เปลือยชีวิตการเมือง-ความรักของ “ควีนอลิซาเบธที่ 1” สู่ “แดเนริส” ตัวละครเงาใน Game of Thrones?

(ซ้าย) ตัวละครแดเนริส ทาร์เกเรียน แสดงโดย เอมิเลีย คลาร์ก [ภาพจาก YouTube/GameofThrones] (ขวา) ภาพวาดสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 1 แห่งอังกฤษ ฉลองชัยชนะเหนือกองทัพเรือสเปน

ในประวัติโลกบันเทิงทางโทรทัศน์ของตะวันตกตั้งแต่ยุคเริ่มต้นจนถึงวันนี้ ซีรีส์ Game of Thrones น่าจะเป็นอีกสื่อหนึ่งที่สร้างกระแสและมีบทบาทต่อสังคมและการเมืองอเมริกันมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา แม้แต่ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาอย่างโดนัลด์ ทรัมป์ ยังต้องทวีตอ้างอิงเนื้อหาเกี่ยวกับซีรีส์นี้ แต่เบื้องหลังซีรีส์อาณาจักรโบราณในจินตนาการนั้นก็มาจากบริบททางการเมืองและเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ด้วยเช่นกัน

ระยะเวลาเกือบทศวรรษที่ซีรีส์นี้เผยแพร่สู่สาธารณะ นักวิจารณ์สื่อบันเทิงและนักประวัติศาสตร์ต่างวิเคราะห์วิจารณ์เรื่องราวและตัวละครที่เชื่อมโยงกันด้วยความสัมพันธ์ที่สลับซับซ้อนชิงรักหักเหลี่ยมตลบหลังกันอย่างดุเดือด ตัวละครมากมายในเรื่องชวนให้นักประวัติศาสตร์นึกถึงเหตุการณ์และบุคคลที่มีตัวตนจริงในหน้าประวัติศาสตร์หลายท่าน และเป็นที่รู้กันว่าการแย่งชิงบัลลังก์กันระหว่างตระกูลต่างๆ นั้น บริบทในสื่อบันเทิงชวนให้นักประวัติศาสตร์นึกถึงสงครามดอกกุหลาบ (Wars of the Roses)

สงครามดอกกุหลาบที่ผู้เขียนนิยายต้นฉบับซึ่งซีรีส์ดังนำไปดัดแปลงนั้น ผู้เขียนเองก็ยอมรับว่าได้รับอิทธิพลในการแต่งนิยายจากเรื่องราวการแย่งชิงอำนาจระหว่างตระกูลใหญ่หลักๆ ในอังกฤษคือ แลงแคสเตอร์ (Lancaster) กับ ยอร์ค (York) ในช่วงค.ศ. 1455-1485 และมักจบลงด้วยการสังหารหมู่ฝ่ายที่พ่ายแพ้

แต่นอกเหนือจากเรื่องราวการแย่งชิงที่เป็นโครงสร้างหลักแล้ว รายละเอียดเกี่ยวกับตัวละครที่มีบทบาทสำคัญในการเดินเรื่องหลายรายก็มักถูกนำมาเปรียบเทียบกับบุคคลจริง อาทิ แดเนริส ทาร์เกเรียน (Daenerys Targaryen) ที่กำลังกลับมาทวงบัลลังก์คืน มักถูกหยิบยกมาเปรียบเทียบกับเส้นทางของสมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบธที่ 1 แห่งอังกฤษ

(ก่อนที่ข้อมูลสำคัญจะเปิดเผยในซีซั่น 7) แดเนริส แห่งตระกูลทาร์เกเรียน เป็นผู้สืบสกุลคนสุดท้ายของตระกูลทาร์เกเรียน ขณะที่ควีนอลิซาเบธที่ 1 ทรงเป็นพระราชินีองค์สุดท้ายในราชวงศ์ทิวดอร์ (Tudors) ที่ปกครองอังกฤษ โดยทรงขึ้นครองราชย์ต่อจากพระนางเจ้าแมรี่ที่ 1

แดเนริส ทาร์เกเรียน จาก Game of Thrones

ก่อนจะว่าถึงร่างต้นฉบับของเงาราชินีของตระกูลทาร์เกเรียนในซีรีส์ที่ดัดแปลงมาจากนวนิยายชื่อดัง คงต้องเอ่ยถึงแดเนริส ในฉบับซีรีส์เสียก่อน แดเนริส ฉบับสื่อบันเทิงนั้นกำเนิดขึ้นมาขณะที่พายุกำลังโหมกระหน่ำและมาพร้อมกับการจากไปของแม่ที่เสียชีวิตจากการคลอด หลังกำเนิดมา ชื่อเสียงเรื่องรูปโฉมอันงดงามของเธอก็โด่งดังไปไกลทั่วโลก

