณี

ผู้เขียนนวนิยายดังเคยให้สัมภาษณ์ว่า เหตุการณ์ Red Wedding ได้รับแรงบันดาลใจจากการสังหารหมู่ 2 เหตุการณ์ คือ Black Dinner ซึ่งพระเจ้าเจมส์ที่ 2 กษัตริย์หนุ่มสกอตแลนด์ สังหารเอิร์ลแห่งดักลาสวัย 16 ปี และเดวิด ญาติของเขา อันเป็นสมาชิกในตระกูลดักลาส ที่กษัตริย์ทรงมองว่ามีแนวโน้มเป็นภัยต่อบัลลังก์ โดยการสังหารเกิดขึ้นระหว่างงานเลี้ยง ที่อ้างเหตุผลบังหน้าว่าเป็นงานเพื่อหย่าศึก แต่แท้จริงแล้วเป็นไปเพื่อกำจัดคู่แข่งด้วยข้ออ้างเป็นข้อกล่าวหาว่ากบฏ (นักประวัติศาสตร์ยังคงตั้งคำถามกับรายละเอียดในเหตุการณ์นี้อยู่)

และเหตุการณ์ Glencoe Massacre หรือการสังหารหมู่ “ตระกูลแม็กโดนัลด์” ในสกอตแลนด์ ที่ไม่ได้ให้สัญญาว่าจะสวามิภักดิ์กษัตริย์วิลเลียมที่ 3 แห่งอังกฤษ และสกอตแลนด์ และสมเด็จพระราชินีนาถแมรีที่ 2 ซึ่งปกครองร่วมกับสามี ตามกำหนดเวลา เหตุการณ์นี้เป็นเรื่องที่ถูกบอกเล่าต่อกันมา และผสมเข้ากับตำนานต่างๆ

สังหารหมู่ที่ Glencoe

ข้อมูลเกี่ยวกับเหตุการณ์สังหารหมู่ที่เกล็นโค ถูกบอกเล่ากันว่าเกิดขึ้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1692 เรียกได้ว่าเป็นเหตุการณ์สำคัญที่สืบเนื่องมาจากการต่อสู้แย่งชิงอำนาจอย่างยาวนานในภูมิภาค

บรรยากาศในช่วง 2-3 ปีก่อนหน้าการสังหารหมู่ ชาวสกอตหลายตระกูลยังให้สัตย์ว่าจงรักภักดีต่อพระเจ้าเจมส์ที่ 2 แม้ว่าบัลลังก์อังกฤษและสกอตจะมีพระเจ้าวิลเลียมที่ 3 ขึ้นครองราชย์แทนใน ค.ศ. 1689 แล้ว

ต่อมา รัฐบาลได้เสนอเงื่อนไขตอบแทนเป็นเงินทองและที่ดินให้กับหัวหน้าตระกูล ที่ให้สัตย์สัญญาว่าจะสวามิภักดิ์ต่อกษัตริย์วิลเลียม ก่อนวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1692 แต่นัยยะของเนื้อหาในจดหมายข้อเสนอออกไปในทางข่มขู่มากกว่า ข้อเสนอระบุเรื่องการอนุมัติให้ลงโทษตามกฎหมายขั้นสูงสุดต่อผู้ที่ไม่ร่วมมือ หัวหน้าตระกูลหลายกลุ่มจึงเลือกให้สัตย์

ตระกูลแม็กโดนัลด์ในช่วงเวลานั้น ขึ้นชื่อเรื่องการละเมิดกรอบกฎหมาย และมีปัญหากับตระกูลบ้านใกล้เรือนเคียงมาต่อเนื่อง มีตระกูลคู่อริคือตระกูลแคมป์เบลล์ (Campbell) ขณะที่รัฐมนตรีกลาโหมในช่วงนั้นก็มีท่าทีเชิงลบต่อกลุ่มตระกูลสกอตจากที่สูงอย่างแถบเขตภูเขา หรือที่เรียกว่ากลุ่ม Highlanders และใช้ข้ออ้างเรื่องกำหนดเวลา เพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองของตัวเอง

ประกอบกับการแจ้งข่าวสารเรื่องพระเจ้าเจมส์ปลดปล่อยพันธะ ด้วยการยกเลิกสัญญาการสวามิภักดิ์ของกลุ่มตระกูลสกอตติชต่างๆ ที่กว่าจะมาถึงมือกลุ่มชนสกอตติชในที่ราบสูงก็เป็นวันที่ 28 ธันวาคม ค.ศ. 1692 แล้ว ห่างจากกำหนดให้สัตย์ไม่นานนัก

อเล็กซานเดอร์ แม็กโดนัลด์ (หรือเป็นที่รู้จักกันในนาม MacIains) แห่งเกล็นโค หัวหน้าตระกูลที่ได้รับความเคารพยำเกรงจากตระกูลอื่น มีท่าทีว่าจะยอมสัตย์สัญญา เขาเป็นกังวลเรื่องกำหนดเวลา และเร่งเดินทางไปเมืองฟอร์ท วิลเลียม เพื่อให้สัตย์

แต่เนื่องจากความผิดพลาดที่เขาเดินทางไปเมืองฟอร์ท วิลเลียม (Fort William) ซึ่งไม่มีเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองที่จะรับดำเนินการได้ ทำให้ต้องเดินทางอีก 60 ไมล์ไปที่ “อินเวอเรรี” (Inverary) อันเป็นถิ่นของตระกูลคู่อริอย่างแคมป์เบลล์ ทำให้เขาไม่ได้ให้สัตย์จนกระทั่งวันที่ 6 มกราคม ค.ศ. 1692 ถึงจะพลาดกำหนดไป แต่ข้อมูลบ่งชี้ว่า แม็กโดนัลด์ ได้รับการยืนยันว่าการให้สัตย์จะยังถูกพิจารณาว่าไม่เป็นโมฆะอยู่ นั่นทำให้หัวหน้าตระกูลไม่ได้เฉลียวใจแต่อย่างใด

ขณะเดียวกัน รัฐมนตรีกลาโหมของพระเจ้าวิลเลียมในสกอตแลนด์ ไม่ยอมรับการให้สัตย์นี้ เขาออกคำสั่งลงโทษทางทหารต่อตระกูลแม็กโดนัลด์ โดยมีกษัตริย์ลงพระนาม นายทหารที่ถูกวางให้ดูแลการดำเนินการครั้งนี้มี 3 นายด้วยกัน 2 นายมาจากพื้นที่ Argyll ซึ่งอยู่ใต้การปกครองของตระกูลแคมป์เบลล์ และอีกนายจากเมืองฟอร์ท วิลเลียม

แต่สุดท้ายแล้ว 2 ใน 3 เดินทางมาปฏิบัติการไม่ทันเวลา โดยอ้างว่าเป็นเพราะสภาพอากาศย่ำแย่ กลายเป็นกัปตันโรเบิร์ต แคมป์เบลล์ ผู้ที่จนตรอกจากปัญหาการพนัน เป็นผู้ดำเนินการ

กลุ่มทหารหลักร้อยเดินทางมาที่เกล็นโค และขอที่พักพิง 12 วันก่อนลงมือ โดยอ้างว่า พื้นที่ในป้อมปราการเต็มแล้ว ตระกูลแม็กโดนัลด์ ต้อนรับตามมารยาทของชนที่ราบสูง ให้ที่พักพิงกลุ่มทหารในบ้านพักของตัวเอง พวกเขาอยู่ร่วมกัน 12 วัน โดยที่คนในตระกูลและทหารทั่วไปไม่รู้ว่ามีชะตากรรมอะไรรอพวกเขาอยู่

กระทั่งคืนวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1692 ในขณะที่เจ้าบ้านนอนพักผ่อนในที่พักของตัวเอง แขกผู้มาเยือนก็ย่องเข้ามาก่อการ ลงมือสังหารทุกคนในตระกูลเท่าที่ทำได้ ผู้ถูกสังหารในคืนนั้นมีหัวหน้าตระกูล กับคนในตระกูลอีกราว 37 ราย (ไม่สามารถสรุปจำนวนผู้เสียชีวิตได้อย่างแน่ชัด)

เชื่อกันว่า มีผู้หลบหนีไปในหุบเขาได้หลายราย บางรายหาที่หลบซ่อนจนรอดชีวิตได้ แต่บางรายเสียชีวิตในพื้นที่รอบที่พักขณะหลบหนี ซึ่งรวมถึงภรรยาที่อาวุโสที่สุดของอเล็กซานเดอร์ หัวหน้าตระกูล

ข้อมูลบางแห่งเชื่อว่า ทหารของตระกูลแคมป์เบลล์ ก็รังเกียจการปฏิบัติตามคำสั่งนี้ และแจ้งข่าวเตือนคนในตระกูลแม็กโดนัลด์ ให้เวลาบางรายได้หลบหนีก่อนลงมือสังหาร นักประวัติศาสตร์จำนวนหนึ่งเชื่อว่า มีทหารส่วนหนึ่งที่ความจริงแล้วจะต้องช่วยปฏิบัติการด้วยไตร่ตรอง และเลือกไม่เข้าร่วมการสังหารด้วย

