“สมรภูมิแห่งกัลลิโพลี” สงครามที่อังกฤษต้องปราชัย บทเรียนสำคัญของ “วินสตัน เชอร์ชิล”

ทหาร ใน สมรภูมิแห่งกัลลิโพลี และ วินสตัน เชอร์ชิล

สมรภูมิแห่งกัลลิโพลี (Battle of Gallipoli) เป็นหนึ่งในการรบที่ดุเดือดและเป็นที่กล่าวถึงมากเหตุการณ์หนึ่งในสงครามโลกครั้งที่ 1 (ค.ศ. 1914-1918) ผู้อยู่เบื้องหลังสงครามนี้ คือ วินสตัน เชอร์ชิล (Winston Churchill) แม้ต่อมาเขาจะเป็นรัฐบุรุษนำชัยชนะมาสู่อังกฤษในสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่สงครามครั้งนี้ ที่คาบสมุทรกัลลิโพลี เขาต้องประสบกับความพ่ายแพ้

เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 1 ปะทุขึ้น “ผู้ป่วยแห่งยุโรป” หรือจักรวรรดิออตโตมันวางตัวเป็นกลาง แต่เมื่อถึงเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1914 อังกฤษยึดเรือรบ 2 ลำ ที่ออตโตมันว่าจ้างต่อขึ้นในอังกฤษ และปฏิเสธที่จะคืนเงิน ทำให้ออตโตมันโกรธเคืองอังกฤษอย่างมาก จึงหันไปซื้อเรือรบ 2 ลำ จากเยอรมนีแทน

Advertisement

ออตโตมันตัดสินใจเข้าร่วมกับฝ่ายเยอรมนี จนเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม ค.ศ. 1914 เรือรบทั้ง 2 ลำ ที่ได้มาใหม่ ได้แล่นเข้าสู่ทะเลดำ ยิงถล่มเมืองชายฝั่งของรัสเซีย ทำให้รัสเซียประกาศสงครามกับออตโตมันทันที อังกฤษและฝรั่งเศสก็ประกาศสงครามเช่นเดียวกัน ในวันที่ 3 พฤศจิกายน ค.ศ. 1914 กองทัพอังกฤษและฝรั่งเศสได้เริ่มโจมตีออตโตมันบริเวณใกล้กับทางเข้าช่องแคบดาร์ดะเนลส์ (Dardanelles) ออตโตมันจึงได้ประกาศสงครามกับอังกฤษและฝรั่งเศส

อังกฤษวางแผนที่จะนำกองเรือบุกช่องแคบดาร์ดะเนลส์ เปิดทางเข้าสู่ทะเลมาร์มะรา (Sea of Marmara) แล้วยิงถล่มใส่กรุงอิสตันบูล เมืองหลวงของออตโตมัน ด้วยหวังว่าจะสร้างแรงกดดันอย่างหนักให้ชาวเติร์ก ซึ่งอาจบีบให้ออตโตมันยอมแพ้ในเวลาอันสั้น

กองเรือ ฝ่าย พันธมิตร สมรภูมิแห่งกัลลิโพลี
กองเรือฝ่ายพันธมิตร

แผนการดั้งเดิมนั้นเป็นต้นคิดของเชอร์ชิล ผู้ดำรงตำแหน่ง “First Lord of the Admiralty” คือ เป็นหัวหน้าฝ่ายการเมืองของกองทัพเรือ ซึ่งเป็นที่ปรึกษาของรัฐบาลในกิจการทางเรือทั้งหมด และรับผิดชอบในการกำหนดทิศทางและการควบคุมกองทัพเรือ โดยเชอร์ชิลวางแผนให้มีการปฏิบัติการทางเรือเพียงอย่างเดียวในการโจมตีออตโตมัน เขามั่นใจในแสนยานุภาพของกองทัพเรือที่เกรียงไกร ซึ่งจะสามารถกำชัยชนะมาได้ไม่ยากเย็น

ด่านแรกที่กองทัพฝ่ายพันธมิตรต้องเจอ คือ คาบสมุทรกัลลิโพลี (Gallipoli) ซึ่งอยู่ทางด้านเหนือของช่องแคบดาร์ดะเนลส์

เชอร์ชิลทราบดีว่าแผนการนี้มีความเสี่ยง เขาบันทึกว่า “ราคาที่ต้องจ่ายในการยึดกัลลิโพลี ไม่ต้องสงสัยเลยว่าจะหนักหน่วง” อังกฤษจึงจำเป็นต้องยึดกัลลิโพลีก่อนที่จะทำสงครามรุกคืบต่อไปได้ ซึ่งรวมถึงการเปิดช่องทางเดินเรือจากช่องแคบดาร์ดะเนลส์ไปยังทะเลดำ เพื่อช่วยเหลือรัสเซียในแนวรบด้านตะวันออก

รัฐบาลอังกฤษไม่ได้ส่งกองกำลังไปมากเท่าที่เชอร์ชิลต้องการ แต่เชอร์ชิลก็มุ่งมั่นส่งกองเรือออกไป การโจมตีกัลลิโพลี เริ่มขึ้นในเช้าวันที่ 19 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1915 เปิดฉากด้วยการทิ้งระเบิดใส่คาบสมุทรโดยเรือรบอังกฤษและฝรั่งเศส แม้จะประสบความสำเร็จในขั้นต้น แต่การโจมตีก็หยุดชะงัก เมื่อสภาพอากาศเลวร้ายลง และเรือกวาดทุ่นระเบิดของฝ่ายพันธมิตรถูกยิงถล่มอย่างหนัก

อย่างไรก็ตาม เชอร์ชิลกดดันให้กองทัพเรือดำเนินการโจมตีต่อไป ต่อมา ในเช้าวันที่ 18 มีนาคม ค.ศ. 1915 เรือประจัญบานของอังกฤษและฝรั่งเศสได้เข้าสู่ช่องแคบดาร์ดะเนลส์ และทำการโจมตีอีกครั้ง ฝ่ายพันธมิตรมีอำนาจเหนือกว่าในช่วงไม่กี่ชั่วโมงแรก จนกระทั่งทุ่นระเบิดที่ตรวจไม่พบได้จมเรือรบ 3 ลำ และสร้างความเสียหายอย่างรุนแรงต่อเรือรบอีก 3 ลำ ซึ่งทำให้กองเรือเสียหายหนัก ผู้บัญชาการทหารเรือของอังกฤษประจำภูมิภาคจำต้องสั่งถอนกำลัง และต้องรอกำลังสนับสนุนให้มาถึงเสียก่อนจะโจมตีได้อีกครั้ง

สมรภูมิแห่งกัลลิโพลี ทหาร อินเดีย ฝ่าย พันธมิตร
ทหารอินเดียในกองทัพอังกฤษที่สมรภูมิแห่งกัลลิโพลี

เมื่อแผนการรบทางเรือไม่ได้ผลดั่งต้องการ ฝ่ายพันธมิตรจึงเริ่มแผนบุกทางบกในวันที่ 25 เมษายน ค.ศ. 1915 อย่างไรก็ตาม จากความล่าช้าของฝ่ายพันธมิตร และทหารเติร์กได้ต่อต้านอย่างสุดกำลัง ทำให้ออตโตมันมีเวลาเตรียมความพร้อมจนสามารถเสริมกำลังไปยังคาบสมุทรกัลลิโพลีได้ทันท่วงที โดยเฉพาะการวางทุ่นระเบิด ซึ่งมีมากกว่า 350-400 ทุ่น บริเวณรอบ ๆ ช่องแคบ ซึ่งสร้างความยากลำบากให้กองทัพฝ่ายพันธมิตรอย่างมาก ประกอบกับได้รับความช่วยเหลือจากเยอรมนี ทั้งทหารและยุทโธปกรณ์ การป้องกันบนชายฝั่งจึงมีประสิทธิภาพมากขึ้น ขณะที่ทหารออตโตมันก็มีขวัญกำลังใจเต็มเปี่ยม ชาวเติร์กย่อมสู้ตายเพื่อปกป้องรักษามาตุภูมิของพวกเขาอย่างสุดกำลัง

ผู้ทำหน้าที่ปกป้องดินแดนออตโตมันที่สมรภูมิแห่งกัลลิโพลี คือ มุสทาฟา เคมัล อาตาเติร์ก (Mustafa Kemal Ataturk) ซึ่งในภายหลังเขาจะเป็นผู้ก่อตั้งสาธารณรัฐตุรกี เป็นบิดาของตุรกียุคใหม่

กองทัพฝ่ายพันธมิตรบุกคาบสมุทรได้เล็กน้อย ทำได้เพียงยึดหัวหาดเท่านั้น เมื่อคลื่นของกองทัพฝ่ายพันธมิตรซัดเข้าสู่ชายฝั่ง ปะทะเข้ากับการต่อต้านของตุรกีอันแข็งแกร่ง น้ำทะเลสีฟ้าครามก็แปรเปลี่ยนเป็นสีแดงเข้ม กองทัพฝ่ายพันธมิตรไม่อาจรุกคืบยึดคาบสมุทรแห่งนี้ได้

แผนการรบที่ไม่ประสบผลสำเร็จส่งผลต่อการเมืองภายในของอังกฤษเอง ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1915 เชอร์ชิลถูกลดตำแหน่ง นั่นทำให้เขาถึงกับกล่าวว่า “ฉันตกเป็นเหยื่อของอุบายทางการเมือง” ขณะที่รัฐบาลพรรคเสรีนิยมต้องเปิดรับพรรคอนุรักษ์นิยมมาร่วมรัฐบาล ต่อมา ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1915 เชอร์ชิลจำต้องลาออกจากตำแหน่งทางการเมือง จับปืนแล้วมุ่งหน้าสู่สมรภูมิในฝรั่งเศส

ฝ่ายพันธมิตรยังส่งทหารสู่สมรภูมิแห่งกัลลิโพลี แต่ก็ประสบความล้มเหลวอย่างหนัก จนทำให้ต้องกลับมาพิจารณาถึงแผนการรบนี้ว่า มันไม่มีทางที่จะทำสำเร็จตั้งแต่แรก สมรภูมิแห่งกัลลิโพลี กลายเป็นการสังหารหมู่และนองเลือด ที่กินเวลานานกว่า 9 เดือน ที่สุด ฝ่ายพันธมิตรจึงยอมถอยทัพในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1915 ซึ่งมีทั้งทหารราว 130,000 นาย และยุทโธกรณ์อีกจำนวนมาก กระทั่ง การถอยทัพครั้งสุดท้ายมีขึ้น ในเดือนมกราคม ค.ศ. 1916

สมรภูมิแห่งกัลลิโพลี ทหาร พันธมิตร
ทหารฝ่ายพันธมิตรขึ้นฝั่งที่เมือง Moudros บนเกาะ Lemnos ซึ่งตั้งอยู่ไม่ไกลจากช่องแคบ

ผลของสมรภูมิแห่งกัลลิโพลี แต่ละฝ่ายได้รับบาดเจ็บราว 250,000 คน กองทัพฝ่ายพันธมิตรเสียชีวิตราว 46,000 คน และกองทัพออตโตมันเสียชีวิตราว 65,000 คน

ต่อมา เชอร์ชิลกลับสู่เวทีการเมืองอีกครั้งใน ค.ศ. 1917 โดยเข้าดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอาวุธ ในรัฐบาลผสมชุดใหม่ที่นำโดย เดวิด ลอยด์ จอร์จ (David Lloyd George) นายกรัฐมนตรีจากพรรคเสรีนิยม

อย่างไรก็ดี เชอร์ชิลถูก “ความพ่ายแพ้” ของสมรภูมิแห่งกัลลิโพลี ตามหลอกหลอนมานานอีกหลายปี นักการเมืองฝ่ายตรงข้ามมักเยาะเย้ยและตำหนิเขาถึงความผิดพลาดที่เกิดขึ้นในสงครามครั้งนั้น ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า สมรภูมิแห่งกัลลิโพลี คือ ความล้มเหลวที่สุดของอังกฤษในสงครามโลกครั้งที่ 1

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อเชอร์ชิลก้าวขึ้นสู่นำแหน่งนายกรัฐมนตรีใน ค.ศ. 1940 เขาบันทึกไว้ว่า “ช่วงชีวิตที่ผ่านมาทั้งหมดเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับชั่วโมงนี้และสำหรับบทพิสูจน์ครั้งนี้” นั่นรวมถึง สมรภูมิแห่งกัลลิโพลี สงครามที่เป็นบทเรียนครั้งสำคัญของเชอร์ชิล

 


อ้างอิง :

CHRISTOPHER KLEIN. (2014). Winston Churchill’s World War Disaster. Access 4 January 2021, from https://www.history.com/news/winston-churchills-world-war-disaster

Warfare History Network. (2018). The Battle of Gallipoli: Winston Churchill’s Great Mistake. Access 4 January 2021, from https://nationalinterest.org/blog/buzz/battle-gallipoli-winston-churchills-great-mistake-25751

WILLIAM C. IVES. (2005). The Dardanelles and Gallipoli. Access 4 January 2021, from https://winstonchurchill.org/publications/finest-hour/finest-hour-126/the-dardanelles-and-gallipoli/


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 5 มกราคม 2564