ผู้เขียน | เสมียนอารีย์ |
---|---|
เผยแพร่ |
“มาร์กาเร็ต แธตเชอร์” นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในหน้าประวัติศาสตร์และการเมืองอังกฤษ นายกรัฐมนตรีผู้พลิกฟื้นอังกฤษ ที่ประชาชนมีทั้งคนรักและชัง ใน “The Crown” ซีซั่น 4 ของ “NETFLIX” นอกจากเรื่องราวในราชวงศ์อังกฤษ โดยเฉพาะเรื่องของเจ้าชายชาลส์ เจ้าชายแห่งเวลส์ กับเจ้าหญิงไดอาน่าแล้ว ในซีซั่นนี้ดำเนินเรื่องในสมัยที่อังกฤษมี แธตเชอร์ เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรก ซึ่งเธอดำรงตำแหน่งยาวนานมาก นานขนาดที่จะได้เห็นเธอตั้งแต่ตอนแรกจนตอนจบของซีซั่น
ลูกสาวเจ้าของร้านชำ
มาร์กาเร็ต แธตเชอร์ (Margaret Thatcher) เกิดเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม ปี 1925 เป็นบุตรของ อัลเฟิร์ด รอเบิร์ต และเบียทริซ สตีเฟนสัน ครอบครัวชนชั้นกลางในเมืองแกรนทัม มณฑลลิงคอล์นเชียร์ บิดาเปิดร้านขายของชำ เป็นคนเคร่งศาสนาและระเบียบวินัยมาก เขาได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคอนุรักษ์นิยม จนได้เป็นสมาชิกสภาเทศบาลนานถึง 25 ปี ก่อนที่ในปี 1943 เขาจะได้เป็นนายกเทศบาลของเมือง
หลังแธตเชอร์สำเร็จการศึกษาระดับมัธยม เธอเข้าเรียนวิชาเคมีที่วิทยาลัยซัมเมอร์วิลล์แห่งมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด เธอไม่ได้สนใจวิชานี้เป็นพิเศษ แต่เห็นว่า มันเป็นวิชาที่จะทำให้เธอมีงานทำ กระทั่งสำเร็จการศึกษาด้วยเกียรตินิยมอันดับที่ 2 ในปี 1947 และได้ทำงานเป็นนักวิจัยเคมีที่เมืองโคลเชสเตอร์ ต่อมาพบรักกับ เดนิส แธตเชอร์ นักธุรกิจพ่อม่ายฐานะดี จนแต่งงานกันในปี 1951 สามีของเธอก็สนับสนุนให้แธตเชอร์เข้าเรียนที่สำนักกฎหมาย ที่สุดเธอจึงหันมาทำอาชีพนักกฎหมายผู้เชี่ยวชาญด้านภาษี
แธตเชอร์เข้าสู่สนามการเมืองในปี 1950-1951 ในนามพรรคอนุรักษ์นิยม แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ จนปี 1959 แธตเชอร์จึงได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาสามัญ (ส.ส.) จากเขตฟินช์ลีย์ ซึ่งเป็นฐานเสียงของพรรคอนุรักษ์นิยมที่อยู่ทางตอนเหนือของกรุงลอนดอน
แธตเชอร์เริ่มมีบทบาททางการเมืองมากขึ้นตามลำดับ เธอได้เป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเงินบำนาญสงเคราะห์และการประกันแห่งชาติ ก่อนจะได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการและวิทยาศาสตร์ในปี 1970 สมัยรัฐบาล เอ็ดเวิร์ด ฮีท นโยบายของเธอในช่วงเวลานี้คือ แธตเชอร์ต้องการส่งเสริมวิชาการในโรงเรียน แต่ต้องการตัดค่าใช้จ่ายของรัฐ เธอจึงยกเลิกการแจกนมฟรีให้แก่เด็กนักเรียนช่วงอายุ 7-11 ปี โดยให้เป็นภาระของโรงเรียนเอง แม้รัฐจะยังคงให้นมดื่มปริมาณ 1/3 ไพนต์ (1 ไพนต์ มีค่าเท่ากับ 568 มิลลิลิตร) ทุกวันแก่เด็กเล็กตามหลักโภชนาการ นโยบายนี้ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงจากพรรคแรงงานและหนังสือพิมพ์ จนมีการตั้งฉายาเรียกเธอว่า “มาร์กาเร็ต แธตเชอร์ ผู้ขโมยนมเด็ก” (Margaret Thatcher, Milk Snatcher)
ในช่วงที่มีการเลือกผู้นำพรรคอนุรักษ์นิยมคนใหม่ เมื่อแธตเชอร์ขึ้นกล่าวปราศรัยตอนเธอเสนอตัวเป็นหัวหน้าพรรค มักมีหนังสือพิมพ์วิพากษ์วิจารณ์ว่า เสียงของเธอเหมือนแมวลื่นตัวลงมาบนแผ่นกระดาน เธอจึงพยายามปรับปรุงการพูดติดสําเนียงถิ่นแถบมณฑลลิงคอล์นเชียร์ให้เป็นสำเนียง “ผู้ดีอังกฤษ” แธตเชอร์เธอได้พบกับ ลอเรนซ์ โอลิเวียร์ ดารานักแสดงซึ่งกำลังดำเนินโครงการฝึกการใช้เสียงให้แก่โรงละครแห่งชาติ แธตเชอร์จึงสามารถลบการติดสำเนียงถิ่นของเธอสำเร็จ
บุคลิกที่แสดงออกถึงความเด็ดเดี่ยวและมุ่งมั่นของแธตเชอร์ มีส่วนทำให้หนังสือพิมพ์ของสหภาพโซเวียตตั้งฉายาให้เธอใน ค.ศ. 1976 ว่า “สตรีเหล็ก” (Iron Lady) ซึ่งเป็นการนำไปเปรียบเทียบกับ “บิสมาร์ค” บุรุษผู้ยิ่งใหญ่ของเยอรมนีสมัยไกเซอร์ ที่มีฉายาว่า “อัครมหาเสนาบดีเหล็ก” (Iron Chancellor)
นายกรัฐมนตรี
แธตเชอร์สามารถก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำพรรคอนุรักษ์นิยมในปี 1975 และนำพรรคลงสู่สนามเลือกตั้งในปี 1979 ซึ่งในขณะนั้นอังกฤษกำลังประสบปัญหากับการประท้วงหยุดงานของสหภาพแรงงานซึ่งกดดันรัฐบาลพรรคแรงงานอย่างมาก (ซึ่งรัฐบาลพรรคอนุรักษ์นิยมในช่วงก่อนหน้านี้ก็เคยประสบ) พรรคอนุรักษ์นิยมที่มีแธตเชอร์เป็นผู้นำได้โจมตีรัฐบาลพรรคแรงงานว่า “พรรคแรงงานไม่ทำงาน” เพราะไม่สามารถแก้ปัญหาการว่างงานได้ ทำให้พรรคอนุรักษ์นิยมได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง แธตเชอร์จึงก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์อังกฤษเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม ปี 1979
ใน The Crown ซีซั่น 4 ตอนที่ 1 “Gold Stick” ขณะที่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 กำลังสนทนากับ เจ้าชายฟิลิป ดยุกแห่งเอดินบะระ เกี่ยวกับนายกรัฐมนตรีคนใหม่ เจ้าชายฟิลิปได้ตั้งข้อสงสัยถึงภูมิหลังและความสามารถของแธตเชอร์ในการเป็นนายกรัฐมนตรี “อะไรกัน ลูกสาวเจ้าของร้านชำเนี่ยนะ” สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แย้งว่า แม้จะเป็นลูกสาวเจ้าของร้านชำ แต่ก็เป็นเจ้าของร้านขำที่เป็นสมาชิกสภาเทศบาล เธอยังเป็นคนที่ขยันหมั่นเพียร จนได้ศึกษาที่มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด แม้จะสำเร็จการศึกษาด้านเคมี แต่ก็มีความรู้ด้านกฎหมาย
ซึ่งการที่แธตเชอร์มีภูมิหลังมาจากครอบครัวร้านขายของชำนี้เองจะส่งผลต่อแนวคิดและการดำเนินนโยบายของเธอในฐานะนายกรัฐมนตรี
การมีภูมิหลังมาจากครอบครัวร้านขายของชํา ทำให้แธตเชอร์รู้คุณค่าของเงิน ได้บ่มเพาะนิสัยให้เธอพยายามตัดทอนรายจ่ายของประเทศซึ่งรวมถึงสวัสดิการสังคมด้วย และประกอบกับการยึดมั่นในศาสนา และหลักการตนเป็นที่พึ่งแห่งตนในการดํารงชีวิต ทําให้แธตเชอร์เห็นว่า รัฐไม่ควรโอบอุ้มประชาชนนัก การลดความช่วยเหลือนอกจากเป็นการประหยัดงบประมาณแล้ว ยังจะเป็นการส่งเสริมจริยธรรมและชักจูงให้ประชาชนไม่คอยคิดแต่จะพึ่งพาผู้อื่น
นโยบายแรก ๆ ที่แธตเชอร์มุ่งให้ความสำคัญแก้ไขคือ ปัญหาสหภาพแรงงาน ซึ่งสร้างแรงกดดันต่อหลาย ๆ รัฐบาลมาโดยตลอด ซึ่งสมาชิกสหภาพมีราว 1/5 ของประชากร มักประท้วงหยุดงานเพื่อเรียกร้องประโยชน์ต่าง ๆ ครั้งแล้วครั้งเล่า จนทำให้สถานการณ์ภายในประเทศปั่นป่วน แธตเชอร์จึงสนับสนุนการออกกฎหมายหลายฉบับที่จำกัดอำนาจและบทบาทของสหภาพแรงงาน
แต่นโยบายที่ทำให้แธตเชอร์ถูกโจมตีอย่างหนักคือ นโยบายทางเศรษฐกิจที่จะให้ประชาชนพึ่งตนเอง โดยรัฐได้ยกเลิกการโอนกิจการอุตสาหกรรมใหญ่ ๆ มาเป็นของรัฐ ตามที่รัฐบาลก่อนหน้าได้ดำเนินการมา รวมถึงการตัดลดเงินช่วยเหลือลง ให้กิจการต่าง ๆ (เช่น โรงงานถลุงเหล็ก) ดำเนินการไปได้ด้วยตนเอง นั่นทำให้อุตสาหกรรมใหญ่หลายแห่งที่ขาดเงินอุดหนุนจากรัฐต้องปิดตัวลง ทำให้มีคนว่างงานเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก ในปี 1981 มีคนว่างงานมากถึง 3 ล้านคน สูงสุดนับตั้งแต่ทศวรรษ 1930
แธตเชอร์ยังดำเนินนโยบายลดภาษีเงินได้โดยเฉลี่ยลดลง 25% กลุ่มที่เสียภาษีอัตราสูงก็ได้รับการลดลงจาก 83% เหลือ 40% แต่ได้เก็บภาษีทางอ้อมเพิ่มขึ้น เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม จาก 8% เป็น 15% นโยบายนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า เป็นการเอื้อประโยชน์ให้ผู้มีรายได้สูง แต่แธตเชอร์ก็ตอบโต้ว่า การทำให้คนรวยจนลงไม่ได้หมายความว่า จะทำให้คนจนรวยขึ้นแต่อย่างใด นอกจากนี้ แธตเชอร์ ยังสนับสนุนให้รัฐยุติการเข้าไปแทรกแซงกลไกทางเศรษฐกิจที่มากเกินไป, ลดทอนรายจ่ายของรัฐยกเว้นด้านการป้องกันประเทศและตำรวจ และเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเพื่อลดภาวะเงินเฟ้อ
นโยบายแข็งกร้าว
ปัญหาการว่างงานถูกสะท้อนออกมาให้เห็นได้ชัดเจนเจนใน The Crown ซีซั่น 4 ตอนที่ 5 “Fagan” โดย ไมเคล เฟแกน ชายผู้ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจและการว่างงาน โดยในปี 1982 เขาได้บุกเข้าไปยังพระราชวังบักคิงแฮมถึงเตียงนอนของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 และได้สนทนากับพระองค์ถึงปัญหาความคับข้องใจ โดยเฉพาะต่อตัวของแธตเชอร์เองที่เฟแกนคิดว่า “เธอกำลังทำลายประเทศนี้”
แต่แล้วเหตุการณ์กลับพลิกผัน ความนิยมของแธตเชอร์และรัฐบาลพรรคอนุรักษ์นิยมพุ่งสูงขึ้นแทบจะทันทีหลังได้รับชัยชนะเหนือประเทศอาร์เจนตินา กรณีสงครามหมู่เกะฟอล์กแลนด์ในปี 1982 ยังผลให้นำความยินดีปรีดามาสู่ชาวอังกฤษที่กำลังเหนื่อยล้ากับปัญหาเศรษฐกิจ และพึงพอใจที่นายกรัฐมนตรีแสดงให้ชาวโลกเห็นแสนยานุภาพของอังกฤษ นำคำว่า “Great” กลับสู่ “Britain” อย่างภาคภูมิ
คะแนนนิยมของแธตเชอร์พุ่งสูงมาก เธอจึงตัดสินใจยุบสภาในปี 1983 ขาดอีกเพียง 1 ปีก็จะครบวาระ (วาระละ 5 ปี) ไม่เป็นที่น่าแปลกใจที่ผลการเลือกตั้งครั้งนี้ พรรคอนุรักษ์นิยมสามารถกุมชัยชนะถล่มทลาย เพราะนอกจากคะแนนนิยมในตัวแธตเชอร์ที่สูงมากแล้ว นโยบายต่าง ๆ ที่ดำเนินมาตลอดช่วงการบริหารสมัยแรกได้ผลิดอกออกผล เศรษฐกิจในประเทศฟื้นตัว และในการเลือกตั้งครั้งถัดมาในปี 1987 แธตเชอร์ก็ยังได้รับชัยชนะ เป็นชัยชนะครั้งที่ 3 ติดต่อกัน ซึ่งไม่เคยปรากฏมาก่อนในศตวรรษนี้
แธตเชอร์แสดงให้เห็นถึงความเด็ดเดี่ยวและแข็งกร้าวในการดำเนินนโยบายของเธอมาตลอด 3 สมัย ที่เห็นได้ชัดอีกกรณีคือ ปัญหาไอร์แลนด์เหนือ ดังที่ได้เห็นใน The Crown ซีซั่น 4 ตอนที่ 1 “Gold Stick” หลังการลอบสังหารลอร์ดเมาท์แบตเตน พระญาติผู้ใกล้ชิดราชวงศ์ ในปี 1979 โดยกลุ่มที่เรียกว่า IRA หรือกองกำลังปลดปล่อยแห่งชาติไอริช แธตเชอร์ได้กล่าวกับสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ด้วยความแน่วแน่ว่า เธอจะจัดการปัญหาในไอร์แลนด์อย่างเด็ดขาด
ในปี 1981 ผู้ต้องขังที่เป็นสมาชิก IRA อดอาหารประท้วง เรียกร้องให้รัฐบาลอังกฤษยอมรับว่า พวกตนมีสถานะเป็นนักโทษการเมือง ไม่ใช่นักโทษทั่วไป แธตเชอร์ปฏิเสธเรื่องนี้อย่างแข็งกร้าว ไม่หวั่นไหวต่อคำขู่ทั้งที่เหตุการณ์ในไอร์แลนด์เหนือกำลังทวีความดุเดือด เธอกล่าวว่า “อาชญากรรมคืออาชญากรรม หาใช่การเมืองไม่” และปล่อยให้พวกเขาอดอาหารจนเสียชีวิต
ในปี 1984 IRA ได้ลอบวางระเบิดในการประชุมใหญ่พรรคอนุรักษ์นิยมที่เมืองไบรตัน แธตเชอร์ตลอดจนคณะรัฐมนตรีและสมาชิกพรรครอดจากการลอบสังหารมาได้ แต่มีสมาชิกพรรคอนุรักษ์นิยมระดับสูงเสียชีวิต 3 คน และบาดเจ็บอีกจำนวนหนึ่ง แธตเชอร์กลับไม่หวั่นไหวต่อเหตุการณ์ดังกล่าว เธอขึ้นกล่าวปราศรัยตามกำหนดการณ์ในเช้าวันนั้น ทำให้ประชาชนชื่นชมจิตใจที่แข็งแกร่งของเธอ และแธตเชอร์ได้กล่าวกับสมาชิกพรรคว่า การพยายามต่าง ๆ นานาที่จะทำลายประชาธิปไตยด้วยการก่อการร้ายมีแต่จะล้มเหลว
ความเด็ดเดี่ยวและแข็งกร้าวอีกกรณีหนึ่งของแธตเชอร์ ปรากฏให้เห็นใน The Crown ซีซั่น 4 ตอนที่ 8 “48:1” ซึ่งได้ฉายให้เห็นบทบาทของเธอในกรณีปัญหาการแบ่งแยกสีผิวของสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศเครือจักรภพ แธตเชอร์ได้ออกมาคัดค้านการแทรกแซงทางเศรษฐกิจกับรัฐบาลแอฟริกาใต้ ทำให้เธอถูกวิจารณ์อย่างรุนแรงทั้งจากภายในอังกฤษและนานาชาติ
บรรดาผู้นำในเครือจักรภพต้องการให้แธตเชอร์สนับสนุนการต่อต้านและการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อแอฟริกาใต้ โดยเฉพาะผู้นำประเทศแคนนาดา ออสเตรเลีย อินเดีย และแซมเบีย พยายามเจรจา พูดคุย และยื่นข้อเสนอทางออกในปัญหานี้กับแธตเชอร์ ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับการประกาศต่อต้านความเกลียดชังการแบ่งแยกสีผิว และแสดงความมุ่งมั่นที่จะเห็นการเหยียดผิวนี้ยุติลงโดยเร็วที่สุด
แธตเชอร์เห็นด้วยกับมาตราการใด ๆ ก็ตามที่จะกดดันรัฐบาลแอฟริกาใต้ แต่ไม่ใช่ด้วยมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ ซึ่งเธอยืนกรานคัดค้านอย่างเด็ดเดี่ยว เธอไม่เห็นด้วยกับการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ เพราะเชื่อว่า สิ่งเหล่านี้จะไม่ได้ผลและจะทำลายผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของอังกฤษ อย่างไรก็ตาม มาตรการที่ประเทศในเครือจักรภพนำมากดดันรัฐบาลแอฟริกาใต้ยังผลให้สภาวะภายในดีขึ้น เช่น มีการการยกเลิกภาวะฉุกเฉิน ปลดปล่อยผู้ถูกคุมขังและนักโทษการเมือง รวมถึงปล่อยตัว เนลสัน แมนเดลา ในเวลาต่อมา
ทรยศ
ในปี 1989 แธตเชอร์ต้องการเก็บภาษีชุมชนหรือที่เรียกว่าภาษีรายหัว ซึ่งชาวอังกฤษ (ที่บรรลุนิติภาวะ) ทุกคนจะถูกเก็บภาษีในจำนวนเท่ากัน เป็นภาษีที่นำมาแทนภาษีทรัยพ์สินในท้องถิ่นที่มีปัญหาในการประเมินว่า บุคคลใดควรเสียภาษีเท่าในอัตราเท่าไหร่จึงจะเหมาะสม กรณีนี้ทำให้ประชาชนต่อต้านอย่างรุนแรง และได้ออกมาประท้วงครั้งใหญ่ในกรุงลอนดอน เมื่อวันที่ 31 มีนาคม ปี 1990 แต่แธตเชอร์ยืนกรานเก็นภาษีนี้ต่อไป จนก่อให้เกิดความไม่พอใจต่อรัฐบาลและพรรคอนุรักษ์นิยม
ศัตรูภายนอกนับหมื่นนับแสน มิอาจเป็นที่ประหวั่นพรั่นพรึงเท่ากับศัตรูภายในแค่หยิบมือ แม้แธตเชอร์จะสามารถทนทานกับกระแสต่อต้านจากประชาชนได้ แต่ไม่ใช่กับรัฐบาลและพรรคอนุรักษ์นิยมที่เธอเป็นผู้นำ เมื่อมีการพิจารณาการเข้าร่วมกลไกการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนเงินของระบบการเงินยุโรป ที่แธตเชอร์คัดค้านอย่างเด็ดเดี่ยว ทำให้เกิดความขัดแย้งกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศที่สนับสนุนการร่วมมือกับประชาคมยุโรป
สมาชิกพรรคอนุรักษ์นิยมจึงเริ่มต่อต้านแธตเชอร์อย่างเปิดเผย ดังที่ปรากฏใน The Crown ซีซั่น 4 ตอนที่ 10 “War” ตอนจบของซีซั่น ฉายให้เห็นในตอนที่ เจฟฟรีย์ ฮาว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประกาศลาออกจากตำแหน่งเนื่องจากขัดแย้งกับแธตเชอร์จากกรณีข้างต้น การลาออกครั้งนี้เป็นการปลุกกระแสการท้าชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคอนุรักษ์นิยม โดยมี ไมเคิล เฮเซลไทน์ เป็นผู้ท้าชิงตำแหน่ง
ในการเลือกตั้งรอบแรก แธตเชอร์ชนะเฮเซลไทน์ด้วยคะแนน 204 ต่อ 152 เสียง แต่เธอยังขาดอีก 4 เสียงจึงจะถือว่าได้เสียงข้างมาก เพราะตามธรรมนูญของพรรค คะแนนเสียงของเธอไม่มากพอที่จะให้ถือว่า เป็นการชนะเด็ดขาด จึงต้องมีการเลือกตั้งครั้งที่ 2 และ 3 ทว่า เมื่อสมาชิกพรรคอนุรักษ์นิยมหลายคนคาดเดาผลการลงคะแนนรอบที่ 2 ว่า แธตเชอร์จะเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ รัฐมนตรีส่วนใหญ่ก็ถอนตัวจากการสนับสนุน แธตเชอร์จึงตระหนักดีว่า เธอถูกหักหลัง และ “นี่คือการทรยศกันอย่างเลวร้ายที่สุด”
“แต่ตำแหน่ง (นายกรัฐมนตรี) นี้เป็นสิ่งเดียวที่หม่อมฉันใจรักที่สุด และการถูกพรากไป ถูกขโมยไปอย่างโหดร้าย ความน่าเจ็บปวดที่สุด คือเราพาประเทศมาได้ไกลขนาดนี้ แต่โอกาสที่จะทำหน้าที่ให้สำเร็จลุล่วง กลับถูกแย่งชิงไปในจังหวะสุดท้าย” นี่คือบทสนทนาของแธตเชอร์ ใน The Crown ซีซั่น 4 ตอนที่ 10 “War” ได้กล่าวกับสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 คำพูดซึ่งเต็มไปด้วยความเจ็บปวดใจที่มาพร้อมกับหยดน้ำตา
สตรีเหล็ก
แธตเชอร์ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวันที่ 22 พฤศจิกายน ปี 1990 ในถ้อยแถลงตอนหนึ่งเธอกล่าวว่า หลังจากหารือกับเพื่อนร่วมงานแล้ว เธอก็สรุปได้ว่า เอกภาพของพรรคอนุรักษ์นิยมและโอกาสที่พรรคจะได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งทั่วไปจะมีมากกว่าหากเธอก้าวลงจากตำแหน่ง
ตลอดระยะเวลา 11 ปี กับอีก 200 วัน ที่แธตเชอร์ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เธอได้นำเอานโยบายการเงินการคลังและนโยบายทางสังคมแบบอนุรักษ์นิยมเข้ามาใช้ จนถูกเรียกขานว่า “ลัทธิแธตเชอร์” ซึ่งนายกรัฐมนตรีอังกฤษคนอื่นที่ครองตำแหน่งยาวนานพอ ๆ กับแธตเชอร์อย่าง โทนี่ แบลร์ ที่ดำรงตำแหน่งยาวนานถึง 10 ปี หรือรัฐบุรุษช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ของอังกฤษอย่าง วินสตัน เชอร์ชิล กลับไม่มีการเรียกขานสมัยที่ดำรงตำแหน่งว่า “ลัทธิแบลร์” หรือ “ลัทธิเชอร์ชิล” แต่อย่างใด
“ลัทธิแธตเชอร์” จึงเป็นภาพสะท้อนของสิ่งที่แธตเชอร์ทำ นี่ไม่ใช่อุดมการณ์ หรือแนวคิดทฤษฎีใด แต่เป็นแนวทางการบริหารประเทศของแธตเชอร์ ซึ่งมีองค์ประกอบหลักคือตัวตนและบุคลิกภาพของแธตเชอร์เอง ที่เป็นพลังขับเคลื่อนนโยบายต่าง ๆ ด้วยความเชื่อมั่นและแน่วแน่ แม้ผู้คนจำน้อยไม่น้อยจะไม่เห็นด้วยกับเธอเสมอไป
แธตเชอร์ยังคงทำงานด้านการเมืองต่อไปจนถึงในปี 1992 ซึ่งได้ลาออกจากการเป็นสมาชิกสภาสามัญ (ส.ส.) กระทั่งเธอได้รับการแต่งตั้งเป็น บารอนเนสแธตเชอร์แห่งเคสตีเวนในมณฑลลิงคอล์นเชียร์ ทำให้เธอได้ที่นั่งในสภาขุนนางตลอดชีพ กระทั่งในปี 2007 ได้มีการติดตั้งรูปปั้นแธตเชอร์ที่รัฐสภา ในวันพิธีเปิดผ้าคลุมรูปนั้น แธตเชอร์ได้กล่าวถ้อยความที่สะท้อนตัวตนอันแข็งแกร่งของเธอว่า “แม้จะอยากให้รูปปั้นทำด้วยเหล็ก แต่เป็นสัมฤทธิ์ก็ดี เพราะจะไม่ขึ้นสนิม”
แธตเชอร์ถึงแก่อสัญกรรมในวันที่ 8 เมษายน ปี 2013 ท่ามกลางเสียงร่ำไห้เศร้าโศกและเสียงโห่ร้องดีใจของชาวอังกฤษ เพราะนโยบายของแธตเชอร์ในช่วงที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนั้นได้สร้างผลกระทบทั้งบวกและลบต่อประชาชนทุกหย่อมหญ้า จึงไม่แปลกที่จะมีทั้งคนรักและคนชัง นโยบายที่ต้องการพลิกฟื้นอังกฤษ ด้วยความเด็ดเดี่ยวและแข็งกร้าว ดั่งวาทะของแธตเชอร์ที่กล่าวใน The Crown ซีซั่น 4 ตอนที่ 2 “The Balmoral Test” ความว่า
“ถ้าประเทศนี้จะดีขึ้นได้จริง ๆ ฉันว่ามันจำเป็นต้องเปลี่ยนรากฐาน จากสูงสุดสู่สามัญ”
อ่านเพิ่มเติม :
อ้างอิง :
บทความ “องค์ประกอบหลักของลัทธิแทตเชอร์” โดย ชาคริต ชุ่มวัฒนะ ในวารสารอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ปีที่ 37 ฉบับที่ 2 (กรกฎาคม-ธันวาคม, 2558)
หนังสือ .ประวัติศาสตร์ยุโรป เล่ม 2 ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1815-ปัจจุบัน” โดย สุปราณี มุขวิชิต (พิมพ์ครั้งที่ 2 สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์, 2541)
www.britannica.com/biography/Margaret-Thatcher
www.history.com/topics/british-history/margaret-thatcher
www.margaretthatcher.org
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 26 พฤศจิกายน 2563