เปิดไทม์ไลน์ ยุคสมัยของ “กอร์บาชอฟ” อดีตผู้นำสหภาพโซเวียตคนสุดท้าย

มิคาอิล กอร์บาชอฟ กล่าวสุนทรพจน์ปิดท้ายการประชุมของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งสหภาพโซเวียตครั้งที่ 27 ที่พระราชวังเครมลิน กรุงมอสโก เมื่อวันที่ 6 มีนาคม ค.ศ. 1986 (Photo by TASS / AFP)

31 สิงหาคม ค.ศ. 2022 สื่อรายงานว่า “มิคาอิล กอร์บาชอฟ” อดีตผู้นำสหภาพโซเวียตถึงแก่อสัญกรรม หลังจากล้มป่วยมานาน ปิดฉากผู้นำสหภาพโซเวียตคนสุดท้าย ในวัย 91 ปี

กอร์บาชอฟ ดำรงตำแหน่งผู้นำของสหภาพโซเวียตตั้งแต่ ค.ศ. 1985-1991 เขาเป็นคนที่มีแนวคิดค่อนไปทางเสรีนิยมมากคนหนึ่ง ที่พยายามปฏิรูปสหภาพโซเวียตให้ทันต่อกระแสของโลกภายนอกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

แนวนโยบายสำคัญของ กอร์บาชอฟ ที่เป็นที่รู้จักกันดีคือ “กลาสนอสต์-เปเรสตรอยกา” โดยสรุปคือนโยบายที่จะทำให้สหภาพโซเวียตเปลี่ยนแปลงอย่างลุ่มลึกในด้านการเมือง สังคม และโดยเฉพาะเศรษฐกิจ แต่ยังคงความเป็นสังคมนิยมประชาธิปไตย

ในที่นี้จะพาไปย้อนดูไทม์ไลน์ของ กอร์บาชอฟ ตลอดยุคสมัยที่เขาดำรงตำแหน่งผู้นำของสหภาพโซเวียต ว่าเกิดเหตุการณ์สำคัญใดขึ้นบ้าง

10 ธันวาคม ค.ศ. 1984 – กอร์บาชอฟ กล่าวสุนทรพจน์ในการประชุมทั่วไปของพรรคคอมมิวนิสต์โซเวียต ว่าด้วยอุดมการณ์ของชาติ เสนอแนวคิดใหม่ 2 ประการสำคัญ คือ กลาสนอสต์ (Glasnost)  และ เปเรสตรอยกา (Perestroika) หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า นโยบาย “เปิด-ปรับ”

10 มีนาคม ค.ศ. 1985 – คอนสตันติน เชียร์เนนโค ผู้นำสหภาพโซเวียตถึงแก่อสัญกรรม

11 มีนาคม ค.ศ. 1985 – กอร์บาชอฟ เข้ารับตำแหน่งเลขาธิการใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์ กลายเป็นผู้นำสูงสุดของสหภาพโซเวียต

19-20 พศจิกายน ค.ศ. 1985 – การประชุมสุดยอดครั้งแรกระหว่าง กอร์บาชอฟ กับ โรนัลด์ เรแกน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ณ นครเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ เห็นพ้องที่จะไม่ให้เกิดสงครามนิวเคลียร์ขึ้น และเห็นชอบแนวทางการจำกัดอาวุธนิวเคลียร์ รวมถึงกำหนดร่างโครงการจำกัดขีปนาวุธพิสัยกลางทั้งหมดในยุโรป และลงนามความตกลงอื่น ๆ เช่น เรื่องสิทธิมนุษยชน ยอมให้ชาวยิวอพยพออกจากสหภาพโซเวียต ข้อตกลงเรื่องการจอดเครื่องบินพลเรือน และการเปิดสถานกงสุลของทั้งสองประเทศขึ้นใหม่ เป็นต้น

โรนัลด์ เรแกน และมิคาอิล กอร์บาชอฟ ในการประชุมสุดยอดครั้งแรก ณ นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

มกราคม ค.ศ. 1986 – กอร์บาชอฟ ประกาศ “แผนรุกเพื่อสันติภาพ” (Peace Offensive) ในที่ประชุมกระทรวงการต่างประเทศ กรุงมอสโก เสนอการกำจัดอาวุธนิวเคลียร์ทั้งหมดภายใน ค.ศ. 2000

26 เมษายน ค.ศ. 1986 – อุบัติเหตุโรงงานผลิตไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์เชอร์โนบิล มีการปิดข่าวจากสหภาพโซเวียต และไม่แจ้งเรื่องอุบัติเหตุต่อนานาประเทศ เหตุการณ์นี้ทำลายความน่าเชื่อถือของนโยบาย “เปิด-ปรับ” และชื่อเสียงของ กอร์บาชอฟ

11-12 ตุลาคม ค.ศ. 1986 – การประชุมสุดยอดระหว่าง กอร์บาชอฟ กับ เรแกน ณ กรุงเรกยะวิก ไอซ์แลนด์ แม้จะไม่สามารถบรรลุข้อตกลงสำคัญ ๆ ระหว่างกันได้ แต่ก็เห็นชอบในหลักการความร่วมมือด้านอื่น ๆ

ธันวาคม ค.ศ. 1986 – กอร์บาชอฟ ปล่อยตัว อังเดร ซาราครอฟ จากการถูกกักขัง เขาเป็นนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน และเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ และในช่วงเวลานี้ กอร์บาชอฟ ยังปล่อยตัวนักโทษทางการเมืองที่ถูกคุมขังมาตั้งแต่สมัย เลโอนิด เบรจเนฟ อดีตผู้นำสหภาพโซเวียต เกือบ 600 คน ตามแนวนโยบายกลาสนอสต์

7-10 ธันวาคม ค.ศ. 1987 – กอร์บาชอฟ ร่วมประชุมสุดยอด ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. และลงนามร่วมกับ เรแกน ในสนธิสัญญากำจัดขีปนาวุธพิสัยกลาง (Intermediate Nuclear Force – INF) ในดินแดนยุโรปและเอเชีย โดยเป็นการถอนหัวรบนิวเคลียร์กว่า 1,800 หัวรบ ออกจากยุโรปทั้งหมด และจำกัดขีปนาวุธพิสัยกลาง การบรรลุข้อตกลงนี้ทำให้เกิดการคาดหวังว่าจะนำไปสู่การควบคุมการลดอาวุธนิวเคลียร์ในอนาคต

ค.ศ. 1988 – นิตยสาร Time ยกย่อง กอร์บาชอฟ ให้เป็น “บุรุษแห่งปี” (Man of the Year) จากความสำเร็จในการสร้างบรรยากาศประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นในสังคมและวัฒนธรรมของสหภาพโซเวียต

กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1988 – กอร์บาชอฟ ประกาศถอนกำลังออกจากอัฟกานิสถาน และ 3 เดือน ต่อมา สหภาพโซเวียต อัฟกานิสถาน และปากีสถาน ร่วมลงนามข้อตกลงถอนทหารที่นครเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ ในวันที่ 14 เมษายน

29 พฤษภาคม – 2 มิถุนายน ค.ศ. 1988 – การประชุมสุดยอดระหว่าง กอร์บาชอฟ กับ เรแกน ณ กรุงมอสโก สหภาพโซเวียต การประชุมครั้งนี้เป็นการให้สัตยาบันสนธิสัญญา INF และไม่บรรลุข้อตกลงสำคัญ ๆ ใด ๆ

โรนัลด์ เรแกน และมิคาอิล กอร์บาชอฟ ในการประชุมสุดยอด ณ กรุงมอสโก

ธันวาคม ค.ศ. 1988 – กอร์บาชอฟ เดินทางเยือนสหรัฐอเมริกา เพื่อพบกับ เรแกน ที่กำลงจะหมดวาระ และพบกับ จอร์จ บุช ว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่

7 ธันวาคม ค.ศ. 1988 – กอร์บาชอฟ กล่าวสุนทรพจน์ต่อที่ประชุมสมัชชาใหญ่ของสหประชาชาติ เสนอแนวคิดว่าด้วย “แนวคิดใหม่” (New Thinking) ด้านการต่างประเทศ เน้นการร่วมกันแก้ปัญหาระดับโลกกันนานาประเทศเพื่อประโยชน์ของมนุษยชาติ และประกาศว่าสหภาพโซเวียตจะลดกำลังทหารลง 500,000 คน ภายในเวลา 2 ปี รวมทั้งสัญญาจะถอดกำลังรถถัง 6 กองพล ทหาร 10,000 นาย ออกจากยุโรปตะวันตก

9 พฤศจิกายน ค.ศ. 1989 – กำแพงเบอร์ลินถูกทำลายลง นำไปสู่การรวมเยอรมนีตะวันตกและตะวันออกเข้าเป็นประเทศเดียวกันอย่างสมบูรณ์ในเวลาต่อมา

พฤศจิกายน ค.ศ. 1989 – เอสโตเนีย ประกาศว่าการเข้าร่วมเป็นประเทศในเครือสหภาพโซเวียตเป็นโมฆกรรม เพราะเอสโตเนียถูกกองทหารของโซเวียตใช้กำลังบังคับ

1-2 ธันวาคม ค.ศ. 1989 – การประชุมสุดยอดครั้งแรกระหว่าง กอร์บาชอฟ กับ บุช ณ มอลตา บนเรือรบของทั้งสองฝ่ายบนทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ร่วมลงนามประกาศยุติสภาวะสงครามเย็นในยุโรป

ปลาย ค.ศ. 1989 – นิตยสาร Time ยกย่อง กอร์บาชอฟ ให้เป็น “บุรุษแห่งทศวรรษ” (Man of the Decade)

30 พฤษภาคม – 4 มิถุนายน ค.ศ. 1990 – การประชุมสุดยอดระหว่าง กอร์บาชอฟ กับ บุช ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ทั้งสองเห็นชอบหลักการลดกำลังอาวุธยุทธศาสตร์และควบคุมอาวุธชีวภาพ รวมทั้งกำจัดกำลังอาวุธในยุโรป

11 มีนาคม ค.ศ. 1990 – ลิทัวเนีย ประกาศเอกราช แยกตัวออกจากสหภาพโซเวียต

4 พฤษภาคม ค.ศ. 1990 – ลัตเวีย ประกาศเอกราช แยกตัวออกจากสหภาพโซเวียต

ตุลาคม ค.ศ. 1990 – กอร์บาชอฟ ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ

กลาง ค.ศ. 1991 – กอร์บาชอฟ ประการยอมรับการแยกตัวเป็นเอกราชของ 3 รัฐบอลติก คือ เอสโตเนีย ลิทัวเนีย และลัตเวีย

พฤษภาคม ค.ศ. 1991 – บอริส เยลต์ซิน ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีโซเวียตรัสเซีย (รัสเซียเป็นรัฐหนึ่งในสหภาพโซเวียต)

31 กรกฎาคม ค.ศ. 1991 – กอร์บาชอฟ ลงนามในสนธิสัญญาจำกัดอาวุธยุทธศาสตร์และอาวุธนิวเคลียร์พิสัยไกลกับสหรัฐอเมริกา และมีการปรับลดงบประมาณด้านการทหารของสหภาพโซเวียต จนทำให้ฝ่ายขวาในพรรคคอมมิวนิสต์ไปพอใจ

19 สิงหาคม ค.ศ. 1991 – รองประธานาธิบดี เกนนาดี ยานาเยฟ และคณะ กระทำการรัฐประหารยึดอำนาจ อ้างว่า กอร์บาชอฟ ล้มป่วยและอยู่ระหว่างการรักษาตัว ขณะที่ กอร์บาชอฟ เดินทางไปพักผ่อนอยู่ที่ไครเมีย ส่วน เยลต์ซิน ออกมาเป็นผู้นำต่อต้านการรัฐประหาร เรียกร้องให้แรงงานผละงาน และขอประชาชนออกมาชุมนุมต่อต้าน

21 สิงหาคม ค.ศ. 1991 – การรัฐประหารล้มเหลว เยลต์ซิน กล่าวในรัฐสภาว่ากลุ่มผู้พยายามยึดอำนาจประสบความพ่ายแพ้และกำลังหลบหนี

25 สิงหาคม ค.ศ. 1991 – กอร์บาชอฟ ประกาศลาออกจากตำแหน่งเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อการยึดอำนาจครั้งนี้ เพราะผู้ก่อการล้วนเป็นบุคคลใกล้ชิดของเขาแทบทั้งสิ้น

1 ธันวาคม ค.ศ. 1991 – ยูเครนจัดให้มีการลงประชามติเรื่องการแยกตัวออกจากสหภาพโซเวียต ประชาชนร้อยละ 90 โหวตให้การสนับสนุนการเป็นเอกราช

8 ธันวาคม ค.ศ. 1991 – เยลต์ซิน ร่วมมือกับผู้นำของยูเครน และเบลารุส ในการลงนามร่วม 3 ประเทศ จัดตั้งเครือรัฐเอกราช (Commonwealth of Independent States – CIS) ณ กรุงมินสก์ เบลารุส ประเด็นสำคัญคือเป็นการประกาศล้มเลิกสหภาพโซเวียต แม้ กอร์บาชอฟ จะประณามว่าผิดรัฐธรรมนูญ แต่เขาก็ไม่สามารถทำอะไรได้มากนัก

21 ธันวาคม ค.ศ. 1991 – ผู้นำ 11 ประเทศ ที่อยู่ใต้สหภาพโซเวียต ประชุมร่วมกันที่เมืองอัลมา-อาตา คาซัคสถาน เพื่อลงนามความตกลงการจัดตั้งเครือรัฐเอกราชเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม โดยวันนี้ถือเป็นวันที่สหภาพโซเวียตล่มสลายลงอย่างสิ้นเชิง

25 ธันวาคม ค.ศ. 1991 – กอร์บาชอฟ ประกาศลาออกจากอย่างเป็นทางการ

นับแต่ก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งผู้นำสูงสุด กอร์บาชอฟ ทราบดีว่าสหภาพโซเวียตประสบปัญหาด้านเศรษฐกิจมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะรายจ่ายทางการทหารจำนวนมหาศาลซึ่งกลายเป็นภาระอันหนักอึ้งของประเทศ เขาจึงยายามปฏิรูปเศรษฐกิจที่หยุดชะงักให้กลับมาเติบโตอีกครั้งด้วยความพยายามสร้างบรรยากาศทางการเมืองภายในและนอกประเทศให้สงบ เพื่ออำนวยต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจ (โดยเฉพาะปรับลดงบประมาณด้านการทหาร) แต่นั่นก็ดูจะสายเกินที่ กอร์บาชอฟ จะแก้ไขอะไรได้แล้ว

สหภาพโซเวียตก็ถึงการอวสาน หลังป่วยร่อแร่มานานนับสิบ ๆ ปีตั้งแต่ก่อนยุคของ กอร์บาชอฟ จวบจนมาถึงการสิ้นลมหายใจของสหภาพโซเวียตเมื่อเกิดเหตุการณ์ความพยายามรัฐประหารในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1991 กระทั่งในวันที่ 8 ธันวาคม ถือเป็นวันออกใบมรณบัตร วันที่ 21 ธันวาคม ตอกฝาโลงทำพิธิฝัง และวันที่ 25 ธันวาคม ประกอบพิธีไว้อาลัย

ปิดฉากยุคสมัยของ กอร์บาชอฟ ผู้นำคนสุดท้ายของสหภาพโซเวียต

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

อนันต์ชัย เลาหะพันธุ และสัญชัย สุวังบุตร. (2557). รัสเซียสมัยซาร์และสังคมนิยม. นนทบุรี : ศรีปัญญา.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 1 กันยายน 2565