ร่องรอย “กุฎาราม” โลหะปราสาทนครเชียงใหม่ เป็นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกต

แผนที่เมืองนครเชียงใหม่ พ.ศ. ๒๔๓๖ แสดงที่ตั้ง “หอพระแก้วร้าง” (ในกรอบสี)

กุดารามหรือกุฎารามเป็นชื่อศาสนสถานสำคัญแห่งหนึ่งในเวียงเชียงใหม่ ซึ่งมีนามปรากฏในโคลงหริภุญชัย เป็นนิราศไปไหว้พระสุเทพ หนานเจา แต่ง [1] ที่พระยาราชสัมภารากร (เลื่อน สุรนันทน์) อดีตข้าหลวงสามหัวเมือง นครเชียงใหม่ ในระหว่าง .. 2425-37  คัดลอกและแปลความตามโวหารความเห็นจากต้นฉบับเดิมที่เป็นภาษามคธปนขอมแล้วจารลงบนใบลานด้วยอักษรยวนว่า

กุดารามรวดด้าน   หลังเหลียว

Advertisement

ถวายกระพุมมือเทียว   หว่านไหว้

ทำบุญเพื่อผลเยียว   พลัดแม่  นา เม / แม่

ถึงถับอุแปนได้   แต่ซ้ำปราฐนา[2]

ในตอนท้ายของบทประพันธ์ดังกล่าว พระยาราชสัมภารากรได้ทำคำอธิบายไว้ว่ากุดาราม ว่า ชื่อวัด[3] แต่คำเดียวกันนี้ ศาสตราจารย์ ดร. ประเสริฐ ณ นคร ได้ให้ความหมายไว้ในโคลงนิราศหริภุญชัย ศาสตราจารย์ ดร. ประเสริฐ ณ นคร สอบทานกับต้นฉบับเชียงใหม่ว่ากุฎารามเรือนมียอด เช่นปราสาทในที่นี้เป็นชื่อเดิมของวัดเจดีย์หลวงซึ่งมีเจดีย์สูงตระหง่านเห็นไปได้ทั่วเมืองเชียงใหม่[4]

พระยาราชสัมภารากร (เลื่อน สุรนันทน์)

แต่เนื่องจากในบทประพันธ์ดังกล่าว หนานทาผู้ประพันธ์ได้กล่าวถึงระยะทางที่ผ่านไป ออกจากเชียงใหม่ไปยังลำพูน ผ่านวัดพระสิงห์ แวะไหว้พระพุทธสิหิงค์ ผ่านวัดทุงยู, วัดสิริเกิด, วัดผาเกียร (ชัยพระเกียรติ?) ผ่านข้างกุฎาราม (วัดเจดีย์หลวง วัดอูปแป้น (ร้างไปประมาณร้อยปีแล้ว) มาถึงสี่แยกกลางเวียงเชียงใหม่ไหว้หอมังราชของพญามังราย (เหลือแต่ต้นโพธิ์) แวะวัดเจดีย์หลวง ไหว้พระอัสดารสซึ่งเป็นประธานในปัจจุบันนี้ ไหว้พระแก้วมรกตและรูปยักขราชกุมภัณฑ์คู่ (ไม่ใช่คู่ที่ปรากฏอยู่เดี๋ยวนี้ เพราะเพิ่งสร้างขึ้นใหม่ในสมัยเจ้ากาวิละ) ผ่านวัดฟ่อนสร้อยและเชียงสง (วัดหรือตลาด?) ออกประตูเมือง ชื่อประตูเชียงใหม่[5]

ซุ้มจระนำพระธาตุเจดีย์หลวงด้านทิศตะวันออก ซึ่งเคยเป็นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกต

ดังนี้ย่อมเห็นได้ว่า เมื่อหนานทาแต่งโคลงนิราศนี้ พระแก้วมรกตยังคงประดิษฐานอยู่ที่วัดเจดีย์หลวง  ส่วนกุฎารามนั้นผู้ประพันธ์เพียงแต่ผ่านไปด้านข้าง ก่อนที่จะบ่ายหน้าไปแยกกลางเวียง แล้วจึงไปนมัสการพระอัฏฐารสและพระแก้วมรกตที่วัดเจดีย์หลวง 