ในช่วงวัยเด็ก แดเนริส ต้องใช้ชีวิตอย่างระหกระเหินพร้อมกับวิเซริส (Viserys) ผู้เป็นพี่ชายหลังจากที่ตระกูลทาร์เกเรียนถูกโค่นล้มลง วิเซริส พยายามรวบรวมกำลังขึ้นมาเพื่อกอบกู้บัลลังก์จนทำให้ได้รับสมญานามว่า “กษัตริย์ขอทาน” วิเซริส ร่วมจัดแจงแดเนริส ไปแต่งงานกับหัวหน้านักรบที่โด่งดังของเผ่าโดธรากี หวังอาศัยขุมกำลังของชนเผ่าที่ขึ้นชื่อเรื่องความแข็งแกร่งมาช่วยกู้บัลลังก์

ภายหลังจากเหตุการณ์ที่พลิกผันไปมา แดเนริส ถูกทำนายว่าเธอจะไม่สามารถมีลูกได้อีกแต่เธอกลับได้ “ลูก” เป็นมังกร 3 ตัว และถูกเรียกว่า “แม่” ทั้งจากการควบคุมมังกรในอาณัติ และยังเป็น “แม่” ในเชิงการรับรู้ของเหล่าทาสที่เธอปลดปล่อยระหว่างการพยายามเดินทางไปทวงบัลลังก์คืน

ในแง่คู่แข่งทางการเมืองหรือเส้นทางสู่บัลลังก์ แดเนริส เป็นลูกสาวคนสุดท้อง เธอมีวิเซริส พี่ชายซึ่งเป็นผู้สืบทอดบัลลังก์ตามสายเลือด ถือเป็นคู่แข่งทางการเมือง (ในทางอ้อม) แต่เมื่อพี่ชายเธอเสียชีวิต และกลายเป็นเธอที่มุ่งสู่เส้นทางทวงบัลลังก์แทน แดเนริส มีคนสนิทรายล้อมข้างกาย และบางรายก็ถูกเขียนให้มีความสัมพันธ์ลึกซึ้งมากกว่าผู้รับใช้

พระนางเจ้าอลิซาเบธที่ 1 

รายละเอียดเหล่านี้ของแดเนริส มีหลายจุดที่ใกล้เคียงกับควีนอลิซาเบธที่ 1 กล่าวคือ อลิซาเบธ เป็นพระราชธิดาของพระเจ้าเฮนรี่ที่ 8 กับแอนน์ โบลีน พระนางได้ขึ้นครองราชย์ระหว่าง ค.ศ. 1558-1603 สืบราชสมบัติต่อจากพระนางเจ้าแมรี่ที่ 1 ซึ่งเป็นพระราชธิดาของพระเจ้าเฮนรี่ที่ 8 กับพระนางแคธรีนแห่งอารากอน (สเปน)

หลังจากการเสียชีวิตของพระมารดา เจ้าหญิงอลิซาเบธในช่วงวัยเด็กก็กลายเป็นพระธิดาที่พระเจ้าเฮนรี่ที่ 8 ไม่โปรดปรานในทันที แต่ในเรื่องข้อหาที่แอนน์ โบลีน พระมารดาของเจ้าหญิงอลิซาเบธ ที่มีข้อมูลว่าถูกจับและตั้งข้อหาเป็นชู้ มีเพศสัมพันธ์ในสายเลือดเดียวกันจนถูกประหาร ซึ่งนักประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่ก็เชื่อว่าเป็นข้อหาที่ไม่มีมูลความจริง และไม่มีข้อมูลว่าเจ้าหญิงอลิซาเบธ เคยอ้างอิงถึงพระมารดา แต่รับทราบกันดีว่า การเสียชีวิตของแอนน์ โบลีน ส่งผลกระทบต่อเจ้าหญิงอลิซาเบธ

