เผยแพร่ |
---|
มาร์กาเรต แธตเชอร์ (Margaret Thatcher) นักการเมืองพรรคอนุรักษ์นิยมแห่งอังกฤษผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในช่วงปี 1979-1990 เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของยุโรปและคนแรกของอังกฤษ และเป็นผู้นำทางการเมืองที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดคนหนึ่งของอังกฤษนับตั้งแต่ยุคของวินสตัน เชอร์ชิล (Winston Churchill) ผู้นำในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2
แธตเชอร์ถือเป็นนักการเมืองที่มีความกล้าตัดสินใจไม่สนเสียงวิพากษ์วิจารณ์จนทำให้ผู้ที่สนับสนุนเธอยกย่องให้เป็นหญิงเหล็ก เช่นเมื่อครั้งที่เธอเป็นรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการและวิทยาศาสตร์ในรัฐบาลของเอ็ดเวิร์ด ฮีธ (Edward Heath) เธอคือผู้ที่สั่งยกเลิกการแจกนมฟรีให้กับเด็กนักเรียน ทำให้พรรคแรงงานออกมาเรียกเธอว่า “Thatcher the milk snatcher” (แธตเชอร์ผู้ฉกนม) แต่เธอก็เป็นผู้ที่เพิ่มจำนวนโรงเรียนระดับมัธยมต้นที่เรียกว่า comprehensive school (เป็นโรงเรียนที่รับเด็กโดยไม่วัดจากผลการศึกษา ความถนัดและฐานะ ซึ่งเป็นโครงการริเริ่มของพรรคแรงงาน) มากที่สุดอย่างที่ไม่เคยมีรมว.ศึกษาธิการฯ รายใดทำได้มาก่อน ก่อนที่โรงเรียนเหล่านี้จะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการผลักดันนโยบายเสรีนิยมใหม่ของเธอเมื่อเธอได้เป็นนายกรัฐมนตรี
แธตเชอร์ได้ขึ้นเป็นผู้นำพรรคอนุรักษ์นิยม หลังฮีธประสบความพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งติดๆ กัน 2 ครั้งในปี 1974 ก่อนแธตเชอร์พาพรรคได้ชัยชนะในการเลือกตั้งปี 1979 และเริ่มต้นการปฏิรูปประเทศด้วยการเพิ่มเสรีภาพให้กับเอกชนลดการควบคุมจากภาครัฐ ลดการแทรกแซงทางเศรษฐกิจ มีการแปรรูปรัฐวิสากิจจำนวนมาก ลดการใช้จ่ายด้านบริการสาธารณะ ทั้งด้านสาธารณสุข และการศึกษา และเพิ่มความเข้มงวดในการควบคุมสหภาพแรงงาน “แธตเชอริซึม” (Thatcherism) กลายเป็นคำที่ไม่เพียงบ่งบอกถึงนโยบายของเธอ แต่ยังเป็นสิ่งบ่งบอกถึงมุมมองทั้งด้านศีลธรรม และการแสดงออก ซึ่งมีทั้งความเป็นชาตินิยมสุดโต่ง การเชิดชูผลประโยชน์ของปัจเจก การต่อสู้และเดินหน้าสู่เป้าหมายโดยไม่มีการประนีประนอม
ผลของนโยบายในสมัยแรกจากการลดหรือเลิกเงื่อนไขในการดำเนินธุรกิจและลดการอุดหนุนเอกชน ทำให้โรงงานที่ขาดประสิทธิภาพล้มหายตายจากไป แต่บริษัทที่มิได้อยู่ในข่ายอีกหลายแห่งก็พลอยโดยหางเลขไปด้วย ทำให้ประเทศมีตัวเลขคนว่างงานเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวจาก 1.3 ล้านคน ภายในเวลาเพียง 2 ปี นับแต่การเข้ารับตำแหน่ง ขณะที่อัตราเงินเฟ้อก็เพิ่มเป็น 2 เท่าในเวลาเพียง 14 เดือนเป็นกว่า 20 เปอร์เซนต์ เมื่อครบวาระในสมัยแรกตัวเลขคนว่างงานได้เพิ่มขึ้นมากกว่า 3 ล้านคน
ปัญหาคนว่างงาน และการเผชิญหน้าทางสังคมทำให้ความนิยมของเธอตกต่ำลงมาก จนไม่น่าจะชนะการเลือกตั้งในปี 1983 ได้ แต่ด้วยอานิสงส์จากการได้ชัยชนะในสงครามหมู่เกาะฟอล์กแลนด์กับอาร์เจนตินา และความขัดแย้งภายในของพรรคแรงงาน ทำให้เธอได้ชัยชนะเหนือพรรคแรงงานอย่างท้วมท้น กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีต่ออีกสมัย
หลังการเลือกตั้งเธอต้องเจอกับการนัดหยุดงานของแรงงานเหมืองที่คัดค้านการปิดเหมืองกว่า 20 แห่ง ในปี 1984 ซึ่งกินเวลานานนับปี แต่เธอปฏิเสธทุกข้อเรียกร้องของแรงงานและเป็นฝ่ายได้ชัยชนะ แรงงานเหมืองต้องยอมกลับไปทำงานโดยมิได้สิ่งใดตอบแทน ปีเดียวกันผู้ก่อการร้ายจากกลุ่มกองทัพสาธารณรัฐไอร์แลนด์ได้วางระเบิดในที่ประชุมพรรคอนุรักษ์นิยมจนทำให้แธตเชอร์เกือบเอาชีวิตไม่รอด
ในทางการเมืองระหว่างประเทศ แธตเชอร์มีความสำพันธ์อันแนบแน่นกับโรนัลด์ เรแกน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ร่วมสมัย ที่มีทัศนคติต่อคอมมิวนิสต์ตรงกันว่าเป็นปีศาจร้ายที่ไม่อาจประนีประนอม จนกระทั่งมิคาอิล กอร์บาชอฟ นักการเมืองสายปฏิรูปก้าวขึ้นเป็นผู้นำของโซเวียตในปี 1985 เธอเคยกล่าวถึงผู้นำโซเวียตว่า “ฉันชอบกอร์บาชอฟนะ เราสามารถทำข้อตกลงร่วมกันได้” และบทบาทของเธอยังมีส่วนสำคัญที่นำไปสู่การยุติสงครามเย็นของทั้งสองค่าย
ขณะเดียวกัน เธอได้ออกมาคัดค้านการแทรกแซงทางการค้ากับรัฐบาลคนขาวของแอฟริกาใต้ที่ใช้นโยบายแบ่งแยกสีผิว โดยอ้างว่า มาตรการดังกล่าวไม่มีทางได้ผล ทำให้เธอถูกวิจารณ์อย่างรุนแรงทั้งจากในอังกฤษและนานาชาติ
ในปี 1987 เธอชนะการเลือกตั้งเป็นครั้งที่ 3 แต่การดำเนินนโยบายเป็นปฏิปักษ์กับประชาคมยุโรป (EC ซึ่งกลายมาเป็นสหภาพยุโรปในปัจจุบัน) ทำให้เกิดความขัดแย้งภายในพรรคจนรัฐมนตรีอาวุโสหลายคนประกาศลาออกเป็นการประท้วง นอกจากนี้การเปลี่ยนนโยบายภาษีที่ให้จัดเก็บจากบุคคลอย่างเสมอกันโดยไม่คำนึงถึงรายได้ (poll tax) ในปี 1989 ได้กลายเป็นชนวนปลุกการต่อต้านรัฐบาลอย่างรุนแรงบนท้องถนน
ด้วยคะแนนนิยมที่ตกต่ำอย่างหนัก และเกรงว่าแธตเชอร์จะไม่อาจนำชัยให้กับพรรคได้ ในเดือนพฤศจิกายน 1990 พรรคอนุรักษ์นิยมจึงได้จัดให้มีการลงคะแนนเลือกผู้นำพรรคใหม่ ซึ่งแธตเชอร์ เอาชนะ ไมเคิล เฮเซลไทน์ (Michael Heseltine) อดีตรัฐมนตรีกลาโหม ไปได้ด้วยคะแนน 204 ต่อ 152 เสียง แต่ยังไม่เพียงพอเนื่องจากเธอต้องได้คะแนนเสียงข้างมากเกินกว่า 15 เปอร์เซนต์ และเธอตัดสินใจที่จะไม่ลงแข่งรอบสอง ในวันที่ 22 พฤศจิกายน 1990 แธตเชอร์ประกาศลาออกจากตำแหน่ง เปิดทางให้จอห์น เมเจอร์ (John Major) ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีในอีก 6 วันถัดมา
หลังการวางมือ เธอยังคงมีอิทธิพลภายในพรรคอนุรักษ์นิยม แต่หลังจากประสบกับปัญหาอาการเส้นเลือดในสมองบ่อยครั้ง เธอจึงเลิกการให้ปราศรัยในที่สาธารณะนับแต่ปี 2002 ซึ่งลูกสาวของเธอเคยออกมาเผยว่า แธตเชอร์เริ่มมีอาการสมองเสื่อมมาตั้งแต่ปี 2000 จากนั้นเธอได้หายหน้าไปจากแวดวงข่าวสาร ก่อนถึงแก่อสัญกรรมในวันที่ 8 เมษายน 2013
ข้อมูลจาก Encyclopedia Britannica และเว็บไซต์ History
เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 8 เมษายน พ.ศ.2560