เหตุการณ์นี้ถูกบอกเล่าต่อกันมารุ่นต่อรุ่น แต่รายงานข่าวจากสำนักข่าวบีบีซีระบุว่า ไม่เคยมีนักโบราณคดีขุดสำรวจพื้นที่ในสเกลใหญ่ เพื่อค้นหาหลักฐานคลี่คลายข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่ถูกบอกเล่ากันต่อมา และเมื่อมีการตั้งฟาร์มแกะในศตวรรษที่ 19 พื้นที่ซึ่งเป็นจุดตั้งถิ่นฐานที่เกิดขึ้นเมื่อปลายศตวรรษที่ 17 จนถึงศตวรรษที่ 18 ก็ถูกลืมเลือนไป

การขุดค้นขององค์การอนุรักษ์แห่งชาติ

กระทั่งช่วงต้นเดือนมีนาคม ค.ศ. 2019 องค์การอนุรักษ์แห่งชาติในสกอตแลนด์ เป็นหน่วยงานหัวหอกในการขุดค้นพื้นที่เกล็นโครายงานว่า นักวิจัยอาศัยแผนที่การสำรวจทางทหารโดยนายพลวิลเลียม รอย ซึ่งถูกเขียนขึ้นระหว่าง ค.ศ. 1747-1755 เป็นเครื่องช่วยบ่งชี้จุดที่เกี่ยวข้อง 7 แห่ง โดย 3 ใน 7 (Inverigan, Achnacon และ Achtriochtan) อยู่ในการดูแลขององค์การอนุรักษ์แห่งชาติในสกอตแลนด์

นักโบราณคดีมุ่งเป้าการสำรวจไปที่ Achtriochtan หมู่บ้านขนาดเล็ก ซึ่งเชื่อว่ามีประชากรประมาณ 40-50 ราย รวมถึงผู้หญิงและเด็ก และยังมีกระท่อม มีพืชผล ในช่วงเวลาที่เกิดเหตุการณ์สังหาร แม้ว่าจะมีหลักฐานที่หลงเหลือมาถึงปัจจุบันไม่มากนัก

การสำรวจตั้งแต่เริ่มจนถึงต้น ค.ศ. 2019 ทีมค้นพบบ้าน 3 หลัง สิ่งปลูกสร้างที่คาดว่าอาจเป็นโรงนาอีกจำนวนหนึ่ง และเตาเผา ซึ่งพอจะบ่งชี้ว่า เป็นแหล่งตั้งถิ่นฐานได้ อย่างไรก็ตาม สภาพความเป็นอยู่คงไม่ได้สุขสบายนัก ขณะที่เดเร็ค อเล็กซานเดอร์ (Derek Alexander) หัวหน้าทีมวิจัยหวังว่า การสำรวจจะนำไปสู่การฉายภาพโครงสร้างพื้นที่อย่างชัดเจนขึ้น

สิ่งที่น่าสนใจคือ หลักฐานซึ่งทีมสำรวจพบ ส่วนหนึ่งอยู่ในยุคศตวรรษที่ 18 ซึ่งอาจบ่งชี้ว่าสมาชิกที่เหลืออยู่ของตระกูลแม็กโดนัลด์ เดินทางกลับมาที่ถิ่นกำเนิดหลังจากเหตุสังหารหมู่ แต่ก็ถูกผลักดันออกจากพื้นที่อย่างถาวรเมื่อเกิดฟาร์มแกะในศตวรรษที่ 19

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

Macdonald, Kenneth.  “The dig uncovering Glencoe’s dark secrets”. BBC. Online. Published 11 MAY 2019. Access 17 MAY 2019. <https://www.bbc.com/news/uk-scotland-highlands-islands-48230218>

Solly, Meilan. “Archaeologists Are Excavating Site of Scottish Massacre That Inspired the ‘Game of Thrones’ Red Wedding.  Smithsonian. Online. Published 16 MAY 2019. Access 17 MAY 2019. <https://www.smithsonianmag.com/smart-news/archaeologists-are-excavating-site-scottish-massacre-inspired-game-thrones-red-wedding-180972186/>

“The Massacre of Glen Coe”. BBC Archive. Online. Access 17 MAY 2019. <https://www.bbc.co.uk/history/scottishhistory/union/trails_union_glencoe.shtml>

“Massacre of Glencoe”. Britannica. Access 17 MAY 2019. <https://www.britannica.com/event/Massacre-of-Glencoe>


แก้ไขปรับปรุงเนื้อหาในระบบออนไลน์เมื่อ 16 พฤศจิกายน 2561 และ 28 มกราคม 2565