ก่อนหน้าการขึ้นครองราชสมบัติของพระนางเจ้าแมรี่ที่ 1 กล่าวกันว่า เจ้าหญิงแมรี่ ปฏิบัติต่อเจ้าหญิงอลิซาเบธ ไม่ค่อยดีนัก เนื่องจากโทษว่าอลิซาเบธ เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้พระมารดาของพระนาง ตกต่ำและเสียชีวิตในภายหลัง ความสัมพันธ์ระหว่างพี่น้องต่างมารดาก็ค่อนข้างซับซ้อน ซึ่งใกล้เคียงกับความสัมพันธ์ระหว่างแดเนริส กับวิเซริส ซึ่งวิเซริส ที่มีนิสัยเย่อหยิ่ง ทำทุกอย่างเพื่อผลประโยชน์ของตัวเองก็ปฏิบัติกับน้องสาวไม่ต่างจากปฏิบัติกับผู้อื่นที่ไม่ค่อยใยดีนัก โดยมักมองแดเนริส ผู้เป็นน้องสาวไม่ต่างจากเครื่องมือเพื่อช่วยให้ตัวเองได้บัลลังก์คืนดังที่กล่าวข้างต้น

ขณะที่ในการรับรู้ของคนทั่วไป คนส่วนใหญ่มักชื่นชอบเจ้าหญิงอลิซาเบธ มากกว่าพระนางเจ้าแมรี่ ดังนั้น เมื่อช่วงเวลา 5 ปีที่พระนางเจ้าแมรี่ครองราชย์สิ้นสุดลง (ค.ศ. 1553-1558) โดยที่พระนางเจ้าแมรี่ไม่มีรัชทายาท บัลลังก์ตกอยู่กับเจ้าหญิงอลิซาเบธ ซึ่งทำให้เจ้าหญิงเหมือนได้รับการปลดปล่อยจากการพันธนาการทางความสัมพันธ์ และขึ้นครองราชสมบัติต่อ พระนางเจ้าอลิซาเบธ ครองราชย์นานถึง 45 ปีโดยพระนางยังเป็นที่ชื่นชอบของประชาชน (เป็นส่วนใหญ่ในระยะเวลาหนึ่ง)

ช่วงเริ่มต้นสมัยพระนางเจ้าอลิซาเบธที่ 1 ยังถือว่าเป็นการกลับมาของโรเบิร์ต ดัดลีย์ พระสหายในวัยเยาว์ที่กลับเข้ามามีบทบาทในราชสำนักอังกฤษ ก่อนจะพูดถึงความสัมพันธ์เกี่ยวกับคนรอบตัว เรามาว่ากันถึงเรื่องสถานการณ์ทางสังคมและการเมืองในสมัยพระนางเจ้าอลิซาเบธที่ 1 กันก่อน

ในช่วงเวลา 45 ปีนี้เกิดการเปลี่ยนแปลงหลายประการในอังกฤษ กระทั่งนำอังกฤษเข้าสู่ยุคที่เรียกว่า “ยุคทองของอังกฤษ” พระนางเจ้าอลิซาเบธยังได้รับขนานนามว่า “Good Queen Bess”

ส่วนหนึ่งที่ทำให้พระนางเจ้าอลิซาเบธ เป็นที่นิยมคือนโยบายด้านการศาสนา กล่าวคือ ในช่วงรัชสมัยพระเจ้าเฮนรีที่ 8 จนถึงพระนางเจ้าแมรีที่ 1 อันกินระยะเวลาสืบเนื่องระหว่างค.ศ. 1547-1558 นโยบายเกี่ยวกับการศาสนาเหวี่ยงดุลอำนาจไปมาระหว่างสถาบันกษัตริย์, นิกายโปรเตสแตนท์ และคาทอลิก ทำให้บรรยากาศทางการเมือง สังคม และศาสนา ในช่วงก่อนที่พระนางเจ้าอลิซาเบธจะขึ้นครองราชย์ แบ่งแยกออกเป็น 2 ฝั่งคือ โรมันคาทอลิก และโปรเตสแตนท์ ช่วงเวลานั้นศาสนามีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตผู้คนมาก เมื่อทั้งสองฝ่ายพร้อมจะแตกหักกันได้ทุกเรื่องย่อมส่งผลต่อบรรยากาศการใช้ชีวิตของคนทั่วไป

ขณะที่พระนางเจ้าอลิซาเบธทรงมีนโยบายสายกลางทางศาสนาตามรอยนโยบายที่พระราชบิดาของพระนางทรงริเริ่มไว้ โดยพยายามผสานเนื้อหาของ 2 นิกายเข้าด้วยกันและให้อยู่ภายใต้กรอบของสถาบันกษัตริย์ของอังกฤษซึ่งจะถืออำนาจสูงสุดในกิจการทางศาสนา เครื่องมือที่สำคัญในการดำเนินการนโยบายคือพระราชบัญญัติ Ornaments Rubric ซึ่งจะรับรองว่าพระนางเป็นผู้ปกครองทางศาสนาสูงสุด (Supreme Governor of the Church)

นโยบายทางศาสนาของพระนางถูกใจประชาชน อย่างไรก็ตาม นโยบายนี้ทำให้ฝ่ายหัวรุนแรงทั้งกลุ่มคาทอลิก และโปรเตสแตนท์ในระดับสภาขุนนางไม่พอใจ แต่เมื่อเหตุการณ์ดำเนินมาถึงปี ค.ศ. 1563 อันเป็นช่วงที่นักประวัติศาสตร์มองว่า ณ เวลานั้น พระนางเจ้าอลิซาเบธทรงหาข้อยุติทางศาสนาจนได้สมดุลระดับหนึ่งแล้ว

นอกเหนือจากการประสานความขัดแย้งทางด้านศาสนา การทำสงครามทางทะเลกับสเปน ในสมัยของพระนางเจ้าอลิซาเบธที่ 1 ก็เป็นอีกช่วงที่แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลทางทะเลในสมัยพระนาง เมื่อกองทัพเรืออังกฤษมีชัยเหนือกองทัพเรืออาร์มาดา ของสเปนในปี ค.ศ. 1588 ซึ่งว่ากันว่า ก่อนหน้านี้ไม่เคยมีใครเอาชนะได้มาก่อน

ในบรรดาบทบาททางการปกครองราชการแผ่นดิน พระนางเจ้าอลิซาเบธที่ 1 ทรงมีบุคลากรรายล้อมมากมายเช่นเดียวกับแดเนริส แต่ผู้มีถูกเอ่ยถึงมากที่สุดย่อมเป็นโรเบิร์ต ดัดลีย์ (Robert Dudley) พระสหายในวัยเยาว์ และเอิร์ลแห่งเลสเตอร์ ซึ่งถือว่าเป็นคนโปรดที่สุดในรัชสมัยพระนาง เชื่อกันว่า ความสัมพันธ์ของทั้งคู่สนิทสนมกันอย่างมาก แต่นักประวัติศาสตร์บางกลุ่มปฏิเสธข้อเสนอที่ว่าความสัมพันธ์ของทั้งคู่เกินเลยไปกว่า “คนสนิท” แต่ที่คนส่วนใหญ่เห็นตรงกันคือ โรเบิร์ต ดัดลีย์ น่าจะลุ่มหลงพระนางเจ้าอลิซาเบธ อย่างมาก (ทั้งในแง่ตัวพระนางเองและตำแหน่งกษัตริย์) ภรรยาของโรเบิร์ต นามว่าเอมี่ ร็อบสาร์ต หรือเอมี่ ดัดลีย์ ที่ว่ากันว่าเป็นภรรยาจากหญิงสามัญชนที่ภักดีต่อขุนนางหนุ่มก็ต้องถูกทรยศจากสามี อย่างเจ็บช้ำและเสียชีวิตในภายหลังอีกต่างหาก

เมื่อเล่ามาถึงตรงนี้ หลายคนน่าจะนึกถึงภาพของเซอร์จอราห์ มอร์มอนต์ (Jorah Mormont) ตัวละครที่ผู้ชมย่อมสังเกตว่า “ลุ่มหลง” ในตัวแดเนริส ผู้เป็นทั้งเจ้าชีวิตและลุ่มหลงใน “ตัว” ของแดเนริส เอง

พระนางเจ้าอลิซาเบธ ยังมีบทบาทในทางการเมืองระหว่างไอร์แลนด์กับอังกฤษ เมื่ออังกฤษเป็นฝ่ายพยายามบีบให้ไอร์แลนด์อยู่ภายใต้การปกครองมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าเฮนรี่ที่ 2 (ค.ศ. 1154-1189) ในช่วงเวลาหนึ่ง พระนางมีผู้ไว้วางพระทัยอีกหนึ่งรายมาแทนที่โรเบิร์ต ดัดลีย์ นั่นคือโรเบิร์ต เดเวโรซ์ (Robert Devereux) เอิร์ลแห่งเอสเสค ที่พระนางรับสั่งให้กู้พระราชอำนาจของพระนางในไอร์แลนด์คืนมา หลังจากกองกำลังอังกฤษพ่ายแพ้ชาวไอริช เมื่อปี 1596

ภาพวาด โรเบิร์ต เดเวโรซ์ เอิร์ลแห่งเอสเซ็กซ์

แม้ได้ผลดี แต่ก็ดูเหมือนว่า การลงทุนงบประมาณ 3 ล้านปอนด์และกำลังแรงงานจำนวนมากจะไม่คุ้มค่ากับผลที่ได้รับมาเมื่อแลกกับดินแดนส่วนน้อยที่ยึดครองได้ กรณีนี้ทำให้โรเบิร์ต ไม่ได้เป็นที่โปรดปรานอีก ภายหลังโรเบิร์ต เดเวโรซ์ ก่อกบฏต่อต้านพระนางและถูกประหารในที่สุด

กรณีของโรเบิร์ต เดเวโรซ์ อาจทำให้นึกถึงดาริโอ นาฮาริส (Daario Naharis) นักรบรูปงามที่ลุ่มหลงในแดเนริส เช่นกัน

ในช่วงปลายรัชกาล ความนิยมต่อตัวพระนางเจ้าอลิซาเบธที่ 1 ลดลงอันเป็นผลสืบเนื่องมาจากสภาวะความขัดแย้งกับสเปน และไอร์แลนด์ ซึ่งผลร้ายมาตกที่ประชาชน พวกเขาต้องเสียภาษีมากขึ้น ซ้ำร้ายยังมีภัยธรรมชาติเข้ามายิ่งทำให้เศรษฐกิจย่ำแย่ไปกว่าเดิม

ช่วงเสื่อมความนิยม-ปลายรัชกาล

สภาพการเมืองในช่วงเวลานั้น สมาชิกผู้แทนราษฎรของอังกฤษกลุ่มหนึ่งที่เป็นพวกญาติพี่น้องบุตรหลานของขุนนางเจ้าของที่ดินในชนบทซึ่งล้มเหลวในการเลือกตั้งในมณฑลเริ่มเสนอตัวเข้ามาทำงาน พวกเขาเหล่านี้ที่มีฐานะดีอยู่แล้วก็เลือกทำงานเต็มที่ สม่ำเสมอ และทำงานอย่างช่ำชองขึ้นทุกขณะด้วย โดยถือตนว่าเป็นผู้แทนราษฎร มีสิทธิเข้ามาดูแลกิจการบริหารบ้านเมือง ขณะที่พระนางเจ้าอลิซาเบธ ที่มาจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช พระนางย่อมทรงไม่พอพระทัย และความสัมพันธ์กับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก็เริ่มขัดแย้งรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ

ในช่วงเวลาที่สถานการณ์คุกรุ่น พระนางเจ้าอลิซาเบธแสดงให้เห็นถึงจุดแข็งอีกประการคือ พระนางตระหนักดีถึงความจำเป็นในการยืดหยุ่นไปตามสถานการณ์โดยไม่เลือกแตกหัก แต่ข้อดีก็มีส่วนด้อยในตัวอยู่ด้วย การสั่งสมความขัดแย้งเอาไว้กลับไปปะทุและกลายเป็นสงครามกลางเมืองในสมัยกษัตริย์พระองค์อื่นในเวลาต่อมา

ช่วงปลายรัชสมัยของพระนาง ในค.ศ. 1602 พระนางทรงสูญเสียคนใกล้ชิดหลายรายที่ทยอยลาโลกไปจนส่งผลกระทบต่อพระวรกาย และทรงประชวรต่อเนื่องจนกระทั่งสิ้นพระชนม์ เมื่อ ค.ศ. 1603 โดยไม่มีรัชทายาท

ดังที่กล่าวไว้แล้วว่า บริบทเหล่านี้ใกล้เคียงกับองค์ประกอบแวดล้อมของตัวละครในซีรีส์ดังในระดับหนึ่ง แต่จนกว่าจะติดตามไปจนถึงบทสรุปในตอนท้ายว่าด้วยเส้นทางของแดเนริส แห่งทาร์เกเรียน เมื่อนั้นคงอาจกล่าวสรุปได้ชัดเจนว่าแดเนริส เป็นเงาร่างของพระนางเจ้าอลิซาเบธ ที่มีผู้ขนานนามพระนางว่า “ราชินีผู้ทรงพรหมจรรย์” เนื่องจากไม่ได้อภิเษกสมรส ในสัดส่วนมากน้อยเท่าใด หรือจะถือว่าถอดแบบมาจากอลิซาเบธที่ 1 (ในแง่ไม่อภิเษกสมรสด้วยไหม) อย่างสมบูรณ์หรือไม่ อย่างไร



อ้างอิง:

สมเกียรติ วันทะนะ. การสร้างระบอบประชาธิปไตยของอังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมนี. กรุงเทพฯ : สมาคมรัฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, 2560

ALESI, DANIELLE. “DAENERYS AND ELIZABETH I: ICONIC QUEENS”. History Behind Game of Thrones. Online. 9 OCT 2014. Access 23 APRIL 2019. <http://history-behind-game-of-thrones.com/tudors/daenerys-as-elizabeth-i>