ผู้เขียน | ณัฐภิเชษฐ์ ฝึกฝน |
---|---|
เผยแพร่ |
วินสตัน เชอร์ชิล รัฐบุรุษสงครามโลกแพ้การเลือกตั้งได้อย่างไร ทั้งที่มีคะแนนนิยมสูงมาก!?
หลังจากสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 สหราชอาณาจักรได้มีการจัดการเลือกตั้งในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1945 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกในรอบ 10 ปี นับจากการเลือกตั้งครั้งล่าสุดใน ค.ศ. 1935 สืบเนื่องมาจากเกิดภาวะสงคราม รัฐสภาจึงมีมติยืดอายุรัฐบาลที่นำโดย นายกรัฐมนตรี วินสตัน เชอร์ชิล (Winston Churchill) ไปจนจบสงครามโลกครั้งที่ 2
นายกรัฐมนตรีเชอร์ชิล ได้รับความนิยมและเสียงชื่นชมจากประชาชนชาวบริติชอย่างมาก ที่มีบทบาทสำคัญในการยืนหยัดต่อสู้กับเยอรมนี แม้จะได้รับความนิยม แต่ชาวบริติชกลับคิดว่าเชอร์ชิล ไม่ใช่นายกรัฐมนตรีคนที่เหมาะสมที่จะบริหารประเทศหลังสงคราม โดยเห็นได้จากรายงานของ ราล์ฟ อินเกอร์ซอลล์ (Ralph Ingersoll) นักข่าวชาวอเมริกันที่อยู่ในอังกฤษช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เขาเขียนบันทึกว่า
“ไม่ว่าผมไปที่ใดในกรุงลอนดอน ผู้คนต่างชื่นชมวินสตัน เชอร์ชิล ที่มีความกล้าหาญและแน่วแน่ในจุดประสงค์หนึ่งเดียวของเขา ชาวอังกฤษคิดไม่ออกว่าหากประเทศไม่มีเขาแล้วจะเป็นอย่างไร ซึ่งเห็นได้ชัดว่าวินสตัน เชอร์ชิลเป็นที่เคารพนับถืออย่างมาก แต่ไม่มีใครรู้สึกว่าเขาเหมาะสมที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีหลังสิ้นสุดสงคราม วินสตัน เชอร์ชิลเป็นเพียงชายคนที่ใช่ในเวลาที่เหมาะสม ซึ่งขณะนั้นเป็นช่วงเวลาที่อังกฤษกำลังเข้าตาจน”
การเลือกตั้งและผลที่คาดไม่ถึง
พรรคอนุรักษ์นิยม (Conservative) นำโดยเชอร์ชิล ต้องแข่งขันกับ พรรคแรงงาน (Labour) ที่นำโดนคลีเมนต์ แอตลี (Clement Attlee) อดีตรองนายกรัฐมนตรีในคณะรัฐมนตรีการสงครามในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยพรรคแรงงานชูนโยบาย “Let Us Face the Future” ซึ่งมีนโยบายที่จะปฏิรูปสังคมและฟื้นฟูประเทศหลังสงครามอย่างชัดเจน
การเลือกตั้งมีขึ้นในวันที่ 5 กรกฎาคม ค.ศ. 1945 และประกาศผลอย่างเป็นทางการในวันที่ 26 ผลการเลือกตั้งคือ พรรคแรงงานได้ที่นั่งในสภาสามัญ (House of Commons) 393 ที่นั่ง จากทั้งหมด 640 ที่นั่ง คิดเป็นร้อยละ 61.4 ซึ่งการเลือกตั้งครั้งนี้ นับเป็นครั้งแรกที่พรรคแรงงานได้คะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของสภาสามัญ
ขณะที่พรรคอนุรักษ์นิยมได้ 197 ที่นั่ง พรรคเสรีนิยม (Liberal) ได้ 12 ที่นั่ง พรรคเสรีนิยมแห่งชาติ (Liberal National) ได้ 11 ที่นั่ง และพรรคอื่น ๆ รวมกัน 27 ที่นั่ง ในจำนวนนี้มี 2 ที่นั่งมาจากพรรคคอมมิวนิสต์แห่งสหราชอาณาจักร (Communist Party of Great Britain – CPGB)
เมื่อจำนวนสมาชิกสภาสามัญของพรรคแรงงานมีจำนวนมากเกินกึ่งหนึ่ง นั่นจึงทำให้พรรคแรงงานสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้โดยไม่ต้องตั้งรัฐบาลผสมกับพรรคอื่น คลีเมนต์ แอตลี จึงดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อจากเชอร์ชิล
วินสตัน เชอร์ชิล พ่ายแพ้ ทั้งที่ได้รับความนิยมสูง
ผลการเลือกตั้งสร้างความตกตะลึงต่อพรรคอนุรักษ์นิยมและฝ่ายสนับสนุนไม่น้อย ถือเป็นเรื่องพลิกโผที่หลาย ๆ คนไม่คาดคิดมาก่อน เนื่องจากเชอร์ชิล นั้นได้รับความนิยมสูงมาก และพรรคอนุรักษ์นิยมก็เล็งเห็นว่าความนิยมของประชาชนที่มีต่อเชอร์ชิล นั้นจะเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้พรรคได้ชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งนี้ แต่แท้จริงแล้วพรรคอนุรักษ์นิยมและเชอร์ชิล ล้วนแต่ย่ามใจจึงเดินหมากเกมการเมืองที่ผิดพลาด
กรณี Beveridge Report
ช่วงเดือนธันวาคม ค.ศ. 1942 เซอร์ วิลเลียม เบเวอริดจ์ (Sir William Beveridge) ได้จัดทำรายงานเกี่ยวกับการปฏิรูปสังคม โดยมุ่งเน้นไปที่นโยบายสวัสดิการของรัฐ การประกันสังคม การบริการสุขภาพและสาธารณสุข การขยายตัวของการศึกษาที่ได้รับทุนจากรัฐ และนโยบายที่อยู่อาศัย
รายงานฉบับนี้ถูกเสนอต่อคณะรัฐมนตรีการสงครามของเชอร์ชิล และได้ตีพิมพ์เผยแพร่ต่อสาธารณชนจนทำยอดขายสูงมาก ซึ่งประชาชนต่างก็ให้ความสนใจเกี่ยวกับแนวทางการแก้ไขปัญหาสังคม และเศรษฐกิจในรายงานฉบับนี้ แต่เชอร์ชิล และพรรคอนุรักษ์นิยมไม่กระตือรือร้น หรือสนใจรายงานนี้เท่าใดนัก ต่างจากพรรคแรงงานที่สนใจรายงานฉบับนี้มาตั้งแต่แรก จากนั้นจึงได้นำมาปรับใช้เป็นแนวนโยบายพรรคในช่วงหาเสียง และนำมาปฏิบัติใช้เป็นนโยบายของรัฐบาลหลังได้รับเลือกตั้ง
นโยบายหาเสียงเลือกตั้ง
นโยบาย “Let Us Face the Future” ของพรรคแรงงานมุ่งเน้นที่การปฏิรูปสังคม และเศรษฐกิจ เช่น การโอนกิจการอุตสาหกรรมเป็นของรัฐ การประกันสังคม การบริการสุขภาพและสาธารณสุข แผนพัฒนาเศรษฐกิจ และโดยเฉพาะการจ้างงานเต็มอัตรา ซึ่งเป็นสิ่งที่ชาวบริติชให้ความสำคัญมาก
ประเด็นการจ้างงานสำคัญต่อชาวบริติช เนื่องจากเมื่อสงครามสิ้นสุดลง กิจกรรมทางเศรษฐกิจหลาย ๆ อย่าง โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับสงคราม เช่น โรงงานผลิตอาวุธ จะลดกำลังการผลิตหรือปิดไปโดยปริยาย นั่นทำให้แรงงานว่างงานมากขึ้น กอปรกับทหารเกณฑ์ที่ไปรบกลับมาได้ปลดประจำการจะทำให้เกิดภาวะแรงงานล้นตลาด ทำให้อัตราการว่างงานสูงขึ้น ดังที่เคยเกิดขึ้นในช่วงหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 1 และนำมาซึ่งปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจทั่วโลกเมื่อทศวรรษที่ 1930
นอกจากนี้ พรรคอนุรักษ์นิยมย่ามใจว่า เชอร์ชิลมีคะแนนนิยมสูงในช่วงสงครามจึงคิดว่าความนิยมเหล่านั้นจะส่งผลให้พรรคได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งทั่วไปอย่างแน่นอน พรรคจึงมุ่งเน้นนโยบายและ “จุดขาย” ไปที่ตัวเชอร์ชิล มากกว่านโยบายเรื่อง “เศรษฐกิจ” และ “สังคม” เช่นการใช้คำขวัญประกาศบนป้ายหาเสียงว่า “VOTE NATIONAL – HELP HIM FINISH THE JOB” “PUT IT THERE! – CONFIRM YOUR CONFIDENCE IN CHURCHIL”
ระหว่างปี ค.ศ. 1940-1945 เชอร์ชิลเป็นนายกรัฐมนตรีของสหราชอาณาจักรที่ได้รับความนิยมสูงสุดตลอดกาล ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1945 ผลสำรวจความนิยมของเชอร์ชิล ไม่เคยลดลงต่ำกว่าร้อยละ 78 เลย นั่นจึงทำให้บรรดานักการเมืองและนักวิจารณ์ ต่างก็ทำนายไปในทิศทางเดียวกันว่า เชอร์ชิลจะนำพรรคอนุรักษ์นิยมไปสู่ชัยชนะในการเลือกตั้งทั่วไปใน ค.ศ. 1945
สรุปแล้วการแพ้การเลือกตั้งในครั้งนี้เป็นเพราะเชอร์ชิล และพรรคอนุรักษ์นิยมเดินหมากเกมการเมืองผิดพลาดหลาย ๆ ประการ โดยเฉพาะประเด็นนโยบายการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ เมื่อพรรคอนุรักษ์นิยมไม่มีนโยบายฟื้นฟูประเทศหลังสงครามที่แน่ชัดเท่ากับพรรคแรงงาน จึงทำให้ประชาชนตัดสินใจได้ง่ายมากขึ้นว่าจะเลือกอะไรระหว่าง “ความนิยมชมชอบนายกรัฐมนตรี” กับ “ปัญหาปากท้องหลังสงคราม”
อ่านเพิ่มเติม :
- ประวัติศาสตร์ที่เกือบซ้ำรอย เมื่อนายกรัฐมนตรีอังกฤษวางแผนทำสงคราม(โลกครั้งที่ 3)
-
“สมรภูมิแห่งกัลลิโพลี” สงครามที่อังกฤษต้องปราชัย บทเรียนสำคัญของ “วินสตัน เชอร์ชิล”
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
BBC. (1997). Politics 97 – 5 July 1945, from www.bbc.co.uk/news/special/politics97/background/pastelec/ge45.shtml
Ingersoll Ralph. (2019). Report On England, from archive.org/details/ReportOnEngland
Paul Addison. (2011). Why Churchill Lost in 1945, from www.bbc.co.uk/history/worldwars/wwtwo/election_01.shtml
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 2562