แต่ภายหลังจากที่หนานทาแต่งโคลงหริภุญชัยนี้แล้ว กลับพบความว่า เมื่อเจ้าเชษฐวงศ์ พระอุปโยวราชแห่งเมืองนครหลวงพระบาง ซึ่งพระมารดาเป็นธิดาพระเมืองเกษเกล้า ได้มาครองนครเชียงใหม่ เพราะไม่อาจหาพระญาติพระวงศ์เจ้านครเชียงใหม่มาดำรงราชสมบัติสืบต่อไปได้แล้ว ถึงวันพฤหัสบดี เดือน 10 แรม 6 ค่ำ  ปีมะเมีย อัฐศก (.. 2089) แล้ว “…ยามแตรค่ำ เสด็จไปนมัสการพระมหามณีรัตน ณ หอพระแก้ว รุ่งขึ้นวันแรม 7 ค่ำ เดือน 10 ยามแตรค่ำ เสด็จไปนมัสการพระมหาเจดีย์หลวง ทรงพระดำเนินโดยทางลาดพระบาท ตั้งแต่คุ้มหลวงไปจนถึงวัดเจดีย์หลวง…” [6]

ครั้นสอบทานความในตำนานพระแก้วมรกตก็พบว่า เมื่อพระเจ้าติโลกราชอัญเชิญพระแก้วมรกตจากนครลำปางมาประดิษฐาน ณ นครเชียงใหม่ในจุลศักราช 830 (.. 2011) นั้น “…ได้เชิญพระแก้วมรกตประดิษฐานไว้ ณ ซุ้มจระนำมุขพระเจดีย์หลวง เมืองนครเชียงใหม่ จนถึงเวลาที่สร้างหอพระแก้วในคราวนี้ จึงได้เชิญเข้าประดิษฐานไว้ในหอพระแก้ว…” [7] ซึ่งพงศาวดารโยนกก็ได้กล่าวถึงเรื่องเดียวกันนี้ไว้ว่า

“…ลุจุลศักราช 839 ปีวอก นพศก พระพุทธศาสนยุกาลล่วงแล้วได้ 2020 พรรษา… 

พระมหาราชเจ้า ตรัสใช้ให้หมื่นด้ำพร้าคต (ซึ่งในชินกาลมาลินีเรียกว่า สีหะเสนาบดี) ออกไปถ่ายอย่างโลหะปราสาทและรัตนมาลีเจดีย์ ณ เมืองลังกาทวีปโพ้นมา แล้วให้หมื่นด้ำพร้าคตเป็นผู้อำนวยการปฏิสังขรณ์กุฏิมหาธาตุ หรือเจดีย์ลักษณบุราคมคือเจดีย์หลวงในกลางเวียงเมืองเชียงใหม่ซึ่งเจ้าแสนเมืองมาได้สร้างไว้ ตามคำสั่งของเจ้าท้าวกือนาเมื่อเป็นเทพารักษ์นั้น การปฏิสังขรณ์นี้ได้เริ่มกระทำในปีจอ เอกศก จุลศักราช 841 ก่อเสริมฐานกว้างเป็น 35 วาสูง 45 วา ครั้นเสร็จแล้ว บรรจุพระบรมธาตุซึ่งพระมหาคัมภีรเถรนำมาจากลังกาทวีปไว้ในมหาสถูปนี้ แล้วให้สร้างหอพระแก้วตามอย่างโลหะปราสาท กรุงลังกา อาราธนาพระแก้วมรกต และพระแก้วขาวไว้ในหอพระแก้ว…” [8]

เมื่อการก่อสร้างโลหะปราสาทเมืองนครเชียงใหม่แล้วเสร็จ ในรัชสมัยพระเมืองแก้วซึ่งในตำนานพระสิงห์พุทธปฏิมาเจ้าออกนามว่าท้าวแก้วตาหลวง” 

“…เสวยเมืองได้ 8 ปี ท้าวก็หื้อปราสาทอันประจิตรริสนาด้วยเครือดอก เครือวัลย์ แล้วก็พอกคำคือว่าติดคำปลิวตามคำคนเราบัดนี้แล แลจ่ายเงินประมาณว่าได้ห้าแสนเงิน แล้วก็นิมนต์พระเจ้าแก้วบัวระกต แต่โขงมหาเจติยะลงมาสถิตสำราญยังปราสาทคำท่ามกลางวิหารหลวงในปีเต่าเสต ศักราชได้ 865 ตัว (.. 2046) เดือนเจียง ออก 7 ค่ำ วันอาทิตย์ฤกษ์กฎ 28 ตัวแลฯ…” [9]

โลหะปราสาทแห่งที่ ๔ สร้างขึ้นที่วัดราชนัดดารามในกรุงเทพมหานคร

อนึ่ง ในตำนานพระแก้วมรกตฉบับกรมศิลปากรได้กล่าวถึงสถานที่ประดิษฐานพระแก้วมรกตที่ในเวียงเชียงใหม่ว่า เป็นพระมหาวิหารเป็นปราสาทนภศูล[10] ซึ่งคำว่าปราสาทนี้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ประทานคำอธิบายไว้ในเรื่องโลหปราสาทว่าเมื่อพระศาสนาไปถึงลังกาทวีปมีพระเจ้าแผนดินพระองค์หนึ่งจำชื่อไม่ได้ (พระเจ้าอภัยทุษฐคามินี) ดูในหนังสือมหาวงศ์แล้วกัน พระเจ้าแผ่นดินพระองค์นี้สร้างโลหปราสาทขึ้นในเมืองอนุราฐบุรี ถวายเป็นที่พระนั่งกรรมฐานเป็นหลายชั้นเรียกว่า โลหปราสาท ที่เรียกว่าปราสาทก็หมายถึงหลายชั้น สองชั้นอย่างตึกที่เราอยู่นี้ตามศัพท์ก็เรียกว่าปราสาท[11]

แนวฐานรากส่วนหนึ่งของมหาวิหารที่เคยประดิษฐานพระแก้วมรกต ภายในส่วนจัดแสดงของหอประวัติศาสตร์เมืองเชียงใหม่กลางเวียง

คำว่าปราสาทนี้ นอกจากจะหมายถึงอาคารหลายชั้นดังพระนิพนธ์คำอธิบายดังกล่าวแล้ว ปัญหาที่ต้องสืบค้นต่อไปก็คือ โลหะปราสาทหรือปราสาทนภศูลที่ประดิษฐานพระแก้วมรกตนี้อยู่ที่แห่งหนใดในเวียงเชียงใหม่ เพราะปัจจุบันไม่เหลือร่องรอยให้พิสูจน์ทราบเลย แต่เมื่อพิจารณาความหมายของคำว่ากุฎาซึ่งพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.. 2493 ได้ให้คำอธิบายคำว่ากุฎาว่ายอดและกุฎาคารว่า เรือนยอด เช่น ปราสาท ดังนี้กุฎารามจึงน่าจะหมายถึงอารามที่มียอดซึ่งตรงกับปราสาทนภศูลหรือโลหะปราสาทในตำนานพระแก้วมรกต ซึ่งบางคราวก็เรียกว่าหอพระแก้ว

เหตุที่ออกนามหอพระแก้วแทนปราสาทนภศูลหรือโลหะปราสาทนั้น คงจะเป็นเพราะหลังคาโลหะปราสาทนั้นดาดด้วยทองแดง จึงมักจะถูก “…อสนีบาตลงต้องทำลายยอดที่ตั้งสร้างขึ้นหลายครั้ง จึงได้อัญเชิญพระมหามณีรัตนปฏิมากรไว้ในพระวิหาร มีซุ้มจระนำอยู่ในผนังด้านหลังสำหรับเป็นที่ตั้งพระมหามณีรัตนปฏิมากรแก้ว กับทั้งเครื่องประดับอาภรณ์บูชาต่างๆ มีบานปิดดังตู้เก็บรักษาไว้ เปิดออกให้คนทั้งปวงนมัสการเป็นคราวๆ…” [12]

แต่เมื่อพระไชยเชษฐาธิราชครองนครเชียงใหม่มาได้ราว 2 ปีพระโพธิสารราชเจ้านครหลวงพระบางผู้ทรงเป็นพระบิดาสิ้นพระชนม์ลงในครั้งนั้นเสนาบดีมนตรีมุขมาตย์ข้าราชการในกรุงล้านช้างได้แตกกันออกเป็น 2 ฝ่ายแต่ละฝ่ายต่างก็ยกพระอนุชาของพระไชยเชษฐาขึ้นเป็นพระเจ้าล้านช้างแยกกันครองเมืองหลวงพระบางฝ่ายหนึ่งอีกฝ่ายหนึ่งครองนครเวียงจันทน์ทั้ง 2 ฝ่ายต่างเตรียมการที่จะกระทำยุทธสงครามต่อกันเมื่อพระไชยเชษฐาธิราชผู้ทรงเป็นพระอุปโยวราชล้านช้างทรงทราบข่าวนั้นแล้ว

“…จึงทรงพระดำริที่จะเสด็จกลับไปกรุงล้านช้าง เพื่อจัดการศพพระบิดาและระงับพระอนุชาทั้งสองให้ปรองดองสมัครสมานกัน แต่การที่จะละเมืองนครเชียงใหม่ไปนั้น ก็มุ่งหมายจะได้สืบสันตติวงศ์ดำรงรัฐในล้านช้าง ไม่คิดว่าจะได้กลับคืนมาเมืองเชียงใหม่อีก จึงได้เก็บรวบรวมสรรพของวิเศษต่างๆ ในเมืองนครพิงค์เชียงใหม่ ซึ่งเป็นที่พอพระทัยเอาไปเสียด้วย คือได้เชิญเอาพระมหามณีรัตนปฏิมากรแก้วมรกตและพระจันทรรัตนแก้วขาวกรุงละโว้ (น่าจะเป็นพระพุทธบุษยรัตนกระมัง) พระพุทธสิหิงค์ พระแทรกคำและพระอื่นๆ พาไปเมืองนครหลวงพระบาง ได้เสด็จออกจากเมืองนครเชียงใหม่ไป เมื่อ ณ วันขึ้น 5 ค่ำ เดือน 12 เหนือ คือเดือน 10 จุลศักราช 910 ปีวอก สัมฤทธิศก…” [13]

เมื่อพระไชยเชษฐาธิราชอัญเชิญพระแก้วมรกตไปจากนครเชียงใหม่แล้ว กุฎารามหรือหอพระแก้วนี้ก็คงจะเป็นศาสนสถานสำคัญของเมืองนครเชียงใหม่ต่อมา ดังปรากฏความตอนหนึ่งในพงศาวดารโยนกว่า “…ลุศักราช 1022 [14] ปีชวด โทศก มีฮ่อ 3 คนมาที่ท่าแม่พิงค์เมืองเชียงใหม่ เข้าปล้นฆ่าชาวท่าตาย 22 คน จับไปได้บ้าง วันขึ้นค่ำ 1 เดือนยี่ ตั้งพิธีเสียเคราะห์เมือง พระสงฆ์ 17 รูป ตั้งสวด ณ หอพระแก้ว 3 วัน…” [15]

และนับแต่นั้นมาก็ไม่พบเอกสารหลักฐานใดกล่าวถึงหอพระแก้วอีกเลย จึงไม่อาจทราบได้ว่า กุฎารามหรือหอพระแก้วนี้ถูกปล่อยให้ทิ้งร้างลงตั้งแต่ครั้งสมเด็จพระนารายณ์มหาราชยกขึ้นมาตีนครเชียงใหม่ จนนครเชียงใหม่ต้องกลายเป็นเมืองร้างอยู่ 2 ปี หรือจะร้างลงเมื่อคราวที่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงนำทัพขึ้นมาขับไล่พม่าพ้นไปจากนครเชียงใหม่ใน พ.. 2317 ซึ่งพงศาวดารโยนกบันทึกไว้ว่ายามนั้นเมืองเชียงใหม่รุร้างเป็นป่ารุกข์อุกเต็มไปด้วยซุ้มไม้เครือเขาเถาวัลย์เป็นที่อาศัยแห่งหมู่สัตว์ป่า[16]

เจดีย์รูปแปดเหลี่ยมผสมทรงกลมในพื้นที่ “หอพระแก้วร้าง” ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ตั้งหอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่

แต่เมื่อพระเจ้ากาวิละได้จัดให้แผ้วถางซ่อมแปลงปฏิสังขรณ์อารามเก่าใหม่ในเมือง[17] ในปีขาล ฉศก จุลศักราช 1156 (.. 2337) นั้น กุฎารามหรือหอพระแก้วซึ่งเป็นศาสนสถานสำคัญของนครเชียงใหม่คงจะชำรุดทรุดโทรมจนเกินกว่าที่จะบูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นมาใหม่ กุฎารามหรือหอพระแก้วซึ่งเป็นมหาวิหารนั้นจึงคงจะถูกปล่อยให้ทิ้งร้างเหลือแต่ซากอาคาร กับ “…เจดีย์รูปแปดเหลี่ยมผสมทรงกลมที่มีรูปแบบและแบบแผนคล้ายกับเจดีย์รุ่นเก่า กล่าวคือ มีลักษณะที่คลี่คลายมาจากเจดีย์แบบหริภุญชัยที่พบมีเหลืออยู่น้อยแห่งในล้านนา…” [18] ในพื้นที่ซึ่งแผนที่เมืองนครเชียงใหม่ พ.. 2436 ระบุว่าหอพระแก้วร้าง

แผนที่เมืองนครเชียงใหม่ พ.ศ. ๒๔๓๖ แสดงที่ตั้ง “หอพระแก้วร้าง”

ดังนี้จึงอาจกล่าวได้ว่า ปราสาทนภศูลหรือโลหะปราสาทที่ประดิษฐานพระแก้วมรกต ณ นครเชียงใหม่นั้นก็คือหอพระแก้วซึ่งในแผนที่เมืองนครเชียงใหม่ พ.. 2436 ระบุว่าเป็นหอพระแก้วร้างที่กลางเวียงเชียงใหม่ ซึ่งต่อมาในสมัยที่เจ้าอินทวโรรสสุริยวงษ์ ครองนครเชียงใหม่ เกิดเหตุที่ว่าการมณฑลพายัพที่ริมน้ำปิงถูกน้ำท่วมกำแพงด้านหนึ่งพังลงเมื่อเดือนกันยายน 2448 พระยาสุรสีห์วิสิษฐศักดิ์ (เชย กัลยาณมิตรเจ้าพระยาสุรสีห์วิสิษฐศักดิ์) จึงได้ปรึกษากับเจ้านครเชียงใหม่ย้ายที่ทำการมณฑลจากริมน้ำปิงเข้ามาเปิดทำการร่วมกับที่ว่าการเค้าสนามหลวงที่กลางเวียง หลังจากนั้นเจ้าอินทวโรรสสุริยวงษ์ได้อุทิศที่ดินซึ่งในแผนที่เมืองนครเชียงใหม่ พ.. 2436 เรียกว่าหอพระแก้วร้างให้เป็นสถานที่ก่อสร้างศาลารัฐบาลมณฑลพายัพทดแทนที่ว่าการเดิม   

เมื่อการปลูกสร้างศาลารัฐบาลมณฑลแห่งใหม่แล้วเสร็จและมีพิธีเปิดเมื่อวันจันทร์ที่ 30 มิถุนายน 2462 แล้ว ศาลารัฐบาลนี้ได้เป็นทั้งที่ว่าการมณฑลพายัพและที่ว่าการเค้าสนามหลวงนครเชียงใหม่มาจนยุบเลิกการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาลในเดือนธันวาคม พ.. 2476 ศาลารัฐบาลมณฑลพายัพนี้จึงแปรสภาพมาเป็นศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ นอกจากนั้นศาลารัฐบาลมณฑลพายัพนี้ยังได้เคยจัดเป็นที่ประทับแรมพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในเสด็จพระราชดำเนินเยือนเมืองนครเชียงใหม่ระหว่างวันที่ 22 มกราคม-5 กุมภาพันธ์ 2469 รวมทั้งเป็นที่ประทับแรมของพระบรมวงศ์ที่เสด็จตรวจราชการเมืองนครเชียงใหม่อีกหลายพระองค์ด้วย

ศาลารัฐบาลมณฑลพายัพ เมื่อครั้งจัดเป็นที่ประทับแรม พ.ศ. ๒๔๖๙

ภายหลังจากศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ย้ายออกไปเปิดทำการที่ศูนย์ราชการแห่งใหม่ริมถนนโชตนาเมื่อ .. 2527 แล้ว อาคารนี้ได้ใช้ประโยชน์เป็นสำนักงานสรรพากรเขต 5 และสำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดเชียงใหม่ต่อมาอีกชั่วระยะเวลาหนึ่ง แล้วจึงมอบให้เทศบาลนครเชียงใหม่จัดเป็นหอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่มาจนถึงปัจจุบัน (2559 – กองบรรณาธิการ)

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เชิงอรรถ :

[1] บทประพันธ์นี้เป็นที่รู้จักโดยทั่วไปในชื่อโคลงนิราศหริภุญชัย

[2] ราชสัมภารากรลิขิต, . 3.

[3] เรื่องเดียวกัน, . 47.

[4] ศาสตราจารย์ ดร. ประเสริฐ ณ นคร. โคลงนิราศหริภุญชัย ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ  นคร สอบทานกับต้นฉบับเชียงใหม่, . 14.

[5] “อธิบายความเบื้องต้น,” ใน โคลงนิราศหริภุญชัย ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ  นคร สอบทานกับต้นฉบับเชียงใหม่, . [14].

[6] พระยาประชากิจกรจักร (แช่ม บุนนาค). พงศาวดารโยนก. . 386387.

[7] เรื่องเดียวกัน, . 345.

[8] เรื่องเดียวกัน, . 341-342.

[9] สงวน โชติสุขรัตน์. ประชุมตำนานล้านนาไทย เล่ม 2. . 164.

[10] กรมศิลปากร. ตำนานพระแก้วมรกต. . 25.

[11] สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. “โลหปราสาท,” ใน บันทึกรับสั่ง สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ประทานหม่อมราชวงศ์สุมนชาติ สวัสดิกุล. . 18.

[12] พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. พระแก้วมรกต ตำนานพระแก้วมรกต. . 172-173.

[13] พระยาประชากิจกรจักร (แช่ม บุนนาค). พงศาวดารโยนก. . 388389.

[14] ตรงกับ พ.. 2203

[15] พระยาประชากิจกรจักร (แช่ม บุนนาค). พงศาวดารโยนก. . 411.

[16] เรื่องเดียวกัน, . 446.

[17] เรื่องเดียวกัน, . 460.

[18] อรุณรัตน์ วิเชียรเขียว. วัดร้างในเวียงเชียงใหม่. . 105.

บรรณานุกรม :

กรมศิลปากร. ตำนานพระแก้วมรกต. (พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานฌาปนกิจศพ นายเลี่ยม ปราบใหญ่ และ จู ปราบใหญ่ ณ เมรุวัดกลาง ตำบลบางพึ่ง อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ วันที่ 2 พฤษภาคม 2508). พระนคร :

โรงพิมพ์รุ่งเรืองรัตน์, 2508.

จอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. พระแก้วมรกต ตำนานพระแก้วมรกต. กรุงเทพฯ : มติชน, 2546.

ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา. บันทึกรับสั่งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำราชานุภาพประทานหม่อมราชวงศ์สุมนชาติ สวัสดิกุล. กรุงเทพฯ : บริษัทรุ่งนคร, 2493.

ประชากิจกรจักร (แช่ม บุนนาค), พระยา. พงศาวดารโยนก. กรุงเทพฯ : คลังวิทยา, 2516.

ประเสริฐ ณ นคร. โคลงนิราศหริภุญชัย ศาสตราจารย์ ดร. ประเสริฐ นคร สอบทานกับต้นฉบับ

เชียงใหม่. (พิมพ์เป็นบรรณาการในงานฌาปนกิจศพ เจ้ากาบแก้ว (ณ ลำพูน) พิจิตรโอสถ ณ เมรุวัดกู่เต้า ตำบล

ช้างเผือกอำเภอเมืองจังหวัดเชียงใหม่วันที่ 26 พฤษภาคมพ.. 2516). กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์พระจันทร์, 2516.

ราชบัณฑิตยสถาน. พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน .. 2493. พิมพ์ครั้งที่ 18. พระนคร : ราชบัณฑิตยสถาน, 2523.

ราชสัมภารากรลิขิต, (อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ หม่อมขาว เกษมศรีฯ ท.. ในพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศุภโยคเกษม ณ วัดเทพศิรินทราวาส วันที่ 11 กรกฎาคม 2505). พระนคร : โรงพิมพ์แพร่การช่าง, 2505.

สงวน โชติสุขรัตน์. ประชุมตำนานลานนาไทย เล่ม 2. พระนคร : โอเดียนสโตร์, 2515.

อรุณรัตน์ วิเชียวเขียว. วัดร้างในเวียงเชียงใหม่. เชียงใหม่ : ตรัสวิน, 2539.

แผนที่ :

หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. แผนที่กระทรวงมหาดไทย. . มท. 35 แผนที่เมืองนครเชียงใหม่ แสดงเขตจังหวัด, ที่ตั้งวัด, ป้อม, ประตูเมือง, ที่นา ภูเขา ฯลฯ


